ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลง ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ย. 2562 ว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 69.1 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 67 เดือน นับตั้งแต่ปี 2559 แม้รัฐบาลเริ่มมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมามากขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมืองทั้งปัจจุบันและอนาคต
สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2562 ว่านายปรีดา โพธิ์ทอง รองผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ย. 2562 ว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 69.1 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 67 เดือน นับตั้งแต่ปี 2559 แม้รัฐบาลเริ่มมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมามากขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมืองทั้งปัจจุบันและอนาคต
นอกจากนี้ ยังกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังฟื้นตัวช้าและกำลังซื้อของประชาชนยังไม่ฟื้นตัวขึ้นมากนัก ประกอบกับสถานการณ์ไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก เนื่องจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน และปัญหา Brexit รวมถึงการแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่ง ส่งผลกระทบเชิงลบต่อความสามารถในการแข่งขันของภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยว
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวลงต่อเนื่อง สะท้อนความไม่ไว้ใจเศรษฐกิจ ซึ่งจากการประชุมหอการค้าทั่วประเทศ พบว่าเอกชนส่วนใหญ่สะท้อนออกมาว่า ยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ระดับเงินเฟ้อยังต่ำ สัญญาณจ้างงานเพิ่มขึ้นไม่มาก สะท้อนกำลังซื้อผู้บริโภคไม่โดดเด่น ดังนั้นในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. จึงได้เสนอให้รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
นายธนวรรธน์ คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2563 จะปรับตัวดีขึ้น โดยคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.1 เป็นการเติบโตในช่วงร้อยละ 2.7-3.6 ค่ากลาง 3.1 ด้านการส่งออกจะกลับมาโตเป็นบวกร้อยละ 1.8 โดยยังมองว่า ไม่มีข่าวเชิงลบในเรื่องสงครามการค้า โดยฝ่ายจีนระบุว่าอยากให้สหรัฐลดภาษีนำเข้า ขณะที่สหรัฐอยากให้จีนเปิดตลาดสินค้าเกษตร ดังนั้น วันที่ 15 ธันวาคมนี้ เชื่อว่าสหรัฐไม่น่าจะมีการขึ้นภาษีนำเข้าอีกระลอก ด้านญี่ปุ่นอัดฉีดเศรษฐกิจวงเงิน 3.1 ล้านล้านเยน หลายประเทศเริ่มใช้นโยบายการคลังเพิ่มเติม ซึ่งประเทศไทยก็ใช้นโยบายการเงินเข้ามาเสริม ขณะที่นักวิเคราะห์หลายคนคาดการณ์เศรษฐกิจไทยจะค่อย ๆ ฟื้นปลายไตรมาสแรกปีหน้า หลังรัฐบาลสามารถผ่านงบประมาณได้ คาดว่าจะเริ่มใช้จ่ายงบประมาณเดือน ก.พ. 2563 พร้อมมีการเร่งเบิกจ่ายงบประจำ งบลงทุน ซึ่งน่าจะเป็นเครื่องจักรสำคัญ ทำให้เศรษกิจมีบรรยากาศที่คลี่คลายลง
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ