กลับมาแล้วมหกรรม Write for Rights 2019 แคมเปญสิทธิมนุษยชนประจำปีที่ใหญ่ที่สุดในโลก

กองบรรณาธิการ TCIJ 12 ธ.ค. 2562 | อ่านแล้ว 1621 ครั้ง

กลับมาแล้วมหกรรม Write for Rights 2019 แคมเปญสิทธิมนุษยชนประจำปีที่ใหญ่ที่สุดในโลก

มหกรรม "Write for Rights" ของแอมเนสตี้กลับมาแล้ว ปีนี้มาในธีม "นักปกป้องสิทธิเยาวชน : Act For Rights, Fight For Youth" ชวนคนไทยเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อส่งกำลังใจให้เยาวชนที่ติดอยู่ในวงจรของความอยุติธรรมทั่วโลก โดยปีที่ผ่านมาได้สร้างสถิติใหม่ของกิจกรรมนี้ มี 5,562,795 ข้อความในรูปแบบต่างๆ ถูกเขียนโดยผู้คนมากกว่า 200 ประเทศและดินแดนต่างๆ เพื่อร่วมรณรงค์เรียกร้องความยุติธรรมและช่วยเหลือผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิ

ในเดือนธันวาคมของทุกปี ผู้คนหลายแสนคนทั่วโลกร่วมกันเขียนจดหมายมากมายเพื่อผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน จดหมายหลายฉบับถูกส่งถึงผู้ถูกละเมิดสิทธิโดยตรง ขณะที่จดหมายอีกจำนวนมากก็ถูกส่งไปยังรัฐบาลของประเทศที่เกี่ยวข้องนั้นๆ

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผยว่า แคมเปญ Write for Rights เป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงอุดมการณ์ขั้นพื้นฐานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นการสื่อข้อความไปทั่วโลกว่า ประชาชนพร้อมจะยืนหยัดต่อสู้การใช้อำนาจอย่างมิชอบไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ใดก็ตาม โดยเขียนจดหมายเพื่อส่งไปกดดันรัฐบาลประเทศต่างๆ ให้ยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนและนำความยุติธรรมมาสู่ผู้ได้รับผลกระทบ และการเขียนจดหมายหรือข้อความเพื่อส่งไปให้กำลังใจผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนและครอบครัวโดยตรง เพื่อให้พวกเขารับรู้ว่าไม่ได้ต่อสู้เพียงลำพัง โดยในปีนี้เราต้องการกระตุ้นให้ประชาชนทั่วโลกสนับสนุนนักกิจกรรมรุ่นใหม่ ผู้ซึ่งรณรงค์เพื่อความยุติธรรม ความเท่าเทียม และเสรีภาพ

ในอดีตกิจกรรม Write for Rights ของแอมเนสตี้ใช้จดหมายเป็นหลัก แต่ในยุคที่เครื่องมือดิจิทัลและสื่อออนไลน์เฟื่องฟูเช่นนี้ การเขียนเพื่อรณรงค์จึงไม่ได้จำกัดอยู่แค่การเขียนจดหมายอีกต่อไป แต่ยังรวมไปถึงการเขียนโปสการ์ด การวาดรูป การร่วมลงชื่อในข้อเรียกร้องทั้งออนไลน์และออฟไลน์ การส่งอีเมล การโพสต์ข้อความผ่านโซเชียลมีเดีย การโทรศัพท์ไปยังเป้าหมายโดยตรง ฯลฯ

“แคมเปญ Write for Rights ในปี 2561 ที่ผ่านมา เป็นอีกครั้งที่มีการสร้างสถิติใหม่ของกิจกรรมนี้ มี 5,562,795 ข้อความในรูปแบบต่างๆ ถูกเขียนโดยผู้คนมากกว่า 200 ประเทศและดินแดนต่างๆ เพื่อร่วมรณรงค์เรียกร้องความยุติธรรมและช่วยเหลือผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิ”

โดยในปีนี้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยเลือกเน้นรณรงค์ช่วยเหลือสามกรณี ได้แก่

นาซู อับดุลลาซิซ เยาวชนชาวไนจีเรียผู้ถูกยิงขณะปกป้องบ้าน เขาชอบเล่นฟุตบอลและปั่นจักรยาน ซึ่งเป็นกิจกรรมยามว่างของคนหนุ่มสาวในไนจีเรีย แต่กลับเกิดเหตุการณ์ที่ไม่ปกติขึ้นกับเขา เพราะระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2559 และเมษายน 2560 นาซู อับดุลลาซิซ และชุมชนของเขาในกรุงเลกอสที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้มานานกว่าร้อยปี ถูกขับไล่ออกจากบ้านเรือนของตนเองโดยไม่มีการแจ้งเตือน กลุ่มผู้ชายมาถึงพร้อมปืนในมือและรถไถ พวกเขาได้ทำลายบ้านเรือนจนราบเป็นหน้ากลอง ทำให้ชาวบ้าน 30,000 คนต้องไร้ที่อยู่อาศัย ทุกวันนี้นาซู อับดุลลาซิซ และเพื่อนๆ ต่างเรียกร้องที่จะมีชีวิตอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี

ยาสมัน อารยานี นักแสดงสาวชาวอิหร่านผู้มอบดอกไม้แห่งเสรีภาพ เธอเป็นนักแสดงที่ชื่นชอบการปีนเขา เธอได้ตั้งคำถามต่อกฎหมายบังคับให้สวมผ้าคลุมศีรษะของอิหร่าน โดยเธอได้แจกดอกไม้สีขาวให้กับผู้โดยสารหญิงที่นั่งอยู่ในขบวนรถไฟ จากนั้นวีดิโอที่แสดงภาพการกระทำอันกล้าหาญและท้าทายของเธอ ได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวางในเดือนมีนาคม 2562 ส่งผลให้ทางการอิหร่านจับกุมเธอทันที ต่อมาศาลตัดสินจำคุกยาสมันสูงถึง 16 ปี ทั้งหมดเป็นเพียงเพราะความเชื่อของเธอที่ว่าผู้หญิงควรมีเสรีภาพในการเลือกสิ่งที่ตนเองอยากสวมใส่

ยีลียาซีเจียง เรเฮมัน คุณพ่อชาวอูยกูรย์ผู้ถูกพรากจากครอบครัว เขาและไมรีนีชา อับดูไอนี นักศึกษาชาวอุยกูร์ภรรยาของเขากำลังจะมีลูกคนที่สอง แต่ยีลียาซีเจียงกลับหายตัวไประหว่างที่ทั้งคู่กำลังศึกษาต่อที่อียิปต์ในเดือนกรกฎาคม 2560 ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลจับกุมชาวอุยกูร์ประมาณ 200 คน โดยส่วนใหญ่เป็นชนพื้นเมืองมุสลิมจากแคว้นซินเจียงของจีนและได้บังคับส่งกลับพวกเขาไปที่จีน ไมรีนีชาเชื่อว่าปัจจุบันสามีของเธอเป็นหนึ่งในชาวมุสลิมกว่าหนึ่งล้านคนที่ถูกจองจำในค่ายลับในประเทศจีน และเธอกำลังพยายามทุกวิถีทางเพื่อตามหาสามี

“จากการทำงานมากว่า 58 ปีที่ผ่านมาของแอมเนสตี้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการเขียนเปลี่ยนชีวิตคนได้จริงๆ การเขียนจดหมาย ส่งอีเมล การโพสท์ข้อความแสดงความเห็นออนไลน์ ทั้งทางทวิตเตอร์และเฟซบุ๊ก รวมทั้งการส่งไปรษณียบัตร โปสการ์ดให้กำลังใจรวมแล้วปีละหลายล้านข้อความ ไม่เพียงนำไปสู่การปลดปล่อยนักโทษทางความคิดเท่านั้น หากยังมีผลทางด้านจิตใจอย่างมากต่อผู้ได้รับกำลังใจเหล่านี้ และมีผลทางจิตใจอย่างมากต่อบุคคลอันเป็นที่รักของพวกเขาด้วย” ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ ประเทศไทยกล่าวทิ้งท้าย

ด้านมาเมาด์ อาบู ซิด หรือชอว์คาน ช่างภาพชาวอียิปต์ หนึ่งในเคสที่คนไทยร่วมรณรงค์ได้รับการปล่อยตัวแล้วเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2562 หลังถูกจำคุกนานกว่า 5 ปีครึ่งด้วยข้อหาที่ถูกกุขึ้น เขาถูกจับในขณะกำลังทำข่าวการประท้วงเมื่อกองกำลังอียิปต์บุกเข้ามาสังหารผู้ชุมนุมราว 800 ถึง 1,000 คนอย่างเลือดเย็น เหตุการณ์นั้นเป็นที่รู้จักกันในภายหลังว่าการสังหารหมู่ที่ราบา

ในช่วงเวลาห้าปีครึ่งในคุก เขาถูกทุบตี ทรมาน และไม่ให้รับการรักษาตัวเมื่อเขาล้มป่วยด้วยโรคไวรัสตับอักเสบ ผู้สนับสนุนของแอมเนสตี้ได้ช่วยส่งข้อความให้กำลังใจและมีมากกว่า 30,000 รายชื่อที่เรียกร้องให้ปล่อยตัวเขา

“ผมขอส่งความรักและความเคารพอย่างสุดซึ้งนี้ไปถึงทุกคน และขอขอบคุณสำหรับทุกสิ่งที่ทำให้ผม ผมรู้สึกโชคดีมากที่มีคนแบบพวกคุณอยู่บนโลกนี้ และรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่มีพวกคุณเป็นเสมือนเพื่อนของผม”


สนใจร่วมลงชื่อกิจกรรม Write for Rights 2019 ได้ที่นี่ https://www.amnesty.or.th/get-involved/take-action/w4r19/

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: