ปีงบประมาณ 2561 กรมราชทัณฑ์ ใช้งบประมาณ ‘ควบคุมผู้ต้องขัง’ กับผู้ต้องราชทัณฑ์ทั้งหมด 318,019 คน รวม 11,914,103,311.65 บาท คิดเป็นต้นทุนเฉลี่ย 37,463.50 บาท/คน/ปี ส่วนต้นทุน ‘การจัดการศึกษา ฝึกวิชาชีพและพัฒนาจิตใจ’ เฉลี่ยเพียง 1,166.61 บาท/คน/ปี เท่านั้น - เปิด 10 อันดับ ‘เรือนจำ-ทัณฑสถาน’ ที่ใช้งบประมาณสูงสุด ที่มาภาพประกอบ: ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง
ข้อมูลจาก รายงานการคำนวณต้นทุนต่อหน่วยผลผลิตประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ของกรมราชทัณฑ์ ตามเกณฑ์การประเมินผลการปฏิบัติงานด้านการจัดทำต้นทุนต่อหน่วยผลผลิตของส่วนราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ระบุถึงต้นทุนรวมของหน่วยงาน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 มีทั้งสิ้น 14,518,640,340.97 บาท แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายบุคลากร 6,316,187,840.44 บาท ค่าใช้จ่ายด้านการฝึกอบรม 136,224,431.24 บาท ค่าใช้จ่ายด้านการเดินทาง 69,323,403.70 บาท ค่าตอบแทน ใช้สอย วัสดุ และสาธารณูปโภค 6,910,016,884.61 บาท ค่าเสื่อมราคาและตัดจำหน่าย 1,008,639,119.85 บาท ค่าใช้จ่ายเงินอุดหนุน 32,320,673.93 บาท ค่าจำหน่ายจากการขายสินทรัพย์ 3,413,873.21 บาท และ ค่าใช้จ่ายอื่น 42,514,113.99 บาท
สำหรับต้นทุนการดำเนินการของเรือนจำ ทัณฑสถาน และสถานที่กักขัง ในสังกัดกรมราชทัณฑ์ทั้งหมด 143 แห่งนั้นมีรวม 14,056,719,671.12 บาท และต้นทุนสนับสนุนของหน่วยงานอีก 16 แห่ง (ส่วนกลางกรมราชทัณฑ์, สำนักทัณฑวิทยา, สำนักทัณฑปฏิบัติ, สำนักพัฒนาพฤตินิสัย, สำนักงานเลขานุการกรม, กองคลัง, กองการเจ้าหน้าที่, กองนิติการ, กองบริการทางการแพทย์, กองแผนงาน, สถาบันพัฒนาข้าราชการราชทัณฑ์, สำนักผู้ตรวจ, หน่วยตรวจสอบภายใน, กลุ่มงานคุ้มครองจริยธรรมฯ, สำนักผู้บริหาร และกลุ่มพัฒนาระบบบริหาร) 461,920,669.85 บาท
อนึ่ง ต้นทุนการดำเนินการนั้นแบ่งเป็น ค่าใช้จ่ายทางตรง ประกอบไปด้วย ค่าใช้จ่ายบุคลากร, ค่าใช้จ่ายอบรม, ค่าใช้จ่ายเดินทาง, ค่าตอบแทนใช้สอย วัสดุ สาธารณูปโภค, ค่าเสื่อมราคา, ค่าใช้จ่ายอุดหนุน, ค่าจำหน่ายฯ สินทรัพย์ และค่าใช้จ่ายอื่น ส่วนค่าใช้จ่ายทางอ้อม ประกอบไปด้วย ค่าใช้จ่ายบุคลากร (ค่ารักษาพยาบาล), ค่าตอบแทนใช้สอย วัสดุ สาธารณูปโภค, ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายอื่น
ต้นทุนควบคุมผู้ต้องขัง 37,463.50 บาท/คน/ปี ส่วนต้นทุนจัดการศึกษา-ฝึกอาชีพ-พัฒนาจิตใจ 1,166.61 บาท/คน/ปี เท่านั้น
ปัจจุบันมีการจัดการเรียนการสอนบาลีศึกษาในเรือนจำ ทัณฑสถาน จำนวน 8 แห่ง ทั้งนี้พบว่างบประมาณพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขังโดยการจัดการศึกษา ฝึกวิชาชีพและพัฒนาจิตใจ ผู้ต้องราชทัณฑ์ 318,019 คน ในปีงบประมาณ 2561 เป็นเงินรวม 371,004,551.83 บาท คิดเป็นต้นทุน 1,166.61 บาท/คน เท่านั้น ที่มาภาพ: กองพัฒนาพฤตินิสัย, กรมราชทัณฑ์
เมื่อพิจารณารายการต้นทุนกิจกรรม (หน่วยงานหลัก) ที่น่าสนใจ พบว่าในปีงบประมาณ 2561 ใช้งบประมาณควบคุมผู้ต้องขัง กับผู้ต้องราชทัณฑ์ทั้งหมด 318,019 คน เป็นเงินรวม 11,914,103,311.65 บาท คิดเป็นต้นทุน 37,463.50 บาท/คน ส่วนงบประมาณพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขังโดยการจัดการศึกษา ฝึกวิชาชีพและพัฒนาจิตใจ ผู้ต้องราชทัณฑ์ 318,019 คน เป็นเงินรวม 371,004,551.83 บาท คิดเป็นต้นทุน 1,166.61 บาท/คน
อนึ่ง แต่เมื่อพิจารณารายงานต้นทุนกิจกรรมย่อย ของสำนักพัฒนาพฤตินิสัย พบว่าการจัดการศึกษาให้กับผู้ต้องขัง ที่ใช้กับผู้ต้องราชทัณฑ์ที่เข้าเรียน 74,866 คน เป็นเงินรวม 13,411,767.89 คิดเป็นต้นทุน 179.14 บาท/คน ส่วนงบประมาณด้านการฝึกวิชาชีพผู้ต้องขัง ที่ใช้กับผู้ต้องราชทัณฑ์ที่เข้าฝึกวิชาชีพ 144,297 คน เป็นเงินรวม 13,959,643.36 บาท คิดเป็นต้นทุน 96.74 บาท/คน เท่านั้น
งบป้องกันยาเสพติดและอุปกรณ์สื่อสาร 7,732.14 บาท/คน
ส่วนงบประมาณป้องกันยาเสพติดและอุปกรณ์สื่อสารเข้าสู่เรือนจำและควบคุมผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์ ใช้กับผู้ต้องราชทัณฑ์คดี พ.ร.บ.ยาเสพติด รวม 122,942 คน เป็นเงินรวม 950,604,573.62 คิดเป็นต้นทุน 7,732.14 บาท/คน งบประมาณโครงการบำบัดและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ต้องขังติดยาเสพติดในรูปแบบชุมชนบำบัดและวิวัฒน์พลเมือง ใช้กับผู้ต้องราชทัณฑ์คดี พ.ร.บ.ยาเสพติด รวม 122,942 คน เป็นเงินรวม 81,435,048.24 บาท คิดเป็นต้นทุน 662.39 บาท/คน งบประมาณโครงการเรือนจำปลอดยาเสพติด ใช้กับผู้ต้องราชทัณฑ์คดี พ.ร.บ.ยาเสพติด รวม 122,942 คน เป็นเงินรวม 178.25 บาท/คน และงบประมาณโครงการ TO BE NUMBER ONE ในเรือนจำและทัณฑสถาน 142 แห่ง เป็นเงินรวม 5,004,879.93 บาท คิดเป็นต้นทุน 35,245.63 บาท/แห่ง
10 อันดับ ‘เรือนจำ-ทัณฑสถาน’ ที่ใช้งบประมาณสูงสุดในปีงบฯ 2561
เมื่อพิจารณาจากจำนวนเรือนจำ ทัณฑสถาน และสถานที่กักขัง ในสังกัดกรมราชทัณฑ์ทั้งหมด 143 แห่ง พบว่า 10 แห่งที่ใช้งบประมาณสูงสุดในปีงบประมาณ 2561 ได้แก่ 1.เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร 294,232,801.31 บาท 2.เรือนจำกลางคลองเปรม 288,183,566.69 บาท 3.ทัณฑสถานหญิงกลาง 254,389,986.66 บาท 4.ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง 246,385,745.10 บาท 5.เรือนจำกลางเชียงใหม่ 237,230,341.46 บาท 6.เรือนจำกลางระยอง 233,379,072.41 บาท 7.เรือนจำกลางนครศรีธรรมราช 224,625,221.45 บาท 8.เรือนจำกลางเชียงราย 224,186,001.45 บาท 9.เรือนจำกลางสมุทรปราการ 223,991,085.70 บาท และ 10.เรือนจำจังหวัดพังงา 222,783,065.71 บาท
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: จำนวนผู้ต้องราชทัณฑ์ ที่เรียนสายสามัญ-อาชีพ-อุดมศึกษา
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ