รัฐสภานี่นี้ใครครอง? : มองรัฐสภาผ่านปิตาธิปไตย

เมธาพัฒน์ พะระรามันห์ | TCIJ School รุ่นที่ 6 | นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ | 12 ก.ค. 2562 | อ่านแล้ว 11736 ครั้ง

เพศหญิงในละครโทรทัศน์ คือตัวละครที่ตกอยู่ในพันธนาการของเพศชายมาโดยตลอด ผ่านการนำเสนอภาพจำซ้ำๆไม่ว่าจะเป็นฉากถูกข่มขืน การตบตีแย่งพระเอก หรือกระทั่งความอ่อนแอเจ้าน้ำตาและโง่เขลารู้ไม่ทันผู้ชาย ตัวละครหญิงในโลกมายาจึงสะท้อนภาพของเพศหญิงในสังคมชายเป็นใหญ่หรือปิตาธิปไตย ทว่า บทบาทของนักการเมืองหญิงในโลกการเมืองก็มิได้แตกต่างจากภาพจำจากละครเท่าใดนัก เพราะเมื่อนำภาพเพศหญิงในละครโทรทัศน์มาสวมทับเข้ากับเวทีการเมือง ภาพของนักการเมืองหญิงก็ยังคงเป็นเพียง ’นางเอก’ และ ‘นางร้าย’ในสังคมปิตาธิปไตยเช่นกัน แม้แต่ใน’รัฐสภา’ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ถูกคาดหวังให้ธำรงความเสมอภาคมากที่สุดพื้นที่หนึ่ง ที่มาภาพประกอบ: LA Progressive

8 ทศวรรษ 6 นาที

นับจากการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกของประเทศไทย ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จนถึงการปราศรัยครั้งแรกของ น.ส.พรรณิการ์ วานิช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคอนาคตใหม่ ที่ทำให้เกิดการโต้เถียงระหว่างสมาชิกสภาฯ และนำไปสู่ความโกลาหลจนท่านประธานต้องประกาศให้พักการประชุมในที่สุด เมื่อย้อนดูเหตุการณ์ครั้งนี้ แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ เพียงแค่ 6 นาที แต่ก็เป็นเวลามากพอที่จะทำให้เห็นถึงวัฒนธรรมและค่านิยมบางชุดที่มีอยู่ในรัฐสภาแห่งนี้ ซึ่งอาจจะทำให้เข้าใจคำว่า ’ปิตาธิปไตย’ ได้มากยิ่งขึ้น 

คลิป ส.ส. พรรณิการ์ พูดในรัฐสภาครั้งแรก

สิ่งที่เห็นเด่นชัดอย่างมากจากเหตุการณ์ดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นเสียงคัดค้าน คำพูดของ ส.ส.วีระกร การสนับสนุนและการประท้วงของ ส.ส.หญิง คือ มิติเรื่อง ‘เพศ’ ซึ่งสะท้อนออกมาตลอดเวลา 6 นาที โดยมีสองแนวคิดที่ปะทะกันในมิติดังกล่าว แนวคิดแรก คือ การเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ ดังที่ส.ส.พรรณิการ์ พยายามเรียกร้องให้แคนดิเดตรองประธานสภาจากพรรคอนาคตใหม่ซึ่งเป็นสตรีได้แสดงวิสัยทัศน์ เป็นการท้าทายมายาคติที่ว่าผู้แทนสตรีก็เป็นเพียง ’ไม้ประดับ’ ของรัฐสภา ส่วนแนวคิดที่สองนั้นสะท้อนออกมาผ่านส.ส.วีระกร ซึ่งฉายให้เห็นทัศนคติต่อเพศหญิงและความตระหนักต่อ ‘สิทธิขั้นพื้นฐาน’  นั่นคือคำพูดที่ว่า “ผู้ชายก็เป็นรองประธานคนที่หนึ่งได้” ซึ่งสะท้อนวิธีคิดผ่านการตอบโต้โดยนำเรื่องเพศชายเป็นตัวตั้ง และทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่าการเรียกร้องสิทธิของเพศหญิงนั้นคือการที่เพศหญิงต้องการมีบทบาทมากกว่า 

เรามาทำความเข้าใจนิยามความหมายของ’ปิตาธิปไตย’ดูสักหน่อย แต่เดิม ปิตาธิปไตย (patriarchy) หมายถึง ‘อำนาจของบิดา’ ดังจะเห็นตั้งแต่ในอดีตกาลว่าบิดามีอำนาจมากกว่า เพราะเป็นตัวแทนความมั่นคงของชุมชน เนื่องจากเพศชายมีหน้าที่ออกไปรบและปกป้องชุมชน ในขณะที่เพศหญิงมีหน้าที่เลี้ยงดูบุตรและทำงานบ้าน แต่ในปัจจุบันปิตาธิปไตยเปลี่ยนความหมายจากอำนาจของบิดาเป็น ‘ระบบชายเป็นใหญ่’ โดยอาศัยอำนาจของบิดา (ที่ยังคงมีบทบาทและอำนาจมากกว่ามารดา) เป็นฐานคิดของเพศชายโดยรวม ปิตาธิปไตยจึงเป็นอำนาจที่แฝงเร้นอยู่ในการเมือง เศรษฐกิจหรือกฎหมาย มีอำนาจครอบคลุมบทบาท พฤติกรรม วิธีคิดทั้งของเพศหญิงเพศชาย และเพศอื่นๆ (1) 

ครั้งหนึ่ง คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ให้สัมภาษณ์ในประเด็นสตรีกับบทบาทผู้นำทางการเมืองยุคใหม่ว่า“ปัญหา ที่ยังมีอยู่คือผู้หญิงเป็นห่วงกังวลความเสียหายเรื่องชื่อเสียง และความเป็นผู้หญิงบางทีก็ถูกใส่ร้ายกันง่าย โดย เฉพาะเรื่องชู้สาวซึ่งเป็นเรื่องเสียหายในสังคมไทย มีนักการเมืองหญิงจำนวนไม่น้อยโดนวิธีสกปรกเช่นนี้  มีการใส่ร้ายป้ายสีกันโดยไม่ใช่ข้อเท็จจริง โดยไม่มีคุณธรรม  ทำให้ผู้หญิงถอยห่างจากการทำงานการเมืองทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ด้วยเหตุที่ไม่อยากจะมาเปื้อนโคลนไม่อยากถูกใส่ร้ายป้ายสี”  (2)

นักการเมืองหญิงใน อุดมคติของสังคมชายเป็นใหญ่ 

เมื่อปิตาธิปไตยครอบคลุมไปในทุกปริมณฑล ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ครอบครัว พื้นที่สาธารณะ หรือพื้นที่การเมือง คำถามที่ตามมาคือ แล้วอะไรคือคุณสมบัติของนักการเมืองหญิง ?  เพราะเพศหญิงในการเมืองมิได้ทำหน้าที่เป็นนักการเมืองอย่างเดียวเท่านั้น แต่บทบาทที่สังคมมองเห็นนักการเมืองหญิงยังพ่วงมาด้วยหน้าที่ของแม่ ภรรยา หรือกระทั่งลูกสาวและน้องสาว ภาพที่ติดมาพร้อมๆ กับบทบาทนักการเมืองหญิงจึงสะท้อนให้เห็นว่า เพศหญิงไม่สามารถจะสลัดทิ้งอัตลักษณ์ความเป็นผู้หญิงในพื้นที่สาธารณะได้ การเป็นนักการเมืองหญิงในสังคมชายเป็นใหญ่จึงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะทุกครั้งที่มองไปยังพื้นที่ของนักการเมืองหญิง โดยรู้ตัวหรือไม่นั้น พื้นที่ดังกล่าวจะต้องมีภาพนักการเมืองชายปรากฏอยู่ด้วยเสมอ ไม่เว้นแม้กระทั่งเรื่อง ‘คุณสมบัติ’ ของนักการเมืองหญิง

สถาบันพระปกเกล้า โดยวิทยาลัยพัฒนาการปกครองท้องถิ่น จัดโครงการเวทีท้องถิ่น เรื่อง “สตรีกับการเมือง: ความเป็นจริง พื้นที่ทางการเมือง และการขับเคลื่อน” เมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2551(3) เวทีดังกล่าวได้พูดถึงสตรีกับการเมืองในหลายมิติ หนึ่งในประเด็นที่วงวิชาการร่วมถกเถียงคือ ประเด็นเรื่องคุณสมบัติของนักการเมืองหญิง ซึ่ง นางลดาวัลย์ วงศ์ศรีวงศ์ ได้นำเสนอในหัวข้อ “ศาสตร์ทั้ง 7 ในการเข้าสู่และดํารงอยู่ในการเมือง” นางลดาวัลย์ให้ความเห็นว่าผู้หญิงที่จะเป็นนักการเมืองและรักษาสถานภาพทางการเมืองได้ จะต้องมีคุณลักษณะดังนี้

  1. การสร้างคุณค่า-คุณภาพ : เป็นการแสวงหาความรู้ความสามารถ และการพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลาไม่ว่าจะเป็นการศึกษาหาความรู้จากตํารา สื่ออิเลคทรอนิสก์ ประกอบกับการฟัง การเรียนรู้จากผู้รู้ต่างๆ ที่สําคัญจะต้อง “เน้นการฟังให้มากขึ้น และจะต้อง ลดการพูดติฉินนินทาลง”
  2. การได้รับการสนับสนุนจากครอบครัว: ครอบครัวมีส่วนสําคัญในการสร้างกําลังใจ สร้างความเชื่อมั่น และผลักดันให้ผู้หญิงโลดแล่นในเวทีการเมือง อาทิ กรณีของพ่อแม่ ต้องคอยให้กําลังใจ ส่งเสริมและสร้างโอกาส ในขณะที่คนที่เป็น ‘สามี’ ก็ต้องทําหน้าที่หลายอย่างแทนผู้เป็นภรรยา เพื่อให้ภรรยาได้ทําหน้าที่ในทางการเมืองอย่างเต็มที่
  3. การมีฐานเสียงหรือผู้สนับสนุนในพื้นที่: การจะประสบความสําเร็จได้ในทางการเมือง สิ่งสําคัญที่ต้องมีคือ’ฐานเสียง’หากไม่มีฐานเสียงก็ไปไม่รอดในทางการเมือง ดังนั้น ต้องมีน้ําใจ มีสังคหะวัตถุ มีธรรมะ และทําให้ฐานเสียงรักและไว้ใจในตัวเรา
  4. การมีผู้สนับสนุนทางการเมืองระดับสูง: ในทางการเมืองจําเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการสนับสนุนจากหัวหน้าพรรค หรือเลขาธิการพรรค ซึ่งความหมายทั่วไปก็คือ’ผู้ใหญ่ของพรรค และสิ่งที่เป็นหัวใจสําคัญคือ จะต้องเรียนรู้ว่าจะเข้าถึงใจของบุคคลเหล่านั้นอย่างไร
  5. การได้รับการสนับสนุนจากเพื่อนนักการเมือง: ในการโลดแล่นทางการเมืองนั้น หัวใจสําคัญอีกประการหนึ่งได้แก่การได้รับการสนับสนุนจากเพื่อนนักการเมืองด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือกันในทางการเมือง การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ มุม มองระหว่างกัน และการเป็น’กัลยาณมิตร’ ในทางการเมือง
  6. การได้รับการสนับสนุนจากสื่อ: สื่อมวลชนจะเป็นพันธมิตรที่สําคัญสําหรับนักการเมือง เพราะสื่อจะทําหน้าที่ประชา สัมพันธ์ผลงานและการทํางานของนักการเมืองให้ไปสู่การรับรู้ของประชาชน กลุ่มสื่อมวลชนมีอิทธิพลและมีพลังมากต่อนักการ เมืองหญิง
  7. การมีผู้สนับสนุนด้านการเงิน : แม้ว่าในการหาเสียงเลือกตั้งจะไม่มีการซื้อเสียง แต่เงินก็มีความจําเป็นอย่างยิ่ง เนื่อง จากนักการเมืองต้องใช้เงินในการจัดพิมพ์โปสเตอร์ แผ่นพับ ใบปลิว รถหาเสียง ค่าทีมงาน และการที่มีผู้อุปถัมภ์ทางการเงินก็เป็นการช่วยพรรคในการลดค่าใช้จ่ายในส่วนของพรรคการเมือง แต่สิ่งที่ควรระวัง ได้แก่ การที่จะไม่ตกอยู่ใต้อิทธิพลของผู้อุปถัมภ์ที่มีอิทธิพล และเป็นนักการเมืองทุจริตคอรัปชั่นหรือทําผิดกฎหมาย “เราต้องหยิ่งในศักดิ์ศรีแล้วเลือกอย่างมีคุณธรรมว่าคนนี้เป็นผู้อุปถัมป์ของเราได้หรือไม่ได้ ตรงนี้คือหัวใจ”

 

คุณสมบัติของนักการเมืองหญิง ที่นางลดาวัลย์ วงศ์ศรีวงศ์นำเสนอ สะท้อนให้เห็นถึง ‘พื้นที่’ ของเพศหญิงในการ เมืองที่ไม่สามารถจะก้าวพ้นปริมณฑลของเพศชายไปได้ ดังจะเห็นได้ตั้งแต่คุณสมบัติข้อแรกที่นักการเมืองหญิงจะต้องลดการติฉินนินทา ตามมาด้วยบทบาทของสามี การมีผู้ใหญ่ของพรรคสนับสนุน การเป็นกัลยาณมิตรใน ทางการเมือง และมีผู้อุปถัมป์ทางการเงิน คุณสมบัติเหล่านี้ยิ่งเป็นการสร้างภาพจำให้เพศหญิงเป็น ‘นางเอก’ ในโลกการเมือง เพราะคุณสมบัติที่กล่าวมานั้นล้วนเป็นการทำให้ภาพนักการเมืองหญิงต้องเป็นกุลสตรี บริสุทธิ์ อ่อนโยน ไม่สามารถจะอยู่ได้ด้วยลำแข้งของตนเอง จำเป็นที่ต้องมีผู้ใหญ่ของพรรค และผู้อุปถัมป์ทางการเงินคอยอุ้มชูสนับสนุน เพราะฉะนั้น นักการเมืองหญิงจึงจำเป็นที่จะต้องเรียบร้อย อ่อนโยน เพื่อจะสามารถรักษาพื้นที่ของตัวเองในการเมืองต่อไปได้ ในขณะที่นักการเมืองชายในพื้นที่สาธารณะ เพศชายกลับไม่จำเป็นที่จะต้องแบกรับหรือรับผิดชอบต่อภาพลักษณ์เท่าเพศหญิง นักการเมืองชายไม่จำเป็นที่จะต้องได้รับการสนับสนุนจากครอบครัว ผู้ใหญ่ของพรรค หรือต้องเป็นกัลยาณิมิตรทางการเมืองกับใครเท่านักการเมืองหญิง 

สอดคล้องกับที่ ส.ส.พรรณิการ์ เล่าให้ฟังถึงอุปสรรคทางการของนักการเมืองหญิงในพรรคอนาคตใหม่ว่า “นักการ เมืองหญิงในพรรคเราส่วนใหญ่อายุน้อยแล้วก็ไม่มีประสบการณ์ทางการเมืองมาก่อน เวลาไปในพื้นที่มันชัดมาก เลยว่าเขาถูกมองอย่างไม่ให้ค่า โดยเฉพาะนักการเมืองท้องถิ่นซึ่ง 80-90% เป็นผู้ชาย มีอยู่ครั้งหนึ่ง ผู้สมัครหญิงของพรรคไปช่วยเดินหาเสียงในพื้นที่ นายกอบต. มาช่วยหาเสียงและกล่าวว่า “โอ้ย ไม่ต้องห่วงหรอก สวยๆ แบบนี้ผมช่วยเต็มที่” คำพูดแบบนี้ถ้าเป็นต่างประเทศคงโดนถอดถอนหรือแจ้งความไปแล้ว แต่ว่าในประเทศไทยไม่มีใครเห็นว่าเป็นเรื่องผิดปกติ เป็นสิ่งที่พบเห็นโดยทั่วไปในการเมืองไทย” 

เช่นกันกับหัวข้อการอภิปราย ‘บันไดสามขั้นสู่ความสำเร็จ’ ของนางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท ในเวทีเสวนาเดียวกันกับนางลดาวัลย์  ที่นางรัชฎาภรณ์ กล่าวว่า การประสบความสำเร็จของนักการเมืองหญิงประกอบด้วยบันไดสามขั้น  คือ

ขั้นที่หนึ่ง : รณรงค์ให้ผู้นําหรือแกนนําหญิงลงสมัครรับเลือกตั้ง

ขั้นที่สอง : รณรงค์ให้ผู้หญิงเลือกผู้หญิงด้วยกันเอง

ขั้นที่สาม : การเพิ่มศักยภาพ หรือ ความสามารถให้แก่ผู้หญิงที่ได้รับการเลือกตั้ง เพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ดูอย่างผิวเผิน บันไดสามขั้นสู่ความสำเร็จเพื่อให้ผู้หญิงชนะการเลือกตั้งก็เป็นวิธีการปกติ และน่าจะสามารถทำให้นักการเมืองหญิงได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนได้ แต่เมื่อมองบันไดทั้งสามขั้นด้วย‘เลนส์’ ปิตาธิปไตย บันไดขั้น ที่สองซึ่งคือการรณรงค์ให้ผู้หญิงเลือกผู้หญิงด้วยกันเอง นับเป็นวิธีการที่สะท้อนให้เห็นว่าชัยชนะของเพศหญิงใน การเมืองนั้น คือการเอาจำนวนหญิงมาเข้าสู้ (โปรดจินตนาการถึงการ์ตูนเรื่องพาวเวอร์พัฟเกิร์ล) เพื่อต่อกรกับวายร้ายอย่างนักการเมืองชายที่ครอบครองบทบาททางการเมืองมาอย่างยาวนาน

วิธีคิดเช่นนี้ นัยยะคือการทำให้เห็นถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่เพศหญิงเป็นรองเพศชาย เพราะการจะเอาชนะ เพศชายได้นั้น ‘อำนาจที่เป็นรอง’ต้องมีจำนวนมากพอเพื่อรวมพลังกันต่อกรกับเพศชายในฐานะที่เป็น ‘อำนาจนำ’ และคุมพื้นที่สาธารณะเอาไว้ ดังนั้นการรณรงค์ให้ผู้หญิงเลือกผู้หญิงด้วยกันเอง จึงสะท้อนภาพของปิตาธิไปไตยที่ซ้อนทับกับความเข้าใจเรื่องเพศหญิงในพื้นที่การเมืองอย่างชัดเจน การรวมพลังแบบพาวเวอร์พัฟเกิร์ลอาจจะเป็นวิธีที่ไม่ค่อยเวิร์คสักเท่าใดนัก เพราะการบอกให้ ‘ผู้หญิงเลือกผู้หญิง’ ยิ่งเป็นการทำให้พื้นที่ของนักการเมืองหญิงหยุดนิ่งอยู่ในเงาของ’ปิตาธิปไตย’ดังเดิม ซ้ำร้าย ความฝันที่จะเห็นผู้หญิงเป็นผู้นำทางการเมืองก็อาจจะไม่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น  วิธีการที่จะทำให้ผู้หญิงกลายเป็นผู้นำทางการเมืองได้ จึงจำเป็นที่จะต้องทลายมายาคติในสังคมชายเป็นใหญ่ ไม่ใช่การใช้วิธีรวมพลังหญิงแบบ “เลือกฉันสิ ฉันเพศเดียวกับเธอนะ” แต่คือการทำให้เห็นว่า ‘เพศใดๆ’ ก็สามารถที่จะมีบทบาทและก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำทางการเมืองได้ทั้งสิ้นด้วยการสนับสนุนจากทุกๆ เพศมิใช่เพียงแค่เพศชายหรือเพศหญิง

ภาพสะท้อนเรื่อง ’สตรีและการเมือง’ จากสถาบันพระปกเกล้า จึงสอดคล้องกับผลสำรวจของนิดาโพลที่ได้ทำการ สำรวจความเห็นของประชาชนไทยในปี 2558 เรื่องบทบาทของสตรีไทยและการเมือง ความคิดเห็นของประชาชนส่วนใหญ่มองว่าผู้ชายมีความเหมาะสมกับการเมืองการปกครองมากกว่าผู้หญิง ทัศนคติเช่นนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ‘พื้นที่สาธารณะ’ คือพื้นที่ของเพศชาย เพราะผู้ชายคือผู้ที่มีความสามารถ มีความเด็ดขาด และมีความเป็นผู้นำ ในขณะที่ ‘เพศหญิง’ ต้องรับภาระงานบ้าน (ไม่ว่าจะด้วยความเต็มใจหรือการถูกคาดหวังให้รับบทบาทนั้น) พื้นที่ของผู้หญิงจึงถูกจำกัดให้อยู่แค่ในครัวเรือน กิจกรรมหลายชนิดในพื้นที่ส่วนตัวซึ่งนับว่ามีความสำคัญต่อการดำรงชีวิต แต่มักจะถูกมองว่าไม่มีความสำคัญ เช่น งานครัว งานบ้าน การเลี้ยงดูบุตร ฯลฯ ภาระหน้าที่ของเพศหญิงเช่นนี้ จึงทำให้ ‘เพศชาย’ ในฐานะหัวหน้าครอบครัว มีเวลาและพลังงานไปสนใจ ติดตามและดำเนินการ ‘เรื่องสำคัญๆ’ ในพื้นที่สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจหรือการเมือง เพราะฉะนั้นผลสำรวจของนิด้าโพล จึงแสดงให้เห็นถึงนัยยะเชิงอำนาจระหว่าง ‘เพศ’ และ ‘การเมืองการปกครอง’

ผลสำรวจของนิดาโพล ปี 2558

ข้อมูลจากนิดาโพลและสถาบันพระปกเกล้า คือหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าคุณสมบัตินักการเมืองหญิงในการรับรู้ของสังคมนั้น มิได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการทำงานการเมือง แต่คือสถานะที่เป็นรองในสังคมชายเป็นใหญ่ แบบนี้ต่างหากถึงจะเป็นนักการเมืองหญิงใน ‘อุดมคติ’ ของสังคม

เหยื่อซ้ำเหยื่อซ้อน ในพื้นที่ชายเป็นใหญ่ 

ที่มาภาพ: ข่าวสด

ข่าวส.ส.หญิงที่เป็นไวรอลในสื่อสังคมออนไลน์ช่วงเดือนที่ผ่านมา คงหนีไม่พ้นกรณีส.ส.พรรณิการ์ กับ ส.ส.ปารีณา ทั้งกรณี #อีช่อ การแต่งชุดเข้าสภาของส.ส.พรรณิการ์ หรือส.ส.หญิงคนอื่นๆ จะเห็นได้ว่าการนำเสนอข่าวของนัก การเมืองหญิงเหล่านั้นยังคงวกวนอยู่กับเรื่อง‘ส่วนตัว’ การนำเสนอวิวาทะระหว่างส.ส.พรรณิการ์และส.ส.ปารีณาในประเด็นเรื่องระเบียบรัฐสภาในการอภิปราย แท้จริงนั้น แก่นสารของส.ส.ปารีณา มีแค่ต้องการบอกให้ส.ส.พรรณิการ์ ปฏิบัติตามกฎระเบียบเพียงเท่านั้น แต่ความเข้าใจของสังคมต่อประเด็นดังกล่าว กลับเป็นเรื่องดราม่าระหว่างส.ส.หญิงด้วยกัน และมุ่งให้ความสนใจไปที่คำว่า ‘อีช่อ’ ที่ส.ส. ปารีณาพูดขึ้นในขณะถ่ายทอดสด จนทำให้ประเด็นเล็กๆ ขยายใหญ่ ที่สื่อแทบทุกสำนักนำไปเสนอเป็นข่าว

ต่อเรื่องนี้ ส.ส.พรรณิการ์ ให้สัมภาษณ์กับผู้เขียนว่า“การสร้างภาพของดิฉันกับคุณปารีณาเป็นคู่ปรับกัน หรือดิฉันกับคุณหมอพรทิพย์เป็นคู่ปรับกัน หรือสองคนนั้นแท็กทีมรวมหัวกันมาเป็นคู่ปรับดิฉันอะไรอย่างงี้ เป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น หนึ่ง ขอบอกว่าเราไม่อยากสร้างภาพว่าเราเป็นศัตรูคู่แข่งหรือว่าไม่ถูกกัน สอง คือถ้าเราห้ามการนำเสนอของสื่อไม่ได้ เราก็ต้องพยายามสื่อสารความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องนี้และเมสเสจอื่นๆที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมมาก กว่า พูดง่ายๆ ว่าในเมื่อกระแสมันเกิดขึ้นแล้ว คุณห้ามกระแสไม่ได้ คุณห้ามสื่อและประชาชนไม่ให้สนใจเรื่องนี้ไม่ได้ คุณก็ต้องนำเสนอเรื่องนี้ไปในเชิงที่สร้างสรรค์ที่สุด”

‘ภาพ’ที่ปรากฎในสื่อกระแสหลักซึ่งสวนทางกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น คำถามสำคัญคือเพราะอะไรเหล่าสื่อมวลชน จึงยังมองเห็นนักการเมืองหญิงในแง่มุมของ ‘นางเอก’ และ ‘นางร้าย’ ที่แข่งดีแข่งเด่นกันเอย่าง’ผู้หญิ้งผู้หญิง’ กันอยู่เช่นนี้

ฤาจะเป็นแค่ไม้ประดับ? 

ที่มาภาพ: ไทยรัฐ 

กล่าวกันว่าความสวยงามของเพศหญิงเป็นเสมือน ‘เสน่ห์’ และ ‘ยาพิษ’ ในสายตาของเพศชาย หากหญิงใดมีรูปโฉมสวยงามดุจดั่งเจ้าหญิงในเทพนิยาย นั่นหมายความว่าหญิงผู้นั้นย่อมมี‘อำนาจ’ ในการต่อรองและเรียกร้องให้ชายทั้งหลายปฏิบัติตามความประสงค์ของเธอได้ ดังนั้น ‘เครื่องแต่งกาย’ จึงเป็นอาวุธชนิดหนึ่งของพวกเธอ เมื่อ ‘ชุด’ อยู่บนเรือนร่างของนักการเมืองหญิง มิติดังกล่าวจึงถูกนำเสนอและเข้าใจว่ามันเป็นเพียงแค่เรื่องของความสวยงามและรูปโฉม ซึ่งก็เป็นการสะท้อนให้เห็นอีกครั้งว่า นักการเมืองหญิงไม่สามารถจะก้าวข้ามพื้นที่ส่วนตัวไปสู่พื้นที่สาธารณะได้ ในขณะเดียวกัน ‘ชุด’ ในฐานะเครื่องมือทางการเมือง กลับไม่ถูกนำมาพูดถึงเท่าใดนัก

ที่มาภาพ: สปริงนิวส์

 ส.ส. พรรณิการ์ตอบคำถามดังกล่าวว่า “เครื่องแต่งกาย คือการแสดงออกทางการเมือง มันก็เหมือนกับเราเถียงกันเรื่องต้องมีชุดนักศึกษาหรือชุดนักเรียนไหม หนึ่ง เสื้อผ้าไม่ใช่แค่สิ่งที่เราใส่เพื่อปกปิดร่างกายนะ แต่มันเป็นสิทธิเหนือร่างกายของเราเป็น freedom of choice สอง มันเป็นการแสดงออกทางตัวตนอัตลักษณ์ของเรา ในสภาภารกิจอย่างแรกของอนาคตใหม่ก็คือ ต้องการทำให้สภาเป็นสถานที่ที่หลากหลาย เป็นตัวแทนของคนทุกกลุ่มในสังคมมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ส่วนหนึ่งในการแสดงออกซึ่งความหลากหลายนั้นก็คือเสื้อผ้า เสื้อผ้าไม่ได้หมาย ความว่าต้องแฟชั่นนะ แต่หมายความว่าถ้าคุณอยากจะใส่อะไรก็ควรได้ใส่ ตราบใดที่อยู่ในขอบเขตกาลเทศะที่เหมาะสม”

ด้าน ส.ส.เพชรชมพู กิจบูรณะ พรรครวมพลังประชาชาติไทย ได้แสดงความเห็นเรื่องนี้บนเฟสบุ๊คส่วนตัวของเธอว่า “สังคมประกอบไปด้วยปัจเจกบุคคลที่ล้วนมีความหลากหลาย ต่างความคิด ต่างเป้าหมาย การอยู่ร่วมกันในสังคมจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยความเข้าใจซึ่งกันและกัน ช่วยประคับประคองให้สังคมอยู่รอดได้ เสรีภาพที่คำนึงถึงกาลเทศะ มองเห็นถึงความเหมาะสม ถูกที่ ถูกเวลา ถูกบุคคล ย่อมสวยงามเสมอ” (5) 

ท้ายที่สุดแล้ว การมองรัฐสภาผ่านปิตาธิปไตย ที่รายงานชิ้นนี้พยายามทำความเข้าใจ อาจสามารถสรุปให้เห็นภาพ ง่ายๆ จากการรีเมคละครของช่องโทรทัศน์ไทย ละครอย่างนางทาส เมียหลวง บ้านทรายทอง และอีกหลายต่อ หลายเรื่อง แม้เวอร์ชั่นละครจะเปลี่ยนไป เสื้อผ้าหน้าผม ฉากและการถ่ายทำที่ดูทันสมัย แต่ทว่าแก่นสารเดียวของละครเหล่านี้ก็มิได้เปลี่ยนแปลง เพราะตัวละครหญิงทุกตัวยังคงขับเคลื่อนชีวิตตามความต้องการของพระเอก หรือ‘เพศชาย’ เช่นเดิม กระแสตอบรับจากผู้ชมในทุกยุคจากเรตติ้งที่สูงลิ่ว เป็นหลักฐานยืนยันให้เห็นว่า ต่อให้สังคมนี้ผ่านกาลเวลาไปนานเท่าไหร่  ‘เพศหญิง’ ในจินตนาการและความเป็นจริงก็ยังคงไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปสักเท่าใด

ลองหลับตาแล้วจินตนาการไปพร้อมกันว่า อะไรจะเกิดขึ้นก่อนกัน ระหว่างละครโทรทัศน์ไทยที่ตัวละครหญิงเป็นอิสระจากตัวละครชาย กับ รัฐสภาที่ส.ส.ชายและหญิงได้รับการปฏิบัติและให้คุณค่าอย่างเท่าเทียมกัน ?

 

 

ข้อมูลอ้างอิง
(1) วารสารวิชาการ ผู้หญิงกับปิตาธิปไตยในนวนิยายของอุทิศ เหมะมูล

(2) https://www.ptp.or.th/news/562

(3) http://www.kpi.ac.th/media_kpiacth/pdf/M10_184.pdf

(4) https://www.youtube.com/watch?v=AW-VjK2MAeY

(5) https://www.facebook.com/p.kijburana.page/photos/a.1740811905987535/2252358224832898/?type=3&theater

(6) Childs, S. (2008) Women, and British Party Politics: Descriptive, Substantive and Symbolic  Representation, London: Routledge.

(7)  https://www.springnews.co.th/social/506015

(8) http://nidapoll.nida.ac.th/file_upload/poll/document/20160608012628.pdf

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: