คนงานบังคลาเทศบาดเจ็บและเสียชีวิตหลังตำรวจสลายชุมนุมเรียกร้องขึ้นค่าจ้าง

แปลและเรียบเรียงโดย พัชณีย์ คำหนัก 13 ม.ค. 2562 | อ่านแล้ว 2635 ครั้ง

คนงานบังคลาเทศบาดเจ็บและเสียชีวิตหลังตำรวจสลายชุมนุมเรียกร้องขึ้นค่าจ้าง

คนงานบังคลาเทศบาดเจ็บและเสียชีวิตหลังตำรวจยิงกระสุนยางและแก๊สน้ำตาใส่ฝูงชนเพื่อสลายการชุมนุมเรียกร้องขึ้นค่าจ้าง ที่มาภาพ: The Straits Times

คนงานตัดเย็บเสื้อผ้าเสียชีวิต 1 คน และบาดเจ็บ 50 คน เนื่องจากตำรวจยิงกระสุนยางและแก๊สน้ำตาใส่ฝูงชน 5,000 คนที่เมืองธากา เมืองหลวงของประเทศบังคลาเทศเมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2019 ซึ่งคนงานออกมาเรียกร้องค่าจ้างที่ตัวเองและครอบครัวจะสามารถยังชีพได้

และในวันต่อมาตำรวจได้ฉีดน้ำแรงดันสูงสลายการชุมนุมของคนงานตัดเย็บเสื้อผ้า 10,000 คน ที่ออกมาประท้วงบนท้องถนนในเขตซาวาร์ ชานเมืองหลวงธากา

จากรายงานข่าว คนงานตัดเย็บเสื้อผ้าออกมาประท้วงจำนวน 50,000 คนและหลายคนในจำนวนนี้ผลิตเสื้อผ้าให้แก่ผู้ค้าปลีกระดับโลก เช่น Zara, H&M, Tesco, Walmart พวกเขานัดหยุดงานและเดินออกจากโรงงานเพื่อเรียกร้องการขึ้นค่าจ้างที่เหมาะสม

"ควรจะนำคนงานเหล่านี้มานั่งเจรจาต่อรอง ไม่ใช่ยิงกระสุนยางหรือแก๊สน้ำตาใส่" นาย Mathias Bolton ประธาน UNI Commerce กล่าว และการใช้ความรุนแรงกับคนงานที่ออกมาเรียกร้องค่าจ้างที่พวกเขาควรได้รับเป็นสิ่งที่น่าละอายยิ่ง

คนงานตัดเย็บเสื้อผ้าโกรธมากที่หลายคนไม่ได้รับประโยชน์จากการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 51% เป็น 8,000 ตากา (94 ดอลลาร์สหรัฐ) ที่รัฐบาลประกาศในปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะคนงานผู้สูงวัย นอกจากนี้ ผู้ประท้วงกล่าวว่า การขึ้นค่าจ้างต่ำเกินไป ไม่เพียงพอกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น

เหตุการณ์ไม่สงบเริ่มเกิดขึ้นในเขต Naraynaganj เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2018 หลังจากที่การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมีผลไม่นาน จากนั้นก็มีการปะทะกันระหว่างคนงานตัดเย็บเสื้อผ้าและตำรวจประปรายในเขตธากา

นางสาว Jenny Holdcroft ผู้ช่วยเลขาธิการของสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมโลก กล่าวว่า ความโกรธของคนงานตัดเย็บเสื้อผ้าในเรื่องความเหลื่อมล้ำด้านค่าจ้างทำให้เกิดความจำเป็นเร่งด่วนในการเจรจาต่อรองในระดับอุตสาหกรรมที่เอื้อให้สหภาพแรงงานต่อรองค่าจ้างที่เป็นธรรมให้แก่คนงานทั้งหมดได้

ประเทศบังคลาเทศเป็นแหล่งผลิตเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มที่ใหญ่ที่สุดในโลกรองจากประเทศจีน โดยมีมูลค่าการส่งออกกว่า 30 ล้านพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อปี 2018 ที่ผ่านมา


ที่มา
https://www.uniglobalunion.org/news/garment-worker-killed-and-50-injured-bangladesh-wage-protest

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: