เรื่องเล่าของผู้หญิง แนวหน้าของการปฏิวัติซูดาน

แปลและเรียบเรียงโดย พัชณีย์ คำหนัก 13 เม.ย. 2562 | อ่านแล้ว 4638 ครั้ง

เรื่องเล่าของผู้หญิง แนวหน้าของการปฏิวัติซูดาน

ผู้หญิงออกมานำการชุมนุมบนท้องถนนอย่างสันติในซูดาน โดยเรียกร้องให้ประชาชนขัดขืนการปกครองและใช้โซเชียลมีเดียด้วย อีกทั้ง มีหมอ นักกฎหมาย นักศึกษาและแม่บ้านร่วมกันผลักดันการประท้วงนี้โดยใช้แฮชแท็กว่า #SudanUprising เป็นเวลา 3 เดือน ที่มาภาพประกอบ: Noor Ali (อ้างใน opendemocracy.net)

ผู้หญิงในประเทศซูดานมีบทบาทนำในการต่อต้านลัทธิเคร่งศาสนา และในอียิปต์และซาอุดิอาระเบีย ผู้หญิงต่างก็เผชิญปัญหาความรุนแรงเช่นกัน

ผู้หญิงชาวซูดานกำลังต่อสู้กับรัฐศาสนาอิสลามเพราะถูกกดขี่มาเป็นเวลา 30 ปี

ในการต่อสู้ครั้งนี้ เริ่มจากปัญหาค่าครองชีพที่สูงเมื่อเดือนธันวาคม 2018 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ประเทศประสบวิกฤติเศรษฐกิจที่เลวร้ายที่สุด ครอบครัวยากแค้น ผู้หญิงที่ต้องหาอาหารมาให้ครอบครัวจึงต้องออกมาเคลื่อนไหวผ่านโซเชียลมีเดีย WhatsApp และ Facebook และออกมาชุมนุมกันเพื่อต่อต้านระบอบอำนาจนิยม

ผู้หญิงออกมานำการชุมนุมบนท้องถนนอย่างสันติ โดยเรียกร้องให้ประชาชนขัดขืนการปกครองและใช้โซเชียลมีเดียด้วย อีกทั้ง มีหมอ นักกฎหมาย นักศึกษาและแม่บ้านร่วมกันผลักดันการประท้วงนี้โดยใช้แฮชแท็กว่า #SudanUprising เป็นเวลา 3 เดือน

แต่สื่อทั่วไปมักรายงานว่า ผู้หญิงเป็นผู้เข้าร่วมการประท้วงมากกว่าที่จะมองว่าเป็นผู้นำการประท้วง

"Zagrouda" เป็นคำสวดที่ผู้หญิงใช้ในการเรียกผู้คนมาร่วมประท้วงบนท้องถนน เมื่อใครได้ยินเสียงของเธอ พวกเขาก็จะรู้ว่าเป็นรหัสเรียกร้องการปฏิวัติและถึงเวลาที่จะต้องออกมาเดินขบวนกัน

ผู้หญิงและผู้ชายต่างถูกเจ้าหน้าที่รัฐยิงกระสุน แก๊สน้ำตาและถูกท่อนเหล็กทุบที่หลัง แต่ผู้ชายส่วนใหญ่บอกว่าผู้หญิงนั้นเป็นแนวหน้าของการปลุกระดมให้พวกเขาออกมาเดินขบวน

จากประวัติศาสตร์วัฒนธรรมท้องถิ่นของซูดาน ผู้หญิงมีบทบาทร้องเพลง เขียนกลอนสนับสนุนให้กำลังใจผู้ชายในการทำสงคราม แต่ในยุคนี้ผู้หญิงออกมาจากแถวหลังเพื่อนำประท้วงด้วยตนเอง

จริงๆ ก็ไม่แปลกใจว่า ผู้หญิงจะออกมานำการต่อต้านรัฐอิสลามของซูดานเพราะผู้หญิงชาวซูดานมักเป็นขั้วตรงข้ามของลัทธิเคร่งศาสนาความเชื่อดั้งเดิม

กฎหมายที่เกี่ยวกับสาธารณะและสิทธิส่วนบุคคลที่มีมาตั้งแต่ปี 1991 จำกัดเสรีภาพในการสวมใส่เสื้อผ้าของผู้หญิง กีดกันการทำงานหรือแม้แต่เดินบนท้องถนน และยังมีกฎระเบียบที่เคร่งครัด เช่น การเชื่อฟังของภรรยาและการคุ้มครองของผู้ชาย

ยิ่งกว่านั้นประธานาธิบดีซูดาน นายโอมา อัล-บาเชียร์ถูกศาลอาญาระหว่างประเทศตั้งข้อหาเป็นภัยต่อมนุษยชาติ เนื่องจากเขามีส่วนรู้เห็นการข่มขืนกระทำชำเราหมู่ในระหว่างสงครามกลางเมืองในดาร์ฟูร์ทางตะวันตกของประเทศ

และนี่คือบริบทในภูมิภาคนี้ที่ทำให้เกิดการลุกฮือในซูดาน

เมื่อปี 2015 กลุ่มนักปกป้องสิทธิสตรี (WHRDs) จากตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ (MENA) ก่อตั้งแนวร่วมปกป้องสิทธิสตรีแห่งตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ หรือ WHRDMENA Coalition เพื่อสร้างความสมานฉันท์และสนับสนุนซึ่งกันและกัน ที่สำคัญเพื่อเปล่งเสียงของผู้หญิงเพราะถูกรัฐคอยปิดปากเรื่องสิทธิเสรีภาพ

ระบอบการปกครองของซูดานเป็นที่ชัดว่าเอาอย่างรัฐอียิปต์ คือ มุ่งเป้าไปที่นักกิจกรรมผู้หญิง ห้ามการเดินทาง แช่แข็งทรัพย์สินและตั้งข้อหาต่างๆ อีกทั้ง ยังตามอย่างซาอุดิอาระเบีย คือ จับกุมคุมขังนักกิจกรรมและประณามผู้หญิงที่ต่อต้านรัฐ

กองกำลังของรัฐบาลซูดานยังโจมตีโรงพยาบาลและหมอที่รักษาผู้ประท้วง มีการสอบสวน เซ็นเซอร์รายงานข่าวเกี่ยวกับการประท้วง อีกทั้งยังตั้งข้อหาปลุกปั่นให้มีการเกลียดชังรัฐ

ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ นายอัล-บาเชียร์ประกาศภาวะฉุกเฉินเป็นเวลา 1 ปีเพื่อขยายอำนาจเจ้าหน้าที่รัฐในการจับกุมผู้ประท้วงและสลายการชุมนุมสาธารณะ กระนั้น กลุ่มผู้หญิงยังออกมาประท้วงอย่างไม่หยุดหย่อน

แนวร่วมนักปกป้องสิทธิสตรีแห่งตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือออกมาเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักกิจกรรมผู้หญิงอย่างน้อย 45 คนที่ถูกจับกุมคุมขังมากกว่า 3 เดือนแล้ว

ในจำนวนนี้รวมผู้ก่อตั้งกลุ่มสิทธิมนุษยชน "หยุดการกดขี่ผู้หญิง", นักกิจกรรมที่โดดเด่นของกลุ่มสิทธิสตรี, หมอและประธานสภาพผู้หญิงซูดาน ได้รับการปล่อยตัวออกจากคุกแล้วเมื่อวันที่ 8 มีนาคมหลังจากที่มีการประท้วงเนื่องในวันสตรีสากล

เมื่อวันที่ 7 มีนาคมนั้น ผู้หญิงหลายร้อยคนออกมาเดินขบวนในเมืองหลวงคาร์ทูม เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยตัวนักกิจกรรมผู้หญิงทุกคนและต่อต้านลัทธิเคร่งศาสนารวมทั้งกลุ่มมุสลิมภราดรภาพ (Muslim brotherhood)

และเมื่อวันที่ 8 มีนาคม นักกิจกรรมผู้หญิงยังคงถูกจับกุมคุมขังในเมือง Omdurman ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับ 2 ของประเทศ จึงมีการอดข้าวประท้วงเรียกร้องให้ยุติระบอบการปกครองของนายอัล-บาเชียร์

กลุ่มนักศึกษาหญิงยังได้จัดตั้งและนำการประท้วงในมหาวิทยาลัย Ahfad University for Women ซึ่งนำไปสู่การเดินขบวนนับพันคนในเมืองหลวงของซูดาน

นอกจากนี้ กลุ่มผู้หญิงที่ลี้ภัยในเมืองวอชิงตันดีซี ลอนดอนและ ดุสเซลดอร์ฟ ก็ออกมาชุมนุมแสดงความสมานฉันท์ด้วย

1 วันต่อมาคือวันที่ 9 มีนาคม แม้จะมีการปล่อยตัวนักกิจกรรมหญิง แต่มีการตัดสินโทษ 9 คน ให้โบย 20 ที และส่งไปยังเรือนจำภายใต้ประกาศภาวะฉุกเฉิน

อีกทั้งในวันต่อมา มีนักกิจกรรมอีก 2 คนถูกจับกุม หนึ่งในนี้เป็นรองหัวหน้าพรรค The National Umma Party (ต่อต้านลัทธิเคร่งศาสนา) ช่วงระหว่างการต่อต้านรัฐบาล ก็ได้มีการจัดทำเอกสารเปิดโปงรูปแบบการใช้ความรุนแรงต่อผู้ประท้วงจำนวนมาก รวมทั้งเปิดโปงการละเมิดทางเพศด้วย

เราจะต้องฟังเสียงของพวกเธอและเราจะไม่เงียบอีกต่อไป เราจะต้องอยู่เคียงข้างเธอให้ได้รับชัยชนะในครั้งนี้

แปลและเรียบเรียงจาก
https://www.opendemocracy.net/en/5050/womens-stories-from-the-frontline-of-sudans-revolution-must-be-told/

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: