บทบาทของสหภาพแรงงานในการแก้ปัญหาช่องว่างค่าจ้างระหว่างเพศ

แปลและเรียบเรียงโดย พัชณีย์ คำหนัก 13 พ.ค. 2562 | อ่านแล้ว 8040 ครั้ง

บทบาทของสหภาพแรงงานในการแก้ปัญหาช่องว่างค่าจ้างระหว่างเพศ

ช่องว่างค่าจ้างระหว่างเพศเป็นหนึ่งในปัญหาของความไม่เท่าเทียมทางเพศในสถานที่ทำงาน ซึ่งสหภาพแรงงานมีบทบาทสำคัญในการยุติความแตกต่างด้านรายได้ระหว่างชายหญิง ที่มาภาพ: IndustriALL

ปัญหาช่องว่างค่าจ้างระหว่างเพศทั่วโลกอยู่ที่ร้อยละ 18.8 ซึ่งแท้จริงไม่ได้เกิดจากปัจจัยด้านประสบการณ์ การศึกษา การสร้างผลิตภาพหรือผลการปฏิบัติงานที่มักใช้กำหนดค่าจ้างในตลาดแรงงาน แต่มาจากการแบ่งแยก/เลือกปฏิบัติทางเพศในภาคอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดปัญหาช่องว่างค่าจ้างระหว่างเพศ จากผลการศึกษาวิจัยใหม่สองฉบับขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) คือ รายงานค่าจ้างทั่วโลกและความเท่าเทียมทางเพศ

ผู้หญิงยังคงด้อยโอกาสในอุตสาหกรรมที่ผู้ชายเคยยึดครองมาก่อน งานที่เป็นที่ต้องการมากที่สุดและมีค่าตอบแทนสูงสุดพบได้ในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์ (STEM) ซึ่งมีกำลังแรงงานหญิงอยู่ส่วนหนึ่ง

แต่งานที่ผู้หญิงทำมักถูกตีค่าต่ำกว่าจึงทำให้ได้ค่าจ้างต่ำ ซึ่งเป็นผลมาจากความคิดดั้งเดิมที่มองงานที่ทำโดยผู้หญิงในบ้าน หรือเพราะเป็นผู้หญิงจึงย่อมได้ค่าตอบแทนน้อยกว่า

ในอาชีพที่ค่อย ๆ มีผู้หญิงเข้าไปทำงานมากขึ้น เช่น ครูประถมศึกษา เกิดปรากฏการณ์เงินเดือนลดลงทั้งผู้หญิงและผู้ชาย นั่นคือเมื่อมีอาชีพที่ผู้หญิงเข้าไปครอบครองเป็นส่วนใหญ่ งานจะถูกตีค่าต่ำลง

จากรายงานของ ILO ในปี 2019 เรื่อง “การก้าวกระโดดเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ: เพื่ออนาคตการทำงานที่ดีสำหรับทุกคน” พบว่า ผู้หญิงในยุโรปคาดว่าจะมีรายได้น้อยลงร้อยละ 14.7 ในธุรกิจที่มีแรงงานหญิงครอบครอง เมื่อเทียบกับธุรกิจที่มีแรงงานชายเป็นหลัก

ในรายงานฉบับนี้ยังได้สะท้อนว่า ผู้หญิงจำนวนมากในระบบเศรษฐกิจดิจิตอลทำรายได้น้อยกว่าผู้ชาย เช่น ธุรกิจหรืองานที่ทำร่วมกันของฝูงชน (Croudwork) ซึ่งเป็นงานที่กระจายให้คนในชุมชนออนไลน์รับไปทำหรือแก้ปัญหา มีความเสี่ยงที่ผู้หญิงจะได้รับค่าจ้างต่ำและทำงานไม่ต่อเนื่อง

นอกจากนี้ งานของผู้หญิงที่มีลูกก็เป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหาช่องว่างค่าจ้างระหว่างเพศ ผู้หญิงที่มีลูกจะมีรายได้น้อยกว่าผู้หญิงที่ไม่มีลูก ซึ่งเกี่ยวข้องกับการที่เธอหยุดงานไปช่วงหนึ่ง (การหยุดชะงักของตลาดแรงงาน) การลดเวลาทำงาน การจ้างคนที่มีครอบครัวก็ยังให้ค่าตอบแทนต่ำ การจ้างงานที่เลือกปฏิบัติ รวมทั้งการพิจารณาเลื่อนตำแหน่งงานกลายเป็นการลงโทษผู้หญิงที่หยุดงานไปเลี้ยงลูก

สหภาพแรงงานจะช่วยปิดช่องว่างนี้ได้อย่างไร

จากรายงานของ ILO เรื่องบทบาทของสหภาพแรงงานในการปิดช่องว่างค่าจ้างระหว่างเพศ พบว่า ยิ่งมีกระบวนการเจรจาต่อรองร่วมมากเท่าไหร่ ช่องว่างตรงนี้ก็จะเล็กลง แต่แรงงานหญิงจำนวนมากในภาคการผลิตที่ไม่มีสหภาพแรงงาน จะไม่มีอำนาจต่อรองร่วม ส่วนในประเทศที่คนมีรายได้สูง สหภาพแรงงานมีส่วนช่วยในการลดช่องว่างค่าจ้างระหว่างเพศ

อย่างไรก็ตาม ค่าจ้างที่เท่าเทียมกันสำหรับงานที่มีค่าเท่ากัน มักไม่มีอยู่ในการเจรจาต่อรองเรื่องค่าจ้าง ส่วนใหญ่เป็นการเจรจาแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมทางรายได้ในภาพรวมมากกว่าที่จะเจาะจงปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศ

“การเจรจาต่อรองร่วมได้พิสูจน์แล้วว่า ช่วยเพิ่มค่าจ้างและปิดช่องว่างค่าจ้างระหว่างเพศ แต่เราต้องการผู้นำหญิงในโครงสร้างการตัดสินใจของสหภาพแรงงานและในการเจรจาต่อรองร่วมกับนายจ้าง เพื่อให้ได้ค่าจ้างที่เท่าเทียมกัน การมีส่วนร่วมและการเป็นตัวแทนที่เพิ่มขึ้นของผู้หญิงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้แน่ใจว่าผู้ชายและผู้หญิงจะได้รับประโยชน์อย่างเท่าเทียมกัน” Jenny Holdcroft ผู้ช่วยเลขาธิการสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมโลก กล่าว

รายงานบทบาทของสหภาพแรงงานในการปิดช่องว่างค่าจ้างระหว่างเพศของ ILO ได้ให้ข้อเสนอแนะแก่สหภาพแรงงาน ดังนี้

ให้ความสำคัญกับปัญหาการเลือกปฏิบัติทางเพศ

สหภาพแรงงานต้องท้าทายแบบแผนประเพณีการเลือกปฏิบัติระหว่างเพศและบรรทัดฐานทางสังคมที่จำกัดผู้หญิงในการเข้าถึงตลาดแรงงานและงานที่มีคุณภาพ ในการเจรจาต่อรองร่วมควรมีมาตรการขจัดอุปสรรคในการเข้าถึงการจ้างงานของผู้หญิง เช่น นโยบายสร้างความสมดุลระหว่างงานกับชีวิตครอบครัวของชายและหญิง การสร้างโอกาสเข้ารับการฝึกอบรมและพัฒนาอาชีพที่เท่าเทียมกันระหว่างชายหญิง การปรับปรุงสวัสดิการวันลาเลี้ยงดูบุตรพร้อมจ่ายค่าจ้าง การจัดให้มีสวัสดิการดูแลเด็กและการแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ

ต้องมีมาตรการสร้างความเท่าเทียมทางเพศที่เฉพาะเจาะจง

สหภาพแรงงานควรมีข้อเรียกร้องเฉพาะเพื่อปิดช่องว่างค่าจ้างระหว่างเพศ รวมถึงให้มีความโปร่งใสในการขึ้นค่าจ้างและเงินเดือน ให้มีการขึ้นค่าจ้างในภาคการผลิต/อาชีพที่มีกำลังแรงงานหญิงครอบครอง ให้มีการประเมินผลการทำงานอย่างเป็นกลาง หลีกเลี่ยงอคติทางเพศ และเรียกร้องให้มีการประเมินค่าตอบแทนในการประกอบอาชีพของผู้หญิงใหม่

ส่งเสริมการทำระบบค่าจ้างรวม

สหภาพแรงงานและการทำระบบค่าจ้างรวมมีส่วนช่วยลดความไม่เท่าเทียมของค่าจ้าง คือ สหภาพแรงงานจะต้องมีข้อเรียกร้องเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำและเจรจาต่อรองให้ครอบคลุมภาคการผลิตที่มีกำลังแรงงานหญิงเป็นส่วนใหญ่ เช่นเดียวกับแรงงานนอกระบบหรือลูกจ้างชั่วคราวซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง การรณรงค์ยกระดับค่าจ้างขั้นต่ำไปสู่ค่าจ้างยังชีพได้สำหรับแรงงานทุกคนจะช่วยเพิ่มค่าจ้างของผู้หญิงไปพร้อมกัน
ปกป้องผู้หญิงในห่วงโซ่อุปทาน

ความเข้มข้นของการใช้แรงงานหญิงในระบบห่วงโซ่อุปทานตอนปลาย ที่ซึ่งมีการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานน้อยที่สุดและมีการแข่งขันอย่างรุนแรงที่สุดจะนำไปสู่ปัญหาช่องว่างรายได้ระหว่างเพศ

กรอบข้อตกลงร่วมกันระหว่างสหภาพแรงงานสากลกับบรรษัทข้ามชาติสามารถปรับปรุงสภาพการทำงานได้ ตัวอย่างเช่น โครงการของสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมโลก (IndustriALL) ร่วมกับคนงานตัดเย็บเสื้อผ้าในตุรกีได้ทำข้อตกลงร่วมกับแบรนด์ดัง คือ Inditex, H&M และ ASOS ให้ตระหนักถึงความเท่าเทียมทางเพศในที่ทำงาน การดำเนินการตามข้อตกลงนี้จะมีบทบาทสำคัญในการเพิ่มค่าจ้างผู้หญิงในห่วงโซ่อุปทาน

เสริมสร้างพลังของผู้หญิง

สหภาพแรงงานควรจัดให้มีตัวแทนหญิงในโครงสร้างบริหารขององค์กรและในการเจรจาต่อรองร่วมกับนายจ้างเพื่อให้ได้ข้อตกลงที่เกี่ยวข้องกับสิทธิผู้หญิง การให้ผู้หญิงเป็นตัวแทนในสหภาพแรงงานและในทีมเจรจาข้อเรียกร้องจะส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการต่อรองให้ได้มาซึ่งสิทธิประโยชน์ของแรงงานหญิงนั่นเอง


แปลและเรียบเรียงจาก
http://www.industriall-union.org/what-unions-can-do-to-close-the-gender-pay-gap

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: