พบ ‘ไอเสียดีเซล’ เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของปัญหา ‘ฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน’ (PM 2.5) ในกรุงเทพฯ หากจะลดมลพิษต้องเร่งใช้ ‘มาตรฐานไอเสีย-น้ำมัน Euro 5’ ประเมินเงินลงทุนครั้งเดียว 25,000 ล้านบาท ด้าน ‘คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ’ ประชุมครั้งแรกปี 2562 แก้ปัญหาเฉพาะหน้าสั่งการเข้มงวดตรวจจับรถควันดำ ระยะยาวผลักดันให้ใช้ ‘Euro 5-รถโดยสาร NGV/EV/ไฮบริด-ปรับลดอายุการตรวจสภาพรถใช้งาน-เพิ่มภาษีรถยนต์เก่า-จัดโซนนิ่งจำกัดรถเข้าเมืองช่วงเวลาเร่งด่วน’ หวังลดฝุ่นละออง PM 2.5 ในกรุงเทพ
ตั้งแต่ปลายปี 2561 ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครเผชิญกับปัญหา ‘ฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน’ (PM 2.5) อยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพในหลายพื้นที่ ซึ่งกรมควบคุมมลพิษระบุว่าสาเหตุของระดับฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เกิดขึ้นช่วงปลายปี 2561ถึงต้นปี 2562 นี้มาจากสภาพอากาศที่มีหมอกในตอนเช้า อากาศนิ่ง และมีสภาพอากาศปิด ทำให้มีการสะสมของฝุ่นละอองในอากาศเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ พบว่าฝุ่นละเอียดขนาดเล็กกว่า PM 2.5 นั้นมีอันตรายต่อสุขภาพมากกว่าฝุ่นขนาดใหญ่ โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ประมาณการจากแบบจำลองว่าในปี ค.ศ. 2010 ประชากรทั่วโลกเสียชีวิตจากฝุ่น PM2.5 ประมาณ 3.1 ล้านคน และอายุขัยของประชากรโลกลดลงโดยเฉลี่ย 8.6 เดือน สำหรับประเทศไทยจากแบบจำลองขององค์การอนามัยโลก มีอัตราการเสียชีวิตจากมลพิษอากาศในปี ค.ศ. 2013 ประมาณ 50,000 คน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1.8 ล้านล้านบาท [1]
แหล่งกำเนิดฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพ พบ ‘ไอเสียดีเซล’ สาเหตุสำคัญ
ต้นเหตุสำคัญอย่างหนึ่งของฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพคือ ‘ไอเสีย’ ที่มาจากเครื่องยนต์ที่เผาไหม้ไม่สมบูรณ์ โดยเฉพาะเครื่องยนต์ ‘ดีเซล’ ที่ใช้กับรถและเครื่องจักร โดยข้อมูลจากรายงาน 'โครงการศึกษาแหล่งกำเนิดและแนวทางการจัดการฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล' โดยกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เผยแพร่เมื่อเดือน ส.ค. 2561 ได้อ้างการศึกษา Source Apportionment ด้วยการวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีของฝุ่นในบรรยากาศพื้นที่กรุงเทพ ของ Kim Oanh ในปี 2550 และ 2560 พบว่าฝุ่น PM2.5 จากการตรวจวัดที่ดินแดงในปี 2550 มาจากไอเสียรถดีเซล ร้อยละ 52 จากการเผาชีวมวลร้อยละ 35 ฝุ่นทุติยภูมิและอื่นๆ ร้อยละ 13 ส่วนในปี 2560 พบว่าฝุ่น PM2.5 มาจากไอเสียรถดีเซลร้อยละ 20.8-29.2 จากการเผาชีวมวลร้อยละ 24.6-37.8 ฝุ่นทุติยภูมิร้อยละ 15.8-20.7 และอื่นๆ ทั้งนี้ในช่วงหน้าแล้งจะมีการเผาชีวมวลสูงกว่าในช่วงหน้าฝน [2]
ต้นทุนควบคุมฝุ่นละออง ปรับปรุงใช้น้ำมันดีเซลเป็นมาตรฐาน Euro 5
ปัจจุบัน รถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลในประเทศไทยยังคงใช้น้ำมันมาตรฐานไอเสียรถยนต์ที่มีค่ากำมะถันสูงอยู่ก่อให้เกิดการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ ต่างจากรถยนต์ที่ใช้เบนซินที่ใช้น้ำมัน Euro 4 ที่ปล่อยมลพิษน้อยกว่า และดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่าฝุ่นละเอียด PM2.5 มีอันตรายมากกว่าฝุ่นขนาดใหญ่ โดยเฉพาะฝุ่นจากไอเสียรถดีเซลถูกจัดว่าเป็นสารก่อมะเร็ง อีกทั้งองค์การอนามัยโลกระบุว่าไม่มีระดับฝุ่นละอองขั้นต่ำใดใดที่ยอมรับได้ว่าปลอดภัยต่อสุขภาพอนามัย ทั้งนี้องค์การอนามัยโลกคาดคะเนว่าประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากมลพิษอากาศใน ปี 2556 ประมาณ 50,000 คน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1.8 ล้านล้านบาท ดังนั้นการลงทุนเพื่อควบคุมมลพิษ PM2.5 จึงน่าจะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า หลายฝ่ายจึงผลักดันให้มีการปรับปรุงมาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิงและมาตรฐานไอเสียรถยนต์เป็นระดับ Euro 4 เพื่อลดระดับฝุ่นละอองและการสูญเสียด้านสุขภาพอนามัยที่คิดเป็นมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท หากมีการนำมาตรฐาน Euro 5 และ Euro 6 มาใช้โดยเร่งด่วนย่อมจะยังผลประโยชน์ต่อสุขภาพอนามัยที่คุ้มค่ากับการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม [3]
นอกจากนี้ ประเทศไทยเคยประสบความสำเร็จโครงการกลยุทธ์ในการควบคุมฝุ่น PM10 ในกรุงเทพ เมื่อปี พ.ศ.2540 และการปรับปรุงมาตรฐานรถยนต์และคุณภาพน้ำมันดีเซล Euro 3 เมื่อปี พ.ศ. 2547 มาแล้ว ซึ่งบทเรียนและความสำเร็จในการควบคุมฝุ่น PM10 น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีในการวางแผนงานและกำหนดมาตรการในการควบคุมฝุ่น PM 2.5 ในอนาคต (อ่านเพิ่มเติม จับตา: บทเรียนการปรับปรุงมาตรฐานรถยนต์และคุณภาพน้ำมัน Euro 3 และ 4)
ทั้งนี้ จากการประเมินของกรมควบคุมมลพิษในปี 2556 ระบุว่าหากไทยมีการปรับปรุงใช้น้ำมันดีเซลเป็นมาตรฐาน Euro 5 จะใช้เงินลงทุนครั้งเดียว 25,000 ล้านบาท แต่จะให้ผลประโยชน์ในด้านต่างๆ รวมถึง 22,680-56,700 ล้านบาท/ปี เลยทีเดียว [4] อนึ่งจากการประเมินต้นปี 2562 คาดว่าจะใช้เงินลงทุน 35,000 ล้านบาท (อ่านเพิ่มเติม: ต้องรอถึงปี 2567 โรงกลั่นจะเริ่มผลิตน้ำมัน Euro 5 แก้ปัญหาฝุ่นพิษ คาดลงทุนกว่า 3.5 หมื่นล้านบาท) *เพิ่มเติมข้อมูลเมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2562
คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ สั่งการเข้มงวดตรวจจับรถควันดำและบังคับใช้กฎหมาย
เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2562 ในการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2562 ที่ประชุมรับทราบรายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลจากสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 บริเวณกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่พบเกินมาตรฐานในช่วงต้นปีและปลายปีของทุกปี [มาตราฐาน PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง คือ 50 มคก./ลบ.ม. (ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร)] ซึ่งแหล่งกำเนิดหลักมาจากยานพาหนะ ประกอบกับสภาพอุตุนิยมวิทยาที่ลักษณะอากาศจมตัว ลมสงบ อากาศปิด ทำให้ฝุ่นละอองสะสมในบรรยากาศ โดยเฉพาะบริเวณที่มีการจราจรติดขัด ได้แก่ บริเวณริมทางคู่ขนาน ถนนพระราม 2 บริเวณริม ถนนกาญจนาภิเษก เป็นต้น
ทั้งนี้ การรับมือสถานการณ์ PM 2.5 ในปี 2562 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นการทำงานร่วมกับกรุงเทพฯ และปริมณฑล กองบังคับการตำรวจจราจร กรมการขนส่งทางบก กองทัพบก กรมอนามัย กรมอุตุนิยมวิทยา ผ่าน ศูนย์ประสานงานและแจ้งเตือนสถานการณ์ PM 2.5 ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยร่วมกันวางแนวทางและมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหา PM2.5 ดังนี้ 1) เพิ่มความถี่ในการกวาดล้างทำความสะอาดถนน 2) ฉีดพ่นน้ำเป็นละอองในอากาศเพื่อลดฝุ่นละอองในบริเวณที่มีฝุ่นละออง PM 2.5 เกินมาตรฐาน 3) เข้มงวดตรวจจับรถควันดำและบังคับใช้กฎหมาย 4) แก้ไขปัญหาฝุ่นละอองจากเส้นทางก่อสร้างรถไฟฟ้า โดยเร่งคืนผิวการจราจร ณ จุดที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว สำหรับจุดที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างจะบีบหรือลดพื้นที่การก่อสร้างบนพื้นผิวการจราจร 5) แก้ไขปัญหาฝุ่นละอองจากการก่อสร้างอาคารสูง โดยจะดำเนินการติดตามตรวจสอบและสำรวจ ให้ผู้ประกอบการดำเนินการตามมาตรการลดฝุ่นละอองให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ 6) แก้ไขปัญหาการจราจรที่ติดขัด โดยการอำนวยความสะดวกในการจราจรให้ดีขึ้น รวมถึงการเข้มงวดมิให้มีการจอดรถริมถนนสายหลัก 7) เข้มงวดมิให้มีการเผาขยะและเผาในที่โล่ง และ 8) รณรงค์ไม่ให้ติดเครื่องยนต์ขณะจอดในสถานที่ราชการ โรงพยาบาล โรงเรียน และพื้นที่มลพิษสูง
สำหรับการแก้ไขปัญหาระยะยาว เร่งรัดการลดการระบายมลพิษจากยานพาหนะ ได้แก่การปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิง ปรับปรุงคุณภาพรถยนต์ตามมาตรฐาน Euro 5 ผลักดันให้ใช้รถโดยสาร NGV/EV/ไฮบริด ปรับลดอายุการตรวจสภาพรถใช้งาน เพิ่มภาษีรถยนต์เก่า และจัดโซนนิ่งจำกัดรถเข้าเมืองช่วงเวลาเร่งด่วน ทั้งนี้จะดำเนินการก่อนเครือข่ายการให้บริการขนส่งสาธารณะโดยเฉพาะรถไฟฟ้าจะแล้วเสร็จ [5]
อ้างอิง
[1] The Cost of Air Pollution (World Bank, 2016)
[2] รายงาน 'โครงการศึกษาแหล่งกำเนิดและแนวทางการจัดการฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล' (กรมควบคุมมลพิษ, 2561)
[3] อ้างแล้ว
[4] เอกสารทางวิชาการการปรับปรุงคุณภาพเชื้อเพลิงยูโร 5 (กรมควบคุมมลพิษ, 2556)
[5] พลเอก ประวิตรฯ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2562 (กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก, 4/1/2562)
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ต้องรอถึงปี 2567 โรงกลั่นจะเริ่มผลิตน้ำมัน Euro 5 แก้ปัญหาฝุ่นพิษ คาดลงทุนกว่า 3.5 หมื่นล้านบาท
เตรียมเรียกตัวแทนโรงกลั่นน้ำมันหารือ หวังยกมาตรฐานน้ำมันเป็น Euro 5 แก้ปัญหาฝุ่นพิษ
จับตา: บทเรียนการปรับปรุงมาตรฐานรถยนต์และคุณภาพน้ำมัน Euro 3 และ 4
โรงกลั่นค้าน 'น้ำมันยูโร 5' ที่ช่วยลดมลพิษ
*เพิ่มเติมข้อมูลเมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2562
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ