งานวิจัยเตือนระวังภัยจาก ‘พิศวาสอาชญากรรมออนไลน์’

ทีมข่าว TCIJ | 13 ต.ค. 2562 | อ่านแล้ว 7134 ครั้ง

เปิดงานวิจัย 'พิศวาสอาชญากรรมออนไลน์' (Romance Scam) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบ มิ.ย. 2561-พ.ค. 2562 ไทยมีผู้ร้องทุกข์ถูกล่อลวงให้โอนเงิน ผ่านการรู้จักและพบรักกันบนสื่อสังคมออนไลน์ 332 ราย มีมูลค่าความเสียหายกว่า 193 ล้านบาท ชี้สัดส่วนคดีพิศวาสอาชญากรรมนี้น้อยมากที่จะผ่านจากชั้นตำรวจ อัยการ ขึ้นไปสู่ศาล  เหตุเพราะผู้เสียหายไม่กล้าแจ้งความ อีกทั้งข้อจำกัดของเจ้าหน้าที่ในด้านเก็บรวบรวมหลักฐานและขั้นตอนในการสืบหาพยานหลักฐาน-การเลือกใช้กฎหมายในการดำเนินคดี

ข้อมูลจาก ‘โครงการวิจัยข้อจำกัดของกระบวนการยุติธรรมเพื่อป้องกันและปราบปรามพิศวาสอาชญากรรม (Romance Scam) และแนวทางสร้างความตระหนักรู้ให้ประชาชน' โดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) พบว่า ปัจจุบันพฤติกรรมด้านการปฏิสัมพันธ์ของประชาชนเปลี่ยนแปลงไปตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี มีประชาชนจำนวนมากที่ใช้เทคโนโลยีในการหา 'คู่' หรือแสวง 'รัก' ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดการกระทำความผิดที่เรียกว่า ‘Romance Scam’ หรือ 'พิศวาสอาชญากรรม' โดย Romance Scam คือการที่ 'นักต้มตุ๋น' (Scammer) ได้ใช้เทคนิคทางจิตวิทยาผ่านเครื่องมือทางเทคโนโลยีต่างๆ ในการหลอกลวงให้ 'เหยื่อ' หลงเชื่อ จนกระทั่งยินยอมให้สิ่งต่างๆ ที่นักต้มตุ๋นต้องการ

การสื่อสารในยุคดิจิทัลเอื้อให้คนแปลกหน้าเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลได้ง่าย ด้วยข้อมูลที่ผู้ใช้แสดงออกในโลกไซเบอร์ ข้อมูลที่ผู้ใช้บันทึกเองนี้ได้เพิ่มความเสี่ยงให้อาชญากรนำมาเป็นฐานข้อมูลในการล่อลวงทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งสร้างความเสียหายทั้งต่อตัวบุคคล และลดความเชื่อมั่นในหมู่ผู้ใช้อินเตอร์เน็ต ซึ่งปัจจุบันพบว่ามาตรการทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของไทยที่มีอยู่ไม่สามารถป้องปรามการจู่โจม หรือเยียวยาความเสียหายได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอาชญากรรมข้ามชาติ ดังนั้นการสร้างมาตรการเตือนภัยล่วงหน้าและสร้างความตระหนักรู้ อาจจะเป็นผลดีกว่าการเยียวยาเหยื่อและตามดำเนินคดีอาชญากรหลังเกิดความเสียหายแล้ว

จาก E-mail สู่ Social Media และเหยื่อ 'คนขี้เหงา' ที่แชร์ข้อมูลส่วนตัวสู่โลกออนไลน์

ในงานวิจัยฯ ระบุว่าลักษณะการล่อลวงของ ‘นักหลอกลวงรัก’ (Romance Scammer) จะอาศัยหลักการพื้นฐานทางจิตวิทยาร่วมกับการเก็บรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล การวางแผน และการดำเนินขั้นตอนตามที่วางแผนไว้ หรือเรียกรวมๆ ว่า 'วิศวกรรมสังคม' (Social Engineering) โดยกระบวนการล่อลวงนี้สามารถแบ่งได้เป็นขั้นตอนหลัก 6 ขั้นตอน คือ 1. การปลอมโปรไฟล์ 2. เลือกช่องทางในการล่อลวงเป้าหมาย 3. เลือกเป้าหมาย (เหยื่อ) 4. สร้างบทบาทเพื่อเข้าถึงเป้าหมาย 5. การสร้างสถานการณ์ และ 6. บรรลุภารกิจทางการเงิน

กลยุทธ์ในการยั่วยวนเหยื่อให้หลงเชื่อ ในยุคแรกๆ นั้น มักจะเป็นการหลอกลวงทาง ‘อีเมล์’ (E-mail) โดยวิธีการนี้เป็นการส่งอีเมล์ ที่มีการติดต่อซื้อขาย การหลอกลวงเรื่องการจัดหางาน รวมถึงเป็นการหลอกลวงที่เป็นการปลอมอีเมล์ โดยส่วนมาก อาชญากรจะส่งอีเมล์ไปให้เหยื่อที่เป็นเป้าหมาย จะไม่มีการพบปะหรือนัดเจอกัน ซึ่งอีเมล์ที่ส่งจะเป็นเอกสารจากส่วนงานต่างๆ ส่วนในยุคต่อมาการหลอกลวงมักจะมาทางโซเชียลมีเดีย (Social Media) เช่น Facebook, Line และ Instagram ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่อาชญากรใช้มากที่สุด เนื่องจากว่า Social Media ดังกล่าวมีผู้คนเข้าใช้งานเป็นจำนวนมาก อีกทั้งพฤติกรรมของผู้ใช้งานยังถูกเปิดเผยสู่สาธารณะได้ง่าย จึงทำให้อาชญากร สามารถเลือกเหยื่อหรือเลือกเป้าหมายได้ไม่ยากนัก โดยในปัจจุบันนี้พื้นที่ก่อเหตุที่พบมากสุดคือ Facebook รองลงมาคือ Instagram และเว็บไซต์/แอปพลิเคชั่นหาคู่ เช่น Skout, Tinder, Badoo, OkCupid, Twoo,Thai date VIP, Tagged และ Match.com เป็นต้น

สำหรับการเลือกเหยื่อ หลักการของการเลือกเหยื่อคือการมองหา 'คนขี้เหงา' ที่ต้องการหาเพื่อน/คู่ชีวิตในโลกออนไลน์ ต่อมาคือการประเมินศักยภาพทางการเงิน โดยสิ่งเหล่านี้จะถูกประเมินผ่านข้อมูลส่วนบุคคลที่แสดงในเครือข่ายสังคมออนไลน์ เช่น ชื่อ อายุ อาชีพ สถานะทางการเงิน สภาพคู่ครอง และวิถีการดำเนินชีวิต เป็นต้น รวมถึงการแชร์เรื่องราว/รูปภาพ หรือการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ด้วย

ทั้งนี้ กิจกรรมของผู้ใช้อินเตอร์เน็ตที่ต้องเผชิญความเสี่ยงจากการล่อลวง ได้แก่ เครือข่ายสังคมออนไลน์ Facebook และ Instagram ทำให้ผู้ใช้งานสามารถพบเจอผู้คนที่รู้จัก หรือการสร้างกลุ่มของคนที่มีความคิด ความชอบที่เหมือนหรือคล้าย กัน ให้เข้ามาพบเจอกัน โดยจะเป็นการเน้นการสร้างชุมชนหรือ Community บนโลกออนไลน์ ในลักษณะ ‘Look at Me’ จึงมีข้อมูลส่วนบุคคลปริมาณมาก แอพพลิเคชั่นอีกตัวหนึ่งที่ได้รับความนิยมไม่น้อยไปกว่ากัน อย่าง Twitter เป็นแพลตฟอร์มในรูปแบบ ‘Look at This’ คือการที่ผู้ใช้งานเลือกที่จะเห็นว่าตนเองอยากเห็นอะไร สนใจเนื้อหา (Content) ในเรื่องใด ก็จะติดตามหรือเลือกที่จะเห็นเนื้อหาที่ตนสนใจ มากกว่าการเผยข้อมูลส่วนบุคคลให้ผู้อื่นล่วงรู้ รวมทั้งแอพพลิเคชั่นที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้งานที่ต้องการหาคู่ หาเพื่อนทานข้าว หรือหาเพื่อนเที่ยว

มิ.ย. 2561-พ.ค. 2562 เหยื่อพิศวาสอาชญากรรม 332 ราย มูลค่าความเสียหาย 193 ล้านบาท

สำหรับสถานการณ์ปัจจุบันพบว่าปี 2558 ผู้ร้องเรียนคดีลักษณะพิศวาสอาชญากรรมมี80 คดี มูลค่าความเสียหาย 150 ล้านบาท และตั้งแต่ช่วงเดือน มิ.ย. 2561-พ.ค. 2562 ประเทศไทยมีผู้ร้องทุกข์จากกรณีพิศวาสอาชญากรรม หรือการถูกล่อลวงให้โอนเงินผ่านการรู้จักและพบรักกันบนสื่อสังคมออนไลน์จำนวน 332 ราย มีมูลค่าความเสียหาย 193 ล้านบาท

ในงานวิจัยฯ ยังระบุว่าพบแนวโน้มของผู้ที่ตกเป็น 'เหยื่อ' มักมีลักษณะดังนี้ เพศหญิงอายุ 45-65 ปี (ค่าเฉลี่ยอายุ 50 ปี), สถานภาพหย่าร้าง/หม้าย, เหงา และต้องการมีเพื่อนต่างชาติ ผู้ที่ขาดความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการนำข้อมูลส่วนบุคคล หรือวิถีชีวิต (lifestyle) เข้าสู่โลกดิจิทัล เช่น การแสดงข้อมูลชื่อ อายุ การทำงาน สถานะทางสังคมสถานภาพคู่ครอง งานอดิเรก ความชื่นชอบส่วนตัว การแสดงความคิดเห็น ภาพถ่าย สเตตัส และการแชร์ข้อมูล เป็นต้น สำหรับบุคคลที่มีบุคลิกภาพอารมณ์ 'อ่อนไหวง่าย' (sensitive) หรือ 'ขี้สงสาร' อย่างไรก็ตามเพียงแค่การเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลเป็นประจำ ประกอบกับเป็นคนขี้เหงา/ขี้สงสาร และหลงเชื่อที่จะตอบกลับข้อความจากแชตคนแปลกหน้าถือว่ามีความเสี่ยงในการตกเป็นเป้าหมาย (เหยื่อ) ของนักต้มตุ๋น (romance scam) ได้ถึง 70%

'นักต้มตุ๋นออนไลน์' มักใช้ 'ความโรแมนติก'

นักต้มตุ๋นมักจะสร้างความน่าเชื่อถือทางอาชีพ ดังตัวอย่างเช่น ส่งภาพหนังสือเดินทาง หรือบัตรเจ้าหน้าที่/พนักงาน ที่ผ่านการปลอมแปลงแล้วด้วยการตัดต่อภาพถ่าย และข้อมูลส่วนบุคคล ที่พบมากสุดคือ การแต่งกายด้วยเครื่องแบบทหาร, ส่งภาพสวมเครื่องแบบวิศวกรสนาม ภาพถ่ายแท่นขุดเจาะน้ำมันกลางทะเล ซึ่งเป็นภาพที่ขโมยมา หรือตัดต่อเรียบร้อยแล้ว และส่งเว็บไซต์บริษัท/สถานที่ทำงานให้เป้าหมาย เพื่อให้ตรวจสอบได้ว่าตนได้ทำงานอยู่ที่แห่งนั้นจริง ด้วยการสร้างเว็บไซต์ปลอมขึ้นมา เป็นต้น

ลักษณะร่วมของการแสดงบทบาทของนักหลอกลวงรัก คือการสานสัมพันธ์เชิงชู้สาวจนกลายเป็น 'คนรักในอุดมคติ' ด้วยการแสดงออกด้วยวิธีต่างๆ ดังนี้ การส่งข้อความทักทาย และใช้คำพูดที่แสนหวาน เช่น Hi dear Hi honey สวัสดีที่รัก, ทำให้เป้าหมายรู้สึกว่า 'เป็นคนสำคัญ' แสดงความเอาใจใส่ เช่น การทักทายตอนเช้า การบอกฝันดีก่อนนอน การถามถึงความเป็นอยู่ประจำวัน พร่ำแต่บอกรัก สัญญารักว่าจะมั่นคงกับคุณคนเดียว วาดฝันว่าจะมาใช้ชีวิตบั้นปลายร่วมกัน หรือต้องการทำธุรกิจร่วมกันที่ประเทศไทย

แสดงตัวว่ามีลักษณะของ 'คนดี' เช่น การใช้คำพูดและสำนวนในแง่ดีที่จะสื่อนัยของการเป็นคนที่ซื่อสัตย์ จริงใจ และพึ่งพาได้ รวมถึงยอมรับข้อเสียและจุดบกพร่องของเป้าหมายได้ทุกอย่าง, พยายามสานสัมพันธ์อย่างรวบรัด และรวดเร็ว ตั้งแต่ 2-3 วัน ไปจนกระทั่งการอดทนยอมใช้เวลาเพื่อสานสัมพันธ์ไปเรื่อยๆ จนกว่าเป้าหมายจะตกหลุมพราง บางครั้งยาวนานถึง 2 ปี และมีการส่งภาพถ่ายกิจกรรมระหว่างวัน วิถีชีวิต ให้เหมือนเป็นการสนทนาแบบคู่รัก และแสดงให้เห็นว่ามีตัวตนอยู่จริง เป็นต้น

สร้างสถานการณ์เพื่อหลอกฟันเงิน

นักต้มตุ๋นมักจะแสดงสถานการณ์ต่างๆ ที่สร้างความสงสาร ความเห็นใจ และความหวังว่าจะได้พบกัน จะถูกสร้างขึ้นเพื่อร้องขอเงินจากเป้าหมาย (เหยื่อ) อันนำไปสู่การสูญเสียทรัพย์สินของเหยื่อ เช่น มีปัญหาทางการเงินเร่งด่วน เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าเล่าเรียน ธุรกิจถูกโกง/มีปัญหา เกิดอุบัติเหตุ ซื้อตั๋วเครื่องบิน/ทำวีซ่าเพื่อเดินทางมาพบกัน ค่าเช่าห้องพัก เป็นต้น, ส่งสิ่งของ/ทรัพย์สินมาให้ แต่ติดปัญหาที่กรมศุลกากรสนามบิน หรือสถานีตำรวจ ต้องจ่ายเงินค่าธรรมเนียมเพื่อรับสิ่งของ/ทรัพย์สินเหล่านั้น, ชักชวนให้ร่วมลงทุนสร้างธุรกิจเพื่อใช้ชีวิตบั้นปลายร่วมกัน, ขอแต่งงาน และส่งทรัพย์สินของหมั้นมาให้ยังประเทศไทยแต่ถูกยึดทรัพย์สินต้องจ่ายค่าธรรมเนียมก่อน (แสร้งว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐโทรศัพท์มาแจ้งค่าธรรมเนียมต่างๆ), เกิดปัญหาฉุกเฉินระหว่างการเดินทางมาพบกันและต้องการใช้เงินด่วน เช่น ทรัพย์สินจำนวนมากที่นำมาถูกยึด กระเป๋าเงินหาย ถูกกักตัวที่สนามบิน บัตรเครดิตใช้งานไม่ได้ เป็นต้น

โดยเทคนิคการร้องขอเงินหรือผลประโยชน์ มี 2 เทคนิค คือ 1. Foot in the door technique (FITD) ตัวอย่างเช่น ครั้งแรกนักหลอกลวงรักจะขอให้เป้าหมาย (เหยื่อ) โอนเงินจำนวนไม่มากนักโดยมักอ้างว่าต้องใช้เงินด่วน ขอยืมเงินบางส่วน ซึ่งถ้าเหยื่อหลงเชื่อในครั้งแรก นักต้มตุ๋นก็จะเริ่มขอเงินจำนวนมากขึ้นในครั้งต่อไปด้วยการอ้างสถานการณ์อื่นๆ และ 2. Door in the face technique (DITF) ตัวอย่างเช่น นักหลอกลวงรักขอให้เหยื่อโอนเงินจำนวน 200,000 บาท เมื่อเป้าหมาย (เหยื่อ) ปฏิเสธว่าไม่มีเงินมากขนาดนั้น เขาก็ลดจำนวนเงินลงเหลือ 30,000 บาท โดยอ้างเหตุผลว่าได้เงินมาบางส่วนแล้วและต้องการอีกแค่บางส่วนเท่านั้น ซึ่งถ้าเป้าหมาย (เหยื่อ) ยอมโอนเงินในครั้งแรกก็จะมีการขอครั้งต่อไปเรื่อยๆ หรือบางครั้งนักหลอกลวงรักก็จะหายตัวไปทันที

นักหลอกลวงรักจะร้องขอให้มีการโอนเงินจาก 3 ช่องทางหลักดังนี้

  1. โอนเงินไปบัญชีธนาคารภายในประเทศไทย เป็นช่องทางที่จะถูกร้องขอบ่อยที่สุดถึง 90% และส่วนมากชื่อเจ้าของบัญชีเป็นชื่อคนไทย ซึ่งการโอนเงินนี้มักเกิดจากกรณีที่ผู้ร่วมขบวนการอ้างตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่ศุลกากร/เจ้าหน้าที่สนามบิน/เจ้าหน้าที่ส่งพัสดุ/เจ้าหน้าที่ของรัฐอื่นๆ โทรศัพท์แจ้งเป้าหมาย (เหยื่อ) ว่า “มีผู้ส่งพัสดุมูลค่ามหาศาลมาให้ ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเพื่อรับพัสดุดังกล่าว” และอีกกรณีที่พบได้คือนักต้มตุ๋นอ้างว่าเป็นบัญชีของเพื่อน หรือคนกลางที่สามารถส่งเงินต่อไปยังต่างประเทศได้อย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี 2560–2561 พบว่าธนาคารที่นักหลอกลวงรักมักร้องขอให้โอนมากที่สุดคือ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) รองลงมาคือ ธนาคารทหารไทย (TMB) ธนาคารกรุงเทพ (BBL) และธนาคารกสิกร (KBank) ตามลำดับ
  2. โอนเงินไปต่างประเทศ ส่วนใหญ่ประเทศปลายทางคือ ไนจีเรีย และมาเลเซีย ผ่านธนาคาร หรือสถาบันทางการเงิน Western Union ในช่องทางดังกล่าวมักเป็นกรณีที่อ้างว่าเกิดเหตุฉุกเฉินระหว่างการติดต่อธุรกิจ หรือทำธุรกิจต่างประเทศ และ
  3. มอบเงินด้วยตนเอง ด้วยเหตุผลว่าจะได้พบตัวจริงของคู่สนทนาจากออนไลน์ แต่เมื่อถึงเวลานัดหมายกันมักได้รับการปฏิเสธโดยอ้างเหตุผลว่าโดนกักตัวในสนามบินเพราะพกทรัพย์สินและเงินสดมาเป็นจำนวนมาก จึงให้ตัวแทน (เพื่อน นักการทูต เจ้าหน้าที่ศุลกากร) ถือทรัพย์สิน/เงินสดมาให้แทน และต้องมีการจ่ายเงินเพื่อแลกกับสิ่งของเหล่านั้น

นอกจากนี้ยังพบกรณีอื่นที่อาจเป็นไปได้ อีกเช่น การถูกแบล็กเมล์ (Blackmail) เมื่อนักหลอกลวงรักสานสัมพันธ์รักจนเหยื่ออยู่ในขั้นตกหลุมรัก และไว้วางใจคู่สนทนาแล้ว นักหลอกลวงรักมักชวนให้เหยื่อทำกิจกรรมรักออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการส่งภาพโป๊เปลือย หรือร่วมเพศผ่านช่องทางการสื่อสารแบบเห็นหน้ากัน เช่น webcam, skype, video call เป็นต้น ซึ่งระหว่างที่เป้าหมาย (เหยื่อ) กำลังทำกิจกรรมรักออนไลน์นั้น จะถูกบันทึกภาพเหล่านั้นไว้และนำภาพเหล่านั้นกลับมา Blackmail เพื่อให้เหยื่อโอนเงินแลกกับการไม่ปล่อยภาพกิจกรรมเหล่านั้นออกสู่โลกออนไลน์ และการให้เป้าหมาย (เหยื่อ) เดินทางไปต่างประเทศเพื่อพบกับนักหลอกลวงรัก ซึ่งเมื่อถึงเวลานัดเป้าหมาย (เหยื่อ) จะไม่ได้พบกับบุคคลที่คาดหวังไว้ แต่จะพบกับคนอื่นๆ ที่อ้างตัวว่ารู้จักกับ “คู่สนทนารักออนไลน์” โดยนักหลอกลวงรักเหล่านั้นจะแสดงบทบาทที่ต่างกันออกไปเพื่อหลอกเงินจากเหยื่อให้มากที่สุดในขณะที่เหยื่ออยู่ต่างประเทศนั้น

สัดส่วนคดีพิศวาสอาชญากรรมน้อยมากที่จะผ่านจากชั้นตำรวจ อัยการ ขึ้นไปสู่ศาล

เวทีเสวนา 'พิศวาส อาชญากรรม : แนวทางป้องกันและปราบปราม' ที่โรงแรมวิคทรี กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2562

ผศ.ดร.ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หัวหน้าโครงการวิจัยฯ ได้ระบุไว้ในเวทีเสวนา 'พิศวาส อาชญากรรม : แนวทางป้องกันและปราบปราม' เมื่อช่วงเดือน ส.ค. 2562 ว่าสำหรับความเสี่ยงอันเนื่องมาจากข้อจำกัดทางกฎหมายแบบรัฐสมัยใหม่ พบว่า Romance Scam ยากที่จะป้องกันเพราะปัจจุบันคนส่วนใหญ่มักจะแบ่งปันเรื่องราวกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันของตนเองลงไปในสื่อสังคมออนไลน์ และผู้ใช้บริการสามารถลงทะเบียนเข้าใช้งานได้โดยไม่จำเป็นต้องระบุข้อมูลส่วนบุคคล ผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์เหล่านี้ก็ไม่ได้มีมาตรการในการรักษาความปลอดภัย ไม่ตรวจสอบ ไม่ตักเตือน

การปราบปรามเป็นไปได้ยาก เพราะการติดตามตัวผู้ต้องหามารับโทษมีความยากลำบากเนื่องจากโดยพื้นฐานแล้ว Romance Scam จะเป็นกรณีที่ผู้ต้องหาจะกระทำความผิดอยู่นอกราชอาณาจักรเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้การร้องทุกข์ต่อความเสียหายที่เกิดจากอาชญากรรมนั้นมีต้นทุน เช่นเดียวกับการสืบสวนทำสำนวนร้อง ประเทศไทยยังขาดแคลนข้อกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่เอื้อต่อการดำเนินคดีไซเบอร์ อยู่นอกเขตอำนาจศาล กระบวนการของรัฐใดรัฐหนึ่งย่อมไม่อาจดำเนินคดีกับอาชญากรและเยียวยาเหยื่อได้อย่างมีประสิทธิผล รวมทั้งขั้นตอนและความซับซ้อนของระบบราชการในการขอความร่วมมือไปยังหน่วยงานอื่นๆ และผู้ให้บริการเอกชน

ผศ.ดร.ทศพล ยังระบุว่า คดีละเมิดสิทธิอันเนื่องมาจากพิศวาสอาชญากรรมที่เกิดขึ้นมีจำนวนน้อยมากที่คดีจะผ่านจากชั้นตำรวจ อัยการขึ้นไปสู่ศาล ถ้าหากคิดเป็นเปอร์เซ็นต์จะเห็นว่าไม่ถึง 10% เท่านั้นที่คดีเหล่านี้จะไปถึงอัยการ และมีเพียง 2% เท่านั้นที่จะรอดไปถึงศาล ซึ่งเปอร์เซ็นต์เหล่านี้ยังไม่นับรวมกลุ่มผู้เสียหายที่ไม่กล้าแจ้งความเพื่อดำเนินคดี ทั้งนี้เพราะข้อจำกัดทางทั้งทางกระบวนการยุติธรรม เช่น ข้อจำกัดของเจ้าหน้าที่ในการเก็บรวบรวมหลักฐาน รวมทั้งความรู้ในวิธีการและขั้นตอนในหารสืบหาพยานหลักฐาน การเลือกใช้กฎหมายในการดำเนินคดี ระยะเวลาในการดำเนินคดี และยังพบว่าเมื่อผู้เสียหายตัดสินใจไปแจ้งความก็มักถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตอบกลับว่า “ก็คุณเป็นคนโอนเงินให้เขาเอง” “ทำไมคุณเชื่อคนง่าย” รวมถึงความไม่รู้กฎหมายและความรู้สึกของการเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรมของผู้เสียหายเอง

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: ขั้นตอนการแจ้งความคดี 'Romance Scam'
คู่มือป้องกันพิศวาสอาชญากรรม ฉบับประชาชน
คู่มือป้องกันพิศวาสอาชญากรรม ฉบับผู้ดูแลระบบและผู้บังคับใช้กฎหมาย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: