ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขในปีงบประมาณ 2562 พบจำนวนประชากรวัยทำงานของไทยอายุ 30-44 ปี มีค่าดัชนีมวลกายปกติ (Body mass index: BMI) แค่ 51.76% ที่มาภาพประกอบ: Mirror
ดัชนีมวลกาย (Body mass index: BMI) เป็นค่าที่อาศัยความสัมพันธ์ระหว่างน้ำหนักตัวและส่วนสูง มาเป็นตัวชี้วัดสภาวะของร่างกายว่ามีความสมดุลของน้ำหนักตัวต่อส่วนสูงอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมหรือไม่ ค่าดัชนีมวลกายสามารถคำนวณได้โดย นำน้ำหนักตัว (หน่วยเป็นกิโลกรัม) หารด้วย ส่วนสูงกำลังสอง (หน่วยเป็นเมตร) BMI= น้ำหนักตัว (kg) / ส่วนสูง m2
ข้อมูลจาก ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าในปีงบประมาณ 2562 (ข้อมูล ณ วันที่ 9 ก.ค. 2562) ประชากรวัยทำงานอายุ 30-44 ปี ทั่วประเทศ (ยกเว้นในเขต กทม.) มีค่าดัชนีมวลกายปกติเพียงร้อยละ 51.76
อนึ่ง 'ดัชนีมวลกายปกติ' หมายถึงค่าดัชนีมวลกาย (BMI) อยู่ในช่วง 18.5-22.9 กก./ตรม.
ช่วง 5 ปี คนไทยเป็นเบาหวานเพิ่มขึ้น 1.6 ล้านคน
จากรายงานการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย พบว่าคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ป่วยด้วยโรคเบาหวาน เพิ่มขึ้น 1.6 ล้านคน ในช่วง 5 ปี (จากผู้ป่วยโรคเบาหวาน 3.2 ล้านราย ในปี 2552 เป็น 4.8 ล้านรายในปี 2557) และพบว่าผู้ป่วยเบาหวานร้อยละ 43.2 ไม่เคยได้รับการวินิจฉัยมาก่อนและไม่ทราบว่าตนเองป่วยเป็นโรคเบาหวาน นอกจากนี้ ยังพบว่าร้อยละ 78.5 หรือมากกว่า 3 ใน 4 ของผู้ป่วยโรคเบาหวานจะมีโรคความดันโลหิตสูงร่วมด้วย ซึ่งโรคเบาหวานนั้น เป็นความผิดปกติทางเมทาบอลิซึม มีลักษณะสำคัญคือทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้อวัยวะเสื่อมสมรรถภาพ และทำงานล้มเหลว เป็นเหตุให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ ตา ไต หลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง
ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคได้ให้คำแนะนำสำหรับประชาชนในการป้องกันโรคเบาหวาน ดังนี้ 1) รับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ เน้นผักและผลไม้ที่หวานน้อย หลีกเลี่ยงอาหารจำพวกแป้ง อาหารหวาน มัน และเค็มจัด 2) งดสูบบุหรี่ 3) ลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 4) ควบคุมน้ำหนักตัวให้เหมาะสม และควรมีค่าดัชนีมวลกายให้อยู่ระหว่าง 18.5-22.9 กิโลกรัม/ตารางเมตร 5) ออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาที/วัน หรือสะสมได้ 150 นาที/สัปดาห์ 6) ทำจิตใจสดชื่นและผ่อนคลาย 7) ถ้าสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคเบาหวานควรดูแลและใส่ใจเรื่องการควบคุมอาหาร การกินยา ตรวจตามนัด และสังเกตอาการผิดปกติเบื้องต้นโดยเฉพาะการเกิดแผลที่เท้า 7) หากมีอาการปัสสาวะบ่อยและมาก คอแห้งกระหายน้ำ หิวบ่อยกินจุ น้ำหนักลด เป็นแผลง่ายและหายยาก คันตามผิวหนัง ตามัวและชาตามปลายมือปลายเท้า ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยต่อไป และ 8) ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน กรมควบคุมโรค โทร. 1422
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ