'แฟลช เอ็กซ์เพรส' ทุน 'อาลีบาบา-สหรัฐฯ' ทุ่ม 2.5 พันล้านบาท ลงสนามแข่ง 'ไปรษณีย์ไทย-เคอรี่'

กองบรรณาธิการ TCIJ 14 ม.ค. 2562 | อ่านแล้ว 12594 ครั้ง

'แฟลช เอ็กซ์เพรส' ทุน 'อาลีบาบา-สหรัฐฯ' ทุ่ม 2.5 พันล้านบาท ลงสนามแข่ง 'ไปรษณีย์ไทย-เคอรี่'

สื่อ 'ฐานเศรษฐกิจ' ระบุ สตาร์ตอัพส่งด่วนน้องใหม่ 'แฟลช เอ็กซ์เพรส' ขนเงินลงทุน 'อาลีบาบา-สหรัฐฯ' 2.5 พันล้านบาท ค่าบริการเริ่มต้น 19 บาท เขย่าบัลลังก์ 'ไปรษณีย์ไทย-เคอรี่' ด้าน 'ไปรษณีย์ไทย' เมินสงครามราคา ที่มาภาพ: The Bangkok Insight

เว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจ รายงานเมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2562 ว่าการแข่งขันในธุรกิจขนส่งสินค้าในไทยเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น เมื่อ บริษัท แฟลช เอ็กซ์เพรส จำกัด สตาร์ตอัพน้องใหม่ ประกาศนำเงินทุน 2,500 ล้านบาท ที่ได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท อาลีบาบาฯ และนักลงทุนทางด้าน อี-คอมเมิร์ซ จากสหรัฐฯ ประกาศว่า ในปี 2562 บริษัทจะทำตลาดเชิงรุกในไทย พร้อมเปิดตัวบริการ "แฟลช เอ็กซ์เพรส" ให้เป็นที่รับรู้ในวงกว้างกับผู้บริโภคมากขึ้น ด้วยการจัดแคมเปญค่าบริการส่ง 19 บาท พร้อมบริการรับสินค้าจากผู้ส่งถึงบ้านแบบ (Door to Door) โดยลูกค้าไม่ต้องเข้าคิวรอรับบริการ โดยเป้าหมายของบริษัท คือ ต้องการมีส่วนแบ่งตลาดในธุรกิจการขนส่งพัสดุด่วนเป็นอันดับ 2 รองจากไปรษณีย์ไทย

ปัจจุบัน ธุรกิจขนส่งพัสดุในไทย มีผู้เล่นรายใหญ่ที่ครองตลาดอยู่เพียงไม่ถึง 10 ราย อาทิ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท), บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด, ลาล่ามูฟ ประเทศไทย, LINE MAN ที่หันมาให้บริการส่งสินค้าทั้งแบบด่วนและ Same day delivery โดยไปรษณีย์ไทยครองตำแหน่งผู้นำในตลาดขนส่ง e-Commerce ด้วยส่วนแบ่งการตลาด 55% จากเครือข่ายให้บริการกว่า 5,000 แห่งที่กระจายทั่วประเทศ ประกอบด้วย ที่ทำการไปรษณีย์ไทยกว่า 1,600 แห่ง และที่ทำการไปรษณีย์เอกชนอนุญาตอีกกว่า 3,000 แห่ง ส่วนอันดับ 2 ได้แก่ เคอรี่ เอ็กซ์เพรส ครองส่วนแบ่งตลาดการจัดส่งพัสดุมากกว่า 40% มีจุดให้บริการ 5,500 สาขา ศูนย์กระจายสินค้าทั่วประเทศกว่า 600 แห่ง พนักงานกว่า 7,000 คน และปีนี้ยังมีแผนรับคนเพิ่มอีก 7,000 คน

"เราเป็นธุรกิจสตาร์ตอัพของคนไทยที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนนักลงทุน เบื้องต้น 2,500 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนจากอาลีบาบา 1,000 ล้านบาท และนักลงทุนทางด้านอี-คอมเมิร์ซจากสหรัฐฯ ซึ่งเราไม่ใช่บริษัทขนส่ง แต่เป็นบริษัทที่มีดีเอ็นเอเป็นบริษัทไอที โดยเอาเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารการจัดส่งสินค้า เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพการทำงานสูงขึ้น และลดต้นทุนการขนส่งสินค้าลงมา" นายคมสัน แซ่ลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แฟลช เอ็กซ์เพรส จำกัด ผู้ให้บริการจัดส่งพัสดุภายในประเทศ ระบุ

อย่างไรก็ตามต้นทุนค่าบริการขนส่งสินค้าในไทยสูงกว่าประเทศจีน โดยอี-คอมเมิร์ซจีนมีขนาดใหญ่กว่าไทย 18 เท่า แต่มีค่าบริการขนส่งสินค้าเฉลี่ยที่ 15 บาท ส่วนไทยมีต้นทุนค่าขนส่ง 30 บาท คิดเป็น 26% ของราคาสินค้า ซึ่งเราต้องการเป็นทางเลือกการขนส่งสินค้าให้กับผู้ซื้อและผู้ขายสินค้าผ่านอี-คอมเมิร์ซ หากค่าบริการขนส่งถูกลง ผู้ซื้อจะได้รับสินค้าที่มีความคุ้มค่ามากขึ้น โดยการจัดทำแคมเปญค่าบริการ 19 บาทนั้น บริษัทได้นำงบการตลาดเข้ามาอุดหนุนประมาณ 600 ล้านบาท เพื่อให้ได้ค่าบริการดังกล่าว ซึ่งต้นทุนที่แท้จริงอยู่ราว 45 บาท

นายคมสัน เชื่อว่าด้วยจุดแข็งของบริษัท ที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการขนส่ง ทั้งระบบหลังบ้านและหน้าบ้านเองทั้งหมด และมีการอัพเดตระบบตลอดเวลา เฉลี่ย 1 สัปดาห์ 2 ครั้ง โดยมีทีมงานพัฒนาระบบที่มีประสบการณ์การทำงานกับอาลีบาบามาช่วยพัฒนา 90 คน จะช่วยให้บริษัทสามารถเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน ทำให้บริษัทสามารถจัดทำแคมเปญค่าบริการขนส่งที่ 15 บาท ได้ภายในปลายปี 2562 โดยใช้เม็ดเงินอุดหนุนด้านการตลาดเท่าเดิม

"โมเดลรายได้หลักของบริษัทไม่ได้มาจากค่าบริการขนส่ง แต่โมเดลธุรกิจของเราจะเกี่ยวข้องกับอี-คอมเมิร์ซ โดยมองว่า อี-คอมเมิร์ซในไทยเติบโตเฉลี่ยประมาณ 40% โดยลาซาด้ามียอดสั่งสินค้าในปี 2561 ประมาณ 2.5 ล้านชิ้น จากเดิมปี 2560 มียอดสั่งสินค้า 8 แสนชิ้น เติบโตขึ้น 150% เชื่อว่าในปี 2562 สงครามค้าปลีกอี-คอมเมิร์ซจะเกิดขึ้นอย่างแท้จริง โดยผู้ให้บริการอี-มาร์เก็ตเพลส ทุกแบรนด์จะอัดเม็ดเงินตลาดลงมาต่อสู้กัน"

นอกจากนี้ บริษัทยังมีช่องทางการหารายได้จากการเป็นที่ปรึกษาการตลาดให้กับผู้ค้าออนไลน์ โดยจะมีการนำเทคโนโลยีบิ๊กดาต้าและเอไอเข้ามาจับพฤติกรรมผู้ใช้บริการ ขณะนี้บริษัทมีฐานลูกค้าใช้บริการราว 1 ล้านบัญชี และตั้งเป้ามีฐานลูกค้าใช้บริการราว 5 ล้านบัญชี ขณะเดียวกันยังมีโมเดลสร้างรายได้จากการให้บริการโฆษณาสินค้าให้กับแบรนด์ต่าง ๆ โดยจะติดสติกเกอร์โฆษณาสินค้าไปที่กล่องพัสดุ

ขณะเดียวกัน บริษัทยังอยู่ระหว่างการขอใบอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เพื่อให้บริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อี-วอลเล็ต เพื่อรองรับการให้บริการเก็บเงินปลายทางผ่านทางกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-COD) คาดว่าภายใน 9 เดือน จะได้รับใบอนุญาตให้บริการอี-วอลเล็ต

'ไปรษณีย์ไทย' เมินสงครามราคา

นางสมร เทิดธรรมพิบูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด หรือ ปณท กล่าวว่ากรณีที่มีผู้ให้บริการรายใหม่เข้ามาเปิดให้บริการในอัตรา 19 บาทนั้น ปณท คงไม่ลงไปเล่นสงครามราคา เพราะสงครามราคาทำให้ผู้ให้บริการทุกรายเจ็บตัว และจะทำให้มาตรฐานบริการของ ปณท. ลดลง ส่วนการใช้เงินอุดหนุนตลาดเพื่อทำราคาลดลงนั้น เราไม่มองเป็นการทุ่มตลาด เนื่องจากเป็นตลาดเสรี ที่รัฐไม่ได้กีดกัน ปิดกั้น หรือ ปกป้อง ปณท. ซึ่งภายใต้ข้อจำกัดที่มี ปณท ต้องต่อสู้ดิ้นรนและพัฒนาบริการของเราให้ดีขึ้น รวมทั้งรับผิดชอบลูกค้าทั่วประเทศ โดยต้องส่งสินค้าไปในพื้นที่ห่างไกล ไม่ใช่เฉพาะในกรุงเทพฯ

"ปณท. คงไม่ได้มองการเข้ามาของคู่แข่งรายใหม่ ๆ ธุรกิจส่งพัสดุมาเป็นประเด็นสำคัญ เนื่องจากเป็นตลาดเสรีที่มีผู้ให้บริการใหม่เข้ามาตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา แต่ ปณท. ยังสามารถดำเนินการได้ภายใต้ข้อจำกัด คือ การพัฒนาบริการของเราให้ดีขึ้น โดยล่าสุด ได้ปรับเวลาให้บริการรับฝากพัสดุ จากเดิมเวลาทำการวันจันทร์-ศุกร์ เปิดตั้งแต่ 08.00-16.00 น. เป็น 08.00-20.00 น. และขยายเวลาให้บริการวันเสาร์ 08.00-17.00 น. และวันอาทิตย์ 08.00-12.00 น. เพื่อรองรับการเติบโตของอี-คอมเมิร์ซ"

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: