สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รายงานระดับหนี้ครัวเรือนไตรมาสแรกปีนี้ เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 5 ปี พร้อมจับตาหนี้เสียเพิ่มขึ้น ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ห่วงประชาชนหันไปพึ่งเงินกู้นอกระบบ
Thai PBS รายงานเมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2562 ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจที่ชะลอตัวและการออกมาตรการกำกับเพดานการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย หลังที่ 2 หรือ LTV ของธนาคารแห่งประเทศไทย ส่งผลให้ผู้กู้บางส่วนเร่งก่อหนี้ก่อนบังคับใช้มาตรการ
นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวส่งผลให้หนี้ครัวเรือน ไตรมาสแรกของปี 2562 ปรับตัวสูงขึ้นที่ระดับร้อยละ 76.8 ต่อจีดีพี เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 2 ไตรมาส โดยมียอดหนี้คงค้างในสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคของธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.1 สูงสุดในรอบ 5 ปี เนื่องจากการเร่งตัวก่อหนี้สินเชื่อที่อยู่อาศัยและความต้องการซื้อรถยนต์เพิ่มขึ้น โดยหนี้ในระดับนี้ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว อาจกระทบความสามารถในการชำระหนี้
หลังพบระดับหนี้ที่ไม่ก่อรายได้ขยายตัวจากร้อยละ 9.0 เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1 ในไตรมาสแรกของปี คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.75 ต่อสินเชื่อรวม และสัดส่วนร้อยละ 27.8 ต่อเอ็นพีแอลรวม ซึ่งสูงสุดในรอบ 13 ไตรมาส นับตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2559 เป็นต้นมา
ผศ.ธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีอาวุโสวิชาการและงานวิจัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่าระดับหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งมาจากนโยบายนำหนี้นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบ ขณะเดียวกันภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้ประชาชนมีแนวโน้มหันไปกู้หนี้นอกระบบมากขึ้น เนื่องจากวงเงินกู้ในระบบเต็มเพดาน แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจต้องพิจารณาหาสาเหตุการก่อหนี้ที่ลงลึกรายละเอียดมากขึ้น เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาและบริหารจัดการอย่างเหมาะสม
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ