กพร.ฝึกอาชีพให้ 'ผู้ต้องขัง' ให้โอกาสคืนสู่สังคม อบรมแล้ว 4.4 พันคน

กองบรรณาธิการ TCIJ 14 ก.ค. 2562 | อ่านแล้ว 2995 ครั้ง

กพร.ฝึกอาชีพให้ 'ผู้ต้องขัง' ให้โอกาสคืนสู่สังคม อบรมแล้ว 4.4 พันคน

กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ฝึกอาชีพให้ 'ผู้ต้องขัง' ให้โอกาสคืนสู่สังคม เผยดำเนินการทะลุเป้า อบรมแล้ว 4.4 พันคน จากเป้าหมาย 2.4 พันคน ที่มาภาพประกอบ: กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน

ผู้จัดการออนไลน์ รายงานเมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2562 ว่านายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่าสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานสตูล ได้ร่วมกับเรือนจำจังหวัดสตูล จัดฝึกอาชีพให้ผู้ต้องขังก่อนพ้นโทษ สาขา “การเชื่อมประกอบผลิตภัณฑ์โลหะ” มีผู้เข้าอบรม 30 คน ระหว่างวันที่ 24 - 28 มิถุนายน 2562 ณ เรือนจำจังหวัดสตูล ผู้เข้าฝึกอบรมส่วนใหญ่มีความรู้พื้นฐานด้านงานเชื่อม แต่ไม่รู้หลักและวิธีการที่ถูกต้อง รวมถึงความปลอดภัยในการปฏิบัติงานเชื่อม การฝึกทักษะในครั้งนี้ จึงเน้นภาคปฏิบัติ และย้ำเรื่องความปลอดภัยเป็นสำคัญ ควบคู่ไปกับการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมในการประกอบอาชีพ เพื่อให้นำวิชาความรู้ที่ได้รับไปประกอบอาชีพอย่างสุจริต และสร้างการยอมรับของคนในสังคมด้วย

​นายสุชาติ กล่าวว่าผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมจะได้รับวุฒิบัตรเพื่อการันตีฝีมือ และที่ผ่านมาสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานสตูลได้บูรณาการกับเรือนจำจังหวัดสตูล ดำเนินการฝึกอบรมสาขาอื่นๆ เช่น สาขาช่างไม้ก่อสร้าง ให้กับผู้ต้องขังชาย สาขาการประกอบอาหารไทย และสาขาการมัดย้อมผ้า ให้กับผู้ต้องขังหญิง สำหรับในปี 2562 สนพ.สตูล มีเป้าหมายดำเนินการ 100 คน ซึ่งดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน

ในพื้นที่อื่นทั่วประเทศ ได้รับเป้าหมายให้ดำเนินการฝึกให้กับผู้ต้องขังที่ใกล้พื้นโทษเช่นกัน เพื่อให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ สร้างโอกาสในการมีงานทำของผู้ต้องขัง คืนคนดีสู่สังคม โดยมีเป้าหมาย 2,465 คน ดำเนินการทั่วประเทศแล้ว 4,474 คน

​นายสุชาติ กล่าวว่า จากการสอบถามข้อมูลจากผู้คุมเรือนจำจังหวัดสตูล ให้ข้อมูลว่า การฝึกทักษะต่างๆ ให้กับผู้ต้องขังนั้น เป็นการเพิ่มโอกาสในการทำงาน บางคนกระทำความผิดเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้นเอง แต่ต้องเข้ามาอยู่ในเรือนจำ ส่วนใหญ่เป็นคดีเกี่ยวข้องกับยาเสพติด พวกเขาสามารถนำความรู้เหล่านี้ไปประกอบอาชีพได้เลย เช่น การฝึกช่างเชื่อมประกอบผลิตภัณฑ์โลหะ สามารถรับงานได้หลายอย่าง รับเชื่อมเหล็กดัด ประตู หน้าต่าง เชื่อมโครงหลังคาเหล็ก ทำเฟอร์นิเจอร์ และผลิตภัณฑ์ที่มีโครงสร้างเป็นโลหะ เป็นต้น นอกจากนี้ วิทยากรผู้สอนยังเป็นผู้ติดต่อรับงานให้อีกด้วย ช่วยให้กลุ่มคนเหล่านี้สามารถอยู่ในสังคม มีรายได้ดูแลตนเองและครอบครัว ไม่หันไปกระทำผิดซ้ำอีก ผู้คุมเรือนจำยังบอกอีกด้วยว่า การหันไปกระทำผิดซ้ำนั้น ส่วนหนึ่งเกิดจาก เมื่อออกไปใช้ชีวิตร่วมกับคนในสังคมแล้ว ไม่ได้รับการยอมรับ ไม่มีผู้จ้างงาน คนในสังคมส่วนใหญ่ไม่มั่นใจว่าผู้พ้นโทษจะไม่กระทำผิดอีก จึงไม่ได้ให้โอกาสปรับปรุงตนเอง

​“การให้โอกาสกับผู้ที่หลงผิด ได้ปรับปรุงตนเอง จึงเป็นเสมือนการให้ชีวิตใหม่ และการฝึกทักษะ ซึ่งเป็นภารกิจหลักของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานเป็นการเพิ่มโอกาสทางเลือกให้ผู้ต้องขังมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเป็นการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลและนโยบาย 3A กระทรวงแรงงาน ด้านการลดความเหลื่อมล้ำของสังคมอีกด้วย” อธิบดี กพร.กล่าว

​ด้านนายกาจก้อง รัตนะ ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดสตูล กล่าวว่า ที่ผ่านมา ผู้ต้องขังที่ผ่านการฝึก จากสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานสตูล กว่า 200 คน ออกไปประกอบอาชีพและอยู่ร่วมกับคนในสังคม ยังไม่มีรายใดกระทำผิดซ้ำและกลับเข้ามาในเรือนจำแห่งนี้อีกเลย แสดงให้เห็นว่าพวกเขาได้รับโอกาส และสามารถประกอบอาชีพเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว มีรายได้เพียงพอกับการดำรงชีพ จึงไม่หันไปกระทำผิดซ้ำอีก

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: