กพช. ไฟเขียว B10 เป็นดีเซลเกรดพื้นฐาน เริ่ม 1 ม.ค. 2563 หวังดูดซับ CPO 2 ล้านตัน/ปี

กองบรรณาธิการ TCIJ 14 ก.ย. 2562 | อ่านแล้ว 3173 ครั้ง

กพช. ไฟเขียว B10 เป็นดีเซลเกรดพื้นฐาน เริ่ม 1 ม.ค. 2563 หวังดูดซับ CPO 2 ล้านตัน/ปี

กพช. เห็นชอบส่งเสริมใช้น้ำมันไบโอดีเซล B10 เป็นน้ำมันพื้นฐาน เริ่มบังคับใช้ 1 ม.ค. 2563 คาดช่วยดูดซับปริมาณน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ได้ประมาณ 2 ล้านตันต่อปี พร้อมขยายส่วนต่างราคา B10 ให้ถูกกว่า B7 เป็น 2 บาทต่อลิตร ดันยอดการใช้เพิ่มเป็น 57 ล้านลิตรต่อวัน ที่มาภาพประกอบ: paultan.org

Energy News Center รายงานเมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2562 ว่านายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยที่ประชุม กพช. ได้เห็นชอบแนวทางการส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซลเพื่อแก้ไขปัญหาปริมาณน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ส่วนเกินในท้องตลาด และเพื่อรักษาระดับราคา CPO ให้มีเสถียรภาพมากขึ้น ด้วยการขยายส่วนต่างราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B10 ให้ต่ำกว่า B7 จากเดิม 1 บาทต่อลิตร เป็น 2 บาทต่อลิตร และลดส่วนต่างราคาขายปลีกน้ำมัน B20 ให้ต่ำกว่าน้ำมัน B7 จากเดิม 5 บาทต่อลิตร เป็น 3 บาทต่อลิตร เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2562 เป็นต้นไป ซึ่งจะช่วยผลักดันการใช้ B10 เพิ่มจากปัจจุบันอยู่ที่ 10,000 ลิตรต่อวัน เป็น 37 ล้านลิตรต่อวัน ภายในสิ้นปี 2562 นี้ และจะผลักดันการใช้เพิ่มเป็น 57 ล้านลิตรต่อวัน ในต้นปี 2563

พร้อมกันนี้ กพช. ยังเห็นชอบการบังคับใช้น้ำมัน B10 เป็นน้ำมันดีเซลหมุนเร็วเกรดพื้นฐาน ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 โดยให้น้ำมัน B7 และ B20 เป็นทางเลือก ทำให้คาดว่าในเดือน ธ.ค. 2562 นี้ จะมีปริมาณการใช้ไบโอดีเซล (B100) ที่ระดับ 6.2 ล้านลิตรต่อวัน และช่วยดูดซับการใช้ CPO ได้ 2 ล้านตันต่อปี ซึ่งปริมาณน้ำมันปาล์มดิบคงเหลือในปัจจุบันและผลผลิตตามที่คาดการณ์ไว้จะรองรับการผลิต B100 ได้อย่างเพียงพอ

โดยระหว่างนี้สถานีบริการน้ำมัน จะมีเวลาเตรียมความพร้อมของแท้งค์จัดเก็บน้ำมัน และปรับเปลี่ยนหัวจ่ายเพื่อรองรับการใช้ B10 รวมถึงค่ายรถยนต์ต่างๆ ซึ่งจะมีรถยนต์ใช้ B10 ได้ประมาณ 5.2 ล้านคัน จากจำนวนรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงดีเซลทั้งหมด 10 ล้านคัน หรือครึ่งหนึ่งของรถดีเซลทั้งหมด ขณะที่ผู้ค้าน้ำมันที่เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำมัน B10 ยืนยันความพร้อมและสนับสนุนการดำเนินการตามนโยบายภาครัฐ ทั้งนี้ ปัจจุบันมีผู้ผลิต B100 สำหรับใช้ผสมเพื่อผลิตเป็น B10 ประมาณ 9 ราย กำลังการผลิตรวม 6.9 ล้านลิตรต่อวัน

“แนวทางการส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซลครั้งนี้จะช่วยดูดซับ CPO ที่มีส่วนเกินในท้องตลาดประมาณ 4 แสนกว่าตัน จนส่งผลกระทบต่อราคา และจะทำให้มีความต้องการใช้ CPO มาผลิตเป็นไบโอดีเซล B100 ต่อปีประมาณ 2 ล้านตัน โดยมีส่วนต่างจาก B7 เป็น B10 ประมาณ 4-5 แสนตันต่อปี หมายความว่าเรากำลังบาลานซ์ตัวซัพพลายของ CPO ทั้งระบบด้วยการใช้นโยบายส่งเสริมการใช้ B10 เป็นน้ำมันดีเซลพื้นฐาน ทำให้สามารถจัดการผลผลิตปาล์มน้ำมันและสร้างมูลค่าด้านราคาได้ บวกกับการเพิ่มแรงจูงใจในเรื่องส่วนต่างราคาทำให้การใช้จะเป็นไปตามเป้าหมายได้” นายสนธิรัตน์กล่าว

นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า ส่วนน้ำมัน B20 ซึ่งขณะนี้ มีปริมาณการใช้ประมาณ 6 ล้านลิตรต่อวัน เกินจากเป้าหมายตั้งไว้ที่ 5 ล้านลิตรต่อวัน แต่การใช้ B20 มีเพียงรถขนาดใหญ่หรือรถบรรทุกที่ใช้ได้เท่านั้น สามารถดูดซับ CPO เพื่อผลิตเป็น B100 ได้เพียงเล็กน้อย จึงต้องปรับการใช้ B7 เป็น B10 เพื่อขยายฐานปริมาณรถยนต์ให้ใช้ B10 เพิ่มมากขึ้น

ด้าน นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่าน้ำมัน B7 จะยังคงเป็นทางเลือกสำหรับผู้ใช้รถยนต์เก่าที่ไม่สามารถใช้น้ำมัน B10 ได้ ซึ่งปัจจุบันมีการใช้ B7 ประมาณ 55 ล้านลิตรต่อวัน แต่เมื่อภาครัฐผลักดันการใช้ B10 เพิ่มขึ้น จะทำให้สัดส่วนการใช้ B7 ลดลงเหลือ 5 ล้านลิตรต่อวัน ทำให้สัดส่วนการใช้ B10 จะเพิ่มเป็น 57 ล้านลิตรต่อวัน ในเดือนมกราคม ปี 63 ตามเป้าหมาย ส่วนน้ำมัน B20 นั้น จะเป็นทางเลือกสำหรับรถขนาดใหญ่ โดยมีสัดส่วนการใช้เหลือ 5 ล้านลิตรต่อวัน เช่นกัน

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงาน จะทำหน้าที่บริหารจัดการการใช้ไบโอดีเซลเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง โดยการส่งเสริมการใช้ B10 จะช่วยดูดซับปริมาณ CPO ได้ปริมาณ 2.3 ล้านตันต่อปี คิดเป็น 2 ใน 3 ของปริมาณ CPO ของประเทศ ส่วนที่เหลืออีก 1 ใน 3 เป็นเรื่องของการบริโภค ซึ่งมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์บริหารจัดการผลผลิตปาล์มน้ำมันให้เพียงพอ รวมถึงการนำเข้าเมื่อเกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำมันปาล์มเพื่อใช้บริโภค

นอกจากนี้ Energy News Center ยังรายงานว่าการเพิ่มส่วนต่างราคาขายปลีกน้ำมัน B10 เป็น 2 บาทต่อลิตร จะทำให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะใช้เงินสนับสนุนเพิ่มขึ้นประมาณ 558 ล้านบาท ขณะที่การลดส่วนต่างราคาขายปลีก B20 เป็น 3 บาทต่อลิตร จะลดภาระการชดเชยของกองทุนฯ ลงได้ประมาณ 225 ล้านบาท และยังเก็บเงินจาก B7 ได้ 1,200 ล้านบาท ส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯ ยังคงเป็นบวกสุทธิ 440 ล้านบาท ภายในปลายปี 2562 นี้

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: