'ชัชชาติ' ชี้ พัฒนา 'เส้นเลือดฝอย' คือหัวใจสร้างเมืองน่าอยู่

กองบรรณาธิการ TCIJ 14 พ.ย. 2562 | อ่านแล้ว 2608 ครั้ง

'ชัชชาติ' ชี้ พัฒนา 'เส้นเลือดฝอย' คือหัวใจสร้างเมืองน่าอยู่

'ยูดีดีซี' ร่วมกับ ผังเมืองจุฬาฯ เชิญ 'ชัชชาติ สิทธิพันธุ์' บรรยายพิเศษ 'Better City จะทำเมืองให้ดีขึ้นได้อย่างไร' ได้รับความสนใจจากนิสิตจุฬาฯและประชาชนทั่วไปร่วมฟังแน่นห้องบรรยาย วิทยากรย้ำ 'เมืองเดินได้' และการพัฒนา “เส้นเลือดฝอย” หรือโครงการขนาดเล็ก เป็นหัวใจสร้างเมืองน่าอยู่ พร้อมเสนอแนวคิดกระจายอำนาจสู่ผู้บริหารเขต และเปิดข้อมูลเมืองผ่านระบบ Open Bangkok ให้ประชาชนร่วมตรวจสอบการบริหารงาน ย้ำพัฒนาเมืองทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน เพราะผู้ว่าฯไม่ใช่ฮีโร่ที่แก้ได้เพียงคนเดียว

เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2562 รศ.ดร. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม อดีตผู้บริหารธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และอดีตรองศาสตราจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บรรยายวิชาการหัวข้อ “Better City จะทำเมืองให้ดีขึ้นได้อย่างไร” ณ ห้อง 314 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามโครงการบรรยายสาธารณะ (Public Talk) “โลกรอบสถาปัตยกรรมผังเมือง” จัดโดยภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) เป็นส่วนหนึ่งรายวิชาการปฏิบัติวิชาชีพสถาปัตยกรรมผังเมือง (Professional Practice) เปิดโอกาสให้สาธารณชนร่วมฟังความรู้และประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญด้านเมืองหลากหลายวงการร่วมกับนิสิตภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง ภายใต้แนวคิด “เล่าเรื่องเมือง โดยตัวจริง”

รศ.ดร. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เสนอแนวคิดการพัฒนากรุงเทพมหานครให้เป็นเมืองน่าอยู่ หรือ Better Bangkok มีสาระสำคัญในหลายประเด็น อาทิ การสร้างเมืองเดินได้ เมืองอยู่ดีกินดี เมืองแบ่งปัน เมืองงานใกล้บ้าน-ใกล้โรงเรียน ฯลฯ อย่างไรก็ตาม วิทยากรกล่าวว่า การพัฒนาเส้นเลือดฝอยของเมืองหรือการผลักดันโครงการพัฒนาขนาดเล็ก เป็นเรื่องสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตคนเมือง แม้การพัฒนาลักษณะดังกล่าว อาจดูไม่น่าตื่นเต้นเหมือนโครงการขนาดใหญ่ที่ใช้งบประมาณสูงนับหมื่นล้าน แต่การกระจายงบประมาณมหาศาลเป็นโครงการย่อยๆ ที่เชื่อมโยงกัน จะทำให้เมืองน่าอยู่และคุณภาพชีวิตคนดีขึ้นได้

“มิติของอนาคตคนเมืองน่ากลัวหากถามว่าคนจะอยู่กรุงเทพฯไหมในอนาคต ในห้องนี้คนจำนวนมากไม่อยากอยู่กรุงเทพฯหรอก ทุกคนโรแมนติกอยากไปอยู่ต่างจังหวัด เขาใหญ่ เชียงใหม่ เพราะฉะนั้นในอนาคตกรุงเทพฯอาจไม่รอดก็ได้ ถ้าเราไม่ทำให้มันดี หัวใจของเมืองในอนาคตคือต้องดึงคนเก่งให้ได้ เหมือนซิลิคอนวัลเลย์ดีได้เพราะดึงคนเก่งได้ แต่คนเก่งไม่อยู่เมืองห่วยๆ คนเก่งอยากอยู่ในเมืองที่มีคุณภาพชีวิตดี ถ้าเมืองไม่มีคนเก่งเมืองอยู่ไม่ได้ในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่มุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์” รศ.ดร. ชัชชาติกล่าว

ด้านการสร้างความร่วมมือกับคนทุกกลุ่มในเมือง เป็นอีกประเด็นสำคัญที่วิทยากรให้ความสำคัญ รศ.ดร. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ กล่าวว่า ผู้ว่าฯ กทม. มักถูกคาดหวังจากภาคประชาชนให้เป็น “ฮีโร่” ที่สามารถแก้ไขทุกปัญหาได้เพียงคนเดียว แต่ในทางปฏิบัติสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นกับ กทม. มีความสลับซับซ้อน ทั้งรูปแบบของปัญหาและโครงสร้างการบริหารงาน การสร้างเมืองน่าอยู่จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ประกอบด้วย ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาชน ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาเมืองต้องเริ่มจากการมีระเบียบวินัยของภาคประชาชน พร้อมกับการออกแบบโครงสร้างเมืองและสร้างค่านิยมที่ถูกต้อง เพื่อปรับพฤติกรรมของคนควบคู่กันไปด้วย เช่น การแก้ไขปัญหารถติด นอกจากภาครัฐจะปรับปรุงคุณภาพระบบขนส่งสาธารณะแล้ว ภาคประชาชนก็ต้องพร้อมเป็นพลเมืองตื่นรู้ (Active Citizen) เปลี่ยนพฤติกรรมจากการขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคลเป็นรถขนส่งสาธารณะ เป็นต้น

รศ.ดร. ชัชชาติ ยังกล่าวถึงปัญหาเชิงโครงสร้างของ กทม. ที่มีรูปแบบการบริหารแบบรวมศูนย์และมีหน่วยงานในสำนักส่วนกลางทำงานทับซ้อนกับหน่วยงานในระดับเขต นอกจากนี้ ผู้อำนวยการเขตยังไม่มีความผูกพันกับเขตและรู้จักเขตที่ตนเองดูแลไม่ดีเพียงพอ เนื่องจากการหมุนเวียนตำแหน่งตามระบบราชการ ดังนั้นจึงเสนอให้ปรับโครงสร้างการบริหารงานเพื่อให้ผู้อำนวยการเขตใกล้ชิดกับประชาชน และสามารถตอบสนองความต้องการของคนในเขตได้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ กทม. จำเป็นต้องเปิดระบบ Open Bangkok เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลของภาครัฐและสามารถตรวจสอบการทำงานได้อย่างโปร่งใสอีกด้วย

การบรรยายสาธารณะ “โดยรอบสถาปัตยกรรมผังเมือง” หัวข้อ “Better City จะทำเมืองให้ดีขึ้นได้อย่างไร” โดย รศ.ดร. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้รับความสนใจจากนิสิตภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สื่อมวลชน ผู้แทนภาคประชาสังคม ตลอดจนประชาชนทั่วไป ร่วมฟังการบรรยายกว่า 100 คน และได้รับเกียรติจาก รศ.ดร. ปิ่นรัชฎ์ กาญจนัษฐิติ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.ดร. นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) หัวหน้าโครงการเมืองเดินได้-เมืองเดินดี (GoodWalk) และผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง รวมทั้ง ผศ.คมกริช ธนะเพทย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้การต้อนรับ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: