รมว.ศึกษาฯ วาง 4 โจทย์ หากใช้แนวคิดให้ 'โรงเรียนเป็นนิติบุคคล'

กองบรรณาธิการ TCIJ 14 ธ.ค. 2562 | อ่านแล้ว 1397 ครั้ง

รมว.ศึกษาฯ วาง 4 โจทย์ หากใช้แนวคิดให้ 'โรงเรียนเป็นนิติบุคคล'

เลขานุการ รมว.ศธ. เผยได้รับมอบหมายจาก รมว.ศธ. ให้ชี้แจงแนวทางกระจายอำนาจสู่โรงเรียนของ ศธ. เป็นนิติบุคคล โดย 4 ภารกิจหลักที่โรงเรียนต้องดำเนินการได้แก่ 1.วิชาการ ผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องเป็นหลักในการคิดว่าจะให้โรงเรียนของตนเองไปในทิศทางใด ตามบริบทของแต่ละพื้นที่ 2.งบประมาณ ในอนาคตอาจจะมีการปรับให้โรงเรียนสามารถเสนอของบประมาณเป็นก้อน และจะต้องมีการวางแผนในการบริหารจัดการตามความเหมาะสมของแต่ละโรงเรียน 3.การบริหารงานบุคคล โรงเรียนจะต้องเป็นผู้ดูแล คัดเลือก บริหารจัดการด้วยตัวเอง และ 4.การบริหารงานทั่วไป ที่มาภาพประกอบ: TruePlookpanya

เว็บไซต์ไทยโพสต์ รายงานเมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2562 ว่านายอนุชา บูรพชัยศรี เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (เลขานุการ รมว.ศธ.) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ตนได้รับมอบหมายจากนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ให้ไปชี้แจงถึงแนวทางการกระจายอำนาจไปสู่โรงเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในการประชุมเชิงปฏิบัติการพิจารณาแนวทางการกระจายอำนาจให้โรงเรียนเป็นนิติบุคคล โดยตนได้พูดถึงการทำอย่างให้โรงเรียนสามารถเป็นนิติบุคคลได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งในการขับเคลื่อนไปในทิศทางดังกล่าว ภารกิจหลักที่โรงเรียนจะต้องเป็นผู้ดำเนินการด้วยตัวเอง มีประเด็นหลัก 4 เรื่อง ได้แก่ 1.วิชาการ ที่ผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องเป็นหลักในการคิดว่าจะให้โรงเรียนของตนเองไปในทิศทางใด ตามบริบทของแต่ละพื้นที่ 2.งบประมาณ ที่ผ่านมาโรงเรียนจะต้องของบประมาณตามกรอบการอนุมัติ แต่ในอนาคตอาจจะมีการปรับให้โรงเรียนสามารถเสนอของบประมาณเป็นก้อน และจะต้องมีการวางแผนในการบริหารจัดการตามความเหมาะสมของแต่ละโรงเรียน 3.การบริหารงานบุคคล ที่โรงเรียนจะต้องเป็นผู้ดูแล คัดเลือก บริหารจัดการด้วยตัวเอง และ 4.การบริหารงานทั่วไป

อย่างไรก็ตาม นอกจากภารกิจแล้วการจะขับเคลื่อนโรงเรียนที่มีความเป็นนิติบุคคลนั้น จะต้องยึดเรื่องให้โรงเรียนเป็นศูนย์กลางของการตัดสินใจ ผู้บริหารจะต้องคิดวิสัยทัศน์ หรือเป้าหมายขององค์กรว่าจะทำอย่างไร และมีการหารือร่วมกับคณะกรรมการสถานศึกษา เพื่อขับเคลื่อนโรงเรียนให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่วางไว้ เช่น โรงเรียน ก . วางเป้าหมายที่จะสร้างความเป็นเลิศให้เด็กจบแล้วมีงานทำ ก็จะผลิตนักเรียนให้เข้าสู่การศึกษาสายวิชาอาชีพ เป็นต้น อีกทั้งยังต้องมีการกระจายอำนาจให้เป็นของคณะกรรมการสถานศึกษา และส่วนกลางก็จะมีหน้าที่กำกับดูแล ไม่ให้การดำเนินการของโรงเรียนออกไปนอกกรอบ

"ที่สำคัญก็คือ เมื่อมีการกระจายอำนาจแล้ว ก็จะต้องมีการกระจายความรับผิดชอบตามไปด้วย เพราะหากมีอะไรที่ผิดไปจากสิ่งที่ควรจะเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องก็จะต้องรับผิดชอบในส่วนนี้ "นายอนุชากล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: