คนไทยรู้ยัง: ครึ่งปี 2562 เด็กและวัยรุ่น โทรปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต 13,658 ครั้ง

ทีมข่าว TCIJ: 14 มิ.ย. 2562 | อ่านแล้ว 7933 ครั้ง

กรมสุขภาพจิต ระบุกลุ่มวัยรุ่นเยาวชน นักเรียน และนักศึกษา เสี่ยงมีภาวะซึมเศร้า และมีแนวโน้มการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น เพียงช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562 มีผู้โทรเข้ามาใช้บริการ 40,635 ครั้ง เป็นกลุ่มเด็กและเยาวชนอายุ 11-25 ปี รวม 13,658 ครั้ง ที่มาภาพประกอบ: ryan melaugh (CC BY 2.0)

จากข้อมูลของกรมสุขภาพจิต พบว่าในปี 2560 กลุ่มเยาวชนอายุ 20-24 ปี มีอัตราการฆ่าตัวตายที่ 4.94 ต่อประชากรแสนคน ในปี 2561 เพิ่มขึ้นเป็น 5.33 ต่อประชากรแสนคน และข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับการให้บริการสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ที่พบว่า กลุ่มเยาวชนโทรเข้ามาปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ปี 2561 จากการให้บริการปรึกษาทางโทรศัพท์ทั้งสิ้น 70,534 ครั้ง เป็นกลุ่มเด็กอายุ 11-19 ปี 10,298 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 14.6 และเป็นกลุ่มเยาวชนอายุ 20-25 ปี 14,173 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 20.1โดย 5 อันดับปัญหาที่พบมากที่สุดในกลุ่มเด็กและเยาวชน คือ ปัญหาความเครียดหรือวิตกกังวล ปัญหาทางจิตเวช ปัญหาความรัก ปัญหาซึมเศร้า และปัญหาครอบครัว

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้ระบุถึงสถานการณ์โรคซึมเศร้าในสังคม ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญทางสุขภาพ และเป็นโรคใกล้ตัวที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ หากไม่ได้รับการรักษาอาจรุนแรงจนนำไปสู่การ ฆ่าตัวตายได้

“ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ มีผู้โทรเข้ามาใช้บริการ 40,635 ครั้ง เป็นกลุ่มเด็กและเยาวชนอายุ 11-25 ปี รวม 13,658 ครั้ง เมื่อจำแนกตามประเภทของปัญหาพบว่า สัดส่วนของเด็กและเยาวชน ที่มีปัญหาความเครียดหรือวิตกกังวล ปัญหาความรัก ซึมเศร้า และมีความคิดหรือความพยายามฆ่าตัวตายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น” นพ.เกียรติภูมิ ระบุ

โรคซึมเศร้า มีสาเหตุหลักที่เกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง และสาเหตุอื่นๆ ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจการเงิน ความผิดหวัง ความสัมพันธ์ ความรัก ความสูญเสีย เป็นต้น หากเยาวชนไม่สามารถจัดการกับปัญหาได้ จะทำให้ทุกปัญหากลายเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความเครียด วิตกกังวล จนพัฒนาไปสู่ภาวะซึมเศร้าและคิดทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตายได้ และอาการของโรคซึมเศร้า ได้แก่ เศร้า หดหู่ ซึม เบื่อหน่าย หงุดหงิด ฉุนเฉียว ไม่มีสมาธิ นอนไม่หลับ มีความคิดอยากตาย

แนะสังเกตอาการ-พร้อมรับฟังปัญหาลดความเสี่ยง

สำหรับแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาภาวะซึมเศร้าและการฆ่าตัวตายในกลุ่มเด็กและเยาวชนสามารถป้องกันได้ โดยใช้หลัก 3 ส. คือ สอดส่องมองหา ใส่ใจรับฟัง และส่งต่อเชื่อมโยง นักเรียนนักศึกษาที่มีความเครียดวิตกกังวลกับปัญหาที่เผชิญอยู่ จะมีผลต่อสมาธิและความสามารถในการเรียน ซึ่งคนรอบข้างสามารถสังเกตอาการ และพฤติกรรมที่ผิดปกติ ได้แก่ อาการเหม่อลอย ไม่ร่าเริงแจ่มใส มาเข้าเรียนสายหรือไม่เข้าเรียน เรียนไม่ทันเพื่อน หลับในห้องเรียน

เมื่อพบเห็นภาวะดังกล่าว คนรอบข้างไม่ว่าจะเป็นเพื่อน อาจารย์ที่ปรึกษา คนใกล้ชิด รวมทั้งครอบครัว ต้องรีบเข้าไปพูดคุยร่วมกันหาสาเหตุ รับฟังปัญหาอย่างเข้าใจและใส่ใจ ให้การช่วยเหลือ ให้คำปรึกษา หรือส่งต่อแพทย์ได้อย่างทันท่วงที เพื่อเข้ารับการดูแลและรักษาอย่างถูกวิธี จะทำให้อาการดีขึ้นและหายขาดได้ หรือสามารถโทรปรึกษาปัญหาได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ของกรมสุขภาพจิตตลอด 24 ชั่วโมง

ที่มาข้อมูล: Thai PBS

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: