สพฐ.ทำหนังสือถาม ก.คลัง เรื่อง 'ลิขสิทธิ์-ค่าตอบแทน' คนแต่ง 'ตำราเรียน'

กองบรรณาธิการ TCIJ 15 ก.ค. 2562 | อ่านแล้ว 3637 ครั้ง

สพฐ.ทำหนังสือถาม ก.คลัง เรื่อง 'ลิขสิทธิ์-ค่าตอบแทน' คนแต่ง 'ตำราเรียน'

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เผยได้ทำหนังสือถึงกระทรวงการคลัง กรณี 'ลิขสิทธิ์-ค่าตอบแทน' คนแต่ง 'ตำราเรียน' หลังมีคำสั่งยกเลิกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง ให้ยกเลิกระเบียบ ศธ.ว่าด้วยการให้รางวัลหรือค่าตอบแทนผู้จัดทำหลักสูตรหรือสื่อการเรียนรู้ในการศึกษาขั้นพื้นฐานและการศึกษาปฐมวัย พ.ศ.2552 ที่มาภาพประกอบ: gotoknow.org/kruora_wan

เว็บไซต์ไทยโพสต์ รายงานเมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2562 ว่านายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ กพฐ.) กล่าววว่าที่ผ่านมา นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (อดีต รมว.ศธ.) ได้เคยหารือถึงกรณีค่าลิขสิทธิ์การเขียนหนังสือเรียนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เนื่องจากที่ผ่านมาเมื่อมีการจัดพิมพ์แบบเรียนก็จะต้องมีจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้แก่ผู้ที่เขียนหนังสือเรียนจำนวน ร้อยละ 3 จากการพิมพ์แบบเรียนทั้งหมด ซึ่งถือว่ามีมูลค่าหลายร้อยล้านบาท แต่ในเมื่อ สพฐ.เป็นผู้ว่าจ้างให้นักเขียนมาแต่งตำราเรียนให้สาเหตุใดลิขสิทธิ์จึงไม่ตกเป็นของ สพฐ.อีกทั้งยังต้องมีการจ่ายค่าลิขสิทธิ์ทุกปี รวมถึงค่าลิขสิทธิ์ยังตกเป็นมรดกของทายาทนักเขียนด้วย

โดยเรื่องดังกล่าวเมื่อมีการตรวจสอบในรายละเอียดพบว่าไม่ใช่ค่าลิขสิทธิ์ แต่เป็นค่าตอบแทนที่จะต้องจ่ายให้กับผู้เขียนหนังสือเรียน ดังนั้น นพ.ธีระเกียรติ จึงได้เซ็นคำสั่งยกเลิกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เรื่อง ให้ยกเลิกระเบียบ ศธ.ว่าด้วยการให้รางวัลหรือค่าตอบแทนผู้จัดทำหลักสูตรหรือสื่อการเรียนรู้ในการศึกษาขั้นพื้นฐานและการศึกษาปฐมวัย พ.ศ.2552 แล้ว เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2562 ทั้งนี้เป็นการสมควรยกเลิกการให้รางวัลหรือค่าตอบแทนผู้จัดทำหลักสูตรหรือสื่อการสอนตามระเบียบดังกล่าวให้เหมาะสมและสอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ

“หลังจากที่มีคำสั่งยกเลิกระเบียบดังกล่าวไปแล้ว ขณะนี้ สพฐ.ได้ทำหนังสือถึงกระทรวงการคลัง เพื่อทบทวนแนวทางการให้ค่าตอบแทนผู้จัดทำหลักสูตรหรือสื่อการเรียนรู้ว่ายังต้องดำเนินการหรือไม่ เนื่องจากการจัดทำหลักสูตรหรือสื่อการเรียนรู้จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาจัดทำ และในหนังสือเรียนแต่ละเล่มนั้นยังมีการนำบทความหรือบทกลอนจากผู้เขียนต่างๆ มาใช้อยู่ โดยส่วนใหญ่เป็นหนังสือเรียนรายวิชาภาษาไทย ซึ่งในส่วนนี้ถือเป็นลิขสิทธิ์ของผู้แต่งบทความและบทกลอนนั้นๆ ดังนั้น สพฐ.จึงจำเป็นต้องสอบถามรายละเอียดการดำเนินการเหล่านี้ไปที่กระทรวงการคลัง แต่ขณะนี้กระทรวงการคลังยังไม่มีหนังสือตอบกลับมาที่สพฐ.”เลขาฯ กพฐ. กล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: