รมว.สธ.กำชับ สสจ.สุ่มตรวจ 'หมอปลอม' ในโรงงาน ต้องจับดำเนินคดี

กองบรรณาธิการ TCIJ 15 ส.ค. 2562 | อ่านแล้ว 3670 ครั้ง

รมว.สธ.กำชับ สสจ.สุ่มตรวจ 'หมอปลอม' ในโรงงาน ต้องจับดำเนินคดี

รมว.สธ.กำชับ สสจ.สุ่มตรวจ 'หมอ' ประจำโรงงาน หลังจับกุมหมอปลอมประจำห้องพยาบาลของบริษัทในนิคมอุตสาหกรรม อ.ปลวกแดง จ.ระยอง แพทยสภาลั่นผิด พ.ร.บ.วิชาชีพ โทษทั้งจำทั้งปรับ แนะตรวจสอบรายชื่อแพทย์ก่อนจ้างมาทำงานได้ ด้าน คปค.เผยถือเป็นเคสแรกที่เจอหมอปลอม ย้ำนายจ้าง แรงงาน ร่วมตรวจสอบ ที่มาภาพประกอบ: Daily Times

ผู้จัดการออนไลน์ รายงานเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2562 ว่านายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีการจับกุมหมอปลอมประจำห้องพยาบาลของบริษัทในนิคมอุตสาหกรรม อ.ปลวกแดง จ.ระยอง โดยมีการปลอมแปลงเอกสารของแพทยสภา และพบมีกระบวนการจัดส่งหมอปลอมไปอยู่ตามห้องพยาบาลของโรงงาน ว่าพฤติกรรมเช่นนี้ต้องดำเนินคดี เพราะถือเป็นผู้ร้าย ต้องเอาโทษทางอาญา ส่วนผู้ว่าจ้างก็อาจต้องเอาผิดด้วย ทั้งนี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ควรมีการลงไปสุ่มตรวจด้วยว่า มีการใช้หมอปลอม พยาบาลปลอมเข้ามาอยู่ประจำในห้องพยาบาลตามโรงงานด้วยหรือไม่ หากมีการปลอมเข้ามาเช่นนี้ก็ต้องจับผู้กระทำผิด

นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ กรรมการแพทยสภา กล่าวว่าการปลอมเป็นแพทย์เช่นนี้ ถือว่าเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม ซึ่งมาตรา 27 กำหนดห้ามมิให้ผู้ใดใช้คำนำหน้าเป็นแพทย์ หรือทำให้คนเข้าใจผิดว่าเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ซึ่งหากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ การจะจ้างแพทย์มาประจำในห้องพยาบาลหรือสถานพยาบาลภายในสถานประกอบการ ควรจะต้องมีการตรวจสอบก่อนว่า เป็นแพทย์จริงหรือไม่ โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อแพทย์ได้ที่เว็บไซต์แพทยสภา

นายมนัส โกศล ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน กล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กำหนดให้สถานประกอบการที่มีลูกจ้างเกิน 200 คนขึ้นไป ต้องมีห้องพยาบาล มีแพทย์มาตรวจอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง หรือมีพยาบาลมาประจำ ตรงนี้ถือว่าเป็นสิทธิ ซึ่งเมื่อก่อนเคยมีการลงไปตรวจสอบจะเจอพยาบาลปลอม เพราะเป็นเพียงผู้ช่วยพยาบาล ซึ่งก็มีการตรวจจับกันไปรอบหนึ่ง แต่ครั้งนี้ที่เจอถือเป็นครั้งแรกที่ปลอมตัวเป็นแพทย์ ถือเป็นเรื่องที่น่ากังวลใจ ดังนั้น อยากฝากให้ทั้งนายจ้างที่เป็นคนจ้างแพทย์หรือพยาบาลเข้ามา และลูกจ้าง เครือข่ายแรงงาน สหภาพแรงงานต่างๆ ช่วยกันตรวจสอบว่า แพทย์หรือพยาบาลที่จ้างเข้ามาดูแลสุขภาพของเรานั้น เป็นบุคลากรทางการแพทย์จริงหรือไม่ เพราะเขาต้องมาดูแลตรวขสุขภาพ รวมถึงทำเรื่องส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคกับลูกจ้าง หากเป็นตัวปลอมก็ถือว่าอันตราย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: