แรงงานจีนประท้วงมากขึ้นเพราะเศรษฐกิจถดถอย แต่รัฐต้องการควบคุม

แปลและเรียบเรียงโดย พัชณีย์ คำหนัก 15 ก.พ. 2562 | อ่านแล้ว 3551 ครั้ง

แรงงานจีนประท้วงมากขึ้นเพราะเศรษฐกิจถดถอย แต่รัฐต้องการควบคุม

แรงงานทั่วประเทศจีนกำลังประท้วงเรียกร้องสิทธิต่างๆ สืบเนื่องมาจากสภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย แต่ต้องเผชิญกับการเจ้าหน้าที่รัฐตอบโต้ด้วยการควบคุมกักขัง ที่มาภาพประกอบ: CreditSue-Lin Wong/Reuters

ปักกิ่ง - คนงานโรงงานทั่วประเทศจีนกำลังประท้วงเรียกร้องค่าจ้างที่ยังค้างจ่ายที่มาด้วย "เลือดและเหงื่อ” คนขับรถแท็กซี่ประท้วงหน้าหน่วยงานราชการเพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิบัติต่อแรงงานให้ดีขึ้น คนงานก่อสร้างก็ขู่กระโดดตึกตาย หากไม่ได้ค่าจ้าง

การเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศจีนกำลังถดถอยในรอบเกือบสามทศวรรษ แรงงานชาวจีนหลายพันคนกำลังจัดประท้วงขนาดย่อม เพื่อเรียกร้องให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างค้างจ่าย ค่าชดเชยและลดชั่วโมงการทำงาน เจ้าหน้าที่รัฐตอบโต้คนงานที่ประท้วงด้วยการควบคุมกักขัง และกรณีล่าสุดจับกุมนักเคลื่อนไหวที่มีชื่อเสียงหลายคนในเเมืองเซินเจิ้นทางตอนใต้ของประเทศเมื่อปลายเดือน ม.ค. 2019

การประท้วงของคนงานดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงการท้าทายภาวะเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัว ส่งผลให้นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีของจีนที่มุ่งเดินตามนโยบายขาย “ความฝันของจีน” ด้วยวิสัยทัศน์สร้างความมั่งคั่งและสังคมที่ยุติธรรม

คลิปคนงานก่อสร้างประท้วงค่าจ้างค้างจ่ายที่ไซต์ก่อสร้างจังหวัด Anhui เดือน ก.พ. 2019

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ครอบครัวชาวจีนมารวมตัวกันเพื่อเฉลิมฉลองวันตรุษจีน ซึ่งเป็นวันหยุดสำคัญที่สุดของปี คนงานจำนวนมากกล่าวว่า พวกเขาต่างต้องดิ้นรนเพื่อใช้จ่ายสิ่งจำเป็นเช่นอาหารและค่าเช่าบ้าน

“ไม่มีใครสนใจพวกเราอีกแล้ว” นาย Zhou Liang วัย 46 ปี ผู้ร่วมประท้วงนอกโรงงานอิเล็กทรอนิกส์แห่งหนึ่ง ณ เมืองเซินเจิ้นเมื่อเดือนที่แล้ว (ม.ค. 2019) เขากล่าวว่า นายจ้างเป็นหนี้เขากว่า 3,000 เหรียญ “ผมเสียสละชีวิตร่างกายทำงานให้บริษัท” เขากล่าว “และตอนนี้ผมไม่สามารถซื้อข้าวได้แม้แต่ถุงเดียว”

องค์กรที่จัดทำจดหมายข่าวแรงงานจีน (China Labor Bulletin) ในฮ่องกง ซึ่งติดตามการประท้วง บันทึกสถิติไว้ว่า มีจำนวนข้อพิพาทแรงงานอย่างน้อย 1,700 ครั้งเมื่อปี 2018 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมเมื่อปีก่อน ประมาณ 1,200 ครั้ง ตัวเลขนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของจำนวนข้อพิพาททั้งหมดที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ เพราะมีความขัดแย้งอีกจำนวนมากไม่ได้ถูกรายงานและนายสีพยายามเซ็นเซอร์อย่างเข้มข้น

เจ้าหน้าที่รัฐได้กักขังประชาชนไปแล้วกว่า 150 คนนับตั้งแต่เดือน ส.ค. 2018 ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากจากปีก่อนหน้า รวมทั้งครู คนขับแท็กซี่ คนงานก่อสร้างและนักศึกษาฝ่ายซ้ายที่นำการรณรงค์ต่อต้านการละเมิดของโรงงาน

เหตุการณ์ความไม่สงบทำให้พรรคคอมมิวนิสต์อยู่ในสถานะที่อึดอัด ตั้งแต่ยุคสมัยของเหมาเจ๋อตง พรรคฯ คอยปกป้องคุ้มครองคนงานไม่เว้นแต่ละวัน แต่หลายคนกล่าวโทษเจ้าหน้าที่พรรคที่ไม่ปกป้องสิทธิแรงงาน

เมื่อมีการประท้วงเพิ่มขึ้นหลายเท่า นายสี ซึ่งเป็นผู้นำที่มีอำนาจสูงสุดของจีนนับตั้งแต่เหมา เขาพยายามสร้างความมั่นใจให้กับพนักงานว่า เขาเข้าใจสภาพที่เป็นอยู่ของพนักงาน โดยกล่าวว่า "คุณเป็นคนขยันมากเหมือนผึ้งที่ตะลอนไปมา โดนแดดโดนฝน” เมื่อเขาเดินทางไปยังกรุงปักกิ่งเพื่ออวยพรพนักงานส่งของ ให้มีความสุขในปีใหม่ เป็นข่าวเด่นในสื่อของรัฐ

แต่ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า การที่ประชาชนมอบความไว้วางใจให้แก่พรรคฯ และนโยบายขาย “ความฝันของจีน” ของนายสี อาจเกิดสถานการณ์ที่ย่ำแย่ลง หากคนงานไม่ได้รับความช่วยเหลือ

“หากครูปฏิเสธที่จะสอน คนขับรถบรรทุกหยุดส่งสินค้า คนงานก่อสร้างหยุดงาน ความฝันจะเป็นจริงได้ยาก” ไดอาน่า ฟู ผู้ช่วยศาสตราจารย์ การเมืองในเอเชีย แห่งมหาวิทยาลัยโตรอนโตกล่าว

เหตุการณ์ความไม่สงบยังส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมใหม่ๆ เช่น บริษัทที่บริการจัดส่งอาหารและบริการแชร์รถจักรยาน เนื่องจากคนงานบ่นเรื่องการทำงานที่เหน็ดเหนื่อยและค่าแรงต่ำ

นายสี ซึ่งขึ้นสู่อำนาจเมื่อปี 2012 เผชิญกับปัญหาและอุปสรรคที่หลากหลายที่สร้างความยุ่งยากในการบริหารจัดการและเปลี่ยนผ่านไปสู่การสร้างระบบเศรษฐกิจไฮเทคโนโลยี ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักธุรกิจลดลง ตลาดที่อยู่อาศัยติดขัด และความขัดแย้งทางการค้ากับสหรัฐฯ ยังคงมีอยู่

รัฐบาลกล่าวว่า ปี 2018 เศรษฐกิจขยายตัว 6.6% ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่น้อยที่สุดนับตั้งแต่ปี 2533 ผู้เชี่ยวชาญหลายคนสังเกตเห็นได้จากยอดขายอสังหาริมทรัพย์ที่ลดลง กิจกรรมการผลิตของโรงงานซบเซา และอัตราการเติบโตดังกล่าวแท้จริงอาจต่ำกว่านี้

จากการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจทำให้นายสีรู้สึกตึงเครียด เขาพยายามที่จะคลี่คลายความตึงเครียดด้วยการกระตุ้นบริษัทต่าง ๆ จ่ายเงินเดือนให้คนงานผู้มีรายได้น้อยตรงเวลา คณะรัฐมนตรีของจีนกล่าวว่า รัฐบาลต้องการให้บริษัทจัดการกับค่าจ้างค้างจ่ายให้เรียบร้อยภายในปีหน้า

การประท้วงของแรงงานในประเทศจีนเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั่วไปและเพื่อหลีกเลี่ยงการประท้วงที่ยืดเยื้อ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นมักกดดันให้ธุรกิจต่างๆ ระงับข้อพิพาท แต่บริษัทต่างๆ ไม่เต็มใจหรือไม่สามารถทำได้

นายสีได้เพิ่มอำนาจกำกับดูแลองค์กรสหพันธ์แรงงานจีน (ACFTU) - องค์กรแรงงานที่ถูกพรรคควบคุม จะต้องไกล่เกลี่ยข้อพิพาทให้แก่สมาชิกกว่า 300 ล้านคน แต่หลายครั้งมักเข้าข้างฝ่ายบริหาร นายสียังได้บ่อนทำลายกลุ่มองค์กรผู้สนับสนุนแรงงานที่ไม่แสวงหากำไร ซึ่งในอดีตให้คำแนะนำแก่คนงานและช่วยเจรจาต่อรองร่วม

ในการปราบปรามองค์กรสนับสนุนแรงงานในเซินเจิ้นเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่กักตัวผู้สนับสนุนสิทธิแรงงาน 5 คนด้วยข้อหา "ทำลายความสงบเรียบร้อยของประชาชน" ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่คลุมเครือ และมักใช้กับผู้วิจารณ์รัฐบาล

ในสภาพที่ไม่มีสหภาพแรงงานอิสระ คนงานบางคนหันไปใช้มาตรการรุนแรงเพื่อยุติข้อพิพาทด้วยตัวเอง

ในกรณีของนายหวัง เสี่ยว วัย 33 ปี คนงานก่อสร้างเริ่มเบื่อหน่ายกับการล็อบบี้นายจ้างให้จ่ายค่าจ้างค้างจ่าย $2,000 ซึ่งเป็นค่าตอบแทนในโครงการก่อสร้างในจังหวัดทางตะวันออกของมณฑลซานตง ด้วยเหตุนี้ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เขาจึงหันไปใช้โซเชียลมีเดียขู่ว่าจะกระโดดตึกสำนักงานใหญ่ของบริษัทที่ดูแลโครงการ

“ผมปีนขึ้นไปถึงหลังคาอาคารและเตรียมกระโดด เพื่อที่จะได้เงินเร็วขึ้น” เขาให้สัมภาษณ์ (นายหวางไม่ได้ทำตามคำขู่ของเขา)

 

ที่มาเรียบเรียงจาก
https://www.nytimes.com/2019/02/06/world/asia/china-workers-protests.html

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: