ดูผลประกอบการของ ‘บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน)’ ปี 2561 หลัง ครม. มีมติเห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการดาวเทียม ‘ไม่ต่อสัมปทาน’ ที่จะหมดลงในปี 2564 ที่มาภาพประกอบ: SpaceNews
ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2562 ครม. มีมติเห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการดาวเทียมหลังสิ้นสุดสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ซึ่งเป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ โดยมีสาระสำคัญ คือ ไม่เห็นควรให้ต่ออายุหรือขยายเวลาสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ แต่เห็นควรคัดเลือกผู้ประกอบการมาบริหารจัดการดาวเทียมภายใต้สัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศทุกดวงที่มีอายุทางวิศวกรรมของดาวเทียมเหลืออยู่หลังสิ้นสุดสัญญา รวมทั้งทรัพย์สินต่างๆ ตามแนวทางของ พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 (หรือ PPP) โดยจะไม่มีระบบการให้สัมปทานเช่นในอดีตอีก
นอกจากนี้มติ ครม. ยังเห็นชอบให้บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ดำเนินการเชื่อมต่อระบบขับเคลื่อนเพื่อต่ออายุดาวเทียมไทยคม 5 ซึ่งเป็นหนึ่งในดาวเทียมภายใต้สัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ เนื่องจากดาวเทียมไทยคม 5 จะหมดอายุการใช้งานในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 แต่สัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศจะสิ้นสุดในปี 2564 โดยการต่ออายุดาวเทียมดังกล่าวไม่มีผลทำให้อายุของสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศเปลี่ยนแปลงไป และเมื่อสัญญาฯ สิ้นสุดลง ทรัพย์สินต่างๆ รวมถึงดาวเทียมไทยคมที่มีอายุเหลืออยู่ รัฐจะได้คัดเลือกผู้ประกอบการมาบริหารจัดการดาวเทียมและทรัพย์สินดังกล่าวตามแนวทาง พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน หรือ Public Private Partnerships (PPP) ต่อไป ทั้งนี้ การต่ออายุดาวเทียมไทยคม 5 จะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด สำหรับการบริหารจัดการดาวเทียมหลังสิ้นสุดสัญญา เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล อย่างไรก็ตามก่อนหมดสัญญาในช่วงปี 2563-2564 รัฐบาลอนุญาตให้บริษัทไทยคมสามารถขึ้นไปดำเนินการปรับปรุงดาวเทียมไทยคมให้สามารถใช้งานต่อไปได้โดยต้องไม่กระทบกับผู้ประกอบการที่ใช้ประโยชน์จากดาวเทียม
เกี่ยวกับบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) (THCOM) ผู้ให้บริการดาวเทียมไทย มีภารกิจหลักในการให้บริการด้านการสื่อสารโดยเน้นสร้างการเข้าถึงและการใช้ประโยชน์จากโครงข่ายดาวเทียมทั้งบรอดคาสต์และบรอดแบนด์ ด้วยนวัตกรรมที่ล้ำหน้า ความเป็นมืออาชีพของทีมงาน บริการที่หลากหลายครบวงจร และเทคโนโลยีที่แสดงถึงความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย จนถึงปัจจุบัน บริษัทได้จัดส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรแล้วทั้งสิ้นจำนวน 8 ดวง โดยมีดาวเทียมที่ยังคงให้บริการอยู่จำนวน 5 ดวง คือ ไทยคม 5 ไทยคม 6 ไทยคม 7 และล่าสุดคือ ดาวเทียมไทยคม 8 ซึ่งเป็นดาวเทียมบรอดคาสต์ ให้บริการถ่ายทอดสัญญาณรายการโทรทัศน์ ครอบคลุมประเทศไทย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ และแอฟริกา อยู่ในตำแหน่งวงโคจรหลัก "Hot Bird" ที่ 78.5 องศาตะวันออก โดยมีจานหันเข้ารับสัญญาณจำนวนมาก นอกจากนี้ สำหรับการสื่อสารบรอดแบนด์ ดาวเทียมไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) ซึ่งเป็นดาวเทียมบรอดแบนด์ดวงแรกของโลก ได้สนับสนุนโครงข่ายการสื่อสารด้วยปริมาณช่องสัญญาณที่เพิ่มขึ้น พื้นที่ให้บริการที่ครอบคลุม รวมถึงนวัตกรรมที่มีศักยภาพทางธุรกิจและเทคโนโลยีดาวเทียมที่โดดเด่นในระดับคุณภาพมาตรฐานโลก ด้วยแนวคิด "Connectivity for Sustainability" ไทยคมได้ให้บริการทั้งภาคธุรกิจ ภาครัฐ และตอบไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ นอกจากความรับผิดชอบในการให้บริการติดต่อสื่อสารในภาวะปกติแล้ว ไทยคมยังมีจุดแข็งในการเชื่อมต่อการสื่อสารได้อย่างไร้รอยต่อ เช่นการสื่อสารในภาวะภัยพิบัติหรือในพื้นที่เข้าถึงได้ยาก และทั้งหมดนั้น ถือเป็นความมุ่งมั่นของไทยคม ในการสร้างโอกาส สร้างอนาคต สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ตามเป้าหมายการก้าวสู่ความเป็นผู้นำในธุรกิจดาวเทียมแห่งเอเชีย ที่ยังคงความเป็นพลเมืองดีของสังคมไทยต่อไป บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2534 และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ภายใต้ชื่อ "THCOM" เมื่อปี 2536 ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุว่า บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) มีเลขทะเบียนนิติบุคคล: 0107536000897 วันที่จดทะเบียน 27 ส.ค. 2536 ทุนจดทะเบียน 5,499,884,200.00 บาท วัตถุประสงค์ตอนจดทะเบียน ประกอบกิจการดาวเทียมสื่อสาร และให้ใช้วงจรดาวเทียมสื่อสารที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงคมนาคมทุกชนิด ทุกประเภททั่วประเทศไทยและต่างประเทศ วัตถุประสงค์ที่ส่งงบการเงินปีล่าสุด กิจกรรมการโทรคมนาคมผ่านดาวเทียม (ยกเว้นการบริการจัดส่งสัญญาณรายการโทรทัศน์/วิทยุผ่านดาวเทียม) รายชื่อคณะกรรมการ 1.นางชรินทร วงศ์ภูธร 2.นายสำเรียง เมฆเกรียงไกร 3.นายสมประสงค์ บุญยะชัย 4.นายเกว็ก บัค ไช 5.นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ 6.นางภัทรียา เบญจพลชัย 7.นายเอนก พนาอภิชน 8.นายอนันต์ แก้วร่วมวงศ์/ มูลค่าหุ้นและสัดส่วนการลงทุนจำแนกตามสัญชาติ ที่มา: เว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า (เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 11 ก.พ. 2562) ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ที่มา: เว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 12 ก.พ. 2562) |
ผลประกอบการปี 2561
บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ได้รายงานผลประกอบการประจำปี 2561 ระบุว่าบริษัทมีรายได้จากการขายและการให้บริการรวมทั้งสิ้น 6,008 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 10.2 จาก 6,689 ล้านบาทในปี 2560 โดยมีสาเหตุหลักจากราคาขายต่อหน่วยที่ลดลงตามแนวโน้มภาวะอุตสาหกรรมที่ชะลอตัว รวมถึงการลดลงของการใช้งานของลูกค้าในช่วงปี 2560
บริษัทมีกำไรสุทธิในปี 2561 จำนวน 230 ล้านบาท ปรับตัวสูงขึ้นจากปี 2560 ที่รายงานผลขาดทุนสุทธิที่ 2,650 ล้านบาท โดยกำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้นมีสาเหตุหลักจากการขายหุ้นบริษัท ซีเอส ล็อกซอินโฟ จำกัด (มหาชน) การลดลงของค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายหลังการบันทึกการด้อยค่าของสินทรัพย์ดาวเทียมในปี 2560 รวมถึงความสามารถในการจัดการค่าใช้จ่ายด้านการขายและบริหารที่มีประสิทธิภาพของบริษัท
สำหรับทิศทางการดำเนินธุรกิจ นายอนันต์ แก้วร่วมวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "บริษัทได้ทำการศึกษาและพิจารณาปัจจัยทั้งด้านธุรกิจ เทคโนโลยี และการแข่งขันในตลาด เพื่อกำหนดเป้าหมายระยะยาว ให้บริษัทสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน โดยได้กำหนดทิศทางธุรกิจ ดังนี้ ด้านธุรกิจดาวเทียม บริษัทฯ จะแสวงหารูปแบบการลงทุนดาวเทียมด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยร่วมกับพันธมิตรในต่างประเทศ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงด้านการลงทุนและการพึ่งพาสัมปทานของรัฐ, ด้านธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับดาวเทียม บริษัท จะอาศัยจุดแข็งทางด้านการตลาดและวิศวกรรมในการพัฒนาธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวข้องกับบริการดาวเทียมและการสื่อสาร เช่น บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมให้เรือสินค้าและเรือขนาดใหญ่ บริการที่ปรึกษาการสร้างดาวเทียม ด้านการสร้างสถานีดาวเทียม ด้านการทำตลาดและการขายดาวเทียม รวมถึงบริการออกแบบและติดตั้งระบบสื่อสาร ทั้งที่เป็นระบบดาวเทียมและที่เกี่ยวเนื่อง เป็นต้น และสำหรับด้านธุรกิจใหม่ บริษัทมุ่งพัฒนาธุรกิจใหม่ทางด้านเทคโนโลยีแห่งอนาคต ทางด้านดิจิตอลเทคโนโลยี เพื่อนำมาพัฒนาเป็นธุรกิจใหม่ในอนาคตของไทยคมเพื่อลดการพึ่งพารายได้จากดาวเทียมเพียงอย่างเดียว"
ในส่วนของกลุ่มบริษัทในเครือ บริษัท ลาว เทเลคอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด (LTC) ในประเทศลาว มีจำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (ไม่นับรวม fixed line) ในระบบรวมทั้งสิ้น 1,488,196 ราย และยังคงมีส่วนแบ่งในตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นอันดับหนึ่ง คิดเป็นร้อยละ 56.1 ของตลาดรวม นอกจากนี้ ในเดือน ม.ค. 2562 LTC ได้เข้าทำสัญญาซื้อขายหุ้น จำนวน 500,000 หุ้น หรือคิดเป็นหุ้นทั้งหมดของบริษัท วิมเปิลคอม จำกัด หนึ่งในผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศลาว ภายใต้เครื่องหมายการค้า "BEELINE" จากรัฐบาลลาว โดยการเข้าซื้อกิจการในครั้งนี้ เป็นการช่วยเพิ่มโครงข่ายโทรคมนาคมของ LTC ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อีกทั้งยังช่วยขยายกลุ่มลูกค้าเป้าหมายโดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าวัยรุ่น
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ