พบ ‘คนไร้บ้าน’ อายุสั้นกว่าประชากรปกติ 20 ปี ส่วนใหญ่เสียชีวิตจากโรคติดเชื้อ

ทีมข่าว TCIJ: 15 ก.ย. 2562 | อ่านแล้ว 6540 ครั้ง

งานศึกษาระบุอายุเฉลี่ย ‘คนไร้บ้าน’ สั้นกว่าประชากรปกติค่อนข้างมาก พบ ‘คนไร้บ้านในองค์กรและหน่วยงานต่างๆ’ อายุเฉลี่ยประมาณ 58-60 ปี ‘คนไร้บ้านในพื้นที่สาธารณะ’ ประมาณ 40-50 ปี ส่วนค่าเฉลี่ยประชากรไทยอยู่ที่ 77-82 ปี สาเหตุการเสียชีวิตของคนไร้บ้านส่วนใหญ่มาจาก ‘โรคติดเชื้อ’ ที่มาภาพประกอบ: Max Pixel (CC0 Public Domain)

ข้อมูลจาก 'รายงานการศึกษาอายุขัยเฉลี่ยและภาวะการตายของคนไร้บ้านในกรุงเทพมหานคร' โดย ชญานิศวร์ โคโนะ และคณะ, แผนงานสนับสนุนองค์ความรู้เพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะและคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, 2560 ที่ได้ศึกษาอายุเฉลี่ยของคนไร้บ้านในกรุงเทพฯ การเสียชีวิต สาเหตุและแบบแผนการเสียชีวิตของคนไร้บ้าน ผ่านมิติประชากรศาสตร์ โดยเทียบเคียงอายุเฉลี่ยของคนไร้บ้านในกรุงเทพฯ กับประชากรทั่วไป สำรวจสุขภาพ โรคภัยไข้เจ็บของคนไร้บ้าน

โดยในการศึกษานี้อาศัยข้อมูลจากสำรวจเอกสารต่างๆ และสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้อง โดยการวิเคราะห์สถานการณ์และข้อมูลทางประชากรของคนไร้บ้านในกรุงเทพฯ ได้ใช้ข้อมูลจำนวนคนไร้บ้าน ข้อมูลและคุณลักษณะทางประชากรของคนไร้บ้าน (เพศ อายุ สถานภาพ การเจ็บป่วย เป็นต้น) จากข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรต่างๆ (ภาคประชาสังคม/ องค์กรพัฒนาเอกชน) ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับคนไร้บ้าน ซึ่งจะได้ข้อมูลตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

อายุเฉลี่ยที่เสียชีวิตของคนไร้บ้าน สั้นกว่าประชากรปกติค่อนข้างมาก

จากการศึกษาพบว่า ข้อมูลจำนวนคนที่เสียชีวิตของคนไร้บ้าน จำแนกตามหน่วยงานภาครัฐ [1.สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งชายธัญบุรี 2.สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งหญิงธัญบุรี 3.สถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการบ้านกึ่งวิถี (ชาย) 4.สถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการบ้านกึ่งวิถี (หญิง)] และภาคประชาสังคม/ องค์กรพัฒนาเอกชน [มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัย (มพศ.)] พบว่าเมื่อพิจารณาอายุเฉลี่ยที่เสียชีวิตของคนไร้บ้าน โดยเฉลี่ยแล้วผู้ที่เสียชีวิตในแต่ละหน่วยงานมีอายุประมาณ 60 ปี โดยเพศหญิงมีอายุเฉลี่ยที่เสียชีวิตสูงกว่าเพศชายเล็กน้อย (อายุประมาณ 60 ปี เปรียบเทียบกับผู้ชายประมาณ 58 ปี ตามลำดับ)

ทั้งนี้ พบว่าอายุเฉลี่ยที่เสียชีวิตของคนไร้บ้านต่ำกว่าอายุคาดเฉลี่ยของประชากรไทยในปัจจุบันค่อนข้างมาก (เพศหญิง อายุประมาณ 82 ปี เปรียบเทียบกับ เพศชาย อายุประมาณ 77 ปี ตามลำดับ) อย่างไรก็ดีความแตกต่างของอายุที่เสียชีวิตระหว่างเพศมีความแตกต่างกันเล็กน้อย ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิจัยความแตกต่างของอายุที่เสียชีวิต จำแนกตามหน่วยงานภาครัฐ พบว่าอายุที่เสียชีวิตของตัวอย่างไม่แตกต่างกันมากนักระหว่างหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็น 1.สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งชายธัญบุรี 2.สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งหญิงธัญบุรี 3.สถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการบ้านกึ่งวิถี (ชาย) 4.สถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการบ้านกึ่งวิถี (หญิง)

เป็นที่สังเกตว่าในช่วงอายุ 50-65 ปี มีจำนวนคนที่เสียชีวิตค่อนข้างมาก โดยเปรียบเทียบกับกลุ่มอายุอื่นๆ และไม่มีความแตกต่างมากนักระหว่างเพศชายและเพศหญิง อีกประเด็นที่น่าสนใจ คือ จำนวนคนที่เสียชีวิตในช่วงอายุ 70 ปีขึ้นไป มีจำนวนเพียงเล็กน้อย อาจเป็นไปได้ว่ามีคนไร้บ้านอายุ 70 ปีขึ้นไป จำนวนไม่มากนักที่เข้ามารับบริการในหน่วยงาน ซึ่งเป็นลักษณะจำเพาะของประชากรที่จะได้รับการส่งต่อไปยังหน่วยงานอื่น ทำให้อายุที่เสียชีวิตของคนไร้บ้านที่เข้ารับบริการในสถานบริการต่ำกว่าอายุคาดเฉลี่ยของประชากรไทยอย่างเห็นได้ชัด

ส่วนอายุที่เสียชีวิตของคนไร้บ้านในพื้นที่สาธารณะ จากการศึกษาครั้งนี้อาศัยการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความคุ้นเคยกับประเด็นคนไร้บ้าน และผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานให้บริการรับส่งคนในพื้นที่สาธารณะไปยังโรงพยาบาล ได้ให้คำตอบที่ค่อนข้างเป็นไปในทิศทางเดียวกับการเสียชีวิตของผู้เข้ารับบริการในหน่วยงาน กล่าวคือส่วนใหญ่คนในพื้นที่สาธารณะเสียชีวิตที่อายุประมาณ 40-50 ปี และพบเจอผู้สูงอายุเสียชีวิตในพื้นที่สาธารณะจำนวนไม่มากนัก

สาเหตุการเสียชีวิตของคนไร้บ้าน ส่วนใหญ่มาจาก ‘โรคติดเชื้อ’

ในการศึกษานี้ระบุว่า ข้อมูลจากศูนย์พักคนไร้บ้านที่อยู่ในความดูแลของมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัย (มพศ.) พบว่าจากจำนวนคนไร้บ้านในศูนย์ที่เสียชีวิตไปในช่วง ปี พ.ศ. 2545 ถึงปี พ.ศ. 2559 จำนวน 11 ราย ส่วนใหญ่เสียชีวิตด้วยสาเหตุติดเชื้อในกระแสเลือดและชราภาพใกล้เคียงกัน นอกจากนั้น ก็มีโรคมะเร็ง และอุบัติเหตุ เจ้าหน้าที่ มพศ. ให้ความเห็นว่าสาเหตุการเสียชีวิตของคนไร้บ้านในศูนย์พักฯ ระยะหลังนี้จะใกล้เคียงกับกลุ่มประชากรทั่วไป คือ เป็นโรคไม่ติดต่อหรือโรคที่เกิดจากพฤติกรรมตัวเองเป็นหลัก หากแต่การดูแลรักษาอาจจะไม่มีความต่อเนื่อง หรือบางรายไม่มีบัตรประชาชน (ทำหาย/ ไม่เคยทำบัตรประชาชน) ทำให้มีปัญหาในการเข้าถึงสิทธิรักษาพยาบาล ส่งผลให้ไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม

สำหรับข้อมูลสาเหตุการเสียชีวิตของคนไร้บ้านในหน่วยงานภาครัฐ อันได้แก่ 1. สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งชายธัญบุรี 2. สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งหญิงธัญบุรี 3. สถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการบ้านกึ่งวิถี (ชาย) 4. สถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการบ้านกึ่งวิถี (หญิง) พบว่าโดยรวมแล้วมีการเสียชีวิตเกิดขึ้น 225 ราย เป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย (128 ราย เปรียบเทียบกับ 97 ราย) ส่วนใหญ่เสียชีวิตด้วยโรคติดเชื้อในกระแสเลือด, สันนิษฐานติดเชื้อในกระแสเลือด สูงถึง 71 ราย (คิดเป็นร้อยละ 31.5) รองลงมาคนไร้บ้านเสียชีวิตด้วยโรคเกี่ยวกับระบบไหลเวียนโลหิตและระบบหายใจล้มเหลว, หัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน, กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน, หัวใจและปอดล้มเหลวเฉียบพลัน จำนวน 55 ราย (คิดเป็นร้อยละ 24.4) ขณะที่คนไร้บ้านเสียชีวิตด้วยโรคชราภาพและมีการสันนิษฐานว่าชราภาพเป็นอันดับที่สาม จำนวน 39 ราย (คิดเป็นร้อยละ 17.3) ไม่เพียงเท่านี้จากข้อมูลในตาราง 7 แสดงให้เห็นว่าส่วนใหญ่แล้วเกือบครึ่งหนึ่งของคนไร้บ้านเสียชีวิตด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อ อาทิเช่น ติดเชื้อในกระแสเลือดฯ ปอดติดเชื้อ วัณโรคปอด ติดเชื้อจากการสำลัก (จำนวน 110 ราย จาก 225 ราย)

เมื่อพิจารณาข้อมูลโดยการจำแนกออกเป็น 2 ส่วน คือ หน่วยงานภาครัฐที่ดูแลคนไร้บ้านเพศหญิง ได้แก่ สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งหญิงธัญบุรี และสถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการบ้านกึ่งวิถี (หญิง) ส่วนหน่วยงานภาครัฐที่ดูแลคนไร้บ้านเพศชาย ได้แก่ สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งชายธัญบุรี และสถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการบ้านกึ่งวิถี (ชาย) ทั้งนี้ การเก็บข้อมูลการเสียชีวิตของทั้ง 4 หน่วยงาน มีความแตกต่างกันทั้งเชิงรูปแบบ และความครบถ้วนของข้อมูลสาเหตุการเสียชีวิต โดยหน่วยงานภาครัฐที่ดูแลคนไร้บ้านผู้หญิงมีการจัดเก็บข้อมูลสาเหตุการเสียชีวิตที่ค่อนข้างครบถ้วนทั้ง 2 แห่ง ซึ่งหากพิจารณาข้อมูลย้อนหลังประมาณ 3 ปี (ปี พ.ศ. 2557 ถึงปี พ.ศ. 2559) จะพบว่าคนไร้บ้านในหน่วยงานภาครัฐทั้ง 2 แห่งนั้น มีสาเหตุการเสียชีวิตที่คล้ายคลึงกันคือ มีภาวะพิษเหตุติดเชื้อ (Sepsis) ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด (Septicemia) เป็นหลัก อีกสาเหตุสำคัญ คือ ภาวะหายใจล้มเหลว (Respiratory failure) ซึ่งอาจเกี่ยวเนื่องมาจากการติดเชื้อในกระแสเลือด หรือปอดติดเชื้อ รองลงมา คือ สาเหตุด้านความชราภาพ หรือสันนิษฐานว่าชราภาพ สาเหตุการตายอื่น ที่พบในกลุ่มคนไร้บ้านผู้หญิง เช่น มะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจาย เป็นต้น

สาเหตุการเสียชีวิตของคนไร้บ้านผู้หญิงในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งหญิงธัญบุรี และสถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการบ้านกึ่งวิถี (หญิง) ปี พ.ศ. 2557-2559 พบว่าในช่วงระยะเวลา 3 ปี จากข้อมูล มีจำนวนคนไร้บ้านหญิงเสียชีวิตทั้งสิ้น 128 ราย ในจำนวนนี้เป็นคนไร้บ้านในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งหญิงธัญบุรี 37 ราย ขณะที่เป็นคนไร้บ้านในสถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการบ้านกึ่งวิถี (หญิง) ถึง 91 ราย คิดเป็นเกือบ 3 เท่าของหน่วยงานแรก

เมื่อพิจารณาจากข้อมูลคนไร้บ้านเพศหญิงจากทั้ง 2 หน่วยงาน พบว่า คนไร้บ้านผู้หญิงในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งหญิงธัญบุรีมีการเสียชีวิตด้วยกลุ่มโรคติดเชื้อในกระแสเลือด, สันนิษฐานติดเชื้อในกระแสเลือด (จำนวน 15 ราย) กลุ่มโรคระบบไหลเวียนโลหิตและระบบหายใจล้มเหลว, หัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน, กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน, หัวใจและปอดล้มเหลวเฉียบพลัน (จำนวน 13 ราย) กลุ่มโรคชราภาพ, สันนิษฐานชราภาพ (จำนวน 6 ราย) และกลุ่มโรคปอดติดเชื้อ, ติดเชื้อในช่องท้องร่วมกับปอดติดเชื้อ, ติดเชื้อทางเดินหายใจ (จำนวน 3 ราย) ตามลำดับ ทั้งนี้จากข้อมูลดังกล่าว พบว่าคนไร้บ้านหญิงกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เสียชีวิตด้วยโรคที่เป็นลักษณะของการติดเชื้อ

ขณะที่สถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการบ้านกึ่งวิถี (หญิง) พบว่าคนไร้บ้านเสียชีวิตด้วยกลุ่มโรคที่มีจำนวนใกล้เคียงกัน คือ กลุ่มโรคติดเชื้อในกระแสเลือด, สันนิษฐานติดเชื้อในกระแสเลือด (จำนวน 22 ราย) กลุ่มโรคระบบไหลเวียนโลหิตและระบบหายใจล้มเหลว, หัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน, กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน, หัวใจและปอดล้มเหลวเฉียบพลัน (จำนวน 21 ราย) กลุ่มโรคชราภาพ, สันนิษฐานชราภาพ (จำนวน 22 ราย) และกลุ่มโรคปอดติดเชื้อ, ติดเชื้อในช่องท้องร่วมกับปอดติดเชื้อ, ติดเชื้อทางเดินหายใจ (จำนวน 12 ราย) นอกจากนี้แล้วคนไร้บ้านหญิงกลุ่มนี้มีการเยชีวิตด้วยโรคอื่นนอกเหนือจากที่เกิดขึ้นกับกลุ่มคนไร้บ้านหญิงในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งหญิงธัญบุรีด้วย นั่นคือ การติดเชื้อจากการสำลัก, ทางเดินอาหารอุดตันจากการสำลัก, ขาดอากาศหายใจจากการสำลัก (จำนวน 5 ราย) น้ำท่วมปอด, มีน้ำในเยื่อหุ้มปอดจำนวนมาก (จำนวน 3 ราย) และวัณโรคปอด (จำนวน 2ราย) โรคชัก (จำนวน 2 ราย) กลุ่มโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ, น้ำครั่งในโพรงสมอง, เลือดออกในสมอง (จำนวน 2 ราย)

เมื่อเป็นเช่นนี้จึงจำเป็นต้องมีการเฝ้าระวัง เนื่องจากมีแนวโน้มที่จะเกิดมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยทางจิต และผู้สูงอายุ คือ ทางเดินหายใจอุดตันจากการสำลัก เช่น จากการสำลักอาหาร เป็นต้น นอกจากนี้ ในกลุ่มผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียง มีแนวโน้มที่จะตายจากการเป็นแผลติดเชื้อที่เกิดจากการนอนติดเตียงเป็นเวลานาน การติดเชื้อในท่ออาหาร ท่อหายใจและท่อลำเลียงและขับถ่ายของเสียต่างๆ ซึ่งทางสถานคุ้มครองเองไม่มีทรัพยากรทั้งด้านบุคลากร อุปกรณ์ทางการแพทย์ และทุนทรัพย์ที่จะดูแลผู้ป่วยสูงอายุเหล่านี้ได้อย่างเพียงพอ และได้มาตรฐานเช่นเดียวกับโรงพยาบาล

สำหรับข้อมูลสาเหตุการเสียชีวิตของกลุ่มคนไร้บ้านเพศชาย ยังมีการจัดเก็บที่ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ แต่ก็สามารถสะท้อนลักษณะเฉพาะของสาเหตุการเสียชีวิตในคนไร้บ้านกลุ่มนี้ได้เช่นเดียวกัน โดยทั้งในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งชายธัญบุรี และสถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการบ้านกึ่งวิถี (ชาย) ต่างพบว่ามีสาเหตุการเสียชีวิตที่ใกล้เคียงกับกลุ่มคนไร้บ้านผู้หญิง คือ จากข้อมูลในตาราง 9 พบว่าเกือบครึ่งหนึ่งของคนไร้บ้านชายเสียชีวิตด้วยภาวะการติดเชื้อในกระแสเลือด (จำนวน 34 ราย) และปอดติดเชื้อเป็นหลัก (จำนวน 15 ราย) รองลงมา คือ ระบบหายใจและไหลเวียนโลหิตล้มเหลว (จำนวน 21 ราย)

ประการสำคัญคือไม่ได้เกิดเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ หากแต่ปรากฏทั้งในกลุ่มที่เสียชีวิตเมื่ออายุ 30 กว่าปีเช่นกัน นอกจากนี้ ยังพบโรคที่เกี่ยวข้องกับตับด้วย เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนของการระบุว่าเสียชีวิตด้วยสาเหตุชราภาพ กลุ่มคนไร้บ้านผู้ชายเสียชีวิตด้วยสาเหตุนี้น้อยกว่ากลุ่มคนไร้บ้านผู้หญิงมากอย่างเห็นได้ชัด

จากการพิจารณาสาเหตุการเสียชีวิตรายอายุ ไม่พบแบบแผนหรือลักษณะเฉพาะของสาเหตุการเสียชีวิตที่เกิดขึ้นกับเฉพาะบางกลุ่มอายุ ทั้งนี้ เนื่องจากการระบุสาเหตุการเสียชีวิตในระบบการจัดเก็บข้อมูล ยังไม่มีการลงรายละเอียดที่ชัดเจนถึงสาเหตุการเสียชีวิตของคนไร้บ้านในแต่ละราย โดยเป็นเพียงการระบุกลุ่มโรค หรือสาเหตุสุดท้ายของการเสียชีวิตที่คล้ายคลึงกัน เช่น ระบบไหลเวียนโลหิตและหัวใจล้มเหลว เป็นต้น นอกจากนี้ ในบางหน่วยงานยังไม่มีการเชื่อมโยงข้อมูลการเป็นโรคประจำตัว หรือลักษณะการเจ็บป่วยอื่นๆ ก่อนที่จะเสียชีวิตของกลุ่มคนไร้บ้าน หรือผู้รับบริการอื่นๆ ทำให้การสันนิษฐานสาเหตุการเสียชีวิตอาจมีความคลาดเคลื่อน และการนำข้อมูลมาใช้เพื่อวางแผนป้องกัน รักษาและฟื้นฟูกลุ่มคนไร้บ้านที่อยู่ในหน่วยงานภาครัฐหรือสถานคุ้มครองย่อมไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ สาเหตุร่วมประการสำคัญที่อาจส่งผลต่อการเสียชีวิตของคนไร้บ้านทั้งกลุ่มที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สาธารณะและในหน่วยงานภาครัฐและองค์กรพัฒนาเอกชน คือ การได้รับการส่งเสริมสุขภาวะทั้งด้านร่างกายและจิตใจ อันเป็นเครื่องมือสำคัญในการป้องกันโรค หรือลดความรุนแรงของโรคต่างๆ อันเป็นสาเหตุของการตายได้อย่างมีประสิทธิภาพ กลุ่มคนไร้บ้าน โดยเฉพาะในพื้นที่สาธารณะยังคงมีข้อจำกัดในการเข้าถึงการรักษาสุขอนามัยที่ดี การได้รับอาหารที่สะอาดและมีประโยชน์ รวมถึงการได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมเมื่อเริ่มเกิดการเจ็บป่วย ในขณะที่กลุ่มคนไร้บ้านที่อยู่ในหน่วยงานภาครัฐและองค์กรพัฒนาเอกชน ซึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์พัก/สถานคุ้มครอง แม้จะได้รับการดูแลด้านสุขอนามัย ที่พักอาศัย และอาหารที่ดีในระดับหนึ่ง หากแต่ด้วยบทบาทของหน่วยงานดังกล่าวที่มีอยู่ ไม่ได้มุ่งเน้นการรักษาพยาบาลเป็นหลัก (ทั้งทางร่างกายและจิตใจ) ดังนั้น จึงไม่มีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่จะมาช่วยดูแลกลุ่มคนไร้บ้านซึ่งส่วนใหญ่มีภาวะการเจ็บป่วยซับซ้อนทั้งทางร่างกายและจิตใจ ส่งผลให้คนไร้บ้านบางรายเจ็บป่วยเรื้อรัง ต้องรับการรักษาและรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง ไม่สามารถเข้าสู่ช่องทางการฟื้นฟูสมรรถภาพ และพัฒนาศักยภาพเพื่อออกไปใช้ชีวิตได้อย่างปกติในสังคม

สาเหตุการเสียชีวิตของคนไร้บ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สาธารณะ

อนึ่ง ในการศึกษาฉบับนี้ระบุว่าสำหรับสาเหตุการเสียชีวิตของคนไร้บ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สาธารณะนั้น ยังไม่มีการจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ และไม่มีหน่วยงานเจ้าภาพรับผิดชอบที่ชัดเจน ดังนั้น ผลการศึกษาในส่วนนี้จึงอาศัยความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานช่วยเหลือคนไร้บ้านในพื้นที่สาธารณะเป็นหลัก โดยผลจากการสัมภาษณ์เชิงลึกกับเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ให้ความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า สาเหตุการเสียชีวิตของคนไร้บ้านกลุ่มนี้ ต้องแยกออกเป็นคนไร้บ้านที่เสียชีวิตด้วยการเจ็บป่วยทางกาย โดยไม่มีอาการทางจิตมาก่อน และกลุ่มผู้ป่วยทางจิต ซึ่งเป็นที่รับรู้ว่าเป็นกลุ่มคนไร้บ้านหลักที่ใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่สาธารณะ และน่าจะมีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยต่างๆ มากกว่าคนไร้บ้านที่ไม่ป่วยทางจิต

อย่างไรก็ตาม คณะผู้ศึกษาไม่สามารถวิเคราะห์ชี้ชัดได้ว่า คนไร้บ้านในพื้นที่สาธารณะเสียชีวิตด้วยสาเหตุใดมากที่สุด หากแต่การให้ข้อมูลของผู้เชี่ยวชาญที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ได้ทำให้เห็นถึงความแตกต่างของสาเหตุการเสียชีวิตของคนไร้บ้านในพื้นที่สาธารณะ และในหน่วยงานของภาครัฐและองค์กรพัฒนาเอกชนอย่างมีนัยสำคัญ โดยคนไร้บ้านที่ใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะทั้งผู้ป่วยทางกายและผู้ป่วยทางจิต ส่วนใหญ่เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุ โรคติดเชื้อและเสียชีวิตด้วยเหตุจากการติดสุราเรื้อรังเป็นหลัก มีเพียงบางรายที่เสียชีวิตด้วยโรคไม่ติดต่อที่อาจจะเป็นโรคประจำตัวมาตั้งแต่ก่อนเป็นคนไร้บ้าน นอกจากนี้ สาเหตุการเสียชีวิตของคนไร้บ้านกลุ่มนี้ ยังขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศและสภาพแวดล้อมที่อาศัยหลับนอนเป็นสำคัญด้วย เช่น ในฤดูร้อน พบว่า คนไร้บ้านเสียชีวิตด้วยการเป็นโรคลมแดด (Heat Stroke) เป็นต้น

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: อายุเฉลี่ยของคนไร้บ้านในต่างประเทศ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: