‘ทีวี’ ยังเป็นสื่อหลักที่คนไทยเสพ จาก ‘ยุคฟรีทีวี 6 ช่องหลัก’ สู่ ‘ยุคเคเบิ้ลทีวี-ทีวีดาวเทียม’ จนมาถึง ‘ยุคทีวีดิจิทัล’ ที่เคยเป็นความหวังของของอุตสาหกรรมทีวี แต่จังหวะเวลาการเริ่มถูก Digital Disruption พอดี ทำให้ฟองสบู่แตก-เริ่มมีการทยอยคืนช่องเรื่อยๆ ส่วนช่องที่เหลือยังต้องเผชิญ ‘ความผันผวนทางเศรษฐกิจ-นโยบายกฎระเบียบ การควบคุมของ กสทช.-ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี’ คนในวงการวิเคราะห์ท้ายสุดจะเหลือ 6-7 ช่องเหมือนยุคฟรีทีวีเดิม
6 ช่องหลักเคยผูกขาดการรับชมทีวีของคนไทย
ฟรีทีวี 6 ช่องหลัก (ThaiPBS, 3, 5, 7, 9 และ NBT) เคยผูกขาดในไทย แต่การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในรอบไม่กี่ปีนี้ ได้สร้างผลกระทบต่อทั้งอุตสาหกรรมทีวีไปอย่างสิ้นเชิง | ที่มาภาพประกอบ: John (CC BY-NC-ND 2.0)
ในอดีตจำนวนช่องฟรีทีวีที่ออกอากาศในไทยมีเพียงไม่กี่ราย ทำให้ตลาดมีการแข่งขันกันอย่างไม่สมบูรณ์และความหลากหลายของรายการน้อยกว่าที่ควรจะเป็น โดยฟรีทีวี 6 ช่องหลักได้แก่ ThaiPBS, 3, 5, 7, 9 และ NBT ที่กระจายสัญญาณทางอากาศ แทบที่จะผูกขาดการรับชมผ่านเครื่องรับทีวีของคนไทย (ก่อนการเข้ามาของ เคเบิ้ลทีวี ทีวีดาวเทียม และทีวีดิจิทัล ที่จะขอกล่าวถึงในส่วนต่อไป)
ข้อมูลเมื่อปี 2556 อันเป็นปีสุดท้ายก่อนที่จะเข้าสู่ยุคทีวีดิจิทัล ซึ่งถือเป็นช่วงปลายของการผูกขาดในอุตสาหกรรมทีวี พบว่าความนิยมในการรับชมฟรีทีวี 6 ช่องหลัก มีสูงถึงร้อยละ 62 ของจำนวนครัวเรือนทั่วประเทศเป็นสาเหตุให้บริษัทผู้ผลิตสินค้าและบริการต่างๆ ยังคงเน้นการโฆษณาผ่านฟรีทีวีเป็นหลัก ช่องฟรีทีวีจึงมีอำนาจต่อรองเรื่องอัตราค่าโฆษณาสูงกว่าช่องทีวีทางเลือกในขณะนั้น (เคเบิลทีวี-ทีวีดาวเทียม) โดยอัตราค่าโฆษณาบนฟรีทีวีสูงกว่าช่องทีวีทางเลือก 20 – 30 เท่า (ประเมิน ณ ปี 2556) ส่งผลให้เม็ดเงินโฆษณาส่วนใหญ่ยังกระจุกตัวอยู่ที่ช่องฟรีทีวี โดยเฉพาะช่วงเวลาไพร์มไทม์ (Prime – time ตั้งแต่ 18.30 – 22.30 น.) ที่ฟรีทีวีจะได้รับความนิยมมากกว่ากลุ่มช่องทีวีทางเลือกประมาณ 2 เท่า สัดส่วนจำนวนผู้ชมช่องทีวีทางเลือกที่สูงถึงร้อยละ 38 แต่กลับมีส่วนแบ่งรายได้จากเม็ดเงินโฆษณาเพียงร้อยละ 14 แสดงให้เห็นถึงความไม่สมดุลของส่วนแบ่งค่าโฆษณาเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ชมโดยมีความแตกต่างถึงเกือบ 3 เท่า
ทั้งนี้จากจำนวนช่องฟรีทีวีที่มีจำกัดเพียง 6 ช่อง ส่งผลให้มีผู้ผลิตรายการโทรทัศน์รายหลักไม่กี่รายผลิตรายการและป้อนสู่ฟรีทีวีช่องต่างๆ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ประเมินว่าตลาดผลิตรายการโทรทัศน์ในปี 2556 มีมูลค่าสูงถึง 28,780 ล้านบาท ส่วน Nielsen wfhประเมินว่ามูลค่าตลาดโฆษณาของฟรีทีวีรวมกับเคเบิ้ลทีวี-ทีวีดาวเทียม ในปี 2556 อยู่ที่ 71,399.81 ล้านบาท ร้อยละ 96.99 โดย 'ช่อง 3' และ 'ช่อง 7' ครองสัดส่วนกว่าร้อยละ 60 [1] [2] [3] [4]
การเข้ามาของ ‘เคเบิ้ลทีวี-ทีวีดาวเทียม’
จากการผูกขาดของฟรีทีวีช่องหลักมายาวนาน ทำให้เอกชนเริ่มนำเสนอทางเลือกคือ ‘เคเบิลทีวี-ทีวีดาวเทียม’ ให้กับผู้รับชมทีวี โดยในปี 2555 ไทยเคยมีช่องเคเบิลทีวี-ทีวีดาวเทียมถึง 506 ช่อง เลยทีเดียว
จากการผูกขาดของฟรีทีวีช่องหลักมายาวนาน ทำให้เอกชนเริ่มนำเสนอทางเลือกให้กับผู้รับชมทีวี ซึ่งทีวีทางเลือกที่สำคัญก่อนยุคอินเตอร์เน็ตและทีวีดิจิทัลที่สำคัญได้แก่ ‘เคเบิลทีวี-ทีวีดาวเทียม’ โดยตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมาได้เกิดการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของเคเบิ้ลทีวี-ทีวีดาวเทียม จากปัจจัยหลักคือคุณภาพสัญญาณในการรับชม ความหลากหลายของช่องรายการ ราคาติดตั้งและค่าสมาชิกที่ถูกลงเป็นอย่างมาก โดยระหว่างปี 2551-2556 จำนวนผู้ติดตั้งเคเบิ้ลทีวีและจานดาวเทียม (รวม True visions) ของไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดดจากร้อยละ 20 ของจำนวนครัวเรือนทั่วประเทศในปี 2551 เป็นร้อยละ 64 ในปี 2555 หรือคิดเป็นการเติบโตเฉลี่ยปีละร้อยละ 40
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ได้วิเคราะห์ถึงการเติบโตที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นผลมาจากปัจจัยหลัก 3 ประการคือ 1.ความต้องการรับชมภาพและเสียงที่คมชัด โดยเฉพาะพื้นที่ในต่างจังหวัด และตามตึกสูงในเขตเมือง เนื่องจากคุณภาพสัญญาณของโทรทัศน์ภาคพื้นดินถูกรบกวนจนไม่สามารถรับชมได้ 2.ความต้องการรับชมรายการที่หลากหลาย โดยเฉพาะการติดตามสถานการณ์การเมืองในช่วงปี 2551-2554 ประกอบกับในช่วงปี 2551 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ออกกฎเกณฑ์ให้กิจการโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นสามารถหารายได้จากการโฆษณาได้ จึงมีช่องทีวีทางเลือกเพิ่มขึ้นมากจาก 358 ช่อง ในปี 2553 กลายเป็น 506 ช่อง ในปี 2555 และ 3.ราคาติดตั้งและค่าสมาชิกถูกลงเป็นอย่างมาก เนื่องจากเทคโนโลยีที่พัฒนาสูงขึ้น ประกอบกับมีผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่ตลาดในช่วงปี 2554-2555 มากขึ้น ทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคากันในอุตสาหกรรม [5]
ในปี 2554 สมาคมโทรทัศน์ดาวเทียม (ประเทศไทย) ระบุว่าจากครัวเรือนในประเทศไทยมีประมาณ 20 ล้านครัวเรือน มีจำนวนที่รับชมรายการโทรทัศน์ผ่านจานดาวเทียมกว่าร้อยละ 50 โดยคาดว่าจะเพิ่มเป็นร้อยละ 70 ในปี 2555 และครอบคลุมทั่วประเทศในปี 2556 ซึ่งเมื่อฐานผู้ชมผ่านจานดาวเทียมเพิ่มขึ้น จึงมีสินค้าและเอเยนซีให้ความสนใจโฆษณาและจัดกิจกรรมผ่านสื่อทีวีดาวเทียมเพิ่มขึ้น จากการขยายตัวของฐานผู้ชมในช่วงปี 2552-2554 ทำให้ช่องทีวีดาวเทียมที่มีเรตติ้งสูงในกลุ่มท็อป 20 มีการปรับราคาเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในอัตราเท่าตัว แต่กระนั้นมูลค่าเฉลี่ยสปอตโฆษณาทีวีดาวเทียมในปี 2552 จะอยู่ที่ 2,000 บาทต่อนาที ปี 2553 เพิ่มเป็น 2,500 บาท และในปี 2554 อยู่ที่ระดับ 4,000-5,000 บาท (ซึ่งถือว่าต่ำกว่าฟรีทีวีช่องหลักค่อนข้างมาก โดยในขณะนั้นมูลค่าเฉลี่ยสปอตโฆษณาในฟรีทีวีที่อยู่ที่หลักแสนบาทต่อนาที)
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้วิเคราะห์ว่าธุรกิจทีวีดาวเทียมมีการแข่งขันสูง เนื่องจากมีผู้ประกอบการจำนวนมาก ทำให้มีการขยายตัวของจำนวนช่องทีวีดาวเทียมเปิดใหม่ และการปรับราคาของช่องที่มีเรตติ้งผู้ชมสูง ทำให้ภาพรวมเม็ดเงินโฆษณาสื่อทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวีเพิ่มขึ้นเท่าตัวในปี 2554 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากมูลค่า 2,500 ล้านบาทใน 2553 เป็น 5,000 ล้านบาทในปี 2554 อย่างไรก็ตามปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันให้ธุรกิจทีวีดาวเทียมมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องและสามารถดึงดูดรายได้จากเม็ดเงินโฆษณาได้อย่างยั่งยืน ยังต้องอาศัยการวางแนวทางพัฒนาและจับกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน บวกกับการพัฒนาคอนเทนท์ที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง [6]
'เคเบิ้ลทีวี-ทีวีดาวเทียม' กระบอกเสียงกลุ่มการเมือง 'เคเบิ้ลทีวี-ทีวีดาวเทียม' ในประเทศไทย เคยเป็นกระบอกเสียงสำคัญของกลุ่มการเมืองเช่นเดียวกับวิทยุชุมชน | ที่มาภาพประกอบ: @iannnnn (CC BY 2.0) อาจจะปฏิเสธไม่ได้ว่าการได้รับความนิยมของ 'เคเบิ้ลทีวี-ทีวีดาวเทียม' ในประเทศไทยนั้น ส่วนหนึ่งเกิดมาจากการที่กลุ่มการเมืองต่างๆ ใช้สื่อชนิดนี้เป็นช่องทางสำคัญในการสื่อสารกับมวลชน ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ที่มีช่อง 'ASTV' มาจนถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือ 'กลุ่มคนเสื้อแดง' ที่มีช่อง 'People Channel' หรือ 'PTV' ต่อมาภายหลังถูกสั่งปิดตามอำนาจของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ภายหลังเหตุการณ์การสลายการชุมนุมปี 2553 และได้กลับมาเปิดตัวใหม่อีกครั้งและปรับเปลี่ยนชื่อสถานีเป็น 'Asia Update' ร่วมกับพรรคเพื่อไทย (ต่อมาคือช่อง PEACE TV, TV24 และ DNN) รวมทั้งช่อง 'BLUESKY Channel' ของพรรคประชาธิปัตย์อีกด้วย [7] |
แต่เนื่องจากการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคทีวีดิจิทัลเมื่อปี 2557 และดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่าการแข่งขันของช่องเคเบิ้ลทีวี-ทีวีดาวเทียมมีอยู่สูง แต่เรตราคาโฆษณากลับต่ำมาก รวมทั้งกฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้นสำหรับการใช้เคเบิ้ลทีวี-ทีวีดาวเทียมสื่อสารกับกลุ่มการเมือง ส่งผลให้อุตสาหกรรมเคเบิ้ลทีวี-ทีวีดาวเทียมในปัจจุบันไม่ได้เติบโตมากนัก จากข้อมูลของบริษัท กรุ๊ปเอ็ม พบว่าภาพรวมเม็ดเงินโฆษณาอุตสาหกรรมเคเบิ้ลทีวี-ทีวีดาวเทียม ในปี 2561 มีเม็ดเงินโฆษณาเพียง 1,200 ล้านบาท ลดลงมาเรื่อยๆ จากปี 2556 ที่มีกว่า 7,000 ล้านบาท ปี 2557 กว่า 3,900 ล้านบาท ปี 2558 กว่า 3,600 ล้านบาท ปี 2559 กว่า 2,090 ล้านบาท และปี 2560 ที่มีเม็ดเงินโฆษณา 1,900 ล้านบาท แสดงให้เห็นเม็ดเงินโฆษณาในสื่อดาวเทียมและเคเบิลทีวีลดลงต่อเนื่องตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ส่วน Nielsen ระบุว่างบประมาณโฆษณา 6 เดือนแรกของปี 2562 (ม.ค.-มิ.ย.) พบว่าภาพรวมงบโฆษณาเคเบิ้ลทีวี-ทีวีดาวเทียม มี 1,075 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 13.31 [8] [9]
ก้าวสู่ยุค ‘ทีวีดิจิทัล’
ช่วงปลายปี 2556 คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้จัดให้มีการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัลประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ 24 ช่อง (ใบอนุญาต 15 ปี เริ่มปี 2557 จบในปี 2572 และตลอด 15 ปีก่อนสิ้นสุดใบอนุญาต โดยย้ำ กสทช. ว่าจะไม่มีการประมูลอีก) การประมูลนี้จะเพิ่มช่องฟรีทีวี (ประเภทบริการธุรกิจ) จากเดิม 6 ช่องรายการเป็น 24 ช่อง นับเป็นการจัดประมูลครั้งแรกในประวัติศาสตร์วงการโทรทัศน์ของประเทศไทย มีการเสนอราคามูลค่ารวม 4 ประเภท 50,862 ล้านบาท (สูงกว่ามูลค่าราคาขั้นต่ำใบอนุญาต 24 ช่อง ที่ กสทช. กำหนดไว้ 15,190 ล้านบาท) ซึ่งการเปิดประมูลครั้งนี้ทำให้มีเพิ่มขึ้นของช่องฟรีทีวี (ประเภทบริการธุรกิจ) จากเดิม 6 ช่องรายการเป็น 24 ช่องรายการ แบ่งเป็น
หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดสูง (ทั่วไป HD) จำนวน 7 ใบอนุญาต ได้ผู้มีสิทธิเป็นผู้ชนะการประมูล 7 ราย คือ บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด เสนอราคาสูงสุดที่เป็นลำดับที่ 1 เสนอ 3,530 ล้านบาท, บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด เสนอราคาสูงสุดที่เป็นลำดับที่ 2 ราคา 3,460 ล้านบาท, บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด เสนอราคาสูงสุดที่เป็นลำดับที่ 3 ราคา 3,370 ล้านบาท, บริษัท ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด เสนอราคาสูงสุดที่เป็นลำดับที่ 4 ราคา 3,360 ล้านบาท, บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เสนอราคาสูงสุดที่เป็นลำดับที่ 5 ราคา 3,340 ล้านบาท, บริษัท อมรินทร์ เทเลวิชั่น จำกัด เสนอราคาสูงสุดที่เป็นลำดับที่ 6 ร่วม ในราคา 3,320 ล้านบาท, และบริษัท จีเอ็มเอ็ม เอชดี ดิจิทัล ทีวี จำกัด เสนอราคาสูงสุดที่เป็นลำดับที่ 6 ร่วม ในราคา 3,320 ล้านบาท ซึ่งรวมมูลค่าการเสนอราคาในหมวด HD 23,700 ล้านบาท
หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดปกติ (ทั่วไป SD) จำนวน 7 ใบอนุญาต ได้ผู้มีสิทธิเป็นผู้ชนะการประมูล 7 ราย คือ บริษัท ไทย บรอดคาสติ้ง จำกัด เป็นผู้เสนอราคาสูงสุดลำดับที่ 1 ในราคา 2,355 ล้านบาท, บริษัท ทรู ดีทีที จำกัด เป็นผู้เสนอราคาสูงสุดลำดับที่ 2 ในราคา 2,315 ล้านบาท, บริษัท จีเอ็มเอ็ม เอสดี ดิจิทัล ทีวี จำกัด เป็นผู้เสนอราคาสูงสุดลำดับที่ 3 ในราคา 2,290 ล้านบาท, บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด เป็นผู้เสนอราคาสูงสุดลำดับที่ 4 ในราคา 2,275 ล้านบาท, บริษัท อาร์.เอส.เทเลวิชั่น จำกัด เป็นผู้เสนอราคาสูงสุดลำดับที่ 5 ในราคา 2,265 ล้านบาท, บริษัท โมโน บรอดคาซท์ จำกัด เป็นผู้เสนอราคาสูงสุดลำดับที่ 6 ในราคา 2,250 ล้านบาท และบริษัท แบงคอก บิสสิเนส บรอดแคสติ้ง จำกัด เป็นผู้เสนอราคาสูงสุดลำดับที่ 7 ในราคา 2,200 ล้านบาท ซึ่งรวมมูลค่าการเสนอราคาในหมวด SD 15,950 ล้านบาท
หมวดหมู่ข่าวสารและสาระ 7 ใบอนุญาต ได้ผู้มีสิทธิเป็นผู้ชนะการประมูล 7 ราย ได้แก่ บริษัท เอ็นบีซี เน็กซ์ วิชั่น จำกัด เป็นผู้เสนอราคาสูงสุดลำดับที่ 1 ในราคา 1,338 ล้านบาท, บริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด เป็นผู้เสนอราคาสูงสุดลำดับที่ 2 ในราคา 1,330 ล้านบาท, บริษัท ไทยทีวี จำกัด เป็นผู้เสนอราคาสูงสุดลำดับที่ 3 ในราคา 1,328 ล้านบาท, บริษัท สปริงนิวส์ เทเลวิชั่น จำกัด เป็นผู้เสนอราคาสูงสุดลำดับที่ 4 ในราคา 1,318 ล้านบาท, บริษัท ไทย นิวส์ เน็ตเวิร์ค (ทีเอ็นเอ็น) จำกัด เป็นผู้เสนอราคาสูงสุดลำดับที่ 5 ในราคา 1,316 ล้านบาท, บริษัท ดีเอ็น บรอดคาสท์ จำกัด เป็นผู้เสนอราคาสูงสุดลำดับที่ 6 ในราคา 1,310 ล้านบาท, และบริษัท 3เอ. มาร์เก็ตติ้ง จำกัด เป็นผู้เสนอราคาสูงสุดลำดับที่ 7 ในราคา 1,298 ล้านบาท ซึ่งรวมมูลค่าการเสนอราคาในหมวดข่าวสารและสาระ 9,238 ล้านบาท
หมวดหมู่เด็ก เยาวชน และครอบครัว จำนวน 3 ใบอนุญาต ได้ผู้มีสิทธิเป็นผู้ชนะการประมูล 3 ราย คือ บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด เสนอราคาสูงสุดที่เป็นลำดับที่ 1 เสนอ 666 ล้านบาท, บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เสนอราคาสูงสุดที่เป็นลำดับที่ 2 เสนอ 660 ล้านบาท และบริษัท ไทยทีวี จำกัด เสนอราคาสูงสุดที่เป็นลำดับที่ 3 เสนอ 648 ล้านบาท ซึ่งรวมมูลค่าการเสนอราคาในหมวดเด็กฯ 1,974 ล้านบาท [10] [11]
ทีวีดิจิทัลช่องต่างๆ ได้แก่ ช่อง 13 – 3 FAMILY | ช่อง 14 – MCOT Family | ช่อง 15 – LOCA | ช่อง 16 – TNN 24 | ช่อง 17 – THAITV | ช่อง 18 – NEW tv | ช่อง 19 – SPRING NEWS | ช่อง 20 – BRIGHT TV | ช่อง 21 – VOICE TV | ช่อง 22 – NATION TV | ช่อง 23 – WORKPOINT TV | ช่อง 24 – TRUE4U | ช่อง 25 – GMM | ช่อง 26 – NOW (ก่อนเปลี่ยนเป็น SPRING) | ช่อง 27 – 8 | ช่อง 28 – 3SD | ช่อง 29 – MONO 29 | ช่อง 30 – MCOT HD | ช่อง 31 – ONE HD | ช่อง 32 – THAIRATH TV | ช่อง 33 – 3 HD | ช่อง 34 – AMARIN TV HD | ช่อง 35 – 7 HD | ช่อง 36 – PPTV HD ได้เริ่มออกอากาศในครั้งแรกเมื่อเดือน เม.ย. 2557 ซึ่งการปรากฏกายของฟรีทีวีช่องใหม่กว่า 24 ช่องนี้ ถือเป็นการก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ของทีวีไทย
[ส่วนช่องของทางภาครัฐได้แก่ ช่อง 1 – 5 HD1 | ช่อง 2 – NBT | ช่อง 3 – Thai PBS | ช่อง 4 – Thai PBS Kids | ช่อง 5 – ETV | ช่อง 6 – (ช่องศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม) | ช่อง 7 – (ช่องสุขภาพ กีฬา คุณภาพชีวิต) | ช่อง 8 – (ช่องความมั่นคงของรัฐ) | ช่อง 9 – (ช่องความปลอดภัยสาธารณะ) | ช่อง 10 – โทรทัศน์รัฐสภา | ช่อง 11 – (ช่องส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตย) | ช่อง 12 – (ช่องพัฒนาเยาวชนและผู้ด้อยโอกาส)]
'คสช.' ผู้มีบทบาทสำคัญ 'คณะรักษาความสงบแห่งชาติ' (คสช.) ที่ทำการรัฐประหารและเข้ามาบริหารประเทศเมื่อ พ.ค. 2557 หรือเพียง 1 เดือนหลังทีวีดิจิทัลออกอากาศ ก็ได้มีบทบาทสำคัญในเส้นทางของธุรกิจทีวีดิจิทัลในรอบ 5 ปี มีการออกคำสั่ง คสช.ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลถึง 4 ฉบับ สื่อประชาชาติธุรกิจ ได้วิเคราะห์ว่านอกจากเผชิญการแข่งขันรุนแรงในตลาด กับการเกิดสื่อออนไลน์และทีวีออนไลน์แล้ว 'คณะรักษาความสงบแห่งชาติ' (คสช.) ที่เข้ามาบริหารประเทศเมื่อ พ.ค. 2557 หรือเพียง 1 เดือนหลังทีวีดิจิทัลออกอากาศ ก็ได้มีบทบาทสำคัญในเส้นทางของธุรกิจทีวีดิจิทัลในรอบ 5 ปี มีการออกคำสั่ง คสช.ที่เกี่ยวข้องถึง 4 ฉบับ ได้แก่ ประกาศ คสช.ที่ 80/2557 (9 ก.ค. 2557) กำหนดให้นำเงินประมูลทีวีดิจิทัล หากยังมิได้ส่งเข้ากองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ส่งเป็นรายได้ของแผ่นดิน | ประกาศ คสช.ที่ 76/2559 (20 ธ.ค. 2559) เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการผ่อนผันการจ่ายเงินค่าประมูลใบอนุญาต แยกเป็นเงินประมูลในส่วนของราคาขั้นต่ำที่เหลืออีกร้อยละ 10 แบ่งเป็น 2 งวด ส่วนค่าประมูลส่วนเกินราคาขั้นต่ำอีกร้อยละ 60 แบ่งจ่ายเป็น 6 งวด และให้ กสทช.สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการส่งสัญญาณโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไปผ่านดาวเทียม (มัสต์แคร์รี่) 3 ปี | คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 9/2561 (23 พ.ค. 2561) กำหนดให้ช่องยื่นขอพักการจ่ายเงินค่าประมูลได้ไม่เกิน 3 ปี ให้ กสทช.สนับสนุนค่าเช่าโครงข่ายทีวีดิจิทัล (MUX) ร้อยละ 50 2 ปี และให้ช่องทีวีของกรมประชาสัมพันธ์มีโฆษณาได้เท่าที่จำเป็น | และฉบับสุดท้าย ประกาศ คสช.ที่ 4/2562 (11 เม.ย. 2562) ที่ระบุว่าเพื่อแก้ปัญหาของผู้ประกอบการ เปิดทางให้คืนช่องได้ โดยไม่ต้องจ่ายเงินประมูล 2 งวดสุดท้าย พร้อมได้เงินชดเชย ส่วนช่องที่ยังทำต่อนอกจากได้รับยกเว้นไม่ต้องจ่ายเงินประมูล 2 งวดสุดท้ายแล้ว ยังได้รับการสนับสนุนค่า MUX จนสิ้นสุดใบอนุญาต ทั้งกำหนดให้ กสทช.สนับสนุนองค์กรกลางทำระบบสำรวจความนิยม (ทีวีเรทติ้ง) [12] |
เมื่อฟองสบู่ ‘ทีวีดิจิทัล’ แตก
ไม่กี่ปีมานี้ปรากฏการณ์ ‘ทีวีดิจิทัล’ เคยเป็นความหวังของธุรกิจสื่ออย่างไม่เฉลียวใจเลยแม้แต่น้อย ว่าแท้จริงแล้วสภาวการณ์นั้นกำลังเปรียบเสมือนการ ‘ต้มกบ’ ที่แหวกว่ายอย่างสบายใจก่อนเดือดและจะ ‘สุก’ ไปในท้ายที่สุด
แต่หลังจากการออกอากาศของช่องทีวีดิจิทัลได้ไม่นาน สัญญาณเตือนของภาวะฟองสบู่แตกก็เริ่มขึ้น เมื่อปี 2558 ช่อง '15 LOCA' และ '17 THAITV' ของบริษัท ไทยทีวี จำกัด ไม่สามารถจ่ายค่าประมูลที่งวดที่ 2 จำนวน 288.472 บาทได้ โดยระบุว่าขาดทุนกว่า 300 ล้านบาท ทำให้ กสทช. ยึดใบอนุญาต ส่งผลให้เป็นทีวีดิจิทัล 2 ช่องแรกที่ต้องปิดตัวลงไป เมื่อปลายเดือน ต.ค. 2558 ซึ่งการอำลาจอไปของทั้ง 2 ช่อง เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่น่าแปลกใจมากนักหากพิจารณาข้อมูลเมื่อสิ้นปี 2557 พบว่ารายได้ของทีวีดิจิทัลทั้ง 24 ช่อง รวมกันมีเพียง 3,633,230,983.30 บาท ขณะที่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรวมกันไปถึง 72,114,619.69 บาท ทั้งนี้พบว่าช่องที่มีฐานธุรกิจเดิมยังคงความได้เปรียบ ส่วนช่องเกิดใหม่ลงทุนไม่ต่ำกว่าปีละ 2 พันล้าน แต่กลับมีรายได้หลักสิบล้านบาทเท่านั้น [13] [14] [15] [16]
จากนั้นหลัง ประกาศ คสช.ที่ 4/2562 (11 เม.ย. 2562) ที่ระบุว่าเพื่อแก้ปัญหาของผู้ประกอบการ เปิดทางให้คืนช่องได้ โดยไม่ต้องจ่ายเงินประมูล 2 งวดสุดท้าย พร้อมได้เงินชดเชย ทำให้ทีวีดิจิทัลอีก 7 ช่อง ประกาศคืนใบอนุญาตและยุติการออกอากาศ ได้แก่ ช่อง 13 – 3 FAMILY | ช่อง 14 – MCOT Family | ช่อง 19 – SPRING NEWS | ช่อง 20 – BRIGHT TV | ช่อง 21 – VOICE TV | ช่อง 26 – SPRING (ช่อง NOW เดิม) | ช่อง 28 – 3SD โดยทั้ง 7 ช่องยุติการออกอากาศเมื่อสิ้นเดือน ก.ย. 2562 ที่ผ่านมา ทำให้สถานการณ์ ณ ปลายปี 2562 นี้ทีวีดิจิทัลประเภทธุรกิจเหลือเพียง 15 ช่อง และทีวีบริการสาธารณะอีก 4 ช่อง เท่านั้น
เม็ดเงินโฆษณาทีวีดิจิทัลระหว่างปี 2557- 2562 เมื่อเดือน ก.ย. 2562 TV Digital Watch ได้รวบรวมข้อมูล 'ตลาดโฆษณาทีวีดิจิทัล 5 ปีย้อนหลัง (2557- 2562)' พบว่าทิศทางของรายได้จากค่าโฆษณาของธุรกิจ โทรทัศน์ที่มีการกระจายตัวไปหลากหลายช่องมากขึ้น ช่องทีวีดิจิทัลที่เกิดขึ้นใหม่เข้ามาชิงส่วนแบ่งมูลค่า ตลาดโฆษณาวงการโทรทัศน์จากผู้ประกอบการโทรทัศน์รายเดิมได้ในสัดส่วนที่มากขึ้น จากส่วนแบ่งเพียงร้อยละ 12.69 ของมูลค่าโฆษณารวมในตลาด 7.3 หมื่นล้านบาท ในปี 2557เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 42.29 ของมูลค่ารวม 6.7 หมื่นล้านบาท ในปี 2561 และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเรื่อยๆ จากข้อมูล 'มูลค่าตลาดโฆษณาที่ประมาณการจากทุกช่องของโทรทัศน์ภาคพี้นดิน' จัดทำโดย Nielsen ได้แบ่งมูลค่าตลาดโฆษณาของธุรกิจทีวีดิจิทัล ออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มช่องเดิม ที่ประกอบไปด้วย ช่อง 3 ช่อง 5 ช่อง 7 ช่อง 9 และช่อง NBT และกลุ่มทีวีดิจิทัลช่องใหม่ทั้งหมด พบว่ารายได้ของกลุ่มช่องเดิม มีสัดส่วนลดลงทุกปี จากปี 2557 ซึ่งเป็นปีแรกที่ทีวีดิจิทัลเปิดให้บริการ สัดส่วนรายได้ของกลุ่มฟรีทีวีเดิม คิดเป็นร้อยละ 87.31 หรือ มูลค่า 63,776.30 ล้านบาท ในขณะที่ช่องใหม่รวมกันมีมูลค่าเพียงร้อยละ 12.69 หรือ 9,265.77 ล้านบาทเท่านั้น แต่มาในปี 2561 มูลค่าตลาดของกลุ่มช่องเดิมลดลงเหลือเพียง 38,529.86 ล้านบาท หรือร้อยละ 56.71 ในขณะที่กลุ่มช่องใหม่รวมกันมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 29,417.35 ล้านบาท หรือร้อยละ 43.29 แสดงให้เห็นว่าทีวีดิจิทัล ช่องใหม่ๆ เริ่มเข้ามาครองตลาดได้มากขึ้น TV Digital Watch วิเคราะห์ว่าโดยสรุปภาพรวมของตลาดโฆษณาของธุรกิจทีวีดิจิทัลในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ได้แสดงให้เห็นทิศทางมูลค่าตลาดโฆษณาในปี 2558 เป็นปีที่มี มูลค่าตลาดโฆษณาสูงสุดถึงกว่า 7.8 หมื่นล้านบาท และค่อยๆ ลดลงมาอยู่ที่ 6.7 หมื่นล้านบาทในปี 2561 ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้มูลค่าโฆษณามีแนวโน้มลดลงคือ ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว อย่างไรก็ดี สถานการณ์ของ ทีวีดิจิทัลในปี 2562 ที่มีช่องดิจิทัล 7 ช่องขอคืนใบอนุญาต ทำให้อุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลเหลือช่องรายการทั้งหมด 19 ช่อง โดยเม็ดเงินโฆษณาของช่องที่คืนใบอนุญาตจะกระจายไปยังช่องที่ยังออกอากาศอยู่ [17] ส่วนสมาคมมีเดียเอเยนซีและธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย (MAAT) ประเมินมูลค่าเม็ดเงินโฆษณาทีวีดิจิทัลปี 2562 นี้จะอยู่ที่ 64,680 ล้านบาท ติดลบจากปี 2561 ร้อยละ 2 [18] |
นับตั้งแต่ทีวีดิจิทัลเริ่มต้นในปี 2557 พบว่าเม็ดเงินโฆษณาก็ไม่ได้เติบโตจากยุคฟรีทีวี 6 ช่อง โดยเม็ดเงินโฆษณาก้อนเดิมนั้นได้ย้ายจากช่องฟรีทีวีเดิมไปยังทีวีดิจิทัลช่องใหม่ แต่การแข่งขันกลับมีสูงกว่าเดิมรวมทั้งมีส่วนที่ไหลไปยังสื่อออนไลน์ด้วย ขณะที่ทีวีดิจิทัลเป็นสื่อที่ลงทุนสูงเมื่อรายได้ไม่คุ้มต้นทุนทำให้หลายช่องต้องทยอยลดต้นทุน ทั้งการปรับกลยุทธ์องค์กร การเลิกจ้างพนักงานมาต่อเนื่อง และสุดท้ายมาจบลงที่การคืนใบอนุญาต
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้วิเคราะห์ว่าอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลกำลังเผชิญกับแรงกดดันทางด้านรายได้และต้นทุนส่งผลให้อัตรากำไรจากการดำเนินงานของผู้ประกอบการมีแนวโน้มที่จะลดลงต่อเนื่อง โดยช่องทีวีดิจิทัลมีรายได้ส่วนใหญ่มาจากการโฆษณา อย่างไรก็ตามภาพรวมตลาดทีวีดิจิทัลในช่วง 5 ปีที่ผ่านมายังอยู่ในสภาวะไม่ดีนักสะท้อนได้จากรายได้รวมมีการหดตัวลงโดยมีสาเหตุจากเศรษฐกิจที่ ผันผวนและการชะลอตัวของกำลังซื้อ ประกอบกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป สื่อออนไลน์ที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตมากขึ้น ทำให้บริษัทและเจ้าของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ปรับลดงบโฆษณาในช่องทางทีวีลงตามไปด้วย [19]
จังหวะเวลาที่ถูก Disrupt
นอกจากนี้จังหวะการเกิดขึ้นของทีวีดิจิทัลในปี 2557 นั้นเป็นจังหวะที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี (Digital Disruption) การขยายตัวของสื่อออนไลน์ OTTและการเติบโตของแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างประเทศไม่ว่าจะเป็น Youtube Facebook หรือ Line TV เป็นต้น ที่เข้ามาแย่งเวลาผู้ชมจากจอทีวี โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่เติบโตมากับสื่อออนไลน์ล้วนเป็นปัจจัยที่กระทบธุรกิจทีวีดิจิทัล [20]
การแข่งขันกันเองอย่างรุนแรงในอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลที่มีกว่า 24 ในเริ่มแรก รวมทั้งต้องแข่งขันกับสื่อออนไลน์ แต่เม็ดเงินโฆษณาไม่ได้เพิ่มจากเดิมในยุคฟรีทีวี 6 ช่อง นี้เองอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้มีช่องทีวีดิจิทัลปิดตัวอีกในอนาคต
ผู้อำนวยการฝ่ายข่าวของช่องทีวีดิจิทัลช่องหนึ่ง ที่มีประสบการณ์ในวงการทีวีมากกว่า 20 ปี ให้สัมภาษณ์กับ TCIJ ช่วงเดือน พ.ย. 2562 ระบุว่าหลังจากการคืนใบอนุญาตระลอกล่าสุด 7 ช่องเมื่อเดือน ก.ย. 2562 ที่ผ่านมา ในส่วนตนเชื่อว่าในอนาคต (ระยะใกล้-กลาง) อาจจะมีการปิดตัวอีกอย่างน้อย 3 ถึง 4 ช่อง และในท้ายที่สุด (ระยะยาว) ทีวีดิจิทัลก็จะเหลือเพียง 6-7 ช่อง เหมือนในยุคฟรีทีวีเดิม
"ทีวีดิจิทัลที่แข่งขันกันสูง ปัจจุบัน เรตติ้งสูงสุด 4 อันดับแรก มี ช่อง 7HD ช่อง 3HD ช่อง MONO29 และช่อง WORKPOINT TV ที่เรตติ้งพอขายได้ ในภาพรวมค่าโฆษณาทีวีลดลง เมื่อก่อนช่อง 3 ขายได้นาทีละ 100,000 บาท พอมีหลายช่องค่าโฆษณาก็ลดลง ในการแข่งขันช่องมีเรตติ้งสูงไล่เรียงลงมา ราคาขายโฆษณาจะแตกต่างกันและลดลงหลายเท่า ในช่องที่เรตติ้งไม่ดีค่าโฆษณาลดลงเหลือนาทีละ 10,000 บาท 5,000 บาท 2,000 บาท ทำให้ทีวีดิจิทัลอยู่ไม่ได้ ส่วนพวกทีวีดาวเทียม จะเป็นทีวีที่เจาะกลุ่มเฉพาะเจาะจง รายได้จากการขายสินค้า ขายพระ ขายอาหารเสริม ขายอะไรไป"
"จำนวนเงินโฆษณาในอุตสาหกรรมฟรีทีวีมันไหลไปสื่อออนไลน์ต่างๆ ที่เขียนข่าว สกู๊ปเชิง PR หรือ Advertorial ได้ด้วย เช่น น้ำมันหมูที่เป็นข่าวเชิงสาระ ซึ่งก็มีรายได้มาจากการโฆษณาในลักษณะนี้ ออนไลน์เข้าถึงกลุ่มเฉพาะได้มากกว่าทีวีดิจิทัล คนดูทีวีส่วนใหญ่จะอายุ 30 ปี 40 ปีขึ้นไป ส่วนเด็กรุ่นใหม่ไม่ดูทีวีแบบวันละ 8 ชั่วโมงคือตื่นเช้ามาเปิดทีวีเลยเหมือนเมื่อก่อนแล้ว"
ผู้อำนวยการฝ่ายข่าวท่านนี้ระบุว่าเมื่อออนไลน์แข่งกับทีวี ก็จะเกิดสำนักข่าวออนไลน์จำนวนมากเป็นคู่แข่งในการรับข่าวสารของทีวี สุดท้ายแล้วทีวีดิจิตัลจะเหลือ 6-7 ช่อง เป็นช่องวาไรตี้ ส่วนช่องข่าวจะลดลงไป ช่องทีวีดิจิทัลจะลดลงไปพอๆ กับจำนวนคนดู โดยจำนวนช่องจะไม่เกินขนาดของอุตสาหกรรมโฆษณา แต่ทั้งนี้เขายังระบุว่าพฤติกรรมการรับชมสื่อผ่านจอทีวีจะไม่หายไปทีเดียว
"แต่ถ้าถามว่าฟรีทีวีจะมีอยู่อีกไหม คนจำเป็นต้องมีทีวีดู ก็ต้องมีทีวีอยู่ ไม่เช่นนั้น Netflix จะฉายทางทีวีทำไม ในโลกนี้มีห้องรับแขกสร้างความบันเทิงที่ดูร่วมกัน ฟรีทีวีต้องอยู่และอยู่ได้กี่ช่องที่สอดคล้องกับพฤติกรรมคนดูทีวี" ผู้อำนวยการฝ่ายข่าวท่านนี้ระบุ
สุพจน์ เธียรวุฒิ ที่ปรึกษาอธิการบดี และผู้อำนวยการโครงการ CU Transformation ระบุไว้ในงานเสวนา ‘ปัญหาและทางออกของทีวีดิจิทัล’ ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเดือน ต.ค. 2562 ว่าเทคโนโลยีใหม่ๆ ในปัจจุบันจนไปถึงยุคของ 5G ที่กำลังเข้ามา ทำให้ประชาชนเข้าถึงสื่อได้ ทุกที่ ทุกเวลา ซึ่งกระทบต่อการรับชมสื่อทีวีที่ผ่านผังรายการในรูปแบบที่เห็นในปัจจุบัน
"คนรุ่นใหม่ดูโทรทัศน์น้อยลงเพราะมีเนื้อหาและรูปแบบที่ยืดหยุ่นมารองรับ แต่ผู้ประกอบการทีวีปรับตัวช้า โดยเฉพาะในมุมของทางธุรกิจและการกำกับดูแล ส่วนของ กสทช. ก็ไม่สามารถเอื้อต่อการปรับตัวครั้งนี้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นต่อการอยู่รอดของทีวีดิจิทัลในปัจจุบัน ... เทคโนโลยีที่ก้าวล้ำยังทำให้อำนาจในการผลิตสื่ออยู่ที่ประชาชนหรือผู้บริโภค นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น เช่น การประมูล ใบอนุญาตทีวีดิจิทัลในราคาสูงเมื่อเทียบกับต้นทุนการทำทีวีดาวเทียมหรือเคเบิลทีวี อีกทั้ง 4-5 ปีที่ผ่านมาเทคโนโลยีใหม่เกิดสารพัด อาทิ 4G ที่เข้าถึงประชากรร้อยละ 90 ทำให้สามารถรับชมรายการต่างๆ ผ่านออนไลน์ได้ทุกที่ทุก" สุพจน์ ระบุ [21]
ช่วงเดือน พ.ค. 2562 ประชาชาติธุรกิจ ได้สัมภาษณ์ชลากรณ์ ปัญญาโฉม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานดิจิทัลทีวี บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) ระบุว่าการคืนช่องของช่องดิจิทัล 7 ช่องไม่ได้ทำให้การแข่งขันในอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลลดลง
"การคืนช่องไม่ได้ทำให้การแข่งขันลดลง เม็ดเงินกระจายไปในทุกที่ และแข่งกันทั่วโลก และยุคนี้เราไม่รู้เลยว่า เดี๋ยวอะไรจะเกิดขึ้น และความยากคือ แล้วเราต้องรับมือกับมันอย่างไร แม้แต่แพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ระดับโลกเอง ก็ไม่รู้หรอก" ชลากรณ์ ระบุ
ทั้งนี้ WORKPOINT TV ก็ได้ลงไปเล่นในช่องทางออนไลน์มาตั้งแต่ปี 2558 แล้ว จากการจากการเริ่มทดลองทำ YouTube และ Facebook Live ชลากรณ์ ระบุว่าซึ่ง ณ เวลานั้นยังไม่รู้และไม่มีใครบอกว่า จะหาเงินจากช่องทางใหม่ที่คนบอกว่าจะมาฆ่าเรา เป็นช่องทางที่จะมีคนดูมาก ซึ่งหลอนจิตมากเพราะเราเพิ่งจ่ายค่าช่องไปเป็นพันล้าน แต่วันนี้ (พ.ค. 2562) มีคนSubscribe (กดสมัครติดตามช่อง) 23 ล้าน อยู่เป็นอันดับ 70 ของโลก และมีคนดูคอนเทนต์ WORKPOINT TV เป็นอันดับ 17 ของโลก ถึงสิ้นปี 2562 น่าจะมีคนดูราว 30 ล้านคน คร่าวๆ สร้างรายได้ให้บริษัทได้ถึง 200-300 ล้านบาทต่อปี
"ทั่วโลกตัดแบ่งคนดูที่อายุ 35 ปี คือ ต่ำกว่า 35 อยู่กับออนไลน์ 35 ปีขึ้นไปคือยังต้องใช้เวลาปรับตัว ซึ่งในโลกคนแก่เยอะกว่าเด็ก เพียงแต่เด็กเสียงดังกว่า และมีเคสที่ผมเชิญน้องที่ดังมากในออนไลน์ ช่องยูทูบเขามีคนดูเป็นล้าน ๆ แต่พอออกรายการทีวียิ่งดังขึ้นไปอีก นี่เป็นการทดลองง่าย ๆ ที่แสดงว่า พื้นที่ออนไลน์กับโลกทีวีแบบดั้งเดิมยังแยกส่วนกันอยู่ ไม่เชื่อมถึงกัน 100% แปลว่าคนยังไม่ได้เลิกดูทีวีทั้งหมด เพราะถ้าเชื่อมถึงกันแล้ว คนบนทีวีก็จะไม่แปลกใจอะไร เพราะก็รู้จักเขาอยู่แล้วจากการทดลองนี้ทำให้ผมเริ่มทำรายการทีวีเดอะแรปเปอร์ ได้ง่ายขึ้น แต่ตอนที่เริ่มทำ ผมเหนื่อยมาก เพราะแรปเปอร์ที่ดังอยู่ในยูทูบในออนไลน์ เชื่อว่า เขาดังอยู่แล้ว ก็ต้องจูงใจให้เชื่อว่า ถ้ามาออกทีวีจะยิ่งดังขึ้นไปอีก สิ่งที่เกิดขึ้นคือ คนที่มาออกในซีซั่นแรก ... ทุกคนมีคอนเสิร์ตไปแสดงทุกวัน 365 วัน ทำให้ซีซั่นสอง คนที่ดังๆ ยิ่งมาออกรายการ และกลายเป็นกระแสหลักว่า เพลงใหม่ยุคนี้ต้องมีท่อนแรป แต่ในไทยยังมีปัจจัยเรื่องค่าโมบายอินเทอร์เน็ต ตอนนี้จ่าย 600 บาทต่อเดือน ถึงจะดูได้ ถ้าลดลงเหลือแค่ 300 บาท ก็อาจจะเร่งได้เร็วขึ้น" ชลากรณ์ ระบุไว้กับประชาชาติธุรกิจ [22]
วิบากกรรม ‘ผู้ผลิตรายการ’ ให้ช่องทีวีดิจิทัล ที่ผ่านมาพบว่าทีวีดิจิทัลหลายช่อง นิยมใช้ 'บริษัทรับจ้างผลิตจากภายนอก' เพื่อลดต้นทุนของช่อง ทั้งนี้พบว่าบริษัทรับจ้างผลิตหลายแห่งต้องแข่งขันกันเสนอราคาต่ำที่สุดในการผลิตรายการ และเมื่อฟองสบู่ดิจิทัลแตก บริษัทรับจ้างผลิตเหล่านี้ก็มักจะได้รับผลกระทบเป็นพวกแรกๆ | ที่มาภาพประกอบ: shu learning spaces (CC BY-NC-ND 2.0) ในช่วงเวลาแห่งความหวังของช่องทีวีดิจิทัลท่ามกลางการแข่งขันที่สูงลิบ สื่อหลายเจ้าต่างต้องการเนื้อหามาป้อนในแต่ละช่วงเวลาจึงมีทั้งเนื้อหาที่ผลิตเองและการจ้างคนภายนอกผลิตป้อนให้กับทีวีดิจิทัลช่องต่างๆ อดีตบุคลากรในบริษัทรับจ้างผลิตแห่งหนึ่งที่ผลิตรายการป้อนให้กับช่องทีวีดิจิทัล ให้ข้อมูลกับ TCIJ เมื่อช่วงเดือน ต.ค. 2562 ว่าเมื่อสถานการณ์ของทีวีดิจิทัลเริ่มแย่ลง รายการต่างๆ ค่อยๆ ปิดตัวลง เหลือเพียงส่วนงานที่รับผลิตให้กับช่องที่ยังเหลือตามรูปแบบที่ช่องนั้นๆ กำหนด เช่นรายงานหรือสกู้ปข่าว ในช่วงแรกทีมข่าวที่ผลิตจะยังคงมีหลายทีม แต่เมื่อสถานการณ์งวดเข้าไปเรื่อยๆ จึงหมายถึงต้นทุนที่องค์กรต้องแบกรับ ไม่ว่ากองบรรณาธิการ ช่างภาพ ตัดต่อ กราฟฟิค รถข่าว ยิ่งมีหลายทีมก็ยิ่งแบกรับมาก แต่เมื่อช่องดิจิทัลลดลงเรื่อยๆ งานก็ลดลงตาม ทีมต่างๆ ก็จะถูกเลิกจ้างไปเรื่อยๆ เป็นระลอก อย่างไรก็ตาม ภายใต้ข้อจำกัดที่มากขึ้น บริษัทรับจ้างผลิตอาจยังต้องผลิตงานต่อเพื่อส่งมอบให้ได้ครบตามสัญญากับผู้ว่าจ้างที่ยังเหลือ ซึ่งผู้ว่าจ้างหลักอาจเป็นช่องโทรทัศน์ของรัฐที่มีงบประมาณหล่อเลี้ยงแต่ขาดบุคลากรหรือความเชี่ยวชาญในบางด้าน ซึ่งการจ้างผลิตนี้รูปแบบของสัญญาอาจแตกต่างกันไป แต่ในบางกรณีบริษัทรับจ้างผลิตอาจเลือกที่จะเลิกจ้างพนักงานทั้งหมดเพื่อลดภาระด้านสวัสดิการและต้นทุนอื่น แต่หันมาคุมต้นทุนด้วยการเหมาช่วงด้วยกรอบวงเงินที่ชัดเจน ภายใต้สถานการณ์สื่อที่ทุกคนต้องวิ่งเข้าหางาน ไม่ว่าทีมข่าวชุดเดิมอาจรวมตัวกันเข้ามารับการว่าจ้างใหม่หรือทีมอื่นอาจต้องการเข้ามารับช่วงผลิตนี้ แม้ว่าจะเป็นการทำงานภายใต้ข้อจำกัดที่สูงมากก็ตาม เช่น การไม่มีสวัสดิการที่ชัดเจนไม่ว่าประกันสังคมหรืออื่นๆ ความเสี่ยงที่จะสูญเสียงานหลังครบสัญญาการจ้างผลิตและบริษัทนั้นไม่สามารถดีลเพื่อคว้าสัญญาการผลิตใหม่ได้ ค่าใช้จ่ายชดเชยต้นทุนหากวัสดุอุปกรณ์เสีย เสื่อมสภาพหรือสูญหาย นอกจากนี้ จำนวนคนยังเป็นอีกข้อจำกัดที่ชัดเจน เพราะการเพิ่มหรือลดล้วนแล้วมีผลกระทบทั้งสิ้น อีกประเด็นที่น่าสนใจนั่นคือการแข่งขันเพื่อให้ได้มาซึ่งสัญญารอบต่อไปกับช่องทีวีดิจิทัลที่ยังมีงบประมาณ สิ่งที่สื่อกลุ่มนี้ต้องเผชิญคือการต่อสู้ด้านราคาเพื่อให้ได้งานมาก่อน อาจเพื่อแลกกับคอนเนคชันที่ดีลต่อไปได้ในเรื่องอื่นแม้ว่าสิ่งนั้นยังเป็นเรื่องที่ยังไม่อาจคาดเดาได้ อย่างไรก็ตามการตัดราคาในวงการสื่อแต่ละครั้ง นอกจากความคุ้มทุนหรือขาดทุนของผู้ทำสัญญาแล้ว ยังหมายถึงแรงกดและการเรียกร้องที่มากขึ้นต่อผู้ปฏิบัติงาน เพราะการเสนอราคาเท่าเดิมอาจไม่สามารถทำให้ได้สัญญารอบใหม่ และแม้ว่าลดราคาลงมาแล้วก็อาจมีกลุ่มที่เสนอราคาเข้ามาต่ำกว่าได้ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ต้นทุนต่างๆจะถูกผลักลงไปสู่ผู้ปฏิบัติงาน เช่น วัสดุอุปกรณ์ถ่ายทำ หรือกระทั่งรถที่จะนำมาใช้ในการทำงานต้องเป็นของนักข่าวเอง ขณะที่กลุ่มที่ไม่สามารถคว้าสัญญาได้ก็อาจต้องแยกย้ายสลายตัวไปโดยไม่มีค่าชดเชยการสูญเสียงานหรือมีการรองรองรับความเสี่ยงในการว่างงานไว้ล่วงหน้า “สิ่งเหล่านี้แม้บรรดาผู้ทำสัญญาจ้างที่มีความเสี่ยงต่อการขาดทุนหากมีเหตุไม่คาดฝันเกิดขึ้นและผู้ปฏิบัติต่างรับรู้ข้อจำกัดและเตรียมใจไว้ตลอดเวลาอยู่แล้ว แต่การไร้ซึ่งอำนาจต่อรองก็คือผลกระทบหนึ่งที่ซ่อนอยู่ในโครงสร้างการทำลายล้างและการปรากฏตัวขึ้นของสื่อใหม่นั่นแหล่ะ” อดีตบุคลากรในบริษัทรับจ้างผลิตท่านนี้ ระบุ |
เมื่อเดือน มิ.ย. 2562 Positioning ได้สัมภาษณ์สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ระบุว่าอาร์เอส ต้องมองหาโมเดลธุรกิจที่สร้างมูลค่าให้กับเวลาโฆษณาทีวีดิจิทัลที่เหลือขาย จึงเป็นที่มาของธุรกิจพาณิชย์หลายช่องทาง หรือ Multi-platform Commerce (MPC) จากหลักคิดสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ โดยต้องทีวีดิจิทัลช่อง 8 ให้เป็นประโยชน์ ต้องอยู่ในเทรนด์ธุรกิจที่กำลังเติบโต จึงมาลงตัวที่สินค้า Health & Beauty เกาะเทรนด์สังคมสูงวัยดูแลตัวเองและสินค้าความงามเป็นเทรนด์ที่เติบโตทั่วโลก
สุรชัยระบุว่าวันนี้ทีวีดิจิทัลต่างต้องมองหาโอกาสในการหารายได้ใหม่ๆ และอาร์เอสก็มองการมีพันธมิตรช่องทีวี เพื่อนำเวลาที่เหลือมาขายสินค้า เป็นสิ่งที่ Win-Win ทั้งคู่ เพราะทุกช่องมีเวลาเหลือ และไม่ต้องมาทำการค้าในสิ่งที่ไม่ถนัด อาร์เอสได้ประโยชน์จากสร้างโอกาสใหม่ๆ เหมือนไปเปิดห้างใหม่ พันธมิตรทีวีดิจิทัลที่ร่วมมือไปแล้ว คือ ไทยรัฐทีวี นอกจากนี้สุรชัยยังระบุว่าอาร์เอส ไม่ทุ่มใช้เงินในการสร้างเรตติ้งในช่วง 2-3 ปี แรกเพราะมองว่าการแข่งขันในอุตสาหกรรมนี้เป็นเกมระยะยาว
"เรตติ้งมีความสำคัญในธุรกิจทีวี แต่บิสสิเนสโมเดลของอาร์เอส เรตติ้งไม่ได้สำคัญที่สุด ตั้งแต่ปีแรกที่ทำทีวีดิจิทัล ทุกคนพูดถึงแต่เรตติ้งมาเป็นอันดับแรก แต่สิ่งที่อาร์เอสมองเป็นเรื่องแรก คือ ธุรกิจต้องมีกำไร เราชัดเจนว่า ช่อง 8 จะไม่ทุ่มเงินเพื่อสร้างเรตติ้งใน 2-3 ปีแรก เพราะเชื่อตั้งแต่แรกว่า ทีวีดิจิทัล คือ เกมมาราธอน ... แม้เรตติ้งยังสำคัญ แต่เกมของอาร์เอสเปลี่ยนไป เพราะเรตติ้งสำคัญน้อยกว่ากำไรและตัวเลขลงทุนทำคอนเทนต์ ต่างจากทีวีดิจิทัลช่องอื่นๆ ที่มองเรตติ้งเป็นตัวนำ และทุ่มงบลงทุนเพื่อให้ได้มา แต่รายได้อาจไม่คุ้มการลงทุน" สุรชัย ระบุ
สถานการณ์การแข่งขันของทีวีดิจิทัลหลัง 7 ช่องคืนใบอนุญาตนั้นสิ่งที่ต้องจับตาคือ 15 ช่องที่อยู่ต่อจะมีดีกรีการแข่งขันดุเดือดมากขึ้น จากปกติที่รุนแรงอยู่แล้ว เพราะส่วนใหญ่คิดว่า เมื่อได้รับความช่วยเหลือต้นทุนค่าใบอนุญาตและค่าเช่าโครงข่ายต่อไปอีก 10 ปี จากคำสั่ง มาตรา 44 ของ คสช. หลายช่องจึงพร้อมที่จะใส่เม็ดเงินลงทุนคอนเทนต์มากขึ้น สำหรับช่อง 8 ทุกปีจะใช้เงินลงทุนคอนเทนต์ราว 600 ล้านบาทไม่มากไปกว่านี้
"ต้นทุนค่าใบอนุญาตและโครงข่ายที่ลดลง แค่ทำให้คนทำทีวีสบายตัวและคล่องตัวขึ้น แต่ไม่ใช่ตัวช่วยที่จะทำให้ชนะในเกมได้ เพราะธุรกิจทีวีต้นทุนหลักอยู่ที่คอนเทนต์และ Operating costs 80% การช่วยเหลือจากมาตรา 44 ไม่ได้เปลี่ยนให้ผู้แพ้เป็นผู้ชนะ" สุรชัย ระบุกับ Positioning [23]
ส่วน พีระวัฒน์ โชติธรรมโม นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และรองกรรมการผู้จัดการช่อง SPRING26 ซึ่งเป็น 1 ใน 7 ช่องที่ขอคืนใบอนุญาตรอบล่าสุด ระบุไว้ในงานเสวนา ‘ปัญหาและทางออกของทีวีดิจิทัล’ ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเดือน ต.ค. 2562 ว่าที่ผ่านมาอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลแข่งขันลำบาก เนื่องจากต้นทุนคงที่จากค่าใบอนุญาตและค่าโครงข่าย (MUX) มีสัดส่วนเกินร้อยละ 30 เมื่อองค์กรลดต้นทุนไม่ได้ การหั่นต้นทุนแรกจึงเป็นด้านพนักงานและเนื้อหาซึ่ง เป็นสินทรัพย์หลักทำให้รายการที่นำเสนอไม่มีคุณภาพมากนัก
"เป็นไปไม่ได้ที่รายการคุณภาพดีจะมาจากต้นทุนที่ต่ำ และหากลดต้นทุนอะไรไม่ได้ ก็ลดต้นทุนรายการข่าวก่อนเลย นี่คือสิ่งที่ธุรกิจสื่อเผชิญมาตลอด ซึ่งหลังทีวีดิจิทัล 7 ช่องคืน ใบอนุญาต จำนวนช่องที่เหลือจะเดินต่อควรจะต้องพัฒนาช่องทางออนไลน์เพื่อมาเสริมทัพกับ จอหลักอย่างทีวี และบริหารความพอดีของเนื้อหาเพื่อตรึงคนดู เพราะหากคนดูย้ายช่องแล้ว ยากที่ จะดึงกลับมาคืนได้ ... ผู้ประกอบการไม่ควรยึดติดกับสูตรสำเร็จเดิมๆ เพราะพฤติกรรมคนดูเปลี่ยนเร็ว เห็นได้ชัดคือช่องหลักบางช่องเสนอละครที่เป็น ภาค 2 แต่ผลตอบรับจากคนดูต่ำกว่าสมัยที่ออกอากาศ ภาคแรก สะท้อนว่าการพึ่งพาความสำเร็จเก่าๆ ใช้ ไม่ได้อีกต่อไป ... ทีวีดิจิทัลเพิ่งเจอสึนามิ ลูกแรกและที่เหลืออีก 15 ช่องยังมีต้นทุนเดิมบวก การแข่งขันสูงต่อไป” พีระวัฒน์ ระบุ [24]
เมื่อเดือน มิ.ย. 2562 Thumbsup ได้สัมภาษณ์ สุทธิชัย หยุ่น อดีตผู้บริหารเครือเนชั่น ปัจจุบันเป็นผู้ก่อตั้ง Kafedam Group (กาแฟดำกรุ๊ป) สุทธิชัยได้ประเมิณว่าอนาคตของทีวีดิจิทัลจาก 15 ช่องที่เหลืออยู่นี้จะอยู่รอดได้เพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น แต่ที่เหลือก็ไม่ใช่ว่าจะสบาย ก็ยังต้องดิ้นรน ส่วนอีกครึ่งหนึ่งคงต้องปรับตัวไปทำอะไรอย่างอื่น
"อย่างคุณก็เห็นช้อปปิ้งออนไลน์ คือจะไปนอกจากเนื้อหาที่เห็นอยู่จะเปลี่ยนไปแน่นอน มันจะกลายเป็นช้อปปิ้งออนไลน์ บันเทิงสุดๆ ไปเลย จะกลายเป็นช่องใช้เฉพาะกลุ่มที่มีอำนาจซื้อ ผมว่าคงจะเป็นแบบนั้น แต่ที่เรามองว่าเหมือนเดิมคือช้อปปิ้งออนไลน์ ที่มีทั้งข่าว ละคร สารคดีเนี่ย คงจะยาก เพราะว่าคนดู ไม่จำเป็นต้องมานั่งดูหน้าจอทีวี ยกเว้นเสียแต่ว่าคนทำทีวีช่องนั้น จะเลิกคิดว่าเป็นทีวี"
สุทธิชัยระบุว่าทุกวันนี้ที่เป็นปัญหาใหญ่ก็คือผู้บริหารยังคิดว่าตัวเองเป็นช่องทีวี แล้วมองออนไลน์เป็นตัวเสริม ซึ่งความคิดนี้มันต้องกลับหัวกลับหางกัน ต้องมองว่าทีวีเป็นตัวเสริมอนาคตไปอยู่ที่โทรศัพท์มือถือ ทุกอย่างที่สะดวกสำหรับคนมันต้องอยู่ตรงนั้น ซึ่งการวางแผน วางบุคลากร งบประมาณ วิธีคิด วิธีทำเนื้อหาจะต้องคิดถึงโทรศัพท์มือถือก่อนที่จะคิดถึงทีวี
"แต่ทุกวันนี้ส่วนใหญ่เนี่ย คิดทีวีก่อน แม้กระทั่งวางงบประมาณ วางนักข่าว วางทีมข่าวก็ยังคิดแบบทีวี ดังนั้นมันยากมาก เพราะว่าพนักงานก็คิดแบบทีวี ผู้บริหารก็คิดแบบทีวี แต่ผู้บริหารที่ต้องเข้าไปแก้ปัญหา ก็ต้องไม่คิดแบบทีวีแล้วนะ อย่างคุณบี๋ (อริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด - ทีวีช่อง 3) ผมเชื่อว่าแกทำมาจาก LINE มาจาก Google แกจะคิดแบบ Online และ Mobile มากกว่า" สุทธิชัย ระบุไว้กับ Thumbsup [25]
'Omni Channel-ขายลิขสิทธิ์รายการทีวี-Home Shopping' ทางรอดทีวีไทย?
ปัจจุบันพบว่ารายการ Home Shopping ถือเป็นช่องทางสำคัญในการสร้างรายได้และเพิ่มความสามารถการแข่งขันของช่องทีวีดิจิทัล | ที่มาภาพประกอบ: brandinside.asia
จากบทวิเคราะห์ 'ทิศทางทีวีดิจิทัลจะเป็นอย่างไร หลัง กสทช. เปิดโอกาสคืนใบอนุญาต?' ของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ระบุไว้ว่าผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่ยังอยู่ในอุตสาหกรรมคงต้องเผชิญกับความท้าทาย 3 ประการหลัก ได้แก่ ความผันผวนทางเศรษฐกิจ นโยบาย กฎระเบียบและการควบคุมของ กสทช. และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี จากการศึกษาพบว่า 1.สภาพเศรษฐกิจมีค่าสหสัมพันธ์ (correlation) กับงบโฆษณาสูงถึงร้อยละ 70 โดยหากเศรษฐกิจมีการชะลอตัวจะทำให้บริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์ปรับงบประมาณด้านโฆษณาลดลง ทำให้รายได้จากการโฆษณาของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลน้อยลงตามไปด้วย 2.การเปลี่ยนแปลงหรือออกนโยบายหรือกฎระเบียบใหม่ โดย กสทช. ส่งผลโดยตรงต่อรายได้และกำไรของผู้ประกอบการ เช่น การลดจำนวนนาทีโฆษณาให้น้อยกว่า 12 นาทีต่อชั่วโมงในช่วงไพร์มไทม์ และกำหนดให้มีการโฆษณาเฉลี่ยไม่เกิน 10 นาทีต่อชั่วโมงต่อวัน ส่งผลให้รายได้ของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลมีแนวโน้มลดลง และ 3.ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค การมีช่องทางการรับชมสื่อทั้งออนไลน์และออฟไลน์ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกเพิ่มขึ้นส่งผลให้พฤติกรรมการรับชมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป จากสาเหตุเหล่านี้ ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลจึงต้องเตรียมพร้อมและปรับตัวให้ทันต่อสภาวะการแข่งขันทั้งในปัจจุบันและในอนาคต
ทั้งนี้ในระยะข้างหน้า Omni Channel (การติดต่อสื่อสารกับลูกค้าที่หลากหลายช่องทาง การเชื่อมโยงช่องทางต่างๆ รวมให้เป็นหนึ่งเดียว), การขายลิขสิทธิ์รายการทีวี และ Home Shopping ถือเป็นช่องทางสำคัญในการสร้างรายได้และเพิ่มความสามารถการแข่งขันของช่องทีวีดิจิทัล ซึ่งในปัจจุบันได้เห็นเทรนด์เหล่านี้ของผู้ประกอบการบางรายแล้ว โดยนอกจากความสำคัญของ Content ที่ต้องมีคุณภาพและตรงต่อกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมาย การศึกษาของ McKinsey and EY ยังพบว่า Omni Channel หรือการเชื่อมโยงช่องทางต่างๆ ทั้งออฟไลน์และออนไลน์เข้าด้วยกันแบบ Seamless จะเป็นการสร้าง Ecosystem ของธุรกิจสื่อทั้งหมดและสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้เพิ่มขึ้น ตัวอย่างในไทยเช่น AMARIN TV ที่ผสานกลยุทธ์กับอีก 4 ช่องทางในมือได้แก่ สื่อออนไลน์ สิ่งพิมพ์ อีเวนต์ และกิจกรรม ให้กับแบรนด์สินค้าต่างๆ เพื่อเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายและนำเสนอขายแพ็คเกจโฆษณาผ่าน 5 ช่องทางดังกล่าว
ในด้านการขายลิขสิทธิ์รายการทีวี มีตัวอย่างในไทยคือ บมจ.บีอีซี เวิลด์ (เจ้าของช่อง 3) ได้จับมือเป็นพันธมิตรกับ JKN ให้เป็นตัวแทนจำหน่าย Content ร่วม 70 เรื่องในต่างประเทศ เช่น ตลาดตะวันออกกลาง ลาตินอเมริกา ทำให้รายได้จากการขายลิขสิทธิ์รายการทีวีของ BEC ในปี 2561 เพิ่มขึ้นร้อยละ 300 จากปี 2560 ส่วนอาร์เอส (เจ้าของช่อง 8) ได้ปรับกลยุทธ์โดยมุ่งเน้นธุรกิจสุขภาพ-ความงาม มากขึ้น โดยใช้ช่อง 8 และสื่ออื่นในมือโฆษณาสินค้าที่เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของตน ผ่านรายการ Home shopping ‘Shop1781’ ซึ่งสร้างรายได้ให้กับอาร์เอสถึง 2.1 พันล้านบาทในปี 2561 หรือราวร้อยละ 60 ของรายได้ทั้งหมด ทั้งนี้ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ประเมินว่าเทรนด์การสร้างรายได้ทั้ง 3 รูปแบบจะเป็นช่องทางใหม่เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและต่อยอดในการทำธุรกิจของช่องทีวีดิจิทัลในระยะข้างหน้า [26]
ข้อมูลอ้างอิง
[1] SCB EIC: อนาคตทีวีทางเลือกไทยในยุคเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลทีวี (ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์, 21 พ.ย. 2556)
[2] ตลาดผลิตรายการโทรทัศน์ปี’ 57 โตร้อยละ 14-16 จับตา ... ทีวีดิจิทัลปัจจัยหนุน (ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, 16 ธ.ค. 2556)
[3] ทีวีดาวเทียมปั้นคอนเทนต์ ชิงโฆษณาช่วงเปลี่ยนสู่ดิจิทัล (หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์, 27 มิ.ย. 2556)
[4] เปิดเส้นทาง 5 ปี “ทีวีดิจิทัล” สะท้อนบทบาท “กลุ่มทุน-คสช.” (ประชาชาติธุรกิจ, 5 ส.ค. 2562)
[5] SCB EIC: อนาคตทีวีทางเลือกไทยในยุคเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลทีวี (ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์, 21 พ.ย. 2556)
[6] KR Daily Update ประจำวันที่ 25 กรกฎาคม 2554 (ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, 25 ก.ค. 2554)
[7] อิทธิพลของสื่อที่มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองกรณีสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมช่องบลูสกาย (วารสารรัชต์ภาคย์, ปีที่ 12 ฉบับที่ 26 พ.ค.-ส.ค. 2561)
[8] อุตโฆษณาครึ่งปีติดลบ 2%“ทีวี- หนังสือพิมพ์- นิตยสาร”ทรุด (กรุงเทพธุรกิจ, 18 ก.ค. 2562)
[9] ดาวเทียมขาลง ‘PSI’ เบนเข็มปั้นแอพเรตติ้ง ขยายตลาดตปท. (ฐานเศรษฐกิจ, 3 ส.ค. 2562)
[10] คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) เผยประมูลฯ ดิจิทัลทีวีประสบความสำเร็จทั้ง 4 หมวดหมู่ ได้ผู้มีสิทธิเป็นผู้ชนะการประมูล 24 ราย ลุ้นผลรับรองทางการภายใน 15 วัน [คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.), เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 13 พ.ย. 2562]
[11] ปิดฉากประมูลทีวีดิจิทัล 24 ช่อง มูลค่ารวมสูง 50,862 ล้านบาท (ผู้จัดการออนไลน์, 27 ธ.ค. 2556)
[12] เปิดเส้นทาง 5 ปี “ทีวีดิจิทัล” สะท้อนบทบาท “กลุ่มทุน-คสช.” (ประชาชาติธุรกิจ, 5 ส.ค. 2562)
[13] 'ไทยทีวี' จากเป้าหมายที่ 1 ช่องดิจิทัลของ 'ติ๋ม ทีวีพูล' สู่ความจริงที่ 'ไม่ได้ไปต่อ' (ไทยรัฐ, 29 พ.ค. 2558)
[14] ไทยทีวีตัดสัญญาณช่อง "ไทยทีวี" และ "โลกา" แล้วเมื่อเวลา 0.00 ที่ผ่านมา (blognone.com, 1 พ.ย. 2558)
[15] ปิดฉาก "7 ช่อง" ทีวีดิจิทัล บนเส้นทางวิบาก ย้อนดูผลงาน 5 ปี "เรตติ้ง" ดิ่ง ขาดทุนอ่วม (ผู้จัดการรายวัน 360 องศา, 15 ส.ค. 2562)
[16] เปิดรายได้ 24 ช่องทีวีดิจิทัล ทำเงินไป 3.6 พันล้านบาท ช่องเกิดใหม่ลำบาก (Positioning, 29 ก.ค. 2558)
[17] ตลาดโฆษณาทีวีดิจิทัล 5 ปีย้อนหลัง (2557- 2562) เปลี่ยนแปลงอย่างไร (TV Digital Watch, 28 ก.ย. 2562)
[18] กสทช.สรุป 5 ปี "ทีวีดิจิทัล" ปิดฉาก 9 ช่อง "เลิกจ้าง" กระทบคนสื่อ-ครอบครัวเกือบ 15,000 คน (ผู้จัดการรายวัน 360 องศา, 3 ต.ค. 2562)
[19] SCB EIC: ทิศทางทีวีดิจิทัลจะเป็นอย่างไร หลัง กสทช. เปิดโอกาสคืนใบอนุญาต? (ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์, 19 เม.ย. 2562)
[20] ปิดฉาก "7 ช่อง" ทีวีดิจิทัล บนเส้นทางวิบาก ย้อนดูผลงาน 5 ปี "เรตติ้ง" ดิ่ง ขาดทุนอ่วม (ผู้จัดการรายวัน 360 องศา, 15 ส.ค. 2562)
[21] มรสุม'ทีวีดิจิทัล'ต้นทุนสูง-คนเมิน-เดินต่อไม่ไหว (แนวหน้า, พ.ค. 2562)
[22] “คืนช่อง” ไม่ลดดีกรีแข่งดุ ผ่ากลยุทธ์ Workpoint ชิงแชร์ (ประชาชาติธุรกิจ, 18 พ.ค. 2562)
[23] เปิดใจเฮียฮ้อ ทำไม “เรตติ้ง” สำคัญน้อยกว่า “กำไร” เปิดที่มา 5 ปีธุรกิจ “พาณิชย์” ชุบชีวิต RS (Positioning, 18 มิ.ย. 2562)
[24] มรสุม'ทีวีดิจิทัล'ต้นทุนสูง-คนเมิน-เดินต่อไม่ไหว (แนวหน้า, พ.ค. 2562)
[25] ไม่ขอกลับไปบริหารทีวีอีก! คุยกับสุทธิชัย หยุ่น เมื่อสื่อเก่าถูก Disrupt แบบเต็มตัว (Thumbsup, 24 มิ.ย. 2562)
[26] SCB EIC: ทิศทางทีวีดิจิทัลจะเป็นอย่างไร หลัง กสทช. เปิดโอกาสคืนใบอนุญาต? (ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์, 19 เม.ย. 2562)
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ