งานศึกษาพบคนไร้บ้านในสหราชอาณาจักรมีอายุคาดเฉลี่ยสั้นกว่าประชากรทั่วไปถึง 30 ปี ที่สหรัฐอเมริกาคนไร้บ้านมีอายุมัธยฐานอยู่ที่ 53 ปี ที่มาภาพประกอบ: Tomas Castelazo Creative Commons Attribution-Share Alike 3.0 Unported
ข้อมูลจาก 'รายงานการศึกษาอายุขัยเฉลี่ยและภาวะการตายของคนไร้บ้านในกรุงเทพมหานคร' โดย ชญานิศวร์ โคโนะ และคณะ, แผนงานสนับสนุนองค์ความรู้เพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะและคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, 2560 ได้ยกตัวอย่างงานศึกษาจากต่างประเทศที่เกี่ยวกับอายุเฉลี่ยของคนไร้บ้านในประเทศต่างๆ ไว้ดังนี้
การศึกษาอายุเฉลี่ยและการตายของคนไร้บ้านนั้นมีความสัมพันธ์กับการพฤติกรรมสุขภาพ ทั้งนี้คนไร้บ้านมีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตเร็วกว่า หรือมีอายุเฉลี่ยที่ตาย (average age of death) น้อยกว่าประชากรทั่วไป ดังเช่นผลการศึกษาของ Sheffield University ระบุว่าจากการวิเคราะห์ข้อมูลการตายของคนไร้บ้านในสหราชอาณาจักรระหว่างปี ค.ศ. 2001-2009 พบว่าคนกลุ่มนี้มีอายุคาดเฉลี่ยสั้นกว่าประชากรทั่วไปถึง 30 ปี โดยอายุเฉลี่ยที่ตายของคนไร้บ้านส่วนใหญ่จะอยู่ที่อายุ 47 ปี สำหรับผู้ชาย และอายุ 43 ปี สำหรับผู้หญิง ซึ่งน้อยกว่าอายุเฉลี่ยที่ตายของประชากร คือ 77 ปี สาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตของคนไร้บ้านส่วนใหญ่ คือยาเสพติดและเครื่องดื่มแอลกอฮอล
หลักฐานเชิงประจักษ์อีกประการในสหรัฐอเมริกา ยิ่งพบประเด็นที่น่าสนใจว่า อัตราตายของคนไร้บ้านเกี่ยวข้องกับระยะเวลาที่กลายมาเป็นคนไร้บ้าน โดยมีประชากรคนไร้บ้านกว่าแสนคนที่อาศัยในพื้นที่สาธารณะตามท้องถิ่นถนนเพิ่มมากขึ้น และคนไร้บ้านเหล่านี้จะมีแนวโน้มที่จะมีอัตราการตายสูงขึ้นในทศวรรษหน้า เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุแล้ว คนไร้บ้านกลุ่มใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกาคือ กลุ่มที่ออกจากบ้านในช่วงทศวรรษที่ 1980 นักวิจัยจาก University of Pennsylvania ที่ศึกษาข้อมูลคนไร้บ้านในซานฟรานซิสโกพบว่า คนไร้บ้านมีอายุมัธยฐานอยู่ที่ 53 ปี
ทั้งนี้ การมีคนไร้บ้านเป็นผู้สูงอายุ สามารถพิจารณาได้ 2 ทาง กล่าวคือ (1) คนไร้บ้านมีอายุยืนยาวขึ้นหรือ (2) หากพิจารณาร่วมกับอายุแรกเริ่มที่เข้ามาเป็นคนไร้บ้าน หากออกมาเมื่ออายุมากแล้ว ก็เท่ากับปัญหาการเป็นคนไร้บ้านได้เคลื่อนเข้าสู่กลุ่มผู้สูงอายุ หรือวัยแรงงานตอนปลายมากกว่าวัยรุ่นและวัยแรงงานตอนต้น ดังนั้น ปัญหาสำคัญของคนไร้บ้านคือ มีคนไร้บ้านสูงอายุมากขึ้นในพื้นที่สาธารณะ และไม่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณะของรัฐได้
จากการพิจารณาข้อมูลเกี่ยวกับคนไร้บ้านประเทศที่พัฒนาแล้ว พบว่ามีข้อมูลสถิติตัวเลขที่เกี่ยวกับคนไร้บ้าน การประมาณการณ์คนไร้บ้านในแต่ละพื้นที่และข้อมูลเกี่ยวกับการตาย เป็นต้น แต่ทว่ายังคงมีความจำกัดในด้านข้อมูลเนื่องจากผู้ที่คนไร้บ้านเป็นบุคคลที่เข้าถึงได้ยาก อย่างไรก็ดีข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ย่อมเป็นหลักฐานเบื้องต้นในการเข้าถึงหรือนำไปสู่มาตรการในการช่วยเหลือในทุกๆ ด้าน เพื่อให้คนไร้บ้านได้ช่วยเหลือตนเองและอยู่ร่วมในสังคมปัจจุบันได้
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ