ชี้ข้อจำกัด e-Book ขาดงานแปลภาษาไทย มีส่วนแบ่งแค่ 2% ของตลาดหนังสือ

กองบรรณาธิการ TCIJ 16 ม.ค. 2562 | อ่านแล้ว 3208 ครั้ง

ชี้ข้อจำกัด e-Book ขาดงานแปลภาษาไทย มีส่วนแบ่งแค่ 2% ของตลาดหนังสือ

ตลาด e-Book ไทยเติบโตปีละสองหลัก แต่ยังมีแชร์แค่ 2% ของตลาดหนังสือโดยรวม เหตุเวอร์ชั่นภาษาไทยยังขาดแคลน แถมราคาแทบไม่ต่างจากหนังสือเล่ม 'อมรินทร์' ยังหวังสมาร์ทโฟนช่วยดัน ยอดขายเพิ่ม 3 ปีเป็น 5% ฟาก 'ซีเอ็ด' เผย e-Magazine ฮิตเบียดฉบับเล่มแล้ว ที่มาภาพประกอบ: Tina Franklin (CC BY-SA 2.0)

ประชาชาติธุรกิจ รายงานเมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2562 ว่านายณัฐชัย วีระกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท อมรินทร์ บุ๊ค เซ็นเตอร์ จำกัด กล่าวว่า ตลาดรวมหนังสือมูลค่าราว 2 หมื่นล้านบาท โดย e-Book มีสัดส่วนราว 2% และแม้ว่าแต่ละปีจะเติบโต 2 หลัก แต่ต้องยอมรับว่าตลาดยังไม่เป็นที่นิยม เพราะผู้อ่านยังไม่คุ้นเคย

อีกปัญหาของตลาด e-Book ที่ไม่เติบโตเท่าที่ควร เพราะผู้ประกอบการสิ่งพิมพ์มักจะออก e-Book ช้ากว่าเล่ม เพราะอาจกลัวหนังสือเล่มขายไม่ได้ นอกจากนี้ราคา e-Book ยังใกล้เคียงกับราคาหนังสือจริง เนื่องจากต้นทุนที่ใกล้เคียงหนังสือจริง อาจจะทำให้ผู้ซื้อมองว่าไม่คุ้มค่า โดยปัจจุบันกลุ่มที่ขายดีสุดเป็นนิยาย 60% ที่เหลือเป็น how to และ living อย่างละครึ่ง กลุ่มผู้ซื้อเป็นกลุ่มเดียวกับหนังสือ โดยจะมีตั้งแต่มัธยมปลาย, วัยเริ่มทำงาน และผู้ใหญ่

ส่วนภาพรวม e-Book ของบริษัทมียอดขายประมาณ 3% ของยอดขายทั้งหมด โดยบริษัทตั้งเป้าเพิ่มเป็น 5% ภายใน 3 ปี แนวโน้มการเติบโตมาจากการใช้สมาร์ทโฟนที่แพร่หลาย และต้องสร้างการรับรู้ เพราะคนยังไม่รู้จัก และต้องยอมรับว่าในต่างจังหวัดการเข้าถึงหนังสือหรือ e-Book ยังน้อย

“สัดส่วนการซื้อ e-Book ในหลายประเทศยังได้เยอะ อย่างสหรัฐอเมริกามีประมาณ 5% ขณะที่ประเทศญี่ปุ่นมีถึง 20% ดังนั้น มองว่าขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมรักการอ่าน ซึ่งเป็นส่วนที่จะต้องเร่งปลูกฝัง คนญี่ปุ่นเขารักการอ่าน พอ e-Book สะดวกขึ้นคนก็ยิ่งใช้”

สำหรับภาพรวมตลาดหนังสือเติบโตประมาณ 4% เนื่องจากยอดขายนิตยสารและหนังสือพิมพ์ที่ลดลงถึง 20-30% มาฉุดตลาดรวม ส่วนหนังสือเล่มยังโตราว 10% มีหนังสือออกใหม่ประมาณ 1 หมื่นปก/ปี อย่างไรก็ตาม ด้วยการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันทำให้หลายสำนักพิมพ์ปิดตัวลง แต่ก็ไม่มีใครเลือกที่จะทำเป็น e-Book อย่างเดียว

เพราะเคยมีคนทำแต่ไม่สำเร็จ ดังนั้น จุดสำคัญคือ พฤติกรรมรักการอ่าน ซึ่งปัจจัยบวกของตลาดหนังสือคงมาจากยังมีคนอ่าน แต่ปัจจัยบวกอื่น ๆ อาจจะต้องมีภาครัฐส่งเสริม อย่างช็อปหนังสือช่วยชาติก็เป็นสิ่งที่ดีส่วนร้านนายอินทร์เองก็พยายามปรับกลยุทธ์ให้เป็นออมนิแชนเนล มีร้านออนไลน์-ออฟไลน์ คู่กัน และพยายามส่งเสริม e-Book ด้วย

ด้านแหล่งข่าวภายใน บมจ.ซีเอ็ดยูเคชั่น เจ้าของร้านหนังสือ SE-ED เปิดเผยว่ารายได้จากการขาย e-Book ของบริษัท อยู่ในสัดส่วนเพียงตัวเลขหลักเดียวจากยอดขายทั้งหมด ซึ่งแม้ e-Book จะได้รับความนิยมในต่างประเทศมากขึ้นตามการเติบโตของตลาดเครื่องอ่าน e-Book (e-Book reader) และ tablet แต่สำหรับประเทศไทยยังถือว่ามีตลาดเล็กมาก เพราะยังมีจำนวน e-Book ภาษาไทยให้เลือกซื้อได้น้อยมาก และยังไม่อยู่ในรูปแบบที่อ่านได้ง่ายเพียงพอ จึงคาดว่าคงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง กว่าจะได้รับความนิยมมากจนมีผลกระทบต่อตลาดหนังสือเล่ม

แต่ในส่วนของ e-Magazine ภาษาไทย ได้รับความนิยมมากขึ้นจนเริ่มมีผลกระทบต่อการขายนิตยสารที่เป็นเล่มจริงระดับหนึ่งบ้างแล้ว ซึ่งบริษัทได้เตรียมรองรับการให้บริการขายทั้ง e-Book และหนังสือ ผ่านทาง online เป็นรายใหญ่ที่สุด โดยบริษัทได้พัฒนาเทคโนโลยีและเริ่มขาย e-Book ตั้งแต่ปี 2555 แล้ว


เรื่องที่เกี่ยวข้อง
e-book ไทยโตต่อเนื่อง ปีละ 600-700 ล้านบาท

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: