กับสองคำถามที่ว่า 'ตกลงว่ากัญชาในประเทศไทยปลูกและสูบได้อย่างไม่ผิดกฎหมายหรือยัง' และ 'กัญชาเสรีมีผลกระทบอะไรบ้าง' ที่มาภาพ: Petplace
ความจริงกัญชาอยู่คู่กับสังคมไทยมานานมาก ถ้าใครชอบชมศิลปะตามกำแพงวัดก็จะเห็นอยู่บ่อยไปว่า จิตกรมักจะใส่ความทะเล้นของลิงหรือชาวบ้านว่ากำลังเมากัญชากันอยู่
หรือแม้แต่ในวรรณคดีสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นอย่าง ระเด่นลันได ก็ปรากฏความตอนหนึ่งที่กล่าวถึงว่า ตัวเอกอย่างระเด่นก็สูบกัญชากับเขาด้วยเหมือนกัน
ความท่อนนั้นเขียนเป็นกลอนเอาไว้ว่า
เที่ยวสีซอขอข้าวสารทุกบ้านช่อง เป็นเสบียงเลี้ยงท้องของถวาย ไม่มีใครชังชิงทั้งหญิงชาย ต่างฝากกายฝากตัวกลัวบารมี พอโพล้เพล้เวลาจะสายัณห์ ยุงชุมสุมควันแล้วเข้าที่ บรรทมเหนือเสื่อลำแพนแท่นมณี ภูมีซบเซาเมากัญชา [1]
สุดท้ายกัญชากับสังคมไทยก็จำเป็นต้องแยกทางกัน เมื่อรัฐบาลออกพระราชบัญญัติฉบับควบคุมกัญชาออกมาเมื่อ พ.ศ. 2477 [2] (ตอนนั้นไทยมีนายกรัฐมนตรีคือพระยาพหลพลหยุหเสนาหรือหนึ่งในทหารชั้นผู้ใหญ่ของคณะราษฏร [3])
จากนั้นกัญชาก็กลายเป็นสิ่งผิดกฏหมายในประเทศไทยเรื่อยมา
จนกระทั่งการจัดการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 กัญชา ก็ถูกหยิบยกขึ้นถกเถียงใหม่อีกครั้ง พรรคภูมิใจไทยใช้นโยบาย กัญชาเสรี หาเสียงจนกลายเป็นพรรคที่มีเสียงสนับสนุนมากพอจะต่อรองอำนาจเข้ากับฝ่ายรัฐบาลได้ หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยหรือ คุณอนุทิน ชาญวีรกุล ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีสาธารณสุข
หลายฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สนับสนุนพรรคภูมิใจไทยจึงจับตามองนโยบายกัญชาเสรีอย่างใกล้ชิด
กัญชาจะกลับมาเป็นสิ่งที่สามารถปลูก เสพ อย่างถูกกฏหมายในสังคมไทยได้อีกครั้งหรือไม่และผลกระทบของกัญชาเสรีมีอะไรบ้าง ผู้เขียนจะตอบคำถามดังกล่าวไปทีละข้อ
คำถามข้อที่ 1. ตกลงว่ากัญชาในประเทศไทยปลูกและสูบได้อย่างไม่ผิดกฎหมายหรือยัง?
คำตอบก็คือ ยังไม่ได้ แต่มีแนวโน้มที่จะเป็นไปได้
ขยายความสำหรับเรื่องนี้ที่บอกว่ามีแนวโน้มความเป็นไปได้ก็คือ เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2562 ที่ผ่านมานี้ มีประกาศจากกระทรวงสาธารณสุขออกมา เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2562 ในเนื้อความมีท่อนหนึ่งระบุเอาไว้ว่า ให้ยกเลิกชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ลำดับที่ 1 ซึ่งลำดับที่ 1 ของยาเสพติดประเภทที่ 5 ก็คือกัญชา
ฟังดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ดีสำหรับผู้ที่สนับสนุนนโยบายกัญชาเสรี แต่ภายหลัง นายนิยม เติมศรีสุข เลขาธิการ ป.ป.ส ก็ออกมาให้สัมภาษณ์เตือนประชาชนว่าอย่าเข้าใจผิดเกี่ยวกับ ประกาศของกระทรวงสาธารณสุขฉบับดังกล่าว โดยกล่าวถึงสาระสำคัญของประกาศฉบับนั้นก็คือ
กัญชาและกัญชง ยังคงถูกกำหนดให้เป็นยาเสพติดประเภท 5 แต่มีการกำหนดยกเว้นให้เฉพาะเปลือกแห้ง แกนลำต้นแห้ง เส้นใยแห้งของกัญชาและกัญชง รวมทั้งผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากเปลือกแห้ง แกนลำต้นแห้ง เส้นใยแห้ง ไม่เป็นความผิด ซึ่งเป็นไปตามที่กำหนดไว้เดิม
นอกจากนี้ ได้มีการกำหนดข้อยกเว้นเพิ่มเติม ให้สาร CBD บริสุทธิ์ร้อยละ 99 ที่มี THC ผสมไม่เกินร้อยละ 0.01 สารสกัด CBD หรือผลิตภัณฑ์จากสารสกัด CBD ที่มีสาร THC ผสมไม่เกินร้อยละ 0.2 ซึ่งเป็นยาหรือเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร ตามกฎหมายว่าด้วยยาหรือสมุนไพร เมล็ดกัญชงหรือน้ำมันจากเมล็ดกัญชงที่ใช้ในอาหาร ตามกฎหมายว่าด้วยอาหาร และน้ำมันจากเมล็ดกัญชง (hemp seed oil) หรือสารสกัดจากเมล็ดกัญชงที่ใช้ในเครื่องสำอางตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องสำอาง ไม่ถือว่าสิ่งดังกล่าวเป็นยาเสพติดให้โทษต่อไป ทั้งนี้ เมล็ดกัญชงที่นำมาใช้เป็นอาหารหรือเครื่องสำอาง ต้องเป็นเมล็ดที่ไม่สามารถนำไปเพาะพันธุ์ได้แล้ว
ดังนั้น กัญชาและกัญชง ยังเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 การผลิต เพาะปลูก นำเข้า ส่งออก จำหน่าย ครอบครอง หรือเสพ โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นความผิดตามกฎหมาย จึงขอเตือนพี่น้องประชาชน อย่าเข้าใจผิด
“ทั้งนี้ ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขนั้น ก็จะต้องไปออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์หรือมาตรฐานเกี่ยวกับการนำเมล็ดกัญชง น้ำมันหรือสารสกัดจากกัญชงหรือกัญชา ไปใช้เป็นส่วนผสมในยาหรือผลิตภัณฑ์สมุนไพร อาหาร และเครื่องสำอางที่ผลิตในประเทศไทยให้ประชาชนรับทราบต่อไป" เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าว
สรุปก็คือการผลิต เพาะปลูก นำเข้า ส่งออก จำหน่าย ครอบครอง หรือเสพ โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นความผิดตามกฎหมาย แต่มีสารบางอย่างในกัญชาซึ่งก็คือ สาร CBD บริสุทธิ์ร้อยละ 99 ที่มี THC ผสมไม่เกินร้อยละ 0.01 สารสกัด CBD หรือผลิตภัณฑ์จากสารสกัด CBD ที่มีสาร THC ผสมไม่เกินร้อยละ 0.2 ซึ่งเป็นยาหรือเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร ตามกฎหมายว่าด้วยยาหรือสมุนไพร
ความจริงเรื่องนี้มีดราม่าต่ออีกหน่อยเพจเฟสบุ๊คที่ใช้ชื่อ Add Carabao (ซึ่งก็คือน้าแอ๊ดคาราบาวที่ร้องเพลงเพื่อชีวิตนั่นแหละ) ได้โพสต์ข้อความว่า
เมื่อวันที่30 สค.2562 ที่ผ่านมามีประกาศของกระทรวงสาฐารณะสุขในราชกิจจาฯยกเลิกกัญชาจากชื่อยาเสพติด....เเต่พออ่านเนื้อในปรากฏว่า ประกาศฉบับนี้กลายเป็นเรื่อง"ล๊อคเสป๊ก"ให้บริษัทที่ประกอบการด้าน กัญชง กัญชาได้ประโยชน์อย่างเต็ม ๆ ตามข่าวที่ออกมาครับ จึงทำให้พ่อแม่พี่น้องประชาชน และภาคประชาสังคมหนุนกัญชาเป็นยารักษาโรคต่าง งวยงง และวิตกกังวลไปต่างๆนาๆ รวมทั้งตัวผมด้วย จึงได้สอบถามไปยังเเหล่งข่าวของท่านรัฐมนตรี ผลปรากฏออกมาว่า "ประกาศฉบับนี้ส่งตรงมาจากกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งมีผู้ทรงคุณวุฒิอีก 6 คน สมคบกับ อย. ชงเรื่องมาโดยอ้างว่า "เป็นเรื่องทางเทคนิค"ท่านรัฐมนตรี อนุทิน ชาญวีระกุล ท่านก็หวังดีจึงต้องเซ็นอย่างเสียไม่ได้ เเต่แล้วกลับกลายเป็นว่า"โดนวางยา เจาะยาง"จากกลุ่มข้าราชการพุงกางเข้าให้เต็มๆ ประกาศนี้คุณอนุทินกำลังวิตกมากและกำลังหาทางแก้ไขอยู่ครับ คาดว่าในสัปดาห์หน้านี้จะหาทางยกร่างกฏหมายฉบับนี้ขึ้นมาใหม่ครับ โดยจะรับฟังประเด็นข้อโต้เเย้งจากภาคประชาสังคมที่ปารถนาดีต่อชาติบ้านเมืองโดยไม่มีผลประโยชน์แอบแฝงเกี่ยวข้อง ที่ได้รวบรวมประเด็นต่างมาให้เป็นส่วนสำคัญของการพิจรณายกร่างด้วยครับ
ใจหายหมดเลย เมื่อคืนนอนแทบไม่หลับเลยเรื่องนี้ จึงกราบเรียนมายังพ่อแม่พี่น้องเเละองค์กรเครือข่ายภาคประชาชนผู้สนับสนุนกัญชาเป็นยารักษาโรคให้ได้ทราบโดยทั่วกันนะครับ แล้วช่วยกันแชร์ต่อด้วยนะครับ ว่าท่านรมต.อนุทิน ชาญวีระกุล ท่านเป็นพวกเราครับ แต่สภาพในขณะนี้เหมือนลูกแกะในวงล้อมของสุนัขจิ๊งจอก ที่หิวกระหายผลประโยชน์ส่วนตน พวกเราต้องอย่าหวั่นไหวไปกับข่าวนี้นะครับ รวมพลังเดินหน้าสู้ๆกันต่อไปครับ ขอบคุณครับพี่น้อง
ทั้งหมดนี้คือความเคลื่อนไหวของกัญชาในปัจจุบัน ณ กลางเดือน ก.ย. 2562
คำถามข้อที่ 2 กัญชาเสรีมีผลกระทบอะไรบ้าง
ในประเทศสหรัฐอเมริกาที่เปิดกัญชาเสรีนั้น ครั้งหนึ่งเคยมีงานวิจัยเผยแพร่ในวารสาร ชื่อThe Journal of Global Drug Policy and Practice มีชื่อเรื่องว่า The Economics Impacts of Marijuana Legalization (แปลเป็นไทยก็คือ ผลกระทบจากการเปิดเสรีกัญชา)
บทความนี้เขียนเล่าเอาไว้โดย นพ.ธีระ วรธนารัตน์ โดยปัญหาที่งานวิจัยชิ้นนี้หยิบยกขึ้นมาให้สังคมเห็นมีดังนี้
- รัฐต่างๆ ที่ปลดล็อคกัญชาทางการแพทย์ พบว่า เอาเข้าจริง คนเสพกัญชาเพิ่มขึ้น 2 เท่า และมีอาการติดยาต้องเข้ารับการบำบัดเพิ่มขึ้น 2 เท่า ตัวเลขแต่ละรัฐต่างกันไป มีตั้งแต่เพิ่มขึ้น 75% ไปจนถึง 300% หนักหน่วงสุดคือ อัตราการใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ตามข้อบ่งชี้จริงๆ นั้นมีน้อยกว่า 5% ของจำนวนคนใช้กัญชาทั้งหมด ที่เหลือคือแอบใช้เอง หาซื้อใช้เอง รวมถึงหมอสั่งจ่ายให้แบบแอบอ้างข้อบ่งชี้ทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นจริง
- เด็ก เยาวชน วัยรุ่น และวัยทำงานหนุ่มสาวอายุน้อยกว่า 24 ปี คือกลุ่มคนที่มีอัตราการเสพกัญชามากที่สุดในทุกรูปแบบ
- เยาวชน และวัยรุ่นนั้น มีการรับรู้อันตรายจากกัญชาลดลงอย่างต่อเนื่อง และทำให้เกิดการเสพมากขึ้นเรื่อยๆ จนนำมาซึ่งการออกจากระบบการศึกษา และการเกิดอุบัติเหตุจราจรหลังเสพกัญชามากขึ้น
- การปลดล็อคกัญชาทางการแพทย์นั้น พบว่ากัญชาไม่ได้มีสรรพคุณที่จะมาทดแทนการรักษามาตรฐานได้ ทำให้การปลดล็อคดังกล่าวส่งผลกระทบต่อทั้งบุคลากรทางการแพทย์และคนไข้จำนวนมาก ทั้งในเรื่องความเชื่อ และการปฏิบัติระหว่างการดูแลรักษา และแน่นอนว่าส่งผลต่อผลลัพธ์ทางสุขภาพอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
- ปัญหาอุบัติเหตุจราจรยังมากขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง จนในปัจจุบันรัฐที่เป็นโมเดลกัญชาอย่างแคลิฟอร์เนียนั้นพบว่า มีปัญหาการขับขี่ผิดกฎหมายจากการเสพกัญชามากกว่าการดื่มเหล้าไปแล้ว
- มีการวิจัยจาก Columbia University ตอกย้ำว่าการเสพกัญชาจะทำให้มีโอกาสขับขี่จนเกิดอุบัติเหตุรถชนกันมากขึ้นกว่าปกติถึง 2 เท่า ปัญหาอาชญากรรมที่เกิดจากการเสพกัญชามากขึ้นอย่างชัดเจนในรัฐที่ปลดล็อคกัญชา ทั้งในเรื่องการจี้ปล้น การทำร้ายร่างกาย การฆาตกรรม ฯลฯ เช่นในรัฐแคลิฟอร์เนียที่ปลดล็อคมาตั้งแต่ ค.ศ.2003 [4]
ความจริงนโยบายเสรีกัญชาที่พรรคภูมิใจไทยและผู้สนับสนุนต้องการนั้น วางอยู่บนหลักคิดของการรักษาโรคเป็นส่วนใหญ่ สุดท้ายผลกระทบที่เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกาจึงน่าใช้เป็นข้อทบทวนพิจารณา ถึงการเปิดกัญชาเสรีว่า จะทำอย่างไรเพื่อให้เกิดเสรีกัญชาวางอยู่บนหลักคิดของการรักษาโรค ไม่ทำให้เกิดผลกระทบตามมาภายหลัง
อ้างอิง
[1] https://th.wikisource.org/wiki/ระเด่นลันได
[2] สุรศักดิ์ โปร่งจันทึก. (2534, กรกฏาคม-กันยายน). การควบคุมยาเสพติดให้โทษและการบำบัดรักษา. วารสารแพทย์เขต 7. ปีที่ 10: น.186
[3] https://th.wikipedia.org/wiki/พระยาพหลพลพยุหเสนา_(พจน์_พหลโยธิน)
[4] https://www.hfocus.org/content/2019/08/17551
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ