สัปดาห์ก่อนมีข่าวนายทุนจีนจะเข้ามาเทคโอเวอร์มหาวิทยาลัยไทย โดยเฉพาะฟากมหาวิทยาลัยเอกชน จนอาจทำให้เกิดการทะลักเข้ามาจำนวนมากของนักศึกษาจากประเทศจีน แล้วเข้ามาแย่งงาน แย่งโอกาสทางธุรกิจจากคนไทย จนคนไทยต้องลำบากและได้รับผลกระทบอย่างหนัก
สำหรับผม ผมเห็นว่าอีกสิ่งหนึ่งที่จะตามมาอย่างค่อนข้างแน่นอน คือ “ธุรกิจสีเทาในวงการศึกษา” ขออนุญาตนำเรื่องเล่าจากประสบการณ์สมัยที่ผมเรียนอยู่ในประเทศอังกฤษให้ได้อ่านกัน เกี่ยวกับบุคลิก พฤติกรรม และกรณีศึกษาการทะลักเข้ามาของนักศึกษาจีนในอังกฤษ เพื่อเป็นการแบ่งปันข้อมูลสำหรับการต่อยอด หรือ การรับมือต่อประเด็นดังกล่าวในอนาคต
คือ พวกนักศึกษาจีนที่ออกมาเรียนที่ต่างประเทศเนี่ย หลักๆแล้วคือ มี 2 กลุ่มครับ คือ
กลุ่มแรกเลยคือ กลุ่มที่หัวไม่ดี สอบเข้ามหาวิทยาลัยในจีนไม่ได้ จากการสอบที่แข่งขันสูง แต่จะออกนอกขนบไม่ยอมเรียนปริญญาตรีก็ไม่ได้ เลยต้องออกไปหามหาวิทยาลัยที่ต่างประเทศเรียนกัน เช่นไปประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ที่ระบบการศึกษาไม่ได้แย่นัก เช่น ไทย ฟิลิปปินส์ หรืออินเดีย เป็นต้น
อีกกลุ่มหนึ่งคือ พวกบ้านรวย ไฮโซ หรือพอมีเงินพร้อมระดับหนึ่ง พวกนี้ก็จะไม่ยอมเสียเวลาไปสอบแย่งที่นั่งในมหาวิทยาลัยกับเด็กจีนคนอื่นๆ แต่จะเลือกมาเรียนที่ประเทศพัฒนาแล้วในมหาวิทยาลัยดีๆอย่างที่อเมริกา ฝรั่งเศส เยอรมนี และอังกฤษโดยตรงเลย
ปฏิเสธไม่ได้ว่านักศึกษาจีนจำนวนมากเรียนเก่งกัน แต่สิ่งหนึ่งที่นักศึกษาจีนที่มาเรียนต่างประเทศนั้นประสบปัญหามากที่สุดคือ ภาษาอังกฤษ ไม่ว่าเขาจะเรียนเก่งแค่ไหนมาจากในบ้านเกิดตัวเอง แต่เมื่อมาอยู่ต่างประเทศ หลายคนรู้ภาษาอังกฤษ อ่านได้ เข้าใจได้ ฟังออก แต่เขาไม่ค่อยพูดครับ พูดไม่เก่ง
เมื่อไม่ค่อยพูด ไม่ค่อยสนทนา มาเรียนก็ใช้แต่ภาษาจีน เกาะกลุ่มกันแต่กับคนจีน ภาษาก็ไม่ได้ พวกนี้ส่วนใหญ่มาเรียนภาษากัน เพราะสอบ IELTS ไม่ผ่านกันเยอะมาก บางคนถูกมหาวิทยาลัยจับเรียนภาษาซัมเมอร์ประมาณ 10 เดือนแล้วยังไม่ผ่านเกณฑ์ต้องถูกส่งกลับเมืองจีนก็เยอะแยะ
ทักษะการใช้ภาษาอังกฤษจึงเป็นภาษาอย่างมากในหมู่นักศึกษาจีนที่มาเรียนในต่างประเทศ นอกจากทักษะทางภาษาแล้ว ก็เรื่องความขี้เกียจนี่แหละครับที่เป็นปัจจัยหลัก ที่จะทำให้นักศึกษาจีนเรียนไม่จบ นักศึกษาจีนที่รวยๆหลายคนที่มาเรียนที่อังกฤษนี้มีนิสัยใช้เงินแก้ปัญหากันซะเยอะ
ขี้เกียจแล้วยังไงต่อครับ? มันก็มีคนหัวใสเปิดตลาดเฉพาะทาง เอาไว้รองรับนักศึกษาขี้เกียจเหล่านี้ไงครับ ที่มหาวิทยาลัยในอังกฤษ มีธุรกิจเกี่ยวกับการบ้าน และการทำรายงานหลายแบบมาก ทั้งรับจ้างเขียนวิทยานิพนธ์ (ทั้งเล่ม) รับจ้างเก็บข้อมูลงานวิจัย รับจ้างสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่าง รับจ้างทำแบบสอบถาม
รับจ้างวิเคราะห์ข้อมูลผ่านโปรแกรมวิเคราะห์ชนิดต่างๆ เช่น SPSS, Nvivo, Hyper Research อะไรพวกนี้ (ไปจนถึงรับจ้างหากลุ่มตัวอย่างหรือปลอมกลุ่มตัวอย่าง ปลอมข้อมูลสำหรับการตกแต่งผลวิจัยโดยไม่ต้องทำการทดลองเอง บริการพิสูจน์อักษรก็มี บริการในส่วนนี้จะค่อนข้างลับๆหน่อย ต้องติดต่อกันผ่านช่องทางเฉพาะ เช่น Taobao หรือใน WeChat)
เอาแค่บริการพิสูจน์ก็อยู่ได้แล้ว แพงนะครับที่นี่ ไม่เหมือนที่ไทย รับจ้างพิสูจน์อักษรเล็กๆน้อยในมหาวิทยาลัยที่อังกฤษนี้ เขานับให้กันเป็นรายคำ 100 คำ เขาให้ค่าพิสูจน์อักษรกันประมาณ 10-15 ปอนด์ (เท่ากับประมาณ 600 บาท) เปเปอร์หรือรายงานฉบับหนึ่งส่วนใหญ่มักมีความยาวประมาณตั้งแต่ 2,000 คำไปจนถึง 5,000 คำต่อ 1 ชิ้น
อย่างวิทยานิพนธ์ฉบับหนึ่งเนี่ยมีประมาณ 20,000 คำ ทำชิ้นเดียวได้เงินตั้งเป็นแสนบาทแล้ว (นี่ขนาดแค่พิสูจน์อักษรนะครับ สุจริต โปร่งใส) แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องดูกลุ่มลูกค้าด้วย ราคาที่ผมพูดมานี้ คือราคาที่อยู่ในแวดวงของคนจีนครับ ถ้าเป็นกลุ่มลูกค้าชาวอังกฤษหรือฝรั่งยุโรปอื่นๆราคาก็จะต่ำกว่านี้ อาจจะตกไปอยู่ที่ 100 คำ ต่อ 6-7 ปอนด์
อีกแบบหนึ่ง คือ การรับจ้างเป็นที่ปรึกษาการเขียน รับให้คำปรึกษาด้านการเขียนวิทยานิพนธ์ การเขียนบทความ การเขียนรายงานส่งอาจารย์ ที่นี่นักศึกษาปริญญาเอก และปริญญาโทที่เก่งๆภาษาอังกฤษกัน เขามักรับงานฟรีแลนซ์แนวๆนี้กันเยอะ
คือ มันจะมีพวกคนเอเชียเงินหนา ที่ไม่มั่นใจ และกังวลเรื่องทักษะภาษาเลยต้องวิ่งหาคนช่วยแก้/เกลางานเขียนของตัวเองอยู่ตลอด (งานพวกนี้มักเป็นลักษณะกึ่งๆสีเทา คือ กึ่ง ‘รับจ้างทำให้ทั้งชิ้นงาน’ กับ ‘รับจ้างตรวจเพื่อให้คำแนะนำปรึกษา’ อันนี้ก็ต้องแล้วลูกค้าจะร้องขอมา)
อย่างงานการบ้าน งานบทความ งานเขียนเรียงความฉบับสั้น ของเด็กๆปริญญาตรีเนี่ย ก็คิดกันเรทง่ายๆที่ 200-300 ปอนด์ (ประมาณ 10,000 บาท) ส่วนของปริญญาโท (ซึ่งเป็นบริการยอดนิยม) เนี่ย โดยมากมักจะคิดราคาเหมาจ่ายรวมทั้งเล่มวิทยานิพนธ์เลย ก็จะคิดกันประมาณ 8,000 ปอนด์ขึ้นไปจนถึงหลัก 10,000 ปอนด์ (ตีเป็นเงินไทยได้ 3-5 แสนบาทต่อชิ้นงาน)
คือพวกคนจีนที่ชอบจ้างนี้น่ะจะเป็นพวกค่อนข้างขี้เกียจ มาเรียนกันเพื่อมาเที่ยว มาหาประสบการณ์ชีวิต หาลู่ทางทำมาหากินกันเป็นหลักเท่านั้น เรื่องเรียนพวกเขาจะไม่ค่อยซีเรียสกันมากมายนัก พอจ้างทำการบ้าน ทำวิจัยเสร็จ เรียนจบเทอมที่ 3 ก็บินกลับประเทศไปเลย เพราะพวกรับจ้างเหล่านั้นเขามีบริการส่งสินค้าเข้าสู่อีเมล (และบริการส่งตัวเล่มถึงมืออาจารย์ด้วย)
โดยภาพรวมแล้วถือว่าเป็นโอกาสทางธุรกิจ และเส้นทางการเงินที่ง่ายๆ และมีผลกำไรเป็นกอบเป็นกำอย่างดีช่องทางหนึ่งเลยทีเดียว แค่ตรวจการบ้าน ตรวจเทอมเปเปอร์เล็กๆน้อยๆ 4-5 หน้า A4 ค่าตรวจเนี่ย (ตรวจเฉยๆ เช่น ตรวจการใช้เหตุผล ตรวจข้อถกเถียงภายในบทความต่างๆ ยังไม่รวมราคาแก้ให้นะ) ตีได้ไม่ต่ำกว่า 100 ปอนด์แล้ว
แต่อย่างไรก็ตามข้อจำกัดมันก็มีอยู่ ไม่ใช่ว่าใครนึกอยากจะเข้าถึงวงการนี้ก็จะเข้ากันได้ง่ายๆ เพราะอย่างน้อยต้องรู้ภาษาจีน และมีคนพาเข้าไปหรือมีคนติดต่อเข้ามา เนื่องจากกลุ่มงานพวกนี้มันมักต้องมีการติดต่อกันในช่องทางที่ไม่ปกติ เช่น ติดต่อกันทาง WeChat หรือติดต่อผ่านคนรู้จักของคนรู้จักอีกต่อหนึ่ง
ซึ่งแม้ว่ามันจะผิดศีลธรรม เรื่องการรับจ้างทำการบ้าน แต่มันไม่ใช่แค่งานรับจ้างทำการบ้านอย่างเดียว มันมีส่วนงานอื่นๆที่ไม่ผิดศีลธรรม ไม่ผิดจรรยาบรรณคาบเกี่ยวอยู่ด้วย คือ รับจ้างสำรวจวรรณกรรม (literature review) รับจ้างเก็บข้อมูลงานวิจัย รับจ้างสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่าง รับจ้างให้คำปรึกษาด้านการบ้าน
สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นปกติอยู่แล้วในสังคมไทย ในแวดวงวิจัย นักวิจัยก็ไปจ้างนักศึกษา จ้างฟรีแลนซ์มาเป็นผู้ช่วยนักวิจัยแล้วโยนงานเหล่านี้ให้ทำกันทั้งนั้น แต่บังเอิญว่าในประเทศอังกฤษราคาค่างวดมันดันแพง เพราะคนจ้าง กลุ่มลูกค้าคือคนจีน กำลังซื้อมันเลยสูง
ทีนี้ถ้านักศึกษาจีนทะลักเข้ามาไทย ก็มีแนวโน้มที่สูงว่าตลาดสีเทาในวงการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยเหล่านี้จะเกิดและขยายตัวเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะบริการรับจ้างเก็บข้อมูล รับจ้างหาข้อมูล รับจ้างตรวจงาน รับจ้างปลอมแปลงข้อมูลทางสถิติ หรือไปจนถึงรับจ้างให้ความช่วยเหลือด้านการวิจัย (และการทำให้ทั้งเล่ม) เป็นต้น
แม้ว่าที่ไทยนั้นเรื่องการรับจ้างอะไรพวกนี้มันยังไม่ค่อยเปิดกว้างในที่สาธารณะเท่าไรนัก โดยเฉพาะเรื่องการรับจ้างเขียนทั้งเล่ม แต่ก็ปฏิเสธได้ยากว่านักศึกษาจีนหัวใสที่มุ่งแต่จะมาทำการค้าขาย และหาลู่ทางไม่ได้มีเป้าหมายจะมาร่ำเรียนตั้งแต่แรก อาจจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจสีเทาเหล่านี้ขยายตัวได้อย่างรวดเร็วไปพร้อมๆกับการเพิ่มขึ้นของนักศึกษาชาวจีนในไทย
เพราะสุดท้ายแล้วเมื่อมี Demand มันก็ต้องมี Supply หากมีตลาดเปิดขึ้น ก็ย่อมมีผู้ค้าเรียงรายเสนอหน้าเข้ามาเป็นตัวเลือกให้แก่นักศึกษาชาวจีนเหล่านี้ ได้เข้ามาซื้อหาบัตรผ่านของการจบปริญญาแบบง่ายๆในตลาดอุดมศึกษาของไทย จนเกิดการเสื่อมเสียชื่อเสียงเอาได้ง่ายๆ
สภาพการณ์นี้จึงเป็นสิ่งที่บุคลากรและผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมการศึกษาระดับอุดมศึกษาพึงระวัง และตรวจตราให้เข้มงวดแน่นหนา เพื่อป้องกันไม่ให้คุณภาพของระบบการศึกษาไทยนั้นตกต่ำ และเสื่อมเสียชื่อเสียงจากธุรกิจสีเทาเหล่านี้ ลำพังสถานการณ์เดิมจากคนไทยขายคนไทยด้วยกันเองในอดีตก็ว่าแย่แล้ว หากในอนาคตมีตลาดจากลูกค้าต่างชาติแผ่ขยายเข้ามาในไทย จะยิ่งไปกันใหญ่
ที่มาภาพประกอบหน้าแรก: Women of China
*เผยแพร่ครั้งแรกใน Blog ส่วนตัวของผู้เขียน
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ