ยังไม่ทันเริ่ม 'ใบอนุญาตวิชาชีพครูตลอดชีพ' กมว.แก้ข้อบังคับให้ต่อทุก 5 ปี

กองบรรณาธิการ TCIJ 17 ก.พ. 2562 | อ่านแล้ว 3903 ครั้ง

ยังไม่ทันเริ่ม 'ใบอนุญาตวิชาชีพครูตลอดชีพ' กมว.แก้ข้อบังคับให้ต่อทุก 5 ปี

กมว.แก้ข้อบังคับคุรุสภา ไม่ต่อใบอนุญาตวิชาชีพครูที่ต่อครบ 3 ครั้งหรือ 15 ปีตลอดชีพ ซึ่งจะเริ่มครั้งแรก ธ.ค. 2562 นี้ ให้แต่ทุก 5 ปีตามเดิม และปรับเพดานค่าปรับไม่ต่อใบอนุญาตสูงสุดไม่เกิน 2,000 บาท ที่มาภาพ: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการออนไลน์ รายงานเมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2562 ว่า รศ.ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) คุรุสภา เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุม กมว.มีมติชอบให้เสนอบอร์ดคุรุสภาแก้ไขข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ พ.ศ.2559 จากที่ให้ข้าราชการครูมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูตลอดชีวิตได้ แต่ต้องเป็นข้าราชการครูที่ต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพมาแล้ว 3 ครั้ง รวมระยะเวลาการทำงาน 15 ปี เพราะถือว่ามีประสบการณ์และมีความเชี่ยวชาญแล้ว เปลี่ยนเป็นต้องต่อใบอนุญาตทุก 5 ปี ซึ่งในการต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพต้องมีหลักฐานยืนยันด้วยว่าในระยะเวลา 5 ปีได้รับการพัฒนาอะไรมาบ้าง เพื่อให้ครูมีการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องจะไม่มีใบอนุญาตฯตลอดชีพ เพราะเกรงว่าหากมีการให้ใบอนุญาตฯตลอดชีพแล้วอาจจะทำให้ครูไม่มีการพัฒนาใดๆ

"ขณะนี้ยังไม่มีใครได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพตลอดชีพ เนื่องจากข้อบังคับฯในปี 2559 จะเริ่มมีผู้ครบกำหนดต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพมาแล้ว 3 ครั้งและจะได้ใบอนุญาตฯตลอดชีพในเดือนธันวาคม 2562 ดังนั้น จึงเท่ากับว่าการออกใบอนุญาตฯตลอดชีพยังไม่มีการเริ่มต้นและจะไม่มีใครได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูตลอดชีพ"รศ.ดร.เอกชัย กล่าว

ประธาน กมว.กล่าวต่อไปว่านอกจากนี้ยังได้ทบทวนอัตราค่าปรับหรือค่าดำเนินการกรณียื่นคำขอต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพล่าช้าหลังจากใบอนุญาตประกอบอาชีพหมดอายุ โดยคิดค่าปรับเป็นเงินเดือนละ 200 บาท ธรรมเนียมการต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ซึ่งถึงแม้จะส่งผลดีให้ทุกคนรีบต่อใบอนุญาตฯเพื่อไม่ต้องเสียค่าปรับ และมีคนไม่ต่อเพียงร้อยละ 8 จากจำนวนผู้ที่ครบกำหนดต้องต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทั้งหมด แต่ก็เกิดปัญหากับครูบางคนที่ไม่ต่อใบอนุญาตเป็นระยะเวลา 4-5 ปีแล้วจึงมาต่อใบอนุญาตฯทำให้ต้องเสียค่าปรับหมื่นกว่าบาท ดังนั้น กมว.จะเสนอบอร์ดคุรุสภาให้แก้ไขข้อบังคับฯเป็นปรับ 200 บาทต่อเดือน แต่ปรับสูงสุดไม่เกิน 2,000 บาท เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ครูมากนัก

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: