คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เตรียมเสนอแนวทางให้รัฐมนตรีพลังงานในฐานะประธาน กบง.พิจารณาปรับหลักเกณฑ์โครงการโซลาร์ภาคประชาชน ให้จูงใจมากขึ้น ตามมติ กพช.เมื่อวันที่ 11ก.ย. 2562 ที่ผ่านมา มีการประเมินแนวทางที่เป็นไปได้ 2 แนวทาง คือ 1.ปรับเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าให้สูงกว่า 1.68 บาทต่อหน่วย เป็น 2 บาทต่อหน่วย หรือ 2.เปิดทางให้กลุ่มภาคธุรกิจสมัครเข้าร่วมโครงการได้ โดยพร้อมดำเนินการทันที หลังมีความชัดเจนในมติ ที่มาภาพ: Energy News Center
Energy News Cente รายงานเมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2562 ว่านายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า กกพ.ยังรอนโยบายจากกระทรวงพลังงานอย่างเป็นทางการ หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) รับทราบแนวทางการปรับรูปแบบโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคาสำหรับภาคประชาชน (โซลาร์ภาคประชาชน) ปริมาณ 100 เมกะวัตต์ต่อปีในปี 2562
โดยหากภาครัฐต้องการให้ปรับรูปแบบโครงการฯเพื่อสร้างแรงจูงใจมากขึ้น ทาง กกพ.ก็จะรีบติดตามและประเมินผลโครงการให้เร็วขึ้นด้วย จากเดิมที่มีแผนจะดำเนินการในสิ้นปี 2562 นี้ ซึ่งแนวทางเบื้องต้น อาจจะต้องไปดูเรื่องของการจัดทำแผนประชาสัมพันธ์ให้เข้าถึงประชาชนกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น เช่น กลุ่มบ้านที่อยู่อาศัยที่ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าในอัตรา 3,000-4,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป เพราะกลุ่มนี้ หากลงทุนติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในต้นทุน 2-3 แสนบาท จะสามารถคืนทุนได้เร็วกว่ากลุ่มคนที่ใช้ไฟฟ้าในปริมาณไม่มากนักที่ต้องใช้เวลาคืนทุนถึง 7 ปี
ส่วนอีกแนวทางหนึ่งก็ต้องไปดูว่าภาครัฐจะส่งเสริมเรื่องของอัตรารับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินกลับเข้าระบบในอัตราที่สูงกว่า 1.68 บาทต่อหน่วยได้หรือไม่ ซึ่งหากไม่ปรับเพิ่มอัตราค่าไฟฟ้า ก็จะต้องไปพิจารณาแนวทางอื่นๆเพิ่มเติมต่อไป
“วัตถุประสงค์แรกของโครงการนี้คือ ต้องการส่งเสริมให้ติดตั้งเพื่อลดค่าใช้จ่ายช่วงความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) ซึ่งตอนนี้คนยังสนใจน้อย ยื่นติดตั้งไม่ถึง 1 เมกะวัตต์ ต่ำกว่า เป้าหมายมาก และก็ยังไม่มีข้อมูลว่า คนที่ยื่นสมัครเข้าร่วมโครงการเป็นกลุ่มคนที่ใช้ไฟฟ้าในปริมาณที่สูงหรือไม่ จึงต้องไปดูเรื่องของการประชาสัมพันธ์ให้ตรงจุดด้วย” นายเสมอใจ กล่าว
อย่างไรก็ตามหากมีการปรับรูปแบบโครงการเร็วขึ้น หรือ ดำเนินการทันทีในปี 2562 นี้ ทาง กกพ. ยืนยันว่า จะปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ที่สมัครเข้าร่วมโครงการตั้งแต่แรกด้วย เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์จากการเข้าร่วมโครงการของรัฐที่เท่าเทียมกัน
แหล่งข่าวจาก สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงานกกพ.) กล่าวว่า กระทรวงพลังงานได้หารือเบื้องต้นกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ถึงแนวทางการปรับหลักเกณฑ์โครงการโซลาร์ภาคประชาชนแล้วโดยหากกระทรวงพลังงานออกเป็นนโยบายอย่างชัดเจนทาง กกพ.ก็พร้อมนำเสนอแนวทางใหม่สำหรับโครงการดังกล่าว
เบื้องต้นมี2 แนวทาง ได้แก่1.การเปิดให้กลุ่มธุรกิจเข้าร่วมโครงการได้เช่นเดียวกับกลุ่มครัวเรือน ซึ่งจะทำให้ปริมาณการผลิตไฟฟ้าโซลาร์ภาคประชาชนถึงเป้าหมาย100 เมกะวัตต์ต่อปีได้เร็วขึ้น เพราะกลุ่มธุรกิจมีความต้องการใช้ไฟฟ้าตลอดทั้งวัน แตกต่างจากภาคครัวเรือนที่ส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้ไฟฟ้าในช่วงกลางวัน จึงคิดว่าไม่คุ้มค่าต่อการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป
2.การปรับราคารับซื้อไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากเดิมที่กำหนดรับซื้อไว้ที่ 1.68 บาทต่อหน่วย เพื่อจูงใจภาคครัวเรือนให้เข้าร่วมโครงการมากขึ้น เช่น ปรับขึ้นเป็น 2 บาทต่อหน่วย แต่ราคาที่ซื้อเกิน 1.68 บาทต่อหน่วยอาจจะส่งผลให้เกิดภาระค่าไฟฟ้ากับประชาชนในภาพรวม
อย่างไรก็ตาม กกพ.อาจจะนำเสนอทั้ง2แนวทางให้กระทรวงพลังงานพิจารณา แต่คาดว่าหลักเกณฑ์ใหม่จะนำไปใช้สำหรับโครงการโซลาร์ภาคประชาชน ปี 2563 แทน ส่วนโครงการในปี2562 นี้ หากประชาชนสมัครไม่ถึง100 เมกะวัตต์ อาจนำปริมาณที่เหลือไปรวมกับโครงการในปี 2563 แทนต่อไป
สำหรับโครงการ “โซลาร์ภาคประชาชน” กกพ.เปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค. 2562 เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนผู้ใช้พลังงาน ประเภทครัวเรือนขนาดเล็ก (ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่1) ได้ติดตั้งอุปกรณ์แผงเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคา (โซลาร์รูฟท๊อป) เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เอง และนำส่วนเกินที่เหลือจากการใช้ ไปขายต่อให้กับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย (การไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค) โดยมีกำลังผลิตติดตั้งครัวเรือนละไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ (kWp) กำหนดอัตราราคารับซื้อไฟฟ้า ที่ 1.68 บาทต่อหน่วย โดยมีระยะเวลารับซื้อไฟฟ้ารวม 10 ปี ซึ่งโครงการในปี2562 จะกระจายครอบคลุมประมาณ 10,000-20,000 ครัวเรือน
ทั้งนี้ โครงการ “โซลาร์ภาคประชาชน” ในปี 2562 ที่กำหนดเป้าหมายปริมาณรับซื้อรวม 100 เมกะวัตต์ แบ่งพื้นที่ดำเนินการออกเป็น การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) จำนวน 30 เมกะวัตต์ ครอบคลุม 3 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จำนวน 70 เมกะวัตต์ ครอบคลุม 74 จังหวัดที่เหลือ ปัจจุบันมีการสมัครเข้าร่วมโครงการจริงประมาณ 20 เมกะวัตต์เท่านั้น
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ