เกรตา ทุนเบิร์ก (Greta Thunberg) เยาวชนนักเคลื่อนไหวด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และขบวนการวันศุกร์เพื่ออนาคต (Fridays for Future movement) ของเด็กนักเรียน รับมอบรางวัล Ambassador of Conscience Award ประจำปี 2019 จากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ในฐานะที่เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นลุกขึ้นมาลงมือทำเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนทั่วโลก
พิธีมอบรางวัลมีขึ้นที่กรุงวอชิงตันดีซี สหรัฐฯ และจะมีการจัดกิจกรรมต่อเนื่องในเมืองต่างๆ ทั่วโลก เพื่อยกย่องตัวแทนนักเคลื่อนไหวจากขบวนการวันศุกร์เพื่ออนาคตในที่ต่างๆ
โดยในการขึ้นรับรางวัล เกรตา ทุนเบิร์กเผยว่า รางวัลนี้เป็นรางวัลที่มอบให้กับคนหลายล้านคน คนหนุ่มสาวจากทั่วโลก ซึ่งร่วมมือกันสร้างขบวนการวันศุกร์เพื่ออนาคตขึ้นมา เยาวชนที่ปราศจากความกลัวเหล่านี้ กำลังต่อสู้เพื่ออนาคตของตนเอง อนาคตที่พวกเขาอาจเพิกเฉยได้ แต่ดูเหมือนว่าพวกเขาจะไม่สามารถเพิกเฉยได้อีกต่อไป
“พวกเราร่วมมือกันในนามขบวนการวันศุกร์เพื่ออนาคต เรากำลังต่อสู้เพื่อชีวิตรอดของเรา ไม่เพียงเท่านั้น เรายังต่อสู้เพื่ออนาคตของลูกหลาน ของคนในรุ่นต่อไป ของสิ่งมีชีวิตทั้งปวงในโลก ซึ่งต่างอาศัยร่วมกันในโลกใบนี้ โลกซึ่งเราได้ขโมยมา โลกซึ่งเรากำลังทำลาย เรากำลังต่อสู้เพื่อทุกคน”
“การรณรงค์ของเราได้ผล สิ่งที่ฉันต้องการบอกทุกคนคือให้เริ่มลงมือทำเดี๋ยวนี้ ไม่มีใครที่อ่อนแอเกินกว่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ ฉันขอให้ทุกคนนัดหยุดเรียน นัดหยุดงานเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมรณรงค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับโลก ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 20 และ 27 กันยายนนี้”
รางวัล Ambassador of Conscience Award ถือเป็นรางวัลเกียรติยศสูงสุดของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เพื่อยกย่องบุคคลซึ่งแสดงความเป็นผู้นำและความกล้าหาญอย่างโดดเด่น ในการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน และเป็นบุคคลที่ลงมือทำตามมโนธรรมสำนึกของตน และใช้ความสามารถเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้อื่น
เหตุผลที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลมอบรางวัลประจำปี 2562 ให้กับเกรตา เป็นเพราะความพยายามของเธอในการช่วยทำให้สังคมตระหนักถึงวิกฤตสภาพภูมิอากาศ การที่เธอตัดสินใจหยุดเรียนทุกวันศุกร์ ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2561 แล้วไปนั่งประท้วงด้านหน้ารัฐสภาสวีเดน จนกว่าทางการจะดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อแก้ไขภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ จนส่งผลให้เกิดขบวนการวันศุกร์เพื่ออนาคต ซึ่งต่อมาได้รณรงค์จัดตั้งเยาวชนกว่าหนึ่งล้านคนจากทั่วโลก
การมอบรางวัลนี้เกิดขึ้นก่อนการประชุมสุดยอดภาคประชาชนว่าด้วยสภาพภูมิอากาศ สิทธิ และความอยู่รอดของมนุษย์ ซึ่งแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเป็นหนึ่งผู้ร่วมจัด กิจกรรมนี้จะมีแกนนำเยาวชนจำนวนมากเข้าร่วม มีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นประชาคมสิทธิมนุษยชนให้เพิ่มความพยายามเพื่อสร้างความยุติธรรมด้านสภาพภูมิอากาศให้เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน โดยจะมีบรรดานักเคลื่อนไหวเยาวชนจาก 115 ประเทศ วางแผนจัดการประท้วงระหว่างวันที่ 20-27 ก.ย. 2019 โดยแกนนำเยาวชนเหล่านี้จะไม่ยอมลดแรงกดดันแต่อย่างใด
คูมี นายดู เลขาธิการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า ประชาชนหลายล้านคนกำลังประสบความทุกข์ยากจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งส่งผลกระทบรุนแรงขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เยาวชนอย่างเกรตาและผู้มีส่วนร่วมกับขบวนการวันศุกร์เพื่ออนาคต ซึ่งเป็นกลุ่มที่ประท้วงด้วยการหยุดเรียนเพื่อสภาพภูมิอากาศ พิสูจน์ให้เราเห็นแล้วว่าการเปลี่ยนแปลงสามารถเกิดขึ้นได้
“แกนนำเยาวชนเหล่านี้ได้ชี้ให้เห็นปัญหาท้าทายที่เกิดขึ้น ในโลกที่ขาดความใส่ใจและกำลังมุ่งหน้าสู่หายนะ พวกเขายืนหยัดร่วมกันแสดงมโนธรรมสำนึก พร้อมกับประกาศว่า ‘พอกันที’ พวกเขาเรียกร้องให้เราหยุดเพิกเฉยต่อความร้ายแรงของวิกฤต อย่ามัวแต่หาข้อแก้ตัว และให้เริ่มลงมือทันที ถึงเวลาที่เราทุกคนต้องเดินตามพวกเขา เราจำเป็นต้องมีการรวมตัวกัน เพื่อกดดันให้รัฐบาลและบรรษัทดำเนินการในสิ่งที่ควรทำมาเนิ่นนานแล้ว”
รางวัล Ambassador of Conscience Award ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2546 เพื่อยกย่องบุคคลหรือกลุ่มคนที่ส่งเสริมและสนับสนุนอุดมการณ์เพื่อสิทธิมนุษยชนโดยผ่านการใช้ชีวิตและการดำเนินงานของตน การเผชิญหน้ากับความอยุติธรรม ตลอดจนใช้ความสามารถที่มีอยู่เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นหันมาร่วมมือกันเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์มากขึ้น
รางวัลนี้จัดทำขึ้นจากแรงบันดาลใจเนื่องจากบทกวี “From the Republic of Conscience” ซึ่งเชมัส ฮีนนี (Seamus Heaney) กวีชาวไอร์แลนด์ผู้ล่วงลับไปแล้วประพันธ์ให้กับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ผู้ที่เคยได้รับรางวัลนี้ประกอบด้วยเนลสัน แมนเดลา มาลาลา ยูซาฟไซ แฮร์รี เบลาฟอนเต้ อ้าย เว่ย เว่ย กลุ่มเยาวชนแห่งแอฟริกาตะวันตกและแอฟริกากลาง ขบวนการ Angélique Kidjo ของชนพื้นเมืองในแคนาดา เอลิเซีย คีย์ และโคลิน เคเปอร์นิก
ข้อมูลพื้นฐาน
การนัดหยุดเรียน/งานระดับโลกเพื่อสภาพภูมิอากาศ – 20-27 ก.ย. 2019
เยาวชนนักเคลื่อนไหวจาก 115 ประเทศวางแผนประท้วงด้านสภาพภูมิอากาศ ระหว่างวันที่ 20-27 ก.ย. 2019 โดยจะมีวันนัดชุมนุมใหญ่ในวันศุกร์ที่ 20 ก.ย. 2019 ก่อนการประชุมสุดยอดฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ โดยจะมีการจัดกิจกรรมกว่า 2,400 ครั้งในกว่า 1,000 เมืองทั่วโลก
การประชุมสุดยอดภาคประชาชนว่าด้วยสภาพภูมิอากาศ สิทธิ และความอยู่รอดของมนุษย์ – 18-19 ก.ย. 2019
การประชุมสุดยอดภาคประชาชนว่าด้วยสภาพภูมิอากาศ สิทธิ และความอยู่รอดของมนุษย์ ซึ่งเป็นการประชุมสุดยอดระดับโลกว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งแรก โดยมีกลุ่มแกนนำภาคประชาสังคมและ สำนักงานด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติแห่งกรุงนิวยอร์กเป็นผู้ร่วมจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 18-19 ก.ย. 2019 การประชุมสุดยอดครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นประชาคมสิทธิมนุษยชนให้เพิ่มความพยายามอย่างเร่งด่วน เพื่อให้เกิดความยุติธรรมด้านสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะถือเป็นขบวนการเคลื่อนไหวที่หลากหลายมากสุดที่มารวมตัวกันเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตด้านสภาพภูมิอากาศ
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ