ผลสำรวจพบจบ ป.ตรี ‘วิทย์-เทคโนโลยี’ (STEM) รายได้เฉลี่ยต่ำกว่า 2 หมื่น ว่างงานถึง 33.47%

ทีมข่าว TCIJ: 17 ก.พ. 2562 | อ่านแล้ว 26493 ครั้ง

แม้หลายภาคส่วนจะผลักดันให้เด็กไทยเรียนต่อด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (STEM) แต่ผลสำรวจคนจบระดับ ป.ตรี STEM จำนวน 8,557 คน จาก 29 สถาบันการศึกษาทั่วประเทศเมื่อ พ.ย. 2560-มิ.ย. 2561 พบว่าส่วนใหญ่เริ่มงานได้เงินเดือนเฉลี่ยไม่เกิน 20,000 บาท  และยังว่างงานถึง 33.47% สาขา ‘เทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม’ ว่างงานมากที่สุด ที่มาภาพประกอบ: felixioncool (CC0)

จากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมสู่ยุค 4.0 ที่กำลังแรงงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานเป็นจำนวนมาก แต่กระนั้นการผลิตบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในระดับอุดมศึกษาไทยยังมีสัดส่วนน้อยอยู่ จากข้อมูล 'การประมาณการ 10 อันดับแรกของผู้จบปริญญาตรีในคณะ/วิชาต่าง ๆ ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานปี 2560 และ 2561’ ของกรมการจัดหางาน พบว่า 10 อันดับแรกที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน ในช่วงปี 2560-2561 ได้แก่ สาขาวิชา 1. บริหารธุรกิจ 2. มนุษย์ศาสตร์และ สังคมศาสตร์ 3. ครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ 4. วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 5. วิทยาการจัดการและสารสนเทศ 6. รัฐศาสตร์ 7. นิติศาสตร์ 8. ศิลปศาสตร์ 9. วิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม และ 10. นิเทศศาสตร์ [1] ทั้งนี้ข้อมูลจากกรมการจัดหางานพบว่าปี 2561 ช่วงอายุที่มีผู้ว่างงานมากที่สุด คือ 20-24 ปี สะท้อนให้เห็นว่าผู้ว่างงานคือแรงงานกลุ่มที่เพิ่งจบการศึกษาโดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษา ซึ่งสาขาวิชาที่ว่างงานมากที่สุด คือ พาณิชยศาสตร์ รองลงมา ศึกษาศาสตร์ และสังคมศาสตร์ ตามลำดับ [2]

จบ ป.ตรีวิทยฺ-เทคโน (STEM) มีงานทำร้อยละ 59.72 ว่างงาน ร้อยละ 33.47

ปัจจุบันจึงมีการส่งเสริมให้เยาวชนเข้าเรียนในสาขา ‘วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (STEM)’ เพิ่มมากขึ้น แต่กระนั้นก็ไม่ได้การันตีการได้งานทั้งหมดทันทีหลังจบการศึกษา โดยข้อมูลจาก 'การสำรวจพฤติกรรมการหางานทำของผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (STEM)' โดยกองบริหารข้อมูลตลาดแรงงาน กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เผยแพร่เมื่อเดือน ก.ย. 2561 ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมการหางานทำและเปรียบเทียบภาวะการมีงานทำของผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเพื่อศึกษาการเตรียมความพร้อมเพื่อทำงานในยุคอุตสาหกรรม 4.0 ของผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเป็นการสำรวจด้วยตัวอย่าง ซึ่งตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ คือ ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่เข้ารับปริญญาบัตรระหว่างเดือน พ.ย.2560 ถึงเดือน มิ.ย. 2561 จากสถาบันการศึกษาตัวอย่างทั่วประเทศ จำนวน 29 แห่ง จำนวน 8,557 คน

ผลการสำรวจพบว่าผู้สำเร็จการศึกษาด้าน STEM สาขาวิชาด้านสาธารณสุขศาสตร์มากที่สุด รองลงมา คือ สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์และสาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล ส่วนใหญ่มีงานทำแล้วร้อยละ 59.72 รองลงมา คือ ว่างงาน ร้อยละ 33.47 และศึกษาต่อ ร้อยละ 6.81 โดยมีวิธีการหางานทำด้วยการสมัครงานด้วยตนเองมากที่สุด รองลงมาคือ สมัครผ่านเว็บไซต์บริษัทจัดหางาน และผ่านญาติ เพื่อนและรุ่นพี่ เป็นต้น ทั้งนี้พบว่า มีความพร้อมที่จะทำงานใน 3 ลักษณะแรก คือ งานที่ต้องใช้ทักษะในการตัดสินใจด้วยตัวเอง รองลงมาคือ งานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ และงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

'STEM' คืออะไร? 

ที่มาภาพประกอบ: centerschoolpa.org

'STEM' เป็นคำย่อจากภาษาอังกฤษของศาสตร์ 4 สาขาวิชา ได้แก่ วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics) หมายถึงองค์ความรู้ วิชาการของศาสตร์ทั้ง 4 ที่มีความเชื่อมโยงกันในโลกของความเป็นจริงที่ต้องอาศัยองค์ความรู้ต่างๆ มาบูรณาการเข้าด้วยกันในการดำเนินชีวิตและการทำงาน คำว่า 'STEM' ถูกใช้ครั้งแรกโดยสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (National Science Foundation: NSF) ซึ่งใช้คำนี้เพื่ออ้างถึงโครงการหรือโปรแกรมที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ อย่างไรก็ตามสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งประเทศสหรัฐอเมริกาไม่ได้ให้นิยามที่ชัดเจนของคำว่า STEM มีผลให้มีการใช้และให้ความหมายของคำนี้แตกต่างกันไป เช่น มีการใช้คำว่า STEM ในการอ้างอิงถึงกลุ่มอาชีพที่มีความเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ [3]

 

จบ ‘แพทย์แผนไทย’ ได้ทำงานตรงสายงานมากสุด จบ ‘ชีววิทยา’ ได้ทำตรงสายงานน้อยสุด

ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้าน STEM ที่มีงานทำจำนวน 5,110 คน (จากที่สำรวจทั้งหมด 8,557 คน) เป็นผู้สำเร็จการศึกษาด้านสาธารณสุขศาสตร์มากที่สุด รองลงมาคือ สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ และสาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ ที่มา: การสำรวจพฤติกรรมการหางานทำของผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (STEM), กองบริหารข้อมูลตลาดแรงงาน กรมการจัดหางาน, ก.ย. 2561

ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้าน STEM ที่มีงานทำส่วนใหญ่มีงานทำในตำแหน่งงานที่สอดคล้องกับสาขาวิชาที่สำเร็จ ร้อยละ 71.51 และไม่สอดคล้องกับสาขาวิชาที่สำเร็จร้อยละ 28.49 โดยสาขาวิชาที่มีสัดส่วนผู้มีงานทำได้งานทำสอดคล้องกับสาขาวิชาที่สำเร็จมากที่สุดคือ สาขาวิชาการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร ร้อยละ 100 รองลงมาคือ สาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ ร้อยละ 98.63 และสาขาวิชากายภาพบำบัด ร้อยละ 94.30 ตามลำดับ ส่วนสาขาวิชาที่มีสัดส่วนผู้มีงานทำได้งานทำไม่สอดคล้องกับสาขาวิชาที่สำเร็จมากที่สุดคือ สาขาวิชาชีววิทยา ร้อยละ 66.96 รองลงมาคือ สาขาวิชาสถิติ ร้อยละ 61.05และสาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ ร้อยละ 55.68 ตามลำดับ

ส่วนใหญ่ได้งาน 1-3 เดือน หลังจบ

ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (STEM) ใช้ระยะเวลา ในการหางานทำ 1-3 เดือน ร้อยละ 45.36 รองลงมาคือ ได้งานทำทันที ร้อยละ 33.27 และใช้เวลาในการหางานทำมากกว่า 3 เดือน ร้อยละ 21.38 โดยสาขาวิชาที่มีสัดส่วนผู้มีงานทำทันทีมากที่สุดคือ พยาบาลศาสตร์ร้อยละ 77.63 รองลงมาคือ สาขาวิชาการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร ร้อยละ 76.92 และสาขาวิชาแพทยศาสตร์ร้อยละ 70.10 ตามลำดับ สำหรับสาขาวิชาที่ใช้ระยะเวลาในการหางานทำ 1-3 เดือน ส่วนใหญ่เป็นสาขาวิชาสถิติร้อยละ 65.26 รองลงมาคือ สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ ร้อยละ 64.77 และสาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ ร้อยละ 64.00 ตามลำดับ ส่วนสาขาวิชาที่มีสัดส่วนในการใช้ระยะเวลาในการหางานทำมากกว่า 3 เดือนคือ สาขาวิชากายภาพบำบัด ร้อยละ 34.20 รองลงมาคือ สาธารณสุขศาสตร์ ร้อยละ 32.00 และสาขาวิชาชีววิทยา ร้อยละ 29.57 ตามลำดับ

ผู้ที่มีงานทำส่วนใหญ่เป็นผู้สำเร็จการศึกษาที่มีเกรดเฉลี่ยสะสมอยู่ระหว่าง 2.50-3.50 ร้อยละ 68.05 โดยสาขาวิชาที่มีสัดส่วนผู้มีงานทำที่มีเกรดเฉลี่ยสะสมมากกว่า 3.50 จำนวนมากเมื่อเปรียบเทียบกับวิชาอื่นๆ คือ สาขาวิชาแพทยศาสตร์ และสาขาวิชาเทคนิคการแพทย์

ผู้หญิงได้ทำงานมากกว่าผู้ชาย ส่วนใหญ่อยู่ในสายงาน 'สาธารณสุข-พยาบาล'

ร้อยละของผู้มีงานทำที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (STEM) จำแนกตามคณะ สาขาวิชา และเพศ ที่มา: การสำรวจพฤติกรรมการหางานทำของผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (STEM), กองบริหารข้อมูลตลาดแรงงาน กรมการจัดหางาน, ก.ย. 2561

ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (STEM) ที่มีงานทำจำนวน 5,110 คน ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ร้อยละ 62.88 เพศชาย ร้อยละ 37.12 โดยเป็นผู้สำเร็จการศึกษาด้านสาธารสุขศาสตร์มากที่สุด ร้อยละ 9.26 รองลงมาคือ สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ ร้อยละ 5.09 และสาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ ร้อยละ 4.29 ตามลำดับ

จบแล้วทำงานต่างถิ่นมากสุด อยู่ในองค์กรธุรกิจมากสุด

ทั้งนี้พบว่าผู้สำเร็จการศึกษาด้าน STEM ส่วนใหญ่ทำงานนอกเขตภูมิลำเนา ร้อยละ 60.49 และทำงานในเขตภูมิลำเนา ร้อยละ 39.12 โดยสาขาวิชาที่ทำงานนอกเขตภูมิลำเนามาก คือ สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา รองลงมาคือ สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ และสาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล ส่วนสาขาวิชาที่มีทำงานในเขตภูมิลำเนามาก คือ สาขาวิชาการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร รองลงมาคือ สาขาวิชากายภาพบำบัด และสาขาวิชาเทคนิคการแพทย์ ตามลำดับ

สำหรับประเภทงานที่ทำพบว่า ผู้มีงานทำส่วนใหญ่ทำงานในบริษัทเอกชน ร้อยละ 60.88 รองลงมาคือ ทำงานในองค์การภาครัฐ/รัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 33.52 และประกอบอาชีพส่วนตัว ร้อยละ 3.80 โดยสาขาวิชาที่มีสัดส่วนผู้มีงานทำในบริษัทเอกชนมาก คือ สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล ร้อยละ 83.76 รองลงมาคือสาขาวิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ร้อยละ 82.67 และสาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ ร้อยละ 82.40 ตามลำดับ ส่วนสาขาวิชาที่มีสัดส่วนผู้มีงานทำในองค์การภาครัฐ/รัฐวิสากิจมาก คือ สาขาวิชาการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร ร้อยละ 94.87 รองลงมาคือ สาขาวิชาแพทยศาสตร์ ร้อยละ 85.57 และสาขาวิชาด้านสาธารณสุขศาสตร์ ร้อยละ 54.11 ตามลำดับ

เฉลี่ยส่วนใหญ่ได้รับเงินเดือนไม่เกิน 20,000 บาท

จำนวนของผู้มีงานทำที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (STEM) จำแนกตามคณะ สาขาวิชาและเงินเดือน ที่มา: การสำรวจพฤติกรรมการหางานทำของผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (STEM), กองบริหารข้อมูลตลาดแรงงาน กรมการจัดหางาน, ก.ย. 2561

เมื่อพิจารณาเงินเดือนของผู้มีงานทำพบว่าส่วนใหญ่ได้รับเงินเดือนไม่เกิน 20,000 บาท โดยสาขาวิชาที่ได้รับเงินเดือนไม่เกิน 20,000 บาท มากที่สุด คือ สาขาวิชาการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร สำหรับสาขาวิชาที่ได้รับเงินเดือนระหว่าง 20,000 – 30,000 บาท มากที่สุด คือ สาขาวิชาวิศวกรรมเคมี ส่วนสาขาวิชาที่ได้รับเงินเดือน 30,001 บาทขึ้นไปมากที่สุด คือ สาขาวิชาแพทยศาสตร์ ทั้งนี้ผู้มีงานทำส่วนใหญ่ไม่เคยเปลี่ยนงาน ส่วนสาขาวิชาที่มีสัดส่วนการเปลี่ยนงานสูง คือ สาขาวิชากายภาพบำบัด รองลงมาคือ สาขาวิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย และสาขาวิชาพลังงานทดแทน

'เทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม' ว่างงานมากที่สุด

จำนวนและร้อยละของผู้ว่างงานที่สำเร็จการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (STEM) ที่มา: การสำรวจพฤติกรรมการหางานทำของผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (STEM), กองบริหารข้อมูลตลาดแรงงาน กรมการจัดหางาน, ก.ย. 2561

ในด้านผู้สำเร็จการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เป็นผู้ว่างงาน จำนวน 2,864 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 33.47 ของจำนวนตัวอย่างทั้งหมดจากการสำรวจครั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ร้อยละ 54.33 เพศชาย ร้อยละ 45.67 อายุตำกว่า 25 ปี ร้อยละ 80.97 เกรดเฉลี่ยสะสม อยู่ระหว่าง 2.50 – 2.99 ร้อยละ 39.25 สาขาวิชาที่มีสัดส่วนของผู้ว่างงานเมื่อเปรียบเทียบกับผู้สำเร็จการศึกษา ส่วนใหญ่เป็นสาขาวิชาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม ร้อยละ 83.12 รองลงมาคือ ระบบสารสนเทศทางคอมพิวเตอร์ ร้อยละ 80.82 และสาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตร ร้อยละ 52.78 ตามลำดับ

ผู้ว่างงานอยากให้เพิ่ม ‘ทักษะภาษาตปท.’ เรียนต่อเพื่อ ‘ศึกษาเพิ่มเติม-ความก้าวหน้าในการงาน’

โดยผู้ว่างงานที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้าน STEM เสนอแนะเกี่ยวกับการปรับปรุงหลักสูตรเพื่อให้สอดคล้องกับยุคอุตสาหกรรม 4.0 โดยส่วนใหญ่เสนอแนะให้เพิ่มทักษะด้านภาษาอังกฤษและภาษาต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ร้อยละ 76.06 รองลงมาคือ มุ่งผลิตบัณฑิตให้มีความสามารถในการประยุกต์จากทฤษฎีสู่การปฏิบัติจริง ร้อยละ 55.91 และควรเพิ่มทักษะด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ ร้อยละ 51.86

นอกจากนี้พบว่าผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้าน STEM ศึกษาต่อจำนวน 583 คน โดยเหตุผลในการศึกษาต่อส่วนใหญ่ คือ ต้องการศึกษาเพิ่มเติม รองลงมาคือ เพื่อความก้าวหน้าในการงาน และ ความรู้ที่มีอยู่ไม่เพียงพอกับการทำงาน ผู้ศึกษาต่อเป็นผู้สำเร็จการศึกษาในสาขาวิชาเคมีมากที่สุด รองลงมาคือ สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ และสาขาวิชาวิศวกรรมโยธา ส่วนใหญ่เป็นการศึกษาต่อ ในสาขาวิชาเดิม โดยสาขาวิชาที่ศึกษาต่อในสาขาวิชาเดิมส่วนใหญ่เป็นสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม รองลงมาคือ สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา และสาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตร ส่วนสาขาวิชาที่ศึกษาต่อ ในสาขาวิชาใหม่ส่วนใหญ่เป็นสาขาวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์ รองลงมาคือ วิศวกรรมอุตสาหการ และสาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ตามลำดับ โดยผู้ศึกษาต่อเป็นผู้สำเร็จการศึกษาในสาขาวิชาเคมีมากที่สุด ร้อยละ 12.18 รองลงมาคือ สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ ร้อยละ 6.35 และสาขาวิชาวิศวกรรมโยธา ร้อยละ 6.17 ตามลำดับ ส่วนใหญ่เป็นการศึกษาต่อในสาขาวิชาเดิม ร้อยละ 58.66 และศึกษาในสาขาวิชาใหม่ ร้อยละ 41.34 โดยสาขาวิชาที่ศึกษาต่อในสาขาวิชาเดิมส่วนใหญ่เป็นสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ร้อยละ 100 รองลงมาคือ สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา ร้อยละ 91.67 และสาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตร ร้อยละ 87.50 ตามลำดับ ส่วนสาขาวิชาที่ศึกษาต่อในสาขาวิชาใหม่ส่วนใหญ่เป็นสาขาวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร้อยละ 100 รองลงมาคือ วิศวกรรมอุตสาหการ ร้อยละ 78.78 และสาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ ร้อยละ 69.23 ตามลำดับ

 

ข้อมูลอ้างอิงเพิ่มเติม
[1] จบ ป.ตรี ทะลักตลาดแรงงาน 7.38 แสนคน สวนทางนายจ้างต้องการมัธยมมากกว่า (TCIJ, 12/3/2560)
[2] เผยสถิติ! 3 สาขาปริญญาตรี ครองแชมป์เรียนจบแล้ว ว่างงาน มากที่สุด (ข่าวสด, 31/10/2561)
[3] รู้จักสะเต็ม - STEM (STEM EDUCATION THAILAND, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 13/2/2562)

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: ผู้จบ ป.ตรี ด้าน STEM 'ทำงานแล้ว-ว่างงาน-ศึกษาต่อ' 8,557 คน (สำรวจเมื่อ พ.ย. 2560-มิ.ย. 2561)

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: