องค์กร Small Arms Survey ประมาณการว่าปี 2017 ทั่วโลกมีปืนประมาณ 1,013 ล้านกระบอก อยู่ในมือพลเรือนกว่า 857 ล้านกระบอก อยู่ในกองทัพ 133 ล้านกระบอก และในมือผู้รักษากฎหมาย 22.7 ล้านกระบอก ไทยติดอันดับ 13 จาก 25 ประเทศที่จำนวนปืนซึ่งพลเรือนมีไว้ครอบครองสูงสุด และยังติดกลุ่มประเทศซื้อขายอาวุธเบาที่มี ‘ความโปร่งใสน้อย’ ที่มาภาพประกอบ: viveusa.mx
ข้อมูลจาก Small Arms Survey องค์กรที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอาวุธเบา (Small Arms & Light Weapons: SALW) ประมาณการว่าปี 2017 ทั่วโลกมีปืนอยู่ประมาณ 1,013 ล้านกระบอก อยู่ในมือพลเรือนประมาณ 875 ล้านกระบอก (ร้อยละ 85) อยู่ในกองทัพประมาณ 133 ล้านกระบอก (ร้อยละ 13) และในมือผู้รักษากฎหมายประมาณ 22.7 ล้านกระบอก (ร้อยละ 2)
นอกจากนี้ยังพบว่าปริมาณปืนที่พลเรือนถือครองมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปี 2006 ที่มีประมาณ 650 ล้านกระบอก เพิ่มเป็น 857 ล้านกระบอก ในปี 2017
อนึ่ง small arms คือ อาวุธที่มนุษย์คนเดียวสามารถถือ เคลื่อนย้าย ใช้งานได้, ส่วน light weapons คือ อาวุธที่มนุษย์ประมาณ 3 คน สามารถเคลื่อนย้ายได้ แม้เมื่อถึงเวลาใช้งาน จะมีเพียงคนเดียวที่ลงมือ ซึ่งองค์กร Small Arms Survey จะใช้เพียงคำว่า small arms แต่จะหมายถึงทั้ง small arms และ light weapons หรือ SALW ที่รวมถึง ลูกกระสุน และส่วนต่างๆ ของอาวุธนั้นๆ |
เมื่อพิจารณาประเทศ 25 อันดับแรกที่มีจำนวนปืนที่พลเรือนครอบครอง (ทั้งถูกและผิดกฎหมายรวมกัน) มากที่สุดพบว่า ‘สหรัฐอเมริกา’ เป็นประเทศที่มีจำนวนปืนที่พลเรือนครอบครองมากที่สุดประมาณ 393.3 ล้านกระบอก ตามมาด้วยอินเดีย ประมาณ 71.1 ล้านกระบอก, จีน ประมาณ 49.7 ล้านกระบอก, ปากีสถาน ประมาณ 43.9 ล้านกระบอก, รัสเซีย ประมาณ 17.6 ล้านกระบอก, บราซิล ประมาณ 17.5 ล้านกระบอก, เม็กซิโก ประมาณ 16.8 ล้านกระบอก, เยอรมนี ประมาณ 15.8 ล้านกระบอก, เยเมน ประมาณ 14.9 ล้านกระบอก, ตุรกี ประมาณ 13.2 ล้านกระบอก, ฝรั่งเศส ประมาณ 12.7 ล้านกระบอก, แคนาดา ประมาณ 12.7 ล้านกระบอก, ไทย ประมาณ 13 ล้านกระบอก, อิตาลี ประมาณ 8.6 ล้านกระบอก, อิรัก ประมาณ 7.6 ล้านกระบอก, ไนจีเรีย ประมาณ 6.2 ล้านกระบอก, เวเนซุเอลา ประมาณ 5.9 ล้านกระบอก, อิหร่าน ประมาณ 5.9 ล้านกระบอก, ซาอุดิอาระเบีย, ประมาณ 5.5 ล้านกระบอก, แอฟริกาใต้ ประมาณ 5.4 ล้านกระบอก, โคลัมเบีย ประมาณ 5 ล้านกระบอก, ยูเครน ประมาณ 4.4 ล้านกระบอก, อัฟกานิสถาน ประมาณ 4.3 ล้านกระบอก, อียิปต์ ประมาณ 3.9 ล้านกระบอก และฟิลิปปินส์ ประมาณ 3.8 ล้านกระบอก ตามลำดับ
เมื่อพิจารณา 25 อันดับแรกของประเทศที่มีสัดส่วนปืนที่พลเรือนครอบครองต่อจำนวนประชากร 100 คน พบว่า ‘สหรัฐอเมริกา’ ก็ยังเป็นประเทศที่มีสัดส่วนปืนที่พลเรือนครอบครองต่อจำนวนประชากร 100 คน มากที่สุดอยู่ที่ประมาณ 120.5 กระบอก/ประชากร 100 คน ตามมาด้วย เยเมน ประมาณ 52.8 กระบอก/ประชากร 100 คน, มอนเตเนโกร ประมาณ 39.1 กระบอก/ประชากร 100 คน, เซอร์เบีย ประมาณ 39.1 กระบอก/ประชากร 100 คน, แคนาดา ประมาณ 34.7 กระบอก/ประชากร 100 คน, อุรุกวัย ประมาณ 34.7 กระบอก/ประชากร 100 คน, ไซปรัส ประมาณ 34.0 กระบอก/ประชากร 100 คน, ฟินแลนด์ ประมาณ 32.4 กระบอก/ประชากร 100 คน, เลบานอน ประมาณ 31.9 กระบอก/ประชากร 100 คน, ไอซ์แลนด์ ประมาณ 31.7 กระบอก/ประชากร 100 คน, บอสเนีย ประมาณ 31.2 กระบอก/ประชากร 100 คน, ออสเตรีย ประมาณ 30.0 กระบอก/ประชากร 100 คน, มาเซโดเนีย ประมาณ 29.8 กระบอก/ประชากร 100 คน, นอร์เวย์ ประมาณ 28.8 กระบอก/ประชากร 100 คน, มอลต้า ประมาณ 28.3 กระบอก/ประชากร 100 คน, สวิตเซอร์แลนด์ ประมาณ 27.6 กระบอก/ประชากร 100 คน, นิวซีแลนด์ ประมาณ 26.3 กระบอก/ประชากร 100 คน, โคโซโว ประมาณ 23.8 กระบอก/ประชากร 100 คน, สวีเดน ประมาณ 23.1 กระบอก/ประชากร 100 คน, ปากีสถาน ประมาณ 22.3 กระบอก/ประชากร 100 คน, โปรตุเกส ประมาณ 21.3 กระบอก/ประชากร 100 คน, ฝรั่งเศส ประมาณ 19.6 กระบอก/ประชากร 100 คน, เยอรมนี ประมาณ 19.6 กระบอก/ประชากร 100 คน, อิรัก ประมาณ 19.6 กระบอก/ประชากร 100 คน และ ลักเซมเบิร์ก ประมาณ 18.9 กระบอก/ประชากร 100 คน [1]
ไทยติดกลุ่มประเทศ ‘ซื้อขายอาวุธ’ ที่มี ‘ความโปร่งใสน้อย’
‘ดัชนีวัดความโปร่งใส’ ปี 2018 ที่ได้จัดอันดับ 49 ประเทศ ผู้ส่งออกอาวุธเบารายหลักของโลก ที่มา: THE 2018 SMALL ARMS TRADE TRANSPARENCY BAROMETER
ก่อนหน้านี้ Small Arms Survey ได้เผยแพร่รายงาน TRADE UPDATE 2017 Out of the Shadows เมื่อเดือน ก.ย. 2017 ที่ใช้ข้อมูลปี 2014 ในการประเมินประเทศที่มีมูลค่าการส่งออกหรือนำเข้าอาวุธปืนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ พบว่าไทยเป็นผู้นำเข้าหลัก (major importers) อยู่ระดับ Tier 3 อันเป็นประเทศที่มีมูลค่าการนำเข้าอยู่ระหว่าง 50–99 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งปี 2014 มูลค่าการนำเข้าของไทยอยู่ที่ 71 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยอยู่กลุ่มเดียวกันกับ อิสราเอล เม็กซิโก นอร์เวย์ ฟิลิปปินส์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เบลเยียม อิตาลี โคลอมเบีย รัสเซีย สหราชอาณาจักร ตุรกี อียิปต์ เดนมาร์ก สวิตเซอร์แลนด์ [2]
ซึ่งใน THE 2018 SMALL ARMS TRADE TRANSPARENCY BAROMETER หรือดัชนีวัดความโปร่งใสด้านการซื้อขายอาวุธเบาฉบับปี 2018 ที่ได้จัดอันดับ 49 ประเทศผู้ส่งออกอาวุธรายหลักของโลก ระบุว่า สวิตเซอร์แลนด์, เนเธอร์แลนด์, สหราชอาณาจักร, อิตาลี และเซอร์เบีย เป็นกลุ่มประเทศผู้ซื้อขายที่มีความโปร่งใสสูงสุด (most transparent countries) ส่วนไทยอยู่ในกลุ่มประเทศโปร่งใสน้อยร่วมกับ บอสเนีย, อินเดีย, ไต้หวัน, ตุรกี, เปรู, รัสเซีย, สิงคโปร์, ยูเครน, ฟิลิปปินส์, บราซิล, จีน และปากีสถาน ซึ่งในดัชนีนี้มีประเทศรั้งท้ายคือ อิสราเอล, ซาอุดิอาระเบีย, อิหร่าน, เกาหลีเหนือ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นกลุ่มประเทศที่โปร่งใสน้อยที่สุด (least transparent countries) [3]
ข้อมูลอ้างอิง
[1] Estimating Global Civilian-held Firearms Numbers (Aaron Karp, Small Arms Survey, June 2018)
[2] TRADE UPDATE 2017 Out of the Shadows (Paul Holtom and Irene Pavesi, Small Arms Survey, September 2017)
[3] THE 2018 SMALL ARMS TRADE TRANSPARENCY BAROMETER (Paul Holtom and Irene Pavesi, Small Arms Survey, August 2018)
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: ประเทศที่กองทัพครอบครองปืนสูงสุด
องค์กรต่างประเทศเผยไทยติดกลุ่ม ‘ซื้อขายอาวุธ’ ที่มี ‘ความโปร่งใสน้อย’
'ปืน' เป็นเหตุคร่าชีวิตมากสุด ไทยติดอันดับโลกนำเข้า
จับตา: ราคาปืน ‘อาก้า’ ในที่ต่าง ๆ ของโลก
เผยคนไทยขอมีปืนง่ายแค่จ่ายใต้โต๊ะ มท.ชี้ขึ้นทะเบียนแล้วกว่า 6 ล้านกระบอก
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ