องค์กรสิทธิฯ ตัดเกรดนโยบายการย้ายถิ่นของรัฐบาลไทย ให้ 'ร่วง'

กองบรรณาธิการ TCIJ 18 ธ.ค. 2562 | อ่านแล้ว 4313 ครั้ง

องค์กรสิทธิฯ ตัดเกรดนโยบายการย้ายถิ่นของรัฐบาลไทย ให้ 'ร่วง'

เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) จัดแถลงข่าว 'จัดเกรดนโยบายการย้ายถิ่นของรัฐบาลตู่ รุ่ง หรือ ร่วง' เนื่องในวันผู้ย้ายถิ่นสากลปี 2562 ตัดเกรด 'นโยบายการย้ายถิ่นของรัฐบาลไทย' ให้ 'ร่วง' เหตุกลไกการคุ้มครองตามกฎหมายยังไม่สามารถทำงานได้เต็มที่-ความล่าช้าการแก้ไขปัญหาเด็กที่ไม่มีสัญชาติ-การคุ้มครองสิทธิแรงงานเข้าสู่ภาวะตกต่ำถูกละเมิดซ้ำๆ | ที่มาภาพ: มติชนออนไลน์

มติชนออนไลน์ รายงานเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2562 ว่าที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) จัดแถลงข่าว 'จัดเกรดนโยบายการย้ายถิ่นของรัฐบาลตู่ รุ่ง หรือ ร่วง' เนื่องในวันผู้ย้ายถิ่นสากลปี 2562 (International Migrants Day 2019) UNTAPPED POWER: MIGRATION REDEFINED, WORKERS REUNITED ปลดปล่อยพลัง ผูกใจคนใช้แรงงานเป็นหนึ่งเดียว

นายอดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ กล่าวสรุปสถานการณ์การย้ายถิ่นและการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติและครอบครัว ในปี พ.ศ.2562 ว่าปี 2562 มีการจับกุมขบวนการนำพาคนข้ามชาติผ่านประเทศไทย ไปยังประเทศมาเลเซียมากขึ้นกว่าเดิม โดยมีการจับกุมไม่ต่ำกว่า 5 ครั้ง มีผู้ย้ายถิ่นข้ามชาติที่ถูกจับกุมมากกว่า 100 คน ขณะที่กลไกการคุ้มครองตามกฎหมาย คือ พ.ร.บ.การคุ้มครองแรงงานในงานประมง พ.ศ. 2562 และ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 และ พ.ศ.2562 ยังไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ และไม่ตอบสนองต่อกฎหมายระหว่างประเทศ นอกจากนี้พบความล่าช้าการแก้ไขปัญหาเด็กที่ไม่มีสัญชาติ ในระบบการศึกษาของไทย พบว่าในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา แก้ไขปัญหาได้ไม่ถึง 10% ของนักเรียนกลุ่มเป้าหมายทั้งหมด และทำให้เด็กข้ามชาติจำนวนหนึ่งไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาที่เหมาะสม

นายอดิศรกล่าวอีกว่าการพยายามเล่นเกมส์การเมือง มองข้ามความสำคัญของสิทธิแรงงาน ทำให้ทิศทางเรื่องการคุ้มครองสิทธิแรงงานเข้าสู่ภาวะตกต่ำ ถูกละเมิดซ้ำๆ ดังนั้นประเทศไทยแม้จะดูมีความพยายาม แต่ก็ยังอยู่ในเกณฑ์สอบตก ในเรื่องการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติและคนข้ามชาติ ทั้งนี้ ตนขอให้เกรดรัฐบาลชุดนี้ร่วง เพราะกรณีการต่ออายุใบอนุญาตทำงาน ซึ่งดำเนินอยู่ในขณะนี้และมีกำหนดแล้วเสร็จภายใน 31 มี.ค. 2563 มีความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย กรณีต่ออายุใบอนุญาตทำงานในปี พ.ศ. 2560 ซึ่งพบว่ามีแรงงานข้ามชาติที่หายไป จากกลุ่มจำนวนตัวเลขเป้าหมายที่ต้องได้รับการพิสูจน์สัญชาติ จำนวนสูงถึง 811,437 คน เพราะสองปีที่ผ่านมา รัฐบาลไม่มีความพร้อมใดๆ ในการพัฒนาระบบการต่ออายุ

ขณะที่ น.ส.ลัดดาวัลย์ หลักแก้ว ผู้จัดการโครงการ มูลนิธิเพื่อเยาวชนบท กล่าวว่าตนขอให้เกรดรัฐบาลชุดนี้ร่วงด้วยเช่นกัน เนื่องจากการปิดศูนย์การเรียนเด็กข้ามชาติ และการแก้ไขปัญหาเด็กที่ไม่มีเอกสารแสดงตนในสถานศึกษานั้น เพราะปัจจุบันยังมีเด็กข้ามชาติกว่า 200,000 คน ที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษาใดๆ ขณะที่การศึกษาในศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติ หรือ MLC จำนวน 128 แห่งใน 18 จังหวัด ไม่ได้รับการรับรองตามกฎหมาย ส่งผลให้เด็กไม่สามารถใช้วุฒิการศึกษาในการทำงาน และการเรียนต่อได้อย่างเป็นทางการ

นางณัฐาศิริ เบิร์กแมน ผอ.สมาคมนักกฏหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า การฟ้องคดีปิดปาก คือการฟ้องคดีเพื่อระงับ ยับยั้ง ไม่ให้ประชาชนหรือนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ที่ทำงานเพื่อเรียกร้องการคุ้มครองสิทธิสามารถทำงานต่อไปได้อย่างมีอิสระ เป็นการสร้างภาระทางคดี ทำให้การต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนต้องยุติไป หรือทำได้น้อยลง อย่างกรณีแรงงานข้ามชาติชาวพม่า ในฟาร์มเลี้ยงไก่ จังหวัดลพบุรี ที่ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อพนักงานตรวจแรงงาน ให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าได้มีการละเมิดกฎหมายสิทธิแรงงานหรือไม่ เพราะฟาร์มไม่ได้ดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดทั้งเรื่องค่าแรง ชั่วโมงการทำงาน วันหยุดพักผ่อน และวันพักร้อน ซึ่งการกระทำของแรงงานเป็นสิทธิที่สามารถทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งในที่สุดเมื่อเจ้าพนักงานพบว่ามีการละเมิดสิทธิแรงงานจริง จึงสั่งให้ฟาร์มไก่จ่ายค่าชดเชยให้แรงงาน แต่เจ้าของฟาร์มกลับฟ้องแรงงานข้ามชาติ ที่ออกมาเรียกร้องสิทธิของตัวเอง รวมถึงผู้เกี่ยวข้องทั้งนักกิจกรรมด้านแรงงาน และสื่อมวลชน ภายหลังจากเรื่องดังกล่าวถูกเผยแพร่เป็นข่าวสาร

"ที่น่าเศร้าก็คือ แม้เอกชนรายนี้จะได้ดำเนินคดีกับแรงงาน นักข่าว นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และนักวิชาการรวมกันเกือบ 20 คดีแล้ว แต่จนถึงปัจจุบันนี้รัฐบาลก็ยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจน ในการแก้ไขการฟ้องปิดปากเช่นนี้ ถือว่ารัฐบาลล้มเหลวในการปกป้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และล้มเหลวในการปกป้องสิทธิแรงงานไปในคราวเดียวกัน นอกจากนี้เห็นว่าจะต้องมีการออกกฎหมายต่อต้านการฟ้องคดีปิดปาก เพื่อให้นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนจะไม่ต้องถูกฟ้อง เพราะคนเหล่านี้กำลังช่วยรัฐบาลแก้ไขปัญหาอยู่" นางณัฐาศิริกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเวทีเสวนายังได้มีการสะท้อนปัญหาในกลไกของรัฐ ที่แม้ว่าจะมีกฎหมายและนโยบายที่ดี แต่การปฏิบัติจริงกลับมีปัญหาจากบุคคลที่เกี่ยวข้องในกระบวนการ เช่น ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ จะต้องให้ผู้นำหมู่บ้าน พาลูกของแรงงานข้ามชาติไปทำบัตรประชาชน ตามนโยบายของรัฐว่าเด็กทุกคนที่เกิดในไทยอายุ 5 ปีจะต้องมีบัตรประจำตัว แต่พบว่าเป็นช่องว่างในการเรียกรับผลประโยชน์ต่างตอบแทนให้กับผู้นำหมู่บ้าน มีแม่บางคนถูกล่วงละเมิดทางเพศ เพื่อแลกกับการให้ผู้นำหมู่บ้านไปดำเนินการ

ขณะเดียวอำเภอก็ระบุชัดเจนว่า จะต้องให้ผู้นำหมู่บ้านนำมาเท่านั้น ทั้งที่เด็กเหล่านั้นมีใบเกิดถูกต้อง นอกจากนี้ยังมีประเด็นแรงงานก่อสร้าง ที่แรงงานข้ามชาติทำได้เพียงการก่อสร้างเท่านั้น ทาสี หรือ โบกปูน ไม่สามารถทำได้ ซึ่งก่อให้เกิดการคอรัปชั่น และเรียกรับส่วยจากเจ้าหน้าที่ และประเด็นการลงทะเบียนแรงงานจนถึงอายุ 55 ปีเท่านั้น ในขณะที่แรงงานไทย เกษียณอายุ 60 ปี

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: