ส่องบรรษัท: 9 ค่ายรถชั้นนำ ขอ BOI แข่งผลิตรถยนต์ไฟฟ้า

ทีมข่าว TCIJ: 18 ม.ค. 2562 | อ่านแล้ว 6893 ครั้ง

พบ 9 บริษัทยานยนต์ชั้นนำของโลก ขอการส่งเสริม (รวมทั้งศึกษาโอกาสลงทุน) จาก  'สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน' หรือ 'บีโอไอ' เป็นฐานผลิต 'รถยนต์ไฮบริดจ์' (Hybrid Vehicle), 'รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดจ์' (Plug-in hybrid) และ 'รถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่' [Electric Vehicle (EV)] ที่มาภาพประกอบ: Noya Fields (CC BY-SA 2.0)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินเมื่อเดือน ธ.ค. 2561 ว่าสิ้นปี 2561 ยอดขายรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าในไทยอาจจะมีจำนวนสูงกว่า 21,000 คัน หรือขยายตัวกว่าร้อยละ 75 จากปี 2560 ทั้งนี้ แบ่งประเภทของรถเป็นยอดขายรถยนต์ไฮบริดจ์ประมาณ 12,200 คัน ขยายตัวร้อยละ 270 ขณะที่รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดจ์คาดว่าจะมียอดขายประมาณ 8,745 คัน ขยายตัวร้อยละ 1 และรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ 55 คัน ขยายตัวร้อยละ 104

คาดปี 2562 การลงทุนของค่ายรถและนโยบายรัฐ ดันตลาดรถยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้า

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังวิเคราะห์ว่าเมื่อก้าวเข้าสู่ปี 2562 รถยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะรถยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้า คาดว่าจะยังเป็นประเภทรถยนต์ที่ได้รับการตอบรับที่ดีจากตลาดรถยนต์ไทยอย่างต่อเนื่อง โดยนอกจากปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคอย่างราคาน้ำมันที่ทรงตัวในระดับสูงเช่นเดียวกับปี 2561 แล้วนั้น ยังมีปัจจัยหลักอื่นที่สำคัญอีก 2 ปัจจัย คือ การเดินหน้าลงทุนของค่ายรถยนต์ และนโยบายภาครัฐ โดยเฉพาะสิทธิประโยชน์จาก 'สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน' หรือ 'บีโอไอ' ที่สนับสนุนผู้ผลิตรถยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้า

นับจนถึงปัจจุบัน การเดินหน้าลงทุนของค่ายรถ ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนสำหรับรถยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้าจากบีโอไอ และกำลังอยู่ระหว่างรอการพิจารณาและศึกษาเพื่อเตรียมยื่นขอส่งเสริมการลงทุน ซึ่งจะหมดเขตเมื่อสิ้นปี 2561 ได้แก่ Toyota, Honda, Nissan, Mazda, Mercedes-Benz, BMW, MG, Mitsubishi และ Fomm โดยรายละเอียดประเภทของรถที่ขอส่งเสริมการลงทุนมีดังนี้

สำหรับกลุ่ม 'รถยนต์ไฮบริดจ์' (Hybrid Vehicle) ค่ายรถที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ ได้แก่ Toyota, Honda, Nissan และ Mazda กลุ่ม 'รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดจ์' (Plug-in hybrid) ได้แก่ Mercedes-Benz, BMW, MG (รอบีโอไอพิจารณา), Mitsubishi (เตรียมยื่นบีโอไอ), Toyota (ศึกษาโอกาสลงทุน) และกลุ่ม 'รถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่' [Electric Vehicle (EV)] ได้แก่ Fomm, Mitsubishi (เตรียมยื่นบีโอไอ), Mercedes-Benz (เตรียมยื่นบีโอไอ), Nissan (ศึกษาโอกาสลงทุน), Toyota (ศึกษาโอกาสลงทุน), BMW (ศึกษาโอกาสลงทุน), MG (ศึกษาโอกาสลงทุน)

 

ประเภทของยานยนต์ประหยัดพลังงาน



ที่มาภาพประกอบ: coconinoco (CC BY-NC 2.0)

รถยนต์ไฮบริดจ์ (Hybrid Vehicle) เป็นรถยนต์ที่ประกอบด้วยเครื่องยนต์เผาไหม้ภายในเป็นกำลังในการขับเคลื่อนหลัก ซึ่งใช้เชื้อเพลิงที่บรรจุในรถยนต์และทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้าเพื่อเพิ่มกำลังของรถยนต์ให้เคลื่อนที่ ทำให้เครื่องยนต์มีประสิทธิภาพสูงขึ้น สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงต่ำกว่ารถยนต์ปกติ โดยพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในมอเตอร์ได้กลับคืนมาจากพลังงานที่ต้องสูญเสียจากการเบรกและถูกนำมาประจุไว้ในแบตเตอร์รี่ 

รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดจ์ (Plug-in hybrid) เป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่พัฒนาต่อยอดมาจากรถยนต์ไฮบริดจ์ โดยสามารถประจุพลังงานไฟฟ้าได้จากแหล่งพลังงานภายนอก (Plug-in) ทำให้รถยนต์สามารถใช้พลังงานพร้อมกันจาก 2 แหล่ง (ทั้งน้ำมันและไฟฟ้า) จึงสามารถวิ่งในระยะทางที่เพิ่มขึ้นด้วยพลังงานไฟฟ้าโดยตรง 

รถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ Electric Vehicle (EV) เป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่มีเฉพาะมอเตอร์ไฟฟ้าเป็นกำลังให้ยานยนต์เคลื่อนที่ และใช้พลังงานไฟฟ้าที่อยู่ในแบตเตอรี่เท่านั้น ไม่มีเครื่องยนต์อื่นในตัวรถยนต์ ดังนั้นระยะทางการวิ่งของรถยนต์จึงขึ้นอยู่กับการออกแบบขนาดและชนิดของแบตเตอรี่ รวมทั้งน้ำหนักบรรทุก

 

ซึ่งค่ายรถหลายค่ายต่างเร่งเดินหน้าลงทุน และเตรียมเปิดตัวรถยนต์ในกลุ่มที่ใช้พลังงานไฟฟ้ารุ่นใหม่ออกมาในปี 2562 อีกหลายรุ่น โดยรถยนต์รุ่นใหม่เหล่านี้จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีสรรพสามิตที่ต่ำกว่ารถยนต์รุ่นปกติมาก ทำให้ค่ายรถสามารถตั้งราคาที่ดึงดูดผู้ซื้อได้มากขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ยอดขายรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าในประเทศของไทยอาจจะเพิ่มจำนวนสูงขึ้นไปอีกในปี 2562 โดยน่าจะอยู่ระหว่าง 37,000 ถึง 38,500 คัน หรือขยายตัวกว่าร้อยละ 76 ถึง 83 จากปี 2561 โดยแบ่งเป็นยอดขายรถยนต์ไฮบริดจ์ประมาณ 25,100 ถึง 26,050 คัน หรือขยายตัวร้อยละ 106 ถึง 114 ขณะที่รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดจ์คาดว่าจะมียอดขายประมาณ 11,500 ถึง 12,000 คัน หรือขยายตัวร้อยละ 32 ถึง 37 และรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ 400 ถึง 450 คัน ขยายตัวร้อยละ 627 ถึง 718

อย่างไรก็ตาม แม้รถยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้าจะมีโอกาสเติบโตได้ดี ทว่าสำหรับตลาดรถยนต์โดยรวมในปี 2562 กลับมีแนวโน้มชะลอตัวลง ท่ามกลางภาวะหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง รวมถึงการเพิ่มความระมัดระวังดูแลคุณภาพสินเชื่อของบริษัทลีสซิ่งต่างๆ ภายหลังจากพบปัญหาหนี้เสียที่เพิ่มสูงขึ้นมาก แม้ตลาดจะมีปัจจัยบวกจากการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ของค่ายรถต่างๆ การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในช่วงต้นปีหน้า และการลงทุนภาครัฐกับภาคเอกชนที่ยังคงมีโอกาสขยายตัว ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ยอดขายรถยนต์ในประเทศโดยรวมปี 2562 น่าจะปรับลดลงไปสู่ระดับ 980,000 ถึง 1,010,000 คัน หรือหดตัวร้อยละ 2 ถึง 5 เมื่อเทียบกับปี 2561 ซึ่งเป็นการปรับกลับเข้าสู่ระดับปกติมากขึ้น หลังจากที่ในปี 2561 ยอดขายรถยนต์มีการขยายตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: