รมว.พลังงาน คนใหม่ ‘ปรับแผน PDP 2018-ฟื้นหญ้าเนเปียร์-เคลียร์พื้นที่ทับซ้อนกัมพูชา’

ทีมข่าว TCIJ | 18 ส.ค. 2562 | อ่านแล้ว 4715 ครั้ง

หลังรัฐบาลประยุทธ์ 2 ตั้ง ‘สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์’ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน คนที่ 13 พบมีการเปิดมติ กบง.ยุค  รมว. คนก่อน หลังถูกห้ามเผยแพร่นาน 5 เดือน-เตรียมปรับปรุงแผน PDP 2018 ครั้งแรก-เคลียร์ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชาให้จบ-ปัดฝุ่นโครงการหญ้าเนเปียร์ผลิตไฟฟ้า-สั่งปรับหลักเกณฑ์ใช้เงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานวงเงิน 12,000 ล้านบาท หวังส่งเสริมให้ชุมชนเข้าถึงพลังงานมากขึ้น ยอมรับที่ผ่านมาการเบิกจ่ายงบล่าช้า ด้าน 'กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน' ที่มี ‘ปิยสวัสดิ์’ เป็นแกนนำ ยื่นทบทวนโรงไฟฟ้า 1,400 MW เสนอแนวทางปฏิรูปพลังงาน 6 ข้อ ที่มาภาพ: Energy News Center

หลังจากที่ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรี (ชุดที่ 62) เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2562 ซึ่งปรากฎชื่อของนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนที่ 13 ของประเทศไทย โดยในห้วงเดือนแรก (ก.ค.-ส.ค. 2562) ในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ของนายสนธิรัตน์ ก็มีความเคลื่อนไหวที่น่าจับตาดังนี้

เปิดมติ กบง.หลังถูกห้ามเผยแพร่ สะท้อน'ความไม่ลงรอยของเทคโนแครตพลังงาน' ภายใต้ คสช.

เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2562 Energy News Center เปิดเผยว่าสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้มีการนำมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ในยุคที่นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และประธาน กบง. นับตั้งแต่การประชุมครั้งที่ 76 วันที่ 30 ม.ค. 2562 จนถึงครั้งล่าสุด 16 พ.ค. 2562 ก่อนที่นายศิริ จะพ้นจากตำแหน่ง จากเดิมที่ก่อนหน้านี้ถูกสั่งไม่ให้มีการเผยแพร่ มาอัพโหลดลงเว็บไซต์ของ สนพ. (www.eppo.go.th) ในช่วงที่นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

ซึ่งทำให้สังคมรับทราบว่าการประชุม กบง.ดังกล่าว ได้มีการพิจารณาเรื่องสำคัญด้านพลังงานในหลายเรื่อง โดยเฉพาะเหตุผลการอนุมัติให้ ‘ราชกรุ๊ป’ ดำเนินการสร้างโรงไฟฟ้าภาคตะวันตก ขนาด 1,400 เมกะวัตต์ โดยไม่ต้องมีการประมูล เนื่องจากมีการวิเคราะห์ข้อเสนอของราชกรุ๊ป [ชื่อเดิมบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)] ในกรณีสร้างโรงไฟฟ้าทั้ง 1,400 เมกะวัตต์ จะมีราคาค่าไฟฟ้าต่ำกว่า Gulf PD 2,500 เมกะวัตต์อยู่ที่ 0.0038 บาทต่อหน่วย รวมทั้งการอนุมัติให้ บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) (NPS) กำลังการผลิต 540 เมกะวัตต์ เปลี่ยนเชื้อเพลิงจากถ่านหินเป็นก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเรื่องสำคัญดังกล่าวอยู่ในมติ กบง. วันที่ 25 ก.พ. 2562 และวันที่ 3 พ.ค. 2562 [1]

อนึ่ง อ่านมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ยุค 'ศิริ จิระพงษ์พันธ์' นับตั้งแต่การประชุมครั้งที่ 76 วันที่ 30 ม.ค. 2562 จนถึงครั้งล่าสุด 16 พ.ค. 2562 ก่อนที่นายศิริ จะพ้นจากตำแหน่งได้ที่นี่ มติ กบง.ครั้งที่ 80 วันพฤหัสบดีที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2562  | มติ กบง.ครั้งที่ 79 วันศุกร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2562  | มติ กบง.ครั้งที่ 78 วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2562  | มติ กบง.ครั้งที่ 77 วันพุธที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562  | มติ กบง.ครั้งที่ 76 วันพุธที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2562

เครือข่าย 'ปิยสวัสดิ์' ยื่นจม.เปิดผนึกระบุ กบง.ไร้ธรรมาภิบาล

ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธาน ‘กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน’ หรือ ERS ที่มาภาพ: Energy News Center

หลังมีการเผยแพร่ข่าวนี้ไม่ถึงหนึ่งวัน ช่วงเย็นของวันที่ 23 ก.ค. 2562 ‘กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน’ หรือ ERS ได้จัดงานครบรอบ 5 ปี ภายใต้หัวข้อ ‘5 ปี ERS: ทิศทางประเทศไทย ทิศทางพลังงานไทย’  ที่หอประชุมสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีแกนนำกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืนนำโดย นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานกลุ่ม ERS นายคุรุจิต นาครทรรพ นายมนูญ ศิริวรรณ นายพรายพล คุ้มทรัพย์ และ นายทวารัฐ สูตะบุตร มาร่วมพูดคุยเสวนาบนเวที เกี่ยวกับแนวทางการปฏิรูปพลังงานสู่ความยั่งยืน ก่อนยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่

นายปิยสวัสดิ์ กล่าวถึงมุมมองต่อรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ERS เห็นว่าได้มีการวางนโยบายแก้ไขปัญหาและปฏิรูปพลังงาน ในหลายๆ ประการที่เป็นไปในทิศทางที่ดีและสอดคล้องกับข้อเสนอหลายข้อของ ERS ที่เคยเสนอไว้ต่อสาธารณชน อันทำให้เกิดความมั่นคง อาทิ การเปิดประมูลการพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย 2 แหล่งใหญ่ ที่สัมปทานปิโตรเลียมใกล้จะหมดอายุ (กลุ่มแหล่งก๊าซเอราวัณ และกลุ่มแหล่งก๊าซบงกช) นอกจากนี้ยังมีการ ออก พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง การแก้ไข พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้าให้ครอบคลุมรัฐวิสาหกิจ การเปิดให้บุคคลภายนอกใช้ท่อก๊าซธรรมชาติ และลดการถือหุ้นของ ปตท.ในโรงกลั่นน้ำมัน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม นายปิยสวัสดิ์ ระบุว่าภาคพลังงานไทยยังมีปัญหาหลายประการที่ควรได้รับการแก้ไข เพราะหากทิ้งไว้จะทำให้มีความอ่อนแอลงและมีผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันและฐานะการเงินระหว่างประเทศของไทย อาทิ      ธรรมาภิบาลด้านบริหารจัดการนโยบายพลังงานที่ยังมีข้อน่าสงสัย เนื่องจากเอกชนบางรายได้ประโยชน์จากนโยบายและการตัดสินใจของหน่วยงานภาครัฐ เช่นการอนุมัติต่ออายุและสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ภาคตะวันตก 2 โรง (1,400 MW) แทนโรงเดียว (700 MW) ที่หมดอายุลงโดยไม่มีการประมูล และการเปิดประมูลสร้างท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 ที่มีการเพิ่มคลังรับก๊าซ LNG โดยไม่เชื่อมโยงกับแผนการจัดหาก๊าซธรรมชาติที่สอดคล้องกับแผน PDP 2018 ในส่วนของราคาพลังงานยังมีการอุดหนุนราคาพลังงานบางประเภทแบบ Cross Subsidies ในระดับสูง ซึ่งไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคบางส่วนและไม่สร้างแรงจูงใจให้ผู้ผลิตปรับปรุงประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเชื้อเพลิงชีวภาพที่ต้นทุนการผลิตยังสูงเกินควร

ทั้งนี้ ERS ได้เสนอว่าหากรัฐบาลจะใช้ดุลพินิจให้สิทธิประโยชน์แก่เอกชนรายใด เช่น การก่อสร้างโรงไฟฟ้า โดยที่ไม่มีการประมูลแข่งขันในการให้ผลประโยชน์ตอบแทนแก่รัฐ เช่น ราคาขายไฟฟ้า ก็ควรจะอธิบายว่าการเลือกปฏิบัตินั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะและผู้บริโภคอย่างไร ทำนองเดียวกันการประกาศเงื่อนไขการประมูล (TOR) ก็ควรมีความเป็นกลาง ไม่เอื้อประโยชน์แก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งด้วยเช่นกัน

ในด้านธรรมาภิบาล ERS ยังมีข้อเสนอให้ปรับปรุงโครงสร้างการบริหาร อาทิ แก้ไข พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2562 เพื่อแยกการกำหนดนโยบาย การกำกับดูแลและการดูแลผลประโยชน์ของรัฐในฐานะของผู้ถือหุ้นออกจากกันอย่างแท้จริงเหมือนในประเทศพัฒนาแล้ว และเห็นว่าในช่วงที่ผ่านมาได้มีการเปิดให้บุคคลที่สามใช้ระบบท่อก๊าซ ปตท.แล้ว เพื่อให้ผู้ใช้ไฟฟ้าได้ประโยชน์จากการแข่งขันดังกล่าว เพราะก๊าซส่วนใหญ่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า จึงเห็นควรเพิ่มการแข่งขันในกิจการผลิตไฟฟ้า เพื่อให้การผลิตไฟฟ้ามีประสิทธิภาพสูงขึ้นและต้นทุนต่ำลง โดยส่งผ่านราคาค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรมให้ผู้บริโภค สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่ระบบผลิตไฟฟ้าจะเปลี่ยนแปลงสู่ระบบกระจายศูนย์อย่างรวดเร็วในอนาคต และส่งเสริมการผลิตเองใช้เองของผู้บริโภค (Prosumer)

ERS เสนอให้ปรับโครงสร้าง กฟผ. โดยยังคงให้ควบคุมระบบสายส่ง ศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า (System Operator) และโรงไฟฟ้าพลังน้ำ และให้จัดกลุ่มโรงไฟฟ้าอื่นๆ ของ กฟผ. เป็นหน่วยงานอิสระเพื่อเตรียมความพร้อมในการแข่งขันกับเอกชนที่เปิดกว้างและโปร่งใส อันจะเป็นโอกาสทางธุรกิจต่อไปในอนาคต ขณะเดียวกันก็ทำให้การรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าต่างๆ การเชื่อมโยงระบบและการสั่งเดินเครื่องมีความเที่ยงธรรมอย่างแท้จริงและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อผู้บริโภคและความเข้มแข็งโดยรวมของเศรษฐกิจไทย

นอกจากนี้ ยังเสนอให้เตรียมการเปิดให้บุคคลที่สามใช้ระบบสายส่งไฟฟ้าและปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้าให้มีการแข่งขันโดยให้ผู้ใช้ไฟฟ้ามีทางเลือกในการซื้อไฟฟ้า (Retail Competition) โดยริเริ่มโครงการนำร่อง (sandbox) ให้มีการนำเทคโนโลยีอัจฉริยะ (Smart Technology เช่น Block Chain) เพื่อเอื้อให้เกิดนวัตกรรมในการผลิตและการใช้พลังงานไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้อาจเริ่มจากผู้ใช้ไฟฟ้าในเขตนิคมอุตสาหกรรม หรือหมู่บ้านจัดสรรที่มีความพร้อม และในระยะต่อไปจึงเปิดให้มีการแข่งขันเต็มรูปแบบ

ในส่วนของน้ำมันเชื้อเพลิง ERS เห็นว่ารัฐบาลควรใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงรักษาเสถียรภาพของราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศเฉพาะเมื่อมีวิกฤตราคาน้ำมันในตลาดโลกและใช้ในช่วงเวลาสั้นๆ การส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพ ควรให้น้ำมันแก๊สโซฮอล E20 กับ น้ำมันไบโอดีเซล B10 เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงหลักของประเทศ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ภายในประเทศ และลดการนำเข้า โดยทยอยลดการอุดหนุนเชื้อเพลิงชีวภาพ ภายในช่วงเวลาที่ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 กำหนด โดยมีเป้าหมายให้ภาคเกษตรและอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถแข่งขันกับเชื้อเพลิงชีวภาพในตลาดโลกได้ ERS เห็นควรเลิกการอุดหนุนแบบถาวรในน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพชนิด E85 และ B20 เนื่องจากไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคกลุ่มอื่นที่ต้องรับภาระจ่ายเงินเข้ากองทุน และไม่ส่งเสริมให้ผู้ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตของตนเองให้แข่งขันได้

การกำหนดนโยบายรัฐในด้านต่างๆ ควรคำนึงถึงมิติด้านพลังงานเสมอ และ ERS เห็นควรให้มีผู้แทนจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่หลากหลายมีส่วนร่วมในการเสนอนโยบายพลังงานมากยิ่งขึ้น รวมทั้งผลักดันการเข้าร่วมในกลุ่มภาคีเพื่อสร้างความโปร่งใสในกิจการสำรวจและผลิตทรัพยากรธรรมชาติ (ปิโตรเลียมและสินแร่) Extractive Industries Transparency Initiative: หรือ EITI ที่ประเทศไทยเข้าร่วมตั้งแต่ปี 2558 ให้นำไปสู่ขั้นปฏิบัติให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในคณะกรรมการไตรภาคีของผู้มีส่วนได้เสีย

นอกจากนั้น ERS เห็นว่าการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นปัญหาสำคัญที่ทุกประเทศต้องร่วมมือกันแก้ไข แต่มาตรการตามข้อตกลง COP21 ก็ยังไม่เพียงพอที่จะรักษาอุณหภูมิของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกินกว่า 1.5-2.0 องศาเซลเซียส ประเทศไทยจำเป็นต้องเตรียมรับกับมาตรการในระดับโลกในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกที่จะมีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น นโยบายการกระจายแหล่งเชื้อเพลิงจึงควรคำนึงถึงข้อจำกัดด้านสิ่งแวดล้อมในอนาคต เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย รวมถึงการเปลี่ยนแปลงกติกาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ภายใต้กรอบของ UNFCCC

โดยสรุป ทางกลุ่มฯ ได้เสนอแนวทางปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืนฉบับเต็มที่เตรียมยื่นเป็นจดหมายเปิดผนึกให้แก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ที่ประกอบไปด้วย (1) การปรับโครงสร้างราคาพลังงาน ที่ราคาพลังงานประเภทต่างๆ ควรสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง (2) เพิ่มการแข่งขันและประสิทธิภาพในธุรกิจพลังงานเพื่อมิให้มีการเอาเปรียบผู้บริโภค (3) ลดการแทรกแซงโดยมิชอบและแสวงหาประโยชน์ในกิจการพลังงานที่รัฐถือหุ้น และการป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนของเจ้าหน้าที่ของรัฐ (4) กระบวนการในการกำหนดนโยบาย (5) การสำรวจ พัฒนาและจัดหาแหล่งพลังงาน และ (6) การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาด ทั้งนี้กระทรวงพลังงานควรเตรียมรับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีของโลก และแก้ข้อสงสัยเรื่องการเอื้อประโยชน์เอกชนซึ่งบั่นทอนธรรมาภิบาลภาครัฐให้เป็นวาระเร่งด่วน [2] [คลิ๊กอ่าน 'แนวทางปฎิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน' (ปรับปรุงครั้งที่ 2 : วันที่ 23 ก.ค. 2562) ของ 'กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน' ได้ที่นี่]

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับ กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน (ERS) นำโดย นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2562 ที่มาภาพ: Energy News Center

ต่อมาในวันที่ 1 ส.ค. 2562 นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ได้มีการประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับ กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน (ERS) นำโดยนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธาน ERS และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านพลังงานอีกหลายท่าน ที่กระทรวงพลังงาน รวมทั้งเปิดเผยว่าตนได้รับ 6 ข้อเสนอนี้ไปพิจารณา โดยระบุว่าพร้อมสนับสนุนเรื่องที่สอดคล้องนโยบาย เช่น สนับสนุนเชื้อเพลิงชีวภาพและพลังงานหมุนเวียน และบางประเด็นจะนำมาพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง [3]

เตรียมปรับแผน PDP 2018 ครั้งที่ 1 เน้นกำหนดพื้นที่สร้างโรงไฟฟ้าใหม่ในชุมชน

ปลายเดือน ก.ค. 2562 นายสนธิรัตน์​ ได้เปิดเผยในงานสัมมนา​ ‘เจาะลึกแผนพีดีพี ทิศทางพลังงานไทย​ ภายใต้รัฐบาลใหม่’ ซึ่งจัดโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 31 ก.ค.2562 ว่าการปรับปรุงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ.2561-2580 (PDP​2018)​ ครั้งที่ 1​ จะเน้นส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงระบบพลังงานมากขึ้น​ ด้วยการกำหนดพื้นที่สำหรับสร้างโรงไฟฟ้าชุมชน​ขึ้น ตามศักยภาพสายส่งไฟฟ้าที่มีความพร้อม​ ซึ่งรูปแบบการลงทุนจะให้เอกชนเข้ามาร่วมกับชุมชนลงทุนสร้างโรงไฟฟ้า​ และชุมชนสามารถซื้อหุ้นคืนบางส่วนได้ในภายหลัง ซึ่งโรงไฟฟ้าที่จะสร้างขึ้นจะเน้นที่โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์​, ชีวมวล, ชีวภาพ และขยะ อย่างไรก็ตามได้สั่งการให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกำหนดพื้นที่สร้างโรงไฟฟ้าชุมชน​และนำกลับมาเสนอเพื่อพิจารณาต่อไป​

ทั้งนี้ การส่งเสริมโรงไฟฟ้าชุมชนดังกล่าวจะต้องนำเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน​มาสนับสนุน​ ดังนั้นได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการขอรับเงินสนับสนุนโครงการภายใต้กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน​ ประจำปี​ 2563 ใหม่​ กรอบวงเงิน​ 12,000 ล้านบาท โดยปรับปรุงทั้งระเบียบ​ วิธีการขอวงเงิน​ องค์กรที่ขอรับเงิน​ ให้สอดคล้องกับการเกิดพลังงานชุมชน​ โดยให้นำกลับมาเสนอแนวทางใหม่ภายในต้นเดือน ส.ค. 2562

นายสนธิรัตน์​ กล่าวด้วยว่า​นอกจากนี้ได้หารือกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)​ พิจารณาแนวทางการใช้เงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้า​ สำหรับนโยบายการทำระดับราคาค่าไฟฟ้าแตกต่างกัน2กลุ่ม​ ได้แก่​ 1.กลุ่มประชาชนที่อยู่รอบโรงไฟฟ้าให้สามารถซื้อไฟฟ้าได้ในราคาถูกกว่าราคามาตรฐาน​ เนื่องจากเป็นผู้เสียสละพื้นที่ให้สร้างโรงไฟฟ้า​ และ 2.ผู้มีรายได้น้อย​ ซึ่งกลุ่มนี้​ ทางกระทรวงพลังงานกำลังกำหนดแนวทางให้การช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ​

โดยการปรับแผน PDP 2018 ครั้งที่ 1 ที่กำลังจะเกิดขึ้น​ นอกจากจะส่งเสริมให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในระบบไฟฟ้ามากขึ้นแล้ว​ ยังต้องปรับให้เป็นไปตามนโยบายที่จะให้ไทยเป็นศูนย์กลางพลังงานไฟฟ้าอาเซียน​ด้วย​ ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดความมั่นคงไฟฟ้าในไทยและภูมิภาคอาเซียนแล้ว​ ยังเชื่อมโยงให้เกิดการลงทุนด้านไฟฟ้ามากขึ้นและโรงไฟฟ้าชุมชนก็สามารถเข้ามาขายไฟฟ้าในระบบได้อีกด้วย ซึ่งหากปรับแผน PDP 2018 ได้ในแนวทางดังกล่าว​ จะส่งผลให้ราคาค่าไฟฟ้าโดยรวมถูกลงกว่าแผน PDP 2018 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน​ ซึ่งกำหนดค่าไฟฟ้าไว้ที่ 3.576 บาทต่อหน่วย​ตลอดแผน​ 20 ปี​ (2561-5280) นอกจากนี้แผน PDP 2018 ปรับปรุงครั้งที่ 1ยังต้องปรับให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีพลังงาน​ เช่น​ ระบบกักเก็บพลังงาน (energy​ storage)​ และการลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อีกด้วย​ [4] [5]

อนึ่ง Energy News Center เว็บไซต์กระบอกเสียงของกระทรวงพลังงาน ได้รายงานอ้างแหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงานว่าการทบทวนแผน PDP 2018 ใหม่ จะทำให้ต้องทบทวนมติ กบง.ที่อนุมัติให้ ‘ราชกรุ๊ป’ (RATCH)ดำเนินการสร้างโรงไฟฟ้าภาคตะวันตก 1,400เมกะวัตต์ และการเปลี่ยนเชื้อเพลิง จากถ่านหิน เป็นก๊าซ ในโรงไฟฟ้า ขนาดกำลังผลิต 540 เมกะวัตต์ ของบริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) หรือ NPS รวมทั้งการนำข้อเสนอของผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ให้รัฐต้องถือหุ้นโรงไฟฟ้าในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 51% เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 56 วรรคสอง มาพิจารณาประกอบด้วย [6]

เตรียมเคลียร์ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล 'ไทย-กัมพูชา' ให้จบ

ต่อมาในต้นเดือน ส.ค.2562 นายสนธิรัตน์ ระบุถึงการแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา ที่ยังไม่มีความคืบหน้าว่า มีความตั้งใจที่จะมาดำเนินการเรื่องดังกล่าวให้สำเร็จ ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ แต่เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน จึงยังไม่สามารถที่จะให้ข้อมูลอะไรได้มากในขณะนี้ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเดินหน้าทำงานในเรื่องนี้

สำหรับพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชานั้น มีขนาดพื้นที่ ประมาณ 26,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งมีการประเมินเบื้องต้นว่าน่าจะมีปริมาณสำรองปิโตรเลียมจำนวนมาก เพราะโครงสร้างทางธรณีวิทยา ใกล้เคียงกับแหล่งผลิตปิโตรเลียมที่ไทยให้สัมปทานเอกชนดำเนินการอยู่ โดยหากสามารถเจรจาให้มีข้อยุติได้โดยเร็วเพื่อให้เกิดการเริ่มสำรวจและพัฒนา คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 10 ปี จึงจะสามารถผลิตปิโตรเลียมขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มปริมาณสำรองปิโตรเลียมให้กับประเทศ ทดแทนก๊าซจากพื้นที่ผลิตในอ่าวไทยที่จะลดปริมาณลงเรื่อยๆ

โดยเรื่องดังกล่าวมีความคืบหน้าเพียงการลงนามเอ็มโอยูระหว่างกัน เมื่อ 18 มิ.ย. 2545 ว่าทั้งสองฝ่ายจะเร่งเจรจาเพื่อบรรลุความตกลงเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อน โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็นสองส่วน 1. พื้นที่ทับซ้อนเหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือขึ้นไป ให้แบ่งเขตทางทะเลอย่างชัดเจนตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่ใช้บังคับ 2. พื้นที่ทับซ้อนใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือลงมา ให้พัฒนาพื้นที่ดังกล่าว ร่วมกัน อย่างไรก็ตามจนถึงปัจจุบัน เอ็มโอยูดังกล่าวก็ยังไม่ได้มีการเจรจาเพื่อสานต่อและปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม [7]

เตรียมปัดฝุ่นโครงการหญ้าเนเปียร์ผลิตไฟฟ้า

‘หญ้าเนเปียร์’ อีกหนึ่ง ‘พืชการเมือง-พลังงาน’ โดยรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานคนใหม่มีดำริที่จะผลักดันนำกลับมาผลิตไฟฟ้าอีกครั้ง หลังจากยุติไปตั้งแต่ปี 2557 ที่มาภาพ: oae.go.th

นอกจากนี้ นายสนธิรัตน์ ยังระบุว่ากระทรวงพลังงานเตรียมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เพื่อรวบรวมข้อมูลปัญหา อุปสรรคและแนวทางการนำหญ้า     เนเปียร์กลับมาผลิตไฟฟ้าอีกครั้ง หลังจากยุติไปตั้งแต่ปี 2557 และจะบรรจุโครงการหญ้าเนเปียร์ผลิตไฟฟ้าไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 (PDP2018) ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ต่อไป โดยคาดว่าจะพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมและเห็นความชัดเจนได้ภายใน 1 เดือน

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากการหารือเบื้องต้นกับสมาชิก ส.อ.ท.และผู้ประกอบการผลิตไฟฟ้าจากหญ้าเนเปียร์บางรายที่ผ่านมา พบว่าหญ้าเนเปียร์จัดเป็นพืชพลังงานในกลุ่มเชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งแต่เดิมกระทรวงพลังงานส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเพื่อนำมาหมักเป็นก๊าซชีวภาพสำหรับผลิตไฟฟ้า โดยรวมมีกำลังการผลิตประมาณ 400-500 เมกะวัตต์ต่อปี ต่อมามีการยกเลิกการส่งเสริมหญ้าเนเปียร์สำหรับผลิตไฟฟ้าไปเมื่อปี 2557

อย่างไรก็ตามเชื่อว่าโครงการหญ้าเนเปียร์ผลิตไฟฟ้าจะเป็นประโยชน์ต่อชุมชน นอกจากจะช่วยยกระดับพืชพลังงานแล้ว ยังทำให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น รวมทั้งเกิดความมั่นคงไฟฟ้าด้วย ซึ่งตรงกับนโยบายกระทรวงพลังงานปัจจุบันเรื่อง Energy For all หรือพลังงานเพื่อทุกคน ซึ่งจะส่งเสริมให้ชุมชนเข้าถึงพลังงานได้มากขึ้น ซึ่งในอนาคตชุมชนนอกจากจะเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าแล้วยังสามารถผลิตไฟฟ้าใช้เอง และขายไฟฟ้าได้ด้วย จึงต้องนำโครงการหญ้าเนเปียร์ผลิตไฟฟ้ากลับมาพิจารณาร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอีกครั้งเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมสำหรับการส่งเสริมต่อไป [8]

อนึ่ง โครงการหญ้าเนเปียร์ผลิตไฟฟ้า ได้รับการส่งเสริมช่วงปี 2553-2555 ต่อมาช่วงปี 2556 สมัยที่นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) มีมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อ 16 ก.ค.2556 ได้ปรับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก 25% ใน 10 ปี (ปี 2555-2564) หรือ AEDP ใหม่ ซึ่งเพิ่มเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นทุกประเภท ขณะที่ก๊าซชีวภาพ เพิ่มขึ้นจากเดิมมากที่สุด 3,000 เมกะวัตต์ เป็นการปรับเพิ่มจากพืชพลังงานโดยเฉพาะหญ้าเนเปียร์ และนำไปสู่การจัดตั้งต้นแบบโรงงานผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ เพื่อขยายผลไปสู่เป้าหมาย

จากนั้น ช่วงปี 2557 รัฐบาล คสช.ยกเลิกโครงการนำร่องโรงไฟฟ้าหญ้าเนเปียร์จำนวน 10 โครงการ ของกองทุนอนุรักษ์พลังงาน ตามคำสั่งคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ซึ่งกระทรวงพลังงานไม่ได้ห้ามและยกเลิกส่งเสริมหญ้าเนเปียร์ เพียงแต่ยุติโครงการนำร่องดังกล่าวเท่านั้น ดังนั้นผู้ประกอบการก็ยังสามารถเดินหน้าโรงไฟฟ้าหญ้าเนเปียร์ได้ แต่จะไม่ได้รับการอุดหนุนค่าไฟฟ้าจากภาครัฐ

ในช่วงที่กระทรวงพลังงานมีนโยบายส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากหญ้าเนเปียร์ ในแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก จำนวน 3,000 เมกะวัตต์นั้น กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้ลงนามร่วมกับเอกชน 10 บริษัท ใน 3 พื้นที่ทั้งแล้งน้ำ ชุ่มน้ำ และปลูกข้าวไม่ได้ ในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อเดินหน้าโครงการศึกษา วิจัยต้นแบบวิสาหกิจชุมชนพลังงานสีเขียวจากพืชพลังงาน โดยบริษัทฯ ทั้งหมดจะได้รับงบสนับสนุนจากกองทุนอนุรักษ์พลังงานรายละไม่เกิน 20 ล้านบาทเพื่อผลิตไฟรายละ 1 เมกะวัตต์

สำหรับ 10 บริษัทเอกชนที่เข้าร่วมโครงการนำร่อง ประกอบด้วย 1. บริษัท เอ็น พี พาวเวอร์ จำกัด จ.เพชรบูรณ์ 2. บริษัท ไทยพีเอสเมกะพาวเวอร์ จำกัด จ.พิจิตร 3. บริษัท พรีไซซ์ พาวเวอร์ โปรดิวเซอร์ จำกัด จ.เพชรบูรณ์ 4. บริษัท ไทยไบโอก๊าซ เทคโนโลยี จำกัด จ.ลำปาง 5. บริษัท ลานไบโอก๊าซ จำกัด จ.หนองคาย 6. บริษัท บิเทโก (ประเทศไทย) จำกัด จ.อุบลราชธานี 7. บริษัท กรีนเอนเนอร์จี จำกัด จ.ขอนแก่น 8. บริษัท เอส เอ็ม ซี พาวเวอร์ จำกัด(มหาชน) จ.ร้อยเอ็ด 9. บริษัท สีคิ้ว ไบโอแก๊ส จำกัด จ.นครราชสีมา และ 10. บริษัท ยูเอซีเอ็นเนอร์ยี่ จำกัด จ.ศรีสะเกษ [9]

ปรับหลักเกณฑ์ใช้เงินกองทุนฯ วงเงิน 12,000 ล้านบาท ยอมรับที่ผ่านมาการเบิกจ่ายงบล่าช้า

ความเคลื่อนไหวล่าสุด (16 ส.ค. 2562) กระทรวงพลังงานภายใต้การบริหารของนายสนธิรัตน์ เตรียมที่จะปรับเงื่อนไขหลักเกณฑ์การยื่นขอรับเงินสนับสนุนโครงการ จากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ประจำปี 2563 วงเงิน 12,000 ล้านบาท เพื่อให้หลักเกณฑ์กองทุนฯสอดคล้องกับนโยบายใหม่ของกระทรวงพลังงาน ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมชุมชนให้เข้าถึงพลังงาน ทั้งนี้การเปิดให้ยื่นขอรับเงินสนับสนุนโครงการ จากกองทุนฯ ในปี 2563 อาจจะล่าช้าออกไป จากเดิมที่เปิดให้ยื่นเสนอขอเข้าร่วมโครงการได้ตั้งแต่ 1 ส.ค. 2562 อาจจะต้องเลื่อนไปเป็น 1-15 ก.ย. 2562 แทน

โดยข้อมูลจากปลัดกระทรวงพลังงาน ระบุว่าแต่เดิมกองทุนฯ จะแบ่งสัดส่วนการสนับสนุนด้านพลังงานทดแทน เป็นการสนับสนุนโครงการ ประมาณ 60% ของวงเงินกองทุนฯทั้งหมด และอีก 40% เป็นการสนับสนุนด้านอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับพลังงานทดแทน ส่วนอีก 10% เป็นเงินสำหรับบริหารจัดการตรวจสอบโครงการให้เป็นไปตามเป้าหมาย อย่างไรก็ตามการปรับหลักเกณฑ์ใหม่ เบื้องต้นจะแบ่งเป็นหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดซื้ออุปกรณ์ การวิจัยและงานด้านนวัตกรรม ซึ่งต้องเป็นนวัตกรรมใหม่เกี่ยวกับพลังงาน เช่น แบตเตอรี่ รถยนต์ไฟฟ้า (EV) หรือขยายไปสู่การทำแพลตฟอร์มซื้อขายไฟฟ้า, การนำสมองกลอัจฉริยะ (AI) มาใช้ในอุปกรณ์ชาญฉลาด (Smart) ต่างๆ รวมถึงแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ ด้านพลังงาน เป็นต้น โดยคาดว่าพร้อมให้เบิกจ่ายงบได้ 1-15 ก.ย. 2562 นี้ [10]

 

ข้อมูลอ้างอิง
[1] เปิดมติ กบง.ยุค “ศิริ” เรื่องไฟฟ้าภาคตะวันตก , NPS หลังถูกห้ามเผยแพร่นาน 5 เดือน (Energy News Center, 23 ก.ค. 2562)
[2] ERS ยื่นจม.เปิดผนึกถึง “สนธิรัตน์” กบง. อนุมัติสร้างโรงไฟฟ้า 1,400MW ไร้ธรรมาภิบาล (Energy News Center, 24 ก.ค. 2562)
[3] รมว. พลังงานเปิดรับข้อเสนอกลุ่ม ERS (Energy News Center, 2 ส.ค. 2562)
[4] เผยปรับแผน PDP 2018 ครั้งที่ 1 เน้นกำหนดพื้นที่สร้างโรงไฟฟ้าใหม่ในชุมชน (Energy News Center, 31 ก.ค. 2562)
[5] 'สนธิรัตน์' ดันไทยยักษ์พลังงานไฟฟ้าอาเซียน (กรุงเทพธุรกิจ, 31 ก.ค. 2562)
[6] “สนธิรัตน์” สั่งทบทวนแผน PDP 2018 ใหม่ ให้การผลิตไฟเป็นไปเพื่อประโยชน์ประชาชน (Energy News Center, 31 ก.ค. 2562)
[7] “สนธิรัตน์”เผยตั้งใจเคลียร์ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ไทย-กัมพูชา ให้จบ (Energy News Center, 8 ส.ค. 2562)
[8] “สนธิรัตน์” เตรียมปัดฝุ่นโครงการหญ้าเนเปียร์ผลิตไฟฟ้า (Energy News Center, 10 ส.ค. 2562)
[9] “สนธิรัตน์”เตรียมปัดฝุ่นโครงการหญ้าเนเปียร์ผลิตไฟฟ้า (กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ, 13 ส.ค. 2562)
[10] “สนธิรัตน์” สั่งปรับหลักเกณฑ์ขอเงินกองทุนอนุรักษ์ฯ ปี 63 วงเงิน 1.2 หมื่นล้าน (Energy News Center, 15 ส.ค. 2562)


เรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: นโยบายพลังงานที่แถลงต่อรัฐสภา รัฐบาล 'สมัคร-อภิสิทธิ์-ยิ่งลักษณ์-ประยุทธ์1-ประยุทธ์2'
เปิดแผน PDP 2018 หลังผู้ตรวจการฯ แนะ กฟผ. ต้องมีกำลังผลิตไม่ต่ำกว่า 51%

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: