กสศ.จับมือ 20 จังหวัดต้นแบบสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ผุดทีมค้นหา-พัฒนาฐานข้อมูล ตั้งเป้า 2 กลุ่ม 'ปฐมวัย-เด็กนอกระบบ' เร่งช่วยเหลือสร้างโอกาสการศึกษา วางเป้าปีแรกไม่ต่ำกว่า 35,000 คน ที่มาภาพประกอบ: Save the Children Thailand
ผู้จัดการออนไลน์ เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2562 ว่านายพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดผยว่าเมื่อเร็ว ๆ นี้ จากการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ที่นำร่องใน 20 จังหวัดต้นแบบทั่วประเทศ ได้แก่ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง น่าน แพร่ สุโขทัย พิษณุโลก ขอนแก่น มหาสารคาม สุรินทร์ อำนาจเจริญ อุบลราชธานี นครราชสีมา กาญจนบุรี นครนายก ระยอง สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต ยะลา และสงขลา ได้ร่วมแลกเปลี่ยนและกำหนดแนวทางการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยให้แต่ละจังหวัดเป็นเจ้าภาพ ใช้บริบทของแต่ละพื้นที่เป็นตัวตั้ง ซึ่งได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ 2 กลุ่ม ได้แก่ เด็กปฐมวัย และ เด็กนอกระบบการศึกษา
ทั้งนี้ ทุกๆ ปี มีเด็กก่อนวัยเรียน อายุ 3-6 ปีไม่ได้เข้าสู่ระบบการศึกษา ราว 250,000 คน หรือ ร้อยละ 10 เฉลี่ยประมาณจังหวัดละ 3,200 คน ขณะที่เด็กนอกระบบการศึกษาอายุ 3-17 ปี มีจำนวน 592,396 คน เพราะฉะนั้น ในการทำงานเน้น 3 ด้าน คือ 1.สร้างกลไกบูรณาการระหว่างหน่วยงานหลักและภาคประชาสังคมในพื้นที่ 2.พัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาผ่านการสำรวจค้นหากลุ่มเป้าหมายจริง ทำให้การช่วยเหลือดูแลกลุ่มเป้าหมายมีความน่าเชื่อถือและแม่นยำ และ 3.การสร้างตัวแบบการช่วยเหลือเพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษา ตามบริบทของพื้นที่สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ เด็กปฐมวัยและเด็กนอกระบบ
ผู้ช่วยผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า ที่ผ่านมาเรารู้เพียงจำนวนของเด็กกลุ่มนี้ จากการนำฐานข้อมูลของกระทรวงมหาดไทย (มท.) หักลบกับฐานข้อมูลนักเรียนในทุกสังกัด แต่เรายังไม่ทราบว่าเด็กอยู่ที่ไหน รูรั่วของระบบข้อมูลอีกจุดอยู่ในช่วงที่เด็กอายุ 24 เดือนขึ้นไป ซึ่งจะไม่อยู่ในฐานข้อมูลเด็กของกระทรวงสาธารณสุข และก่อนที่จะปรากฎข้อมูลเด็กอีกครั้งเมื่อเข้าศึกษาในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของท้องถิ่น ดังนั้น จากนี้ทั้ง 20 จังหวัดต้นแบบทั่วประเทศจะพัฒนาให้เกิดเจ้าภาพร่วม ค้นหา ติดตามเด็กอายุตั้งแต่ 2-21 ปี ที่หลุดจากระบบการศึกษา โครงการยังให้ความสำคัญกับการจัดทำฐานข้อมูลกลุ่มเป้าหมายดังกล่าวเพื่อให้ทราบว่า ขณะนี้เด็กแต่ละคนที่ถูกค้นพบ ได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วหรือไม่ เป็นเครื่องมือให้หน่วยงานต่างๆ ได้ทำงานร่วมกัน ซึ่ง กสศ.จะสนับสนุนงบประมาณอย่างต่อเนื่อง 3 ปี เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แต่ละจังหวัด สามารถขับเคลื่อนได้อย่างต่อเนื่อง เป้าหมายในปีแรกคือสามารถช่วยเหลือเด็กปฐมวัยและเด็กนอกระบบการศึกษาจำนวน 35,000 คน
ด้าน นายณัฐพงศ์ ศิริชนะ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก 1 ใน 20 จังหวัดต้นแบบการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า ข้อมูลของจังหวัดนครนายก พบว่าเด็กร้อยละ 30 เป็นเด็กที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง หมายความว่า เด็ก 24,000 คน มีจำนวน 8,800 คน ที่มีปัญหา เช่น พ่อแม่เสียชีวิต ครอบครัวหย่าร้าง มีฐานะยากจน หรือถูกคุกคามทางเพศ เรายังพบปัญหาเด็กเข้าสู่วงจรยาเสพติด เด็กเดินยาจาก 9 ขวบ เหลือเพียง 6 ขวบ และคุณแม่วัยใสที่อายุน้อยสุดคือ 13 ปี ดังนั้น โครงการนี้ถือเป็นการทำงานเชิงรุกของจังหวัด ต้องปรับโครงสร้างให้เกิดกลไกร่วมมือในการขจัดปัญหา และพัฒนาศูนย์ข้อมูลชุดเดียวที่ทุกหน่วยงานจะมาใช้ร่วมกันเพื่อเข้าถึง ช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ให้ได้ทันท่วงทีและตรงความต้องการ ซึ่งการพัฒนาจังหวัดให้ก้าวไปข้างหน้าได้ ต้องมีรากฐานการพัฒนาคนที่เข้มแข็ง เราจึงไม่ควรทิ้งเด็กคนไหนไว้ข้างหลังแม้แต่คนเดียว ถือว่าโครงการนี้ทำให้ทั้งจังหวัดเอาหัวใจมากองรวมกัน เพราะถ้าเราเอาใจมากองรวมกันได้ก็เชื่อว่างานจะสำเร็จได้
ด้านนายไกรศักดิ์ วรทัต ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดร้อยเอ็ดและอดีตปลัด อบจ.สุรินทร์ กล่าวว่า ข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญมาก ต้องอัพเดทและเป็นเรียลไทม์ เรามีเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาทุกวัน แม้สถานศึกษาจะจำหน่ายชื่อเด็กออกได้เมื่ออายุ 15 ปี แต่เด็กหลุดออกมาก่อนแล้ว ในความเป็นจริง เด็กออกจากโรงเรียนมากที่สุดในช่วง ม.2 จากประสบการณ์พบว่า กลไกในพื้นที่จะเข้าถึงและติดตาม ค้นหาเด็กได้ดีที่สุด โดยเฉพาะความร่วมมือจากกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ช่วยเก็บข้อมูลและประสานกับ กศน. ศูนย์ฝึกอาชีพเพื่อส่งเด็กกลับเข้ารับการศึกษา พัฒนาอาชีพตอบสนองความต้องการของเด็กให้มากที่สุดต่อไป เมื่อสามารถค้นพบเด็กและเข้าช่วยเหลือตั้งแต่ระดับตำบลปัญหาภาพรวมในระดับจังหวัดจึงยิ่งลดลง พร้อมขยายภาคีความร่วมกับกับเอกชน ภาคประชาสังคม หน่วยงานรัฐทุกระดับ จะทำให้เกิดกลไกการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ