มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลชี้ระบบคิด 'เป็นเจ้าของ' แฟน-ผัว-เมีย ต้นเหตุนำไปสู่ความรุนแรง

กองบรรณาธิการ TCIJ 19 ส.ค. 2562 | อ่านแล้ว 5892 ครั้ง

มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลชี้ระบบคิด 'เป็นเจ้าของ' แฟน-ผัว-เมีย ต้นเหตุนำไปสู่ความรุนแรง

มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลห่วงความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้น ชี้ระบบคิดเป็น 'เจ้าของ' แฟน-ผัว-เมีย นำไปสู่การใช้ความรุนแรง แนะคนในครอบครัวต้องแบ่งเบาภาระงานในบ้าน เหตุมนุษย์เมียและแม่รับภาระหนักทั้งในบ้านนอกบ้าน จนถูกกดให้ต่ำ หากมีปัญหาในครอบครัว จะลุกขึ้นมาหาทางออกได้ยาก ที่มาภาพประกอบ: DianaERios (Pixabay License)

ผู้จัดการออนไลน์ รายงานเมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2562 ที่เดอะฮอลล์ บางกอก มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรมเนื่องในวันแม่ เพื่อเติมเต็มพลังใจในการสู้ชีวิตของคนเป็นแม่ โดยภายในงานมีเวทีเสวนา “ฝ่าวิกฤตชีวิตแม่…กว่าจะถึงวันที่ก้าวผ่าน” ทั้งเรื่องราวของลูกที่เคยก้าวพลาดแต่ได้แม่อยู่เคียงข้างจนผ่านพ้นกลับมาสู่ชีวิตปกติได้ และเรื่องราวของแม่ที่ชีวิตเคยล้มแต่กลับมายืนขึ้นใหม่ได้เพราะลูก โดยมีนายวิวัฒน์วงศ์ ดูวา หรือแดเนียล ศิลปินไมค์ทองคำ ผู้เคยก้าวพลาดต้องเข้าสถานพินิจ มาร่วมสะท้อนปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และร่วมแสดงความกตัญญูกตเวทิตาต่อคุณแม่

น.ส.อังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่าจากการเก็บข้อมูลของมูลนิธิฯ จากข่าวหนังสือพิมพ์และเคสที่เข้ามาพบว่าความรุนแรงในครอบครัวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 300 กว่ากรณีในปี 2554 เพิ่มขึ้นมาเป็น 466 กรณีในปี 2559 โดยเป็นการฆ่ากันตายมากที่สุด รองลงมา คือ ฆ่าตัวตาย และทำร้ายกัน จึงไม่ใช่ปัญหาลิ้นกับฟันของคนในครอบครัว แต่เป็นการทำร้ายถึงเสียชีวิต โดยอันดับ 1 คือ ปืน ตามด้วยมีด และอวัยวะร่างกายตามลำดับ เหล้าและยาเสพติดเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดความรุนแรง แต่ระบบวิธีคิดว่าชายเป็นใหญ่ คือ อำนาจที่สามีรู้สึกว่ากระทำได้ ครอบครัวเป็นเรื่องส่วนตัว ยังเป็นสาเหตุหลัก โดยเฉพาะความคิดที่ว่าเป็นเจ้าข้าวเจ้าของอีกฝ่าย รู้สึกว่าอีกฝั่งหนึ่งเป็นสมบัติ

"ระบบคิดนี้ก็ทำให้ผู้หญิงเองรู้สึกว่า เราก็เป็นเจ้าของแฟนหรือสามีเช่นกัน ดังนั้น สถานการณ์ความรุนแรงไม่ได้เกิดแค่ผู้หญิงวัยทำงาน แต่วัยรุ่นหญิงที่คบกับแฟนก็รู้สึกว่าเป็นเจ้าของแฟน ต้องทำตามอย่างนั้นอย่างนี้ การควบคุมภายใต้ระบบคิดระหว่างคู่เช่นนี้ เป็นเรื่องที่นำไปสู่ความเสี่ยงของการถูกใช้ความรุนแรงในเวลาต่อมา และวัยรุ่นอายุสิบกว่าปีเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ถูกใช้ความรุนแรงจากคู่อย่างมากในช่วงนี้ แต่จากสถิติกลุ่มอายุ 30-50 ปี ถูกใช้ความรุนแรงเป็นกลุ่มอันดับหนึ่ง" น.ส.อังคณา กล่าว

น.ส.อังคณา กล่าวว่า แม้ปัจจุบันผู้หญิงจะมีสถานะที่ดีขึ้นในการทำงานนอกบ้าน แต่ก็ต้องกลับไปทำงานในบ้าน ดูแลทุกอย่างทุกคน ทำให้มีภาระมากทั้งฐานะเมียและแม่ เนื่องจากสังคม ครอบครัว และผู้ชายยังมีทัศนคติว่า งานบ้านไม่ใช่งานที่เขาต้องทำ และหากสามีบางคนไม่ทำงาน ติดสุรา ว่างงาน ก็ยิ่งทำให้ผู้หญิงที่เป็นเมียและแม่มีภาระหนักอึ้งมากขึ้น ขณะที่สวัสดิการค่าเลี้ยงดูเด็กก็น้อยนิด ยิ่งถ้าผู้หญิงไม่มีงาน สถานการณ์ครอบครัวก็จะเลวร้ายยิ่งขึ้น และการลุกออกมาจากปัญหาความรุนแรงนั้นยากมาก เพราะไม่มีอาชีพ เป็นคนจนในครอบครัว จึงต้องทำให้ผู้หญิงพึ่งพิงเศรษฐกิจได้ระดับหนึ่ง และเมื่อเจอวิกฤตครอบครัวและอยากออกจากสัมพันธ์ครอบครัว ต้องพร้อมและก้าวออกมาด้วยรู้สึกว่าไม่ต้องมาแบกรับภาระอีกหลายๆส่วน

"ผู้หญิงที่มีภาวะเศรษฐกิจที่พร้อมอาจจะลุกขึ้นมา และมีโอกาสออกไปจากสัมพันธ์ครอบครัวได้ง่ายกว่า มีช่องทางการเดินได้มาก ส่วนเรื่องของการศึกษาสูงๆ ไม่เกี่ยวข้องกับลุกขึ้นมาออกจากความสัมพันธ์เช่นนี เพราะมีมากที่พบว่า ผู้หญิงแม่บ้านจบ ป.โท ทำงานเอกชน แต่ออกมาเลี้ยงลูก ไม่ได้มีอาชีพทำงานมาหลายปี เมื่อเจอวิกฤตครอบครัวการจะลุกขึ้นมาก็ยาก เพราะถูกกดทับทำให้ดาวน์ลง คุณค่าข้างในที่ทำงานได้เดือนละหลายหมื่นก็ต้องฟื้นขึ้นมาใหม่" น.ส.อังคณา กล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: