เผย ก.พ. เตรียมยกเครื่องระบบราชการไทย 1.33 ล้านคน รับมือโลกเปลี่ยน

กองบรรณาธิการ TCIJ 19 ธ.ค. 2562 | อ่านแล้ว 16874 ครั้ง

เผย ก.พ. เตรียมยกเครื่องระบบราชการไทย 1.33 ล้านคน รับมือโลกเปลี่ยน

รายงานพิเศษจากสื่อ 'ประชาชาติธุรกิจ' ก.พ. เตรียมยกเครื่องระบบราชการไทย 1.33 ล้านคนรับมือโลกเปลี่ยน ตั้งโจทย์ใหญ่ 'เพิ่มประสิทธิภาพ-ลดงบรายจ่าย' พลิกโฉมกระบวนการสรรหา-รูปแบบจ้างงาน ผลตอบแทนแก้ปม 'คนรุ่นใหม่' เมินอาชีพข้าราชการ ชูตั้ง HR LAB ประเดิมจับมือ ก.พ.ร.-สภาพัฒน์-คลัง นำร่องโครงการต้นแบบ ยกระดับประสิทธิภาพการทำงานชง ครม.เคาะเกณฑ์ขยายอายุเกษียณราชการต้นปี 2563 ที่มาภาพประกอบ: ภาพยนตร์เรื่องครูบ้านนอก

เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ รายงานเมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2562 ว่าหม่อมหลวงพัชรภากร เทวกุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เปิดเผยว่าขณะนี้สำนักงาน ก.พ.กำลังเตรียมปรับโครงสร้างของข้าราชการพลเรือน ซึ่งมีทั้งหมด 1.33 ล้านคน โดยเฉพาะในส่วนข้าราชการพลเรือนสามัญที่อยู่ในความรับผิดชอบโดยตรงราว 3.9 แสนคน เพราะการทำงานของข้าราชการถูกสังคมตั้งคำถามมาโดยตลอด โดยเฉพาะในยุคที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากการเข้ามาของเทคโนโลยี ดังนั้นเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาให้ตรงจุดมากขึ้น สำนักงาน ก.พ.จึงตั้งโจทย์ศึกษาใน 3 ประเด็นหลัก คือ

1.) จำนวนข้าราชการ และค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรภาครัฐ โดยเฉพาะข้าราชการพลเรือนสามัญได้มีการทำงานเต็มประสิทธิภาพคุ้มค่าหรือไม่ และปัญหาเร่งด่วนที่แท้จริงคืออะไร ระหว่างปริมาณหรือคุณภาพ

2.) เป้าหมายการลดต้นทุนด้านทรัพยากรบุคคลของภาครัฐให้ไม่เกิน 30% งบประมาณรายจ่าย จากปัจจุบันอยู่ที่ 37% ของงบประมาณรายจ่าย โดยใช้คนทำงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพราะจากการประเมินต้นทุนของข้าราชการตั้งแต่เข้าทำงานวันแรกจนถึงวันที่เสียชีวิต จะอยู่ที่ราว 28 ล้านบาท/คน

และประเด็นที่ 3) จะทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่สนใจเข้าทำงานข้าราชการมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถไม่สนใจเข้ามาทำงานราชการ เนื่องจากระบบราชการไทยมีสภาพแวดล้อมการทำงานแบบมีเงื่อนไข ขณะที่การทำงานของคนรุ่นใหม่ชอบอิสระ และให้ความสำคัญกับเรื่องคุณภาพคน, คุณภาพงาน และคุณภาพชีวิต ซึ่งเป็นความท้าทายของระบบราชการไทย และเป็นโจทย์ที่ ก.พ.จะกำหนดออกมาเป็นแผนปฏิบัติงานที่ชัดเจนต่อไป

“คีย์เวิร์ดสำคัญคือ ปริมาณ และคุณภาพของคน ที่ไม่สอดรับกัน ดังนั้น เราจึงต้องทำให้ทุกคนรับรู้ร่วมกันว่า ปัญหาของระบบราชการไทยคืออะไร ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถแก้ไขอะไรได้มาก เปรียบเทียบปัญหา คือ ช้าง และทุกวันนี้ช้างก็ยังยืนอยู่ในห้อง และเราเองก็อุ้มช้างออกนอกห้องไม่ได้ ดังนั้นหากไม่ทำในวันนี้ ระบบราชการจะเป็นแบบนี้ตลอด ก.พ.ในฐานะฝ่าย HR ของรัฐบาล จึงต้องหาวิธีทำให้ขนาดกำลังคน ต้นทุน และประสิทธิภาพของคน อยู่ในระดับที่เหมาะสมไปพร้อม ๆ กับการตอบโจทย์ที่ว่าจะสร้างเสริมนโยบายรัฐเพื่อขับเคลื่อนประเทศให้เป็นไทยแลนด์ 4.0 และทำให้ประชาชนผู้เสียภาษีรู้สึกดีต่อระบบราชการไทยอีกครั้ง”

นอกจากนี้ ก.พ.ยังมีความกังวลในประเด็นจำนวนผู้เกษียณอายุราชการ และการรับข้าราชการใหม่ “ไม่สมดุล” อีกทั้งสัดส่วนการลาออกก็เพิ่มขึ้น ซึ่งอายุเฉลี่ยของคนในระบบราชการอยู่ที่ 40-45 ปี หมายความว่าในทุก ๆ 15 ปี จะมีข้าราชการจำนวนมากต้องเกษียณอายุ แต่คนรุ่นใหม่ไม่สนใจอาชีพข้าราชการเหมือนในอดีต เพราะต้องการงานที่เป็นอิสระ งานที่สร้างแรงบันดาลใจ ขณะที่ผลตอบแทนหรือเงินเดือนไม่ใช่ประเด็นที่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจมากนัก ฉะนั้น อนาคตของตลาดงานจะถูกแทนที่ด้วยรูปแบบ “ฟรีแลนซ์” มากขึ้น ที่สำคัญ คนรุ่นใหม่ต้องการเห็นความสำเร็จเร็ว ขณะที่ระบบราชการไทย ยังใช้วิธีการ “ไต่เต้า” ซึ่งใช้เวลาการทำงานนานกว่าจะเติบโตในอาชีพข้าราชการ หรือบางทีอาจต้องใช้เวลาถึง 30 ปี ตรงนี้จึงไม่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่

หม่อมหลวงพัชรภากรกล่าวว่า จากสมมติฐานข้างต้น ทำให้ต้องกำหนดกรอบการปรับโครงสร้างดังนี้ คือ 1) ออกแบบประเภทข้าราชการ ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ และระบบราชการสัญญาจ้างแบบ contract base ในส่วนที่เป็นงานประจำ โดยไม่ต้องทำงานตลอดชีวิตอายุราชการ ขณะเดียวกัน ข้าราชการก็จะต้องมีการพัฒนาศักยภาพเพื่อให้สามารถทำงานได้หลากหลายตามภารกิจใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นได้ 2) เพิ่มช่องทางการเข้าสู่ระบบข้าราชการ ยกตัวอย่างในบางประเภทงาน นอกจากจะต้องสอบวัดความรู้ขั้นพื้นฐาน คือ การสอบภาค ก. ภาค ข. และภาค ค. และจะต้องเพิ่มการสอบ “เฉพาะด้าน” ด้วย เพื่อให้ได้คนที่เหมาะสมกับงาน

เนื่องจากปัจจุบันการสอบบรรจุข้าราชการจะใช้ข้อสอบชุดเดียวกัน ไม่ว่าจะสอบเข้ามาทำงานประเภทใดก็ตาม ทั้งยังมองว่าการสรรหาข้าราชการเข้ามาทำงานควรใช้รูปแบบของการ “ทดลองงาน” เข้ามาปรับใช้ด้วย หากทำงานไม่ได้ในตำแหน่งแรกที่บรรจุ สามารถเปลี่ยนงานได้ เพื่อให้สอดคล้องกับทักษะคนที่ทำงาน

ขณะเดียวกันก็ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาลาออกโดยไม่จำเป็น ซึ่งก็เป็นลักษณะนำวิธีการทำงานของภาคเอกชนมาปรับใช้ และ 3) การปรับอัตราโครงสร้างค่าตอบแทนให้เหมาะสมตามประเภทงานและตามเนื้องาน รวมถึงในส่วนของผลตอบแทนของข้าราชการประจำ กับข้าราชการที่มีสัญญาจ้างแบบ 5-10 ปี ซึ่งมีเนื้องานที่ต่างกัน ดังนั้นการจ่ายค่าตอบแทนก็จะต้องแตกต่างกันด้วย

“ตอนนี้ ก.พ.อยู่ระหว่างการดีไซน์โครงสร้างข้าราชการใหม่ เพื่อให้มองสเต็ปต่อไป คือ การสรรหาคน เมื่อเราแบ่งประเภทของภาระงานชัดเจนแล้ว ก็ต้องดีไซน์ช่องทางการสรรหาให้มีมากกว่า 1 ประตู และอาจจะต้องมีประตูที่มีความรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะทำสงครามแย่งชิงคนเก่ง ๆ เข้ามาทำงานในระบบราชการอีกด้วย” เลขาธิการ ก.พ.กล่าวและว่า

นอกจากนี้ เมื่อเร็ว ๆ นี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้หารือกับ ก.พ.ว่า ปัจจุบันการสรรหาข้าราชการไทยมีไม่กี่ช่องทาง และไม่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพให้เข้ามาทำงาน แม้ ก.พ.จะพยายามเปิดประตูต่าง ๆ มากขึ้นในการรับสมัครข้าราชการรุ่นใหม่ แต่ตราบใดที่โครงสร้างระบบราชการไม่ปรับเปลี่ยน คนรุ่นใหม่ก็ยังไม่เข้ามาทำงานเป็นข้าราชการอยู่ดี โดยปีหน้าจะเริ่มดำเนินการตามผลการศึกษา ซึ่งคาดว่าการปรับโครงสร้างครั้งนี้จะใช้เวลาประมาณ 15 ปี จึงจะเห็นภาพการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบอย่างชัดเจน

หม่อมหลวงพัชรภากรกล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา ก.พ.ได้หารือกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เพื่อให้สำนักงาน ก.พ. เป็น “ต้นแบบ” การหาคนเข้ามารับราชการ พร้อมจัดตั้งให้เป็น “HR LAB” หรือห้องปฎิบัติงาน เพื่อรื้อการบริหารระบบราชการงานบุคคลของประเทศ เพื่อสร้างเครื่องมือใหม่เข้ามาปรับใช้ โดยในโครงการนำร่องนี้ สำนักงาน ก.พ.ยังได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) รวมถึงสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง รวมถึงภาคธุรกิจเอกชน เพื่อมาช่วยกำหนดเป้าหมายร่วมกัน (collaboration) ในการออกแบบวิธีการสรรหาข้าราชการ เพราะเกณฑ์ดังกล่าวจะต้องนำไปใช้เทียบเคียงเพื่อนำเกณฑ์การสรรหาคนทำงานไปใช้กับหน่วยงานของตัวเองด้วย

อย่างไรก็ตาม การปรับโครงสร้างข้าราชการมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และที่สำคัญคือแต่ละกระทรวงมีกฎหมาย เงื่อนไข และหลักเกณฑ์ภายใต้กำกับ จึงทำให้การปฏิรูประบบราชการค่อนข้าง “ยาก” ฉะนั้้น หน่วยงานเกี่ยวข้องต้องมากำหนดโจทย์ร่วมกันเพื่อแก้ปัญหา พร้อมนำไปคิดต่อยอดให้เกิดประโยชน์ต่อไปในอนาคต

เลขาธิการสำนักงาน ก.พ.กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการขยายอายุเกษียณราชการนั้น ก.พ.อยู่ระหว่างดำเนินการ เบื้องต้นแยกเป็น 2 ส่วน คือ การต่ออายุให้กับผู้ที่กำลังจะเกษียณอายุ 60 ปี ทั้งที่ยังมีศักยภาพที่จะทำงานต่อได้ ซึ่งหากปล่อยให้เกษียณ อาจจะทำให้ภาครัฐ “เสียประโยชน์” ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียด คาดว่าจะแล้วเสร็จเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 นี้ และอีกส่วนคือ หน่วยราชการที่ต้องการและขาดแคลน แต่หาคนมาทำงานไม่ได้ สายงานหลัก ๆ คือ แแพทย์ และนักกฎหมาย ขณะนี้ก็เปิดโอกาสให้หน่วยงานต่าง ๆ สามารถสรรหาบุคลากรได้เองเพียงแต่ให้ ก.พ.เห็นชอบก็สามารถดำเนินการต่ออายุได้ ซึ่งคนกลุ่มนี้จะไม่ใช่ “นักบริหาร” แต่จะเป็นตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญและมีทักษะขั้นสูง

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: