เปิดเทอม​ 2562​ อาหารกลางวันนักเรียน​ มท.ยังตรึงงบให้ อปท.จัดสรร​ 20 บาท

ทีมข่าว TCIJ: 19 พ.ค. 2562 | อ่านแล้ว 20024 ครั้ง

กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย โอนงบฯ 8,143,101,573 บาท ให้ อปท. 76 จังหวัด จัดสรรเงินอุดหนุน 'นมโรงเรียน-อาหารกลางวัน' รับเปิดภาคเรียนที่ 1/2562 พบงบอุดหนุน ‘อาหารกลางวัน’ ยังอยู่ที่หัวละ 20 บาท/คน/วัน ไม่ขยับมาตั้งแต่ ‘ครม. ยิ่งลักษณ์’ อนุมัติเมื่อปี 2556 แต่ชี้ช่องหากเห็นว่าไม่เพียงพอให้ อปท.นำรายได้สมทบเอง พบปี 2551-2562 เพิ่มมาแค่ 3 ครั้งจาก 10 บาท เป็น 13 บาท และ 20 บาท ที่มาภาพประกอบ: thaihealth.or.th

มท. โอนงบให้ อปท. 76 จว. บริหาร 'นมโรงเรียน-อาหารกลางวัน' ภาคเรียนที่ 1/2562

ต้นปี 2562 กรมส่งเสริมการปกรองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ได้โอนงบประมาณรายจ่ายปี 2562 เงินอุดหนุนทั่วไป แผนกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ไตรมาสที่ 3 (เม.ย.-มิ.ย. 2562) วงเงิน 8,143,101,573 บาท เพื่อนำไปดำเนินการในโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน และโครงการอาหารกลางวัน ภาคเรียนที่ 1/2562 ซึ่งจะเปิดภาคการศึกษาในวันที่ 16 พ.ค. 2562 นี้

โดยแบ่งเป็น รายการเงินอุดหนุนสำหรับสนับสนุนอาหารเสริม (นม)โรงเรียน (ประถมศึกษา) วงเงิน 2,202,039,930 บาท เงินอุดหนุนสำหรับอาหารกลางวัน (ประถมศึกษา) วงเงิน 4,562,535,000 บาท รายการเงินอุดหนุนสำหรับสนับสนุนอาหารเสริม (นม) โรงเรียน (ปฐมวัย) วงเงิน 388,645,983 บาท และ เงินอุดหนุนสำหรับอาหารกลางวัน (ปฐมวัย) วงเงิน 989,789,660 บาท ให้กับ อปท. 239 แห่ง ในพื้นที่ 76 จังหวัด ทั้งนี้พบว่าจังหวัดที่ได้รับการจัดสรรงบอาหารเสริม (นม) โรงเรียน (ประถมศึกษา) มากที่สุดคือ จ.นครราชสีมา วงเงิน 94 ล้านบาทเศษ ได้รับการจัดสรร (นม) โรงเรียน (ปฐมวัย) มากที่สุดคือ จ.อุบลราชธานี วงเงิน 17 ล้านบาทเศษ ส่วนจังหวัดที่ได้รับการจัดสรรงบอาหารกลางวัน (ประถมศึกษา) มากที่สุดคือ จ.นครราชสีมา วงเงิน 195 ล้านบาทเศษ ได้รับการจัดสรรงบอาหารกลางวัน (ปฐมวัย) มากที่สุดคือ จ.อุบลราชธานี วงเงิน 43 ล้านบาทเศษ [1]

'สพฐ.' ประชุม 'ผอ.โรงเรียน' ย้ำขอจัดสรรงบอาหารกลางวันจาก 'อปท.'

ต่อมาเมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2562 นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เรื่องการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียน ปีการศึกษา 2562 ร่วมกับผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และผู้อำนวยการโรงเรียนทั่วประเทศประมาณ 50,000 คน ว่าในเรื่องอาหารกลางวัน สพฐ.ได้เน้นย้ำให้โรงเรียนตรวจสอบว่าได้รับงบอาหารกลางวันหรือยัง หากไม่ได้รับ ให้ทำหนังสือแจ้งไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ว่าถึงเวลาเปิดเทอมแล้ว ขอให้จัดสรรงบประมาณให้กับโรงเรียนด้วย พร้อมกับแจ้งข้อมูลว่าโรงเรียนมีจำนวนนักเรียนเท่าใด ต้องการงบประมาณจำนวนเท่าใด และการจัดซื้อจัดจ้างให้เป็นไปตามระเบียบพัสดุที่ออกมาใหม่ รวมทั้งได้เน้นย้ำข้อพึงระวังเกี่ยวกับโครงการอาหารกลางวัน เช่น หลักฐานการเบิกจ่ายไม่ตรงตามข้อเท็จจริง และการจัดอาหารกลางวันต้องเป็นไปตามหลักโภชนาการที่ดีพอ เป็นต้น [2]

พบอัตราให้ อปท. อุดหนุน ขั้นต่ำยังอยู่ที่ 20 บาท ตั้งแต่มติ ครม. ปี 2556

TCIJ สืบค้นข้อมูลพบว่าในหนังสือ 'ซักซ้อมแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายรองรับเงินอุดหนุนทั่วไปด้านการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562' ลงวันที่ 19 มิ.ย. 2561 ที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ส่งให้กับ อปท. ทั่วประเทศ ใช้เป็นเกณฑ์ให้ อปท. อุดหนุนเงินด้านการศึกษาในปีการศึกษา 2562 นี้ ได้กำหนดเพดาน เงินอุดหนุนอาหารเสริม (นม) จัดสรรสำหรับเด็กเล็ก, เด็กอนุบาล และเด็ก ป.1-ป.6 ให้พิจารณาตั้งงบประมาณรองรับในอัตราคนละ 7.37 บาท ส่วน เงินอุดหนุนอาหารกลางวัน จัดสรรสำหรับเด็กเล็ก, เด็กอนุบาล และเด็ก ป.1-ป.6 ให้พิจารณาตั้งงบประมาณรองรับใน อัตรามื้อละ 20 บาทต่อคน

โดย อปท. สามารถให้เงินอุดหนุนอาหารกลางวันแก่โรงเรียนในสังกัดต่างๆ ในพื้นที่ของตนได้ดังนี้ (1) โรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) (2) โรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) (3) โรงเรียนสังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) (4) ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.) ที่ อปท. จัดตั้งขึ้นเองและรับถ่ายโอน (5) สถานศึกษาสังกัดกรมการศึกษานอกโรงเรียน (ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนบนพื้นที่ราบสูง) และ (6) สถานศึกษาสังกัดกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ

อนึ่ง ในหนังสือนี้ยังมีการระบุไว้ว่า "อัตราจัดสรรคนละ 7.37 บาท ไม่ใช่ราคากลางในการจัดซื้อจัดจ้างอาหารเสริม (นม) เป็นเพียงราคาจัดสรรตามหลักเกณฑ์ที่ได้ทำความตกลงกับสำนักงบประมาณ" และ "อัตรา (อาหารกลางวัน) มื้อละ 20 บาทต่อคน ไม่ใช่ราคากลางในการจัดซื้อจัดจ้างอาหารกลางวัน แต่เป็นงบประมาณที่จัดสรรให้ ดังนั้น กรณีที่ อปท. พิจารณาเห็นว่างบประมาณค่าอาหารกลางวันที่จัดสรรให้สถานศึกษา (โรงเรียน/ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก) ในสังกัด ไม่เพียงพอ ส่งผลกระทบต่อการเสริมสร้างสุขอนามัยและการเรียนรู้ของเด็กนักเรียน อปท. ก็สามารถกำหนดรายการอาหารกลางวันที่เหมาะสม ถูกต้องตามหลักโภชนาการพร้อมราคากลางอาหารกลางวันของ อปท. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ทั้งนี้ หากราคากลางอาหารกลางวัน ที่ อปท. กำหนดมีอัตราสูงกว่า 20 บาทต่อคนต่อวัน อปท. ก็สามารถพิจารณานำเงินรายได้ของ อปท. สมทบได้" [3]

ทั้งนี้ TCIJ สืบค้นข้อมูลย้อนหลังพบว่า อัตราการอุดหนุนเงินงบประมาณอาหารกลางวันเด็กนักเรียนในรอบ 10 กว่าปีที่ผ่านมานี้ ย้อนไปเมื่อเดือน ก.ค. 2551 คณะรัฐมนตรีสมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช มีมติปรับเพิ่มเติมเงินอุดหนุนเป็นวันละ 10 บาทต่อคน ต่อมาสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีมติคณะรัฐมนตรีในเดือน พ.ค. 2552 ปรับเพิ่มเติมเงินอุดหนุนเป็นวันละ 13 บาทต่อคน และการปรับเพิ่มล่าสุดคือในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีมติคณะรัฐมนตรี ในเดือน ต.ค. 2556 ปรับเพิ่มเติมเงินอุดหนุนเป็นวันละ 20 บาทต่อคน

ไล่ออก อดีต ผอ.รร. ให้เด็กกินขนมจีนราดน้ำปลา- ผลสอบอปท.ทั่วประเทศไม่คืบ

ภาพจากคลิปเด็กนักเรียนชั้นอนุบาล โรงเรียนบ้านท่าใหม่ ต.ประสงค์ อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี กินเส้นขนมจีนคลุกน้ำปลาเป็นอาหารกลางวัน ที่มาภาพ: เดลินิวส์

จากกรณีมีการแชร์คลิปเด็กนักเรียนชั้นอนุบาล โรงเรียนบ้านท่าใหม่ ต.ประสงค์ อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี กินเส้นขนมจีนคลุกน้ำปลาเป็นอาหารกลางวัน ซึ่งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุราษฎร์ธานี เขต 2 มีคำสั่งย้ายนายสมเชาว์ สิทธิเชนทร์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่าใหม่ ไปช่วยราชการ พร้อมตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง และมีคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนตั้งแต่วันที่ 16 มิ.ย.2561 ต่อมาศึกษาธิการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2562 ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีมติไล่ออกนายสมเชาว์ ตามความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง ในความผิด 6 ข้อหา โดยมีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 17 มิ.ย.2561 ขณะนี้ส่งผลวินิจฉัยและมติการสอบสวนวินัยร้ายแรงไปที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาแล้ว ซึ่งนายสมเชาว์มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งภายใน 30 วัน สำหรับมูลความผิดของนายสมเชาว์ ที่คณะกรรมการตรวจสอบมีทั้งสิ้น 10 ประเด็น เป็นประเด็นวินัยร้ายแรง 5 เรื่อง ประกอบด้วย ทุจริตอาหารกลางวัน การจัดซื้อจัดจ้างระบบไฟฟ้า การขายผลผลิตปาล์มน้ำมันของโรงเรียน อนุญาตให้ขายน้ำอัดลมในโรงเรียน และโครงการจัดซื้อจัดจ้างก่อสร้างถนนคอนกรีตภายในบริเวณโรงเรียน ส่วนความผิดวินัยไม่ร้ายแรง 1 เรื่อง คือ โครงการก่อสร้างอาคารที่ดำเนินการเปลี่ยนวัสดุบางรายการ โดยไม่ชี้แจงข้อได้เปรียบเสียเปรียบ ซึ่งผิดระเบียบการปฏิบัติหน้าที่ ส่วนอีก 4 เรื่อง เช่น การเลี้ยงปลาดุก การเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ การปรับปรุงซ่อมแซมบ้านพักครู และซ่อมแซมระบบไฟฟ้า ไม่เข้าข่ายความผิดวินัย [4]

ตัวอย่างรายการอาหารจากระบบแนะนำสำรับอาหารกลางวันสำหรับโรงเรียน แบบอัตโนมัติ (Thai School Lunch: TSL)

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือน ม.ค. 2562 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ได้แนะนำโรงเรียนในสังกัด ให้พิจารณานำ ระบบแนะนำสำรับอาหารกลางวันสำหรับโรงเรียนแบบอัตโนมัติ (Thai School Lunch: TSL) มาใช้ในสถานศึกษา เพื่อให้มั่นใจว่าโปรแกรมอาหารกลางวันที่ทำไว้ล่วงหน้าเป็นเดือนนั้นมีสารอาหารที่เหมาะสม โดยโปรแกรมดังกล่าวเป็นโปรแกรมความร่วมมือระหว่างสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์จัดทำขึ้น เพื่อให้มีความครอบคลุมด้านคุณค่าทางโภชนาการตามหลักวิชาการ

สำหรับสถานศึกษาใดใช้วิธีการจัดหาโดยซื้อวัตถุดิบมาประกอบอาหารกลางวันเอง อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ก็ขอให้ประชาชนและชุมชนในพื้นที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบด้วยทุกครั้ง และเพื่อความโปร่งใสและเสริมสร้างการมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตงบประมาณอาหารกลางวัน ก็ให้มีการปิดประกาศรายการอาหารและจำนวนวัตถุดิบสำคัญที่ใช้ประกอบอาหารในแต่ละวัน รวมถึงให้ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หมั่นตรวจติดตามการจัดซื้อจัดจ้างอาหารกลางวันให้เป็นไปตามระเบียบกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยแต่งตั้งคณะทำงานสุ่มตรวจ หรือลงพื้นที่ในการสุ่มตรวจเองเป็นระยะ [5]

ต่อมาเมื่อเดือน ก.พ. 2562 สำนักข่าวอิศรา ได้ระบุว่ากรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ได้ทำหนังสือด่วนที่สุด ถึงสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัด ทวงถามความคืบหน้ารายงานผลการตรวจสอบ และการประเมินผลการดำเนินงานโครงการอาหารกลางวันขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศใน 76 จังหวัด (ยกเว้น กทม.) ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณค่าอาหารกลางวัน โดยเมื่อปลายเดือน ก.พ. 2562 มี อปท. หลายแห่งยังไม่ได้รายงาน และล่วงเลยระยะเวลามาพอสมควรแล้ว จึงขอให้สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัด ติดตามและเร่งรัด อปท. รายงานผลการดำเนินการดังกล่าวภายในวันที่ 15 มี.ค. 2562

ซึ่งในช่วงนั้นพบว่าในจำนวน 76 จังหวัด มี อปท. ทั้งสิ้น 7,755 แห่ง แต่ส่งรายงานผลการตรวจสอบแล้วแค่เพียง 2,322 แห่ง ยังเหลืออีก 5,433 แห่ง ที่ยังไม่ได้รับรายงานผล โดยมีเพียง 1 จังหวัดเท่านั้นที่ส่งรายงานผลการตรวจสอบ และการประเมินการดำเนินการโครงการอาหารกลางวันของ อปท. ครบทุกแห่ง ได้แก่ จังหวัดสตูล ที่มีทั้งสิ้น 42 อปท. และมีอยู่ 7 จังหวัดที่ยังไม่ส่งผลการตรวจสอบเลยแม้แต่ อปท. เดียว ได้แก่ จ.กระบี่ มี 60 อปท. จ.ตรัง มี 90 อปท. จ.ตาก มี 66 อปท. จ.นครนายก มี 45 อปท. จ.นครพนม มี 103 อปท. จ.บึงกาฬ มี 58 อปท. และ จ.อ่างทอง มี 63 อปท. [6]

 

ข้อมูลอ้างอิง

[1] มท. โอน 8 พันล. ให้ 239 อปท. บริหาร"นมโรงเรียน-อาหารกลางวัน"รับเปิดเทอมใหม่ "โคราช"เยอะสุด 300 ล. (ผู้จัดการออนไลน์, 1 เม.ย. 2562)
[2] ‘สพฐ.’ ประชุม 'ผอ.ร.ร.ทั่วประเทศ' เตรียมรับเปิดเทอม จี้ตรวจสอบงบประมาณให้รอบคอบ (มติชนออนไลน์, 8 พ.ค. 2562)
[3] หนังสือ 'ซักซ้อมแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายรองรับเงินอุดหนุนทั่วไปด้านการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562' (กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย, 19 มิ.ย. 2561)
[4] ไล่ออก อดีต ผอ.โรงเรียน ให้เด็กกินขนมจีนราดน้ำปลา (Thai PBS, 16 พ.ค. 2562)
[5] สถ.คุมเข้มอาหารกลางวัน อปท.ป้องกันทุจริต (โพสต์ทูเดย์, 15 ม.ค. 2562)
[6] มท.บี้ อปท.ทั่วประเทศส่งผลสอบโครงการอาหารกลางวันเด็ก-มีแค่ จ.สตูลแห่งเดียวทำครบ (สำนักข่าวอิศรา, 24 ก.พ. 2562)

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: รายการงบอุดหนุนด้านการศึกษา ของ อปท. ปีงบประมาณ 2562
ตามดู 'อาหารกลางวัน' ในโรงเรียน พบ 'สพฐ.-อปท.' คุณค่าทางโภชนาการสู้ 'ตชด.' ไม่ได้
จับตา: อปท. อุดหนุนค่า ‘นม-อาหารกลางวัน’ ให้โรงเรียนเท่าไร?
‘เปิดเส้นทาง ‘งบโครงการอาหารกลางวัน’ ใกล้ปิดเทอม-แต่เงินยังไปไม่ถึง'โรงเรียน' คลังประเมิน 4 ด้านไม่ผ่านเกณฑ์มาแล้ว 3 ปี’

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: