สำรวจ‘เส้นขนาน’ ชาวบ้าน-นศ. ผ่านเมืองมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์-รังสิต

สุมีนา พรมนัส | TCIJ School รุ่นที่ 6 | นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ | 19 ก.ย. 2562 | อ่านแล้ว 16169 ครั้ง

ฉันเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาได้ 2 ปีแล้ว ซึ่งในระดับปริญญาตรีจะต้องไปเรียนที่ศูนย์รังสิต จำเป็นต้องหาที่พักอาศัยจนกระทั่งเรียนจบ ทำให้ฉันได้ใช้ชีวิตมีส่วนร่วมอยู่ทั้งในธรรมศาสตร์และชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัยด้วย จนกระทั่งเกิด #Savechiangrak ซึ่งเป็นแฮชแท็กจากเหตุการณ์วิวาทะระหว่างนักศึกษาที่กำลังจะสอบกับชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบมหาลัยที่จัดงานบวช นำมาสู่ข้อถกเถียงเรื่องการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในพื้นที่เมืองมหาวิทยาลัยแห่งนี้  ที่มาภาพ: G7Photo

จากสิ่งที่ได้สังเกตมา ทำให้ต้องตั้งคำถามกับความเป็นเมืองโดยรอบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต การใช้ชีวิตอยู่ของผู้คนรอบมหาวิทยาลัยซึ่งหลากหลาย ตั้งแต่ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ถาวร นักศึกษาที่อยู่ช่วงเรียนเมื่อจบก็จากไป ครอบคลุมถึงผู้ ประกอบการร้านค้าต่างๆ มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างไร นำมาสู่การสำรวจถึงความเชื่อมโยงของคนที่มาอาศัยอยู่ในพื้นที่รอบมหาวิทยาลัย 

เมืองมหาวิทยาลัยในแบบธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

ในปี พ.ศ.2542 ทางผู้บริหารมหาวิทยาลัยมีมติว่าจะย้ายการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรีมาอยู่ที่รังสิตบนที่ดินกว่าสามพันไร่ เนื่องจากสถานที่ท่าพระจันทร์ไม่เพียงพอต่อจำนวนนักศึกษาที่เข้ามาเรียน แม้ว่าก่อนหน้านั้นจะเกิดข้อถกเถียงเรื่องการย้ายหรือไม่ย้ายมหาวิทยาลัยก็ตาม แต่การย้ายก็ได้เกิดขึ้นในที่สุด

เมื่อมีการย้ายมหาวิทยาลัยย่อมทำให้อาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนักศึกษาต้องมีการเรียนการสอนประจำที่สถานที่แห่งใหม่คือศูนย์รังสิต ระยะทางวิทยาเขตแห่งใหม่อยู่ห่างไกลจากตัวเมืองกรุงเทพฯ เกือบ  40 กิโลเมตร จำเป็นต้องสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก ก่อสร้างสาธารณูปโภคในมหาวิทยาลัย จากเดิมสภาพพื้นที่เป็นป่าใหญ่ ทุ่งนาโล่งๆ แปรเปลี่ยนเป็นแหล่งการศึกษาพร้อมกับการขยายตัวของหอพักและย่านการค้า เพื่อรองรับความต้องการของจำนวนประชากรที่เข้ามาอยู่เพิ่มขึ้น

ป้าบาหยัน ร้านอาหารครัวตาชัยริมถนนเชียงราก ให้สัมภาษณ์กับฉันว่า เธอมาอาศัยบุกเบิกพื้นที่ทำกินก่อนที่จะมีมหาวิทยาลัยมาตั้ง เธอเล่าให้ฟังว่าสภาพภูมิศาสตร์ของพื้นที่มหาวิทยาลัยแต่ก่อนเป็นป่า ทุ่งนาโล่งๆ  มีหนองน้ำใหญ่ให้หาปลาได้ ซึ่งปัจจุบันก็ได้กลายมาเป็นมหาวิทยาลัย การบุกเบิกพื้นที่ทำกินเป็นร้านอาหารของเธอไม่ต้องเสียค่าเช่าเหมือนคนอื่นเพราะเธอมีที่ดินเป็นของตนเองแล้ว

บอกเลยนะตรงนี้เคยเป็นป่ากับหนองน้ำใหญ่มาก่อน ป้ายังเคยเข้าไปหาปลา ตอนนี้มันเป็นหนองน้ำหน้าตึกโดมไปละ ไม่ค่อยได้เข้าไปเลย” ป้าบาหยันเล่าด้วยแววตาตื่นเต้นที่ได้พูดถึงวันวาน

ในขณะที่พื้นที่บางส่วนที่ซ้อนทับกับมหาวิทยาลัย ซึ่งได้ข้อมูลมาจากการสัมภาษณ์ของเจ้าหน้าที่ท่านหนึ่งในกองบริหารศูนย์รังสิต กล่าวว่าที่ดินของมหาวิทยาลัยส่วนที่ติดกับถนนพหลโยธินราว 300 ตารางวา มีชาวบ้านราว 10 ครอบครัวเข้ามาอยู่อาศัย ก็เกิดการเจรจาระหว่างฝั่งมหาวิทยาลัยกับชาวบ้านเรื่องการตกลงค่าเช่าที่ในราคาที่พอจะจ่ายไหว แต่เมื่อใดที่ทางมหาวิทยาลัยต้องการใช้ที่ดินส่วนนั้นมาใช้ประโยชน์เป็นหอพักสำหรับบุคลากร หรือพื้นที่ที่ส่วนขยายเพื่อรองรับความต้องการของมหาวิทยาลัย ทางมหาวิทยาลัยจะแจ้งให้ชาวบ้านทราบก่อนล่วงหน้า เพื่อให้ชาวบ้านเตรียมตัวในการย้ายจากที่ดินส่วนนั้น เพื่อลดความเสี่ยงข้อพิพาทกับชาวบ้านที่อาศัยโดยรอบ

พื้นที่กว้างใหญ่ที่ถูกขนานนามว่า ‘ทุ่งรังสิต’ จากเดิมคือ ป่า ทุ่งนากว้างใหญ่ เนื้อที่ประมาณ 1,769 ไร่ มาสู่เมืองมหาวิทยาลัยพร้อมกับการสร้างบ้านแปงเมืองตามมา เกิดการขยายตัวของเมือง เนื่องจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น เป็นทั้งนักศึกษาเข้ามาเรียน ซึ่งนักศึกษาใหม่ในแต่ละปีมีมากกว่า 7,000 กว่าคน ประกอบด้วยชาวบ้าน และผู้ที่อพยพจากที่อื่นมาอาศัยอยู่ในพื้นที่ มีการลงทุนจากภายในและทุนภายนอกพื้นที่ จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นกับความต้องการทรัพยากรในการอุปโภคบริโภคที่หลาก หลาย จนเกิดการกลายเป็นเมือง (Urbanization) ขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ 

หลายชีวิตเล็กๆ ที่เข้ามาบุกเบิกสร้างบ้านพักอาศัยอยู่ก่อน ต่างพบการเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิต เช่น ผันตัวมาเป็นพ่อค้าแม่ค้าร้านอาหาร หรือ วินมอเตอร์ไซค์ เป็นต้น นับวันมหาวิทยาลัยจะเป็นตัวแปรที่สร้างความเป็นเมือง ดึงดูดใจให้เกิดการลงทุนเป็นผู้ประกอบการร้านค้าเพื่ออุปโภคบริโภค หรือ ผู้อพยพจากต่างถิ่นเข้ามาจับจองที่ดินที่อยู่อาศัยจนเกิดเป็นชุมชนที่ขยายตัวไปเรื่อยๆ

พื้นที่มหาวิทยาลัยได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชาวบ้านโดยรอบด้วย เพราะการเข้ามาของการลงทุนเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรนักศึกษา เล็งเห็นโอกาสในการสร้างกำไร นอกจากนี้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์คอนโดมิเนียมได้เกิดขึ้นหลายโครงการ รองรับการสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าที่จะมาถึงย่านรังสิต ยิ่งทำให้พื้นที่ส่วนนี้เกิดความงอกเงยยิ่งขึ้นไป พลวัตความเปลี่ยนแปลงจากความเป็นเมืองทำให้วิถีชีวิตของชาวบ้านในชุมชนเปลี่ยนไป เกิดการเลื่อนฐานะทางสังคม นำตัวเองเข้ามาสู่ระบบตลาดเป็นผู้ประกอบการ เช่น ร้านอาหาร หรือ ร้านอาหารรถเข็น จากปากคำของชาวบ้านที่ฉันไปสำรวจชุมชนคุ้งผ้าพับ ซึ่งเป็นชุมชนที่มีบริเวณใกล้มหาวิทยาลัย คุณป้าท่านหนึ่งกล่าวกับฉันว่า การมีมหาวิทยาลัยนั้นสร้างงานให้คนในชุมชนก็จริง แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อการพัฒนารุดหน้าไปรวดเร็ว ก็นำปัญหาสิ่งแวดล้อม ความแออัด ราคาค่าครองชีพสูงขึ้น  “มีมหา’ลัยมันก็ดีนะ ทำให้คนแถวนี้มีงานแม้เราจะเรียนมาน้อย เพื่อนป้าบางคนก็ไปเป็นวินมอไซค์ เป็นแม่บ้านในมหาลัยกัน หรือทำของมาขายงี้  ถ้าถามเรื่องปัญหามันมีแค่เสียงดังกันเท่านั้นล่ะ (หัวเราะ)” คุณป้าร้านรับเย็บผ้า ที่ชุมชนหลังสะพานสูง ซึ่งอยู่ข้างหลังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต เล่าให้ฟัง

ธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต:ต้นแบบเมืองมหาวิทยาลัยอัจฉริยะ

จากการที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน โดย สถาบันอาคารเขียวไทย ได้จัดโครงการสนับสนุนการออกแบบ เมืองอัจฉริยะ (Smart Cities – Clean Energy) ซึ่งหลักเกณฑ์ ประกอบ ด้วย 8 หมวดหลัก ได้แก่ หมวดพลังงานอัจฉริยะ (Smart energy) หมวดการสัญจรอัจฉริยะ (Smart mobility) หมวดชุมชน อัจฉริยะ (Smart community) หมวดสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart environment) หมวดเศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart economy) หมวดอาคารอัจฉริยะ (Smart building) หมวดการบริหารจัดการ เมืองแบบอัจฉริยะ (Smart governance) และ หมวดนวัตกรรม อัจฉริยะ (Smart Innovation) นั้น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ ส่งโครงการ ธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต: ต้นแบบเมืองมหาวิทยาลัย อัจฉริยะ หรือ Thammasat @ Rangsit: A Leading Model of Smart Campus เพื่อรับการสนับสนุนจากโครงการดังกล่าว


ที่มาภาพ: จุลสารธรรมศาสตร์ 

โดยแนวคิดในการเสนอโครงการดังกล่าวได้จากการปรับปรุง ผังแม่บทของมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต พ.ศ. 2577 โดยเน้นการปรับโครงหลักของผังให้เหมาะสม เพื่อการเสริมสร้าง อัตลักษณ์และบทบาทที่ชัดเจนของศูนย์รังสิต ในการเป็น “สังคมแห่ง การเรียนรู้อย่างยั่งยืน เพื่อรับใช้ประชาชน และผู้อยู่มีความสุข” โดย มีเป้าหมายเพื่อการเป็น ศูนย์ธรรมศาสตร์เพื่อประชาชน (Center for the People) ชุมชนแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Learning Community) เมืองมหาวิทยาลัยสีเขียวที่ยั่งยืน (Sustainable Campus Town) มหาวิทยาลัยแห่งความสุข (Joyful Campus) และ ศูนย์กลางบ่มเพาะเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy Campus)

จะเห็นได้ว่าเป้าหมายดังกล่าวเป็นไปเพื่อสร้างความเป็น ‘เมืองธรรมศาสตร์’ ที่เชื่อมโยงกันด้วย 3 องค์ประกอบสำคัญ คือ ศูนย์ธรรมศาสตร์บริการ ต้นแบบเมืองมหาวิทยาลัย และ สวนธรรมศาสตร์สาธารณะ โดยที่ ศูนย์ธรรมศาสตร์บริการ จะสะท้อนอัตลักษณ์ดั้งเดิมของมหาวิทยาลัย จึงส่งเสริมการใช้งาน และปรับลักษณะทางกายภาพของการเป็น “ศูนย์ธรรมศาสตร์ เพื่อประชาชน” ในบริเวณ “ด้านหน้า” ทุกด้านของมหาวิทยาลัย โดยให้มีลักษณะเปิดรับต่อชุมชนภายนอกและมีการใช้งานที่ เอื้อต่อการบริการประชาชนอย่างเต็มที่ ทั้งบริเวณทิศตะวันออก (ถนนพหลโยธิน) ให้เป็นพื้นที่การบริการวิชาการด้านการส่งเสริม สุขภาพและรักษาพยาบาล บริการห้องสมุด พิพิธภัณฑ์และส่งเสริม ความรู้ด้านธุรกิจ บริเวณทิศตะวันตก (สถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง) ให้เป็นพื้นที่พาณิชยกรรม แบบผสมผสาน เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจ และพัฒนาคุณภาพชีวิต และบริเวณทิศใต้ (ถนนเชียงราก) ให้เป็น พื้นที่บริการด้านนันทนาการ กีฬาและวัฒนธรรม

 

ชาวบ้านกับนักศึกษา เส้นขนานของเมืองมหาวิทยาลัย

ความสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชนโดยรอบ มีความสำคัญในแง่นโยบายดังนี้ มหาวิทยาลัยได้สร้างงานให้กับคนในชุมชน อย่างเช่น วินมอเตอร์ไซค์ คนขับรถ NGV คนขับรถสองแถว จนกระทั่งแม่บ้านทำความสะอาด รปภ. ซึ่งเป็นข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่กองบริหารศูนย์รังสิต นโยบายสุดท้ายคือมหาวิทยาลัยพยายามไม่ปล่อยของเสียทางเคมีสู่ชุมชนโดยรอบ ตามประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่องนโยบายความปลอดภัย อาชีวอนามัย

สังเกตว่าความสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยกับพื้นที่โดยรอบ เป็นเพียงความสัมพันธ์ที่เป็นทางการเท่านั้น แต่ในแง่ความใกล้ชิดนั้นอาจจะไม่ได้มีความสนิทสนมกลมเกลียวกันนัก เป็นชีวิตที่แยกเป็นเอกเทศอย่างชัดเจนระหว่างมหาวิทยาลัยกับพื้นที่โดยรอบ ราวกับว่าเป็นเรื่องราวของคนละโลกที่แตกต่างกันต้องมาอาศัยอยู่ด้วยกัน ชีวิตนักศึกษาที่มาเรียนจนจบแล้วก็ออกไปรุ่นแล้วรุ่น

วิวาทะกรณี #savechiangrak ในโซเชียมีเดีย ที่มาภาพ: Twitter 

เล่า ในขณะที่ชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบมหาวิทยาลัยนั้นอยู่ถาวร ความสัมพันธ์ของนักศึกษากับชาวบ้านมากสุดคือการจับจ่ายใช้สอยซื้อของจากร้านค้าท้องที่ เช่น การซื้อหมูปิ้งไก่ปิ้งกินก่อนไปเรียน การนั่งวินมอเตอร์ไซค์แล้ววินถามสารทุกข์สุกดิบเพียงไม่กี่นาที การนั่งร้านอาหารตามสั่ง ร้านส้มตำได้มีโอกาสพูดคุยเล็กน้อยกับชาวบ้านไม่กี่ประโยค อาจจะมีวิชาหนึ่งที่ต้องลงพื้นที่ชุมชนบ้างแต่มันคือการทำโครงงานชั่วคราว เมื่อจบโครงการก็จากเขาไป ไม่ได้มีความรู้สึกผูกพันกัน แต่ชาวบ้านก็รับรู้ว่าจะต้องมีนักศึกษาเข้ามาตามรายวิชา สร้างโปรเจคต์ที่อาจไม่ได้แก้ปัญหาให้ชาวบ้านได้ทันทีนัก ก็พร้อมคุยตอบปัญหาให้ 

แต่บางบ้านที่ผู้เขียนไปสัมภาษณ์เขาก็ระแวงนักศึกษาบ้าง พยายามหลีกเลี่ยงการพูดคุยกับเราบ้าง เพราะชาวบ้านบางรายเจอควันหลงจากเรื่องที่ดิน หรือ #savechiangrak บนโลกโซเซียล กรณีเปิดเพลงงานบวชเสียงดังในวันที่นักศึกษามีการสอบ ชาวบ้านบอกว่าตนรู้สึกอับอายที่เรื่องราวในชุมชนถูกวิพากษ์วิจารณ์ในโลกโซเซียล บางรายก่อนที่ฉันจั้งคำถามจะชิงบอกก่อนเลยว่า “ป้าไม่ได้ด่ามหาวิทยาลัยเน้อ” สะท้อนให้เห็นว่า ชาวบ้านมีความกังวลใจในความไม่ลงรอยกัน วิถีชีวิตปกติของชาวบ้านถูกมองว่าสวนทางกันกับวิถีชีวิตของนักศึกษา นี่อาจจะนำไปสู่ข้อขบคิดเรื่องเราควรทำอย่างไรให้ชาวบ้านและนักศึกษาใช้ชีวิตร่วมกันอย่างปกติสุข อย่างเช่น ชาวบ้านไม่รู้ว่าช่วงไหนนักศึกษามีสอบ แต่ถ้ามีการแจ้งบอกให้ชาวบ้านรับรู้เขาก็พร้อมจะให้ความร่วมมือ

ทางฝั่งเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยคนหนึ่งกล่าวกับฉันว่า เขายอมรับว่าหน้าที่ ภาระการดูแลครอบคลุมเพียงแค่มหาวิทยาลัย นอกรั้วออกไปเป็นเรื่องของทางเทศบาลท่าโขลง ซึ่งเป็นหน่วยการปกครองท้องถิ่นที่ดูแลและรับผิดชอบ หรือเอกชนผู้ประกอบการหอพักนักศึกษา ร้านอาหารจากทุนภายนอกที่มาลงทุนต่างหาก

อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต เล่าให้ฟังว่าชีวิตตอนเรียนในสมัยก่อน เขาชื่นชอบที่จะไป คลุกคลีกับชาวบ้านถามสารทุกข์สุกดิบกับชาวบ้าน จนนำไปสู่การสนิทสนมกัน ชาวบ้านก็เอากับข้าวกับปลามากินด้วยกัน เขามองว่าชีวิตรอบมหาวิทยาลัยคล้ายกับที่บ้านต่างจังหวัด ชาวบ้านกับนักศึกษานั้นไม่ได้ห่างเหินเลย เพียงแค่เราลองทักเขาอย่างเป็นมิตร ชาวบ้านก็พร้อมจะมีไมตรีกับเรา เขาตั้งข้อสังเกตว่าทุกวันนี้เราคุยหรือสื่อสารกันน้อยลง เส้นขนานระหว่างชาวบ้านกับชุมชนก็ถ่างกว้างขึ้น “ชีวิตมหาลัยเมื่อก่อนกับเดี๋ยวนี้ต่างกัน รุ่นก่อนๆอย่างพี่ชอบไปสำรวจดูชีวิตชาวบ้าน บางทีเข้าไปยังได้กินข้าวฟรีเลยใจดีมากบางบ้าน เราไปพูดคุยกับเขาบ่อยๆ ก็สนิทกันแล้ว แต่อย่างทุกวันนี้คงไม่มีแล้ว มันเป็นสังคมต่างคนต่างอยู่ พูดคุยกันน้อยลงไปมาก” พี่แครส อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ อธิบาย

‘ทุน’ รอบมหาวิทยาลัย และปัญหาที่รอวันแก้ไข

ชาวบ้านหรือผู้ที่อยู่ในละแวกมหาวิทยาลัยที่ผันตัวมาทำร้านค้า ก็เป็นตัวแปรสำคัญในความเป็นเมืองมหาวิทยาลัย เกิดความเจริญมั่งคั่งให้กับพื้นที่รอบมหาวิทยาลัย เป็นที่ดึงดูดใจในการลงทุนประกอบการร้านค้า ร้านอาหาร ที่พักสำหรับนักศึกษา สิ่งเหล่านี้มาพร้อมกับการพัฒนาของทุนและโลกาภิวัฒน์ ทำให้ชุมชนเข้าสู่ระบบตลาด มีความเป็นทุนท้องที่ แม้ขนาดธุรกิจอาจจะไม่ได้มากเท่ากับทุนภายนอก  ซึ่งทุนภายนอกเกือบทั้งหมดไม่ใช่คนในท้องที่ แต่มาจากที่อื่น  

“พวกหอพัก หรือ ร้านค้าที่ตั้งติดถนนส่วนมากเป็นของคนจากที่อื่นทั้งนั้นแหละ ส่วนพวกป้าๆ ชาวบ้านที่ขายของ ก็อาจจะแค่รถเข็น ขายข้าวร้านเล็กๆ ทำเท่าที่งบจะมี”  ป้าบาหยัน ร้านอาหารตามสั่งครัวตาชัย กล่าว

เมื่อความเป็นเมืองขยายตัว จำนวนประชากรที่มาอยู่อาศัยเพิ่มขึ้น นำมาสู่ปัญหาความแออัดบริเวณรอบมหาวิทยาลัย ประสบปัญหารถติดเนื่องจากติดถนนพหลโยธินและใกล้ทางด่วน ในตอนกลางคืนยังมีความน่ากังวลเรื่องความปลอดภัย เนื่องจากไฟสว่างไม่เพียงพอ ปัญหาเรื่องการจัดการของระบบสาธารณะ ซึ่งไม่อาจตอบสนองความต้องการอย่างทั่วถึง เช่น เกิดปัญหาทางเท้าที่ยังไม่เรียบเสมอกัน ยังไม่มีการขุดท่อระบายน้ำให้เหมาะสม เมื่อเจอฝนตกหนักจะเกิดการระบายน้ำไม่ทัน ส่งผลให้เกิดน้ำขัง บางพื้นที่อาจจะเจอกับปัญหาน้ำท่วม 

ความเหลื่อมล้ำที่เห็นได้ชัดคือ ฉากหน้าเราเห็นตึกหอพักและห้าง ฉากหลังเราเห็นชีวิตทุ่งนา การเพิ่มจำนวนของสลัม ทำให้ตระหนักได้ว่าการเจริญเติบโตของความเป็นเมืองมหาวิทยาลัยนั้น กระจุกอยู่แค่พื้นที่ที่มีธุรกิจ ลักษณะทางกายภาพเจริญไม่เท่ากัน บางพื้นที่แทบจะเป็นแหล่งเสื่อมโทรม ระบบสาธารณูปโภคอย่าง ถนน ทางเท้า ยังไม่สามารถอำนวยความสะดวกนัก ปัญหากองขยะมูลฝอยที่เพิ่มขึ้นตามการบริโภคของประชากร เนื่องจากเมืองรอบนอกมหาวิทยาลัยนั้นเต็มไปด้วยคลอง มักจะเจอปัญหาผักตบชวาและน้ำเน่าเสีย

นี่คือปัญหาและความท้าทายของความเป็นเมืองที่ขยายตัวโดยไม่มีทิศทางและปราศจากการวางแผนอันประกอบด้วยข้อมูลความรู้ ที่เกิดขึ้นแล้วในหลายพื้นที่หลายภูมิภาค โดยเฉพาะที่เกิดกับย่านเมืองมหาวิทยาลัยทั้งหลาย

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: