สิ่งที่นับไม่ได้ในงานของอรวรรณคือ “ชีวิต” ของผู้คนที่เธอได้สังเกตการณ์ในชีวิตประจำวัน จุดยืนในการบอกว่า ชีวิตไม่ควรถูกนับ เพราะมันไม่ควรถูกกำหนดด้วยระบบคุณค่า ผันแปรตามตัวเลขมากไปหาน้อย หรือน้อยไปหามาก คุณค่าที่มองลงจากที่สูงหรือมองขึ้นมาจากระนาบที่ต่ำ แต่สิ่งที่น่าเศร้าคือ ความเป็นจริงที่คนนับเอาคุณค่าต่างๆ มาเป็นตัววัดความหมายของตัวตน แบ่งเส้นชนชั้น ตัวเรา-คนอื่น ตลอดจน ดีและชั่ว
การก่อร่างสถาปัตยกรรม การประกอบสร้างบทสนทนา
การสร้างบทสนทนาในงานเรื่อง “นับ” ของอรวรรณ ดูเหมือนว่าศิลปินจะใช้กลวิธีของการสังเกตการณ์ พูดคุย มีส่วนร่วม จนดูเป็นกระบวนการสร้างงานศิลปะของเธอนั้น ผมกลับมองเห็นว่า กระบวนการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชั่วขณะเวลานั้น เป็นการแปลกเปลี่ยนที่เข้าใจว่าเธอไม่ได้สวมหมวกของศิลปิน หรือแม้แต่นักวิจัย แต่คือตัวตนธรรมดาๆ ของเธอเองที่พูดคุยในระนาบเดียวกับผู้คนที่ผ่านเวียนเข้ามาในชีวิตเธอโดยบังเอิญ หรือเธอเลือกเดินไปแสวงหาชีวิตบางอย่างที่คู่ขนานไปกับชีวิตของเธอเอง
แน่นอนว่า อรวรรณมีเจตนาหรือจงใจตั้งคำถามในบทสนทนาของเธอทุกครั้ง เพราะทุกเรื่องราวถือว่าสำคัญในฐานะของการแลกเปลี่ยนความหมายและคุณค่าชีวิตของเธอ แต่เธอไม่ได้บอกว่า สิ่งที่ตั้งใจอยากให้ตอบจากคู่สนทนาคือ “ธง" ที่เธอตั้งเอาไว้แล้ว เธอแค่ใช้วิธิวิทยาของการ “นับ" เป็นกรอบในการเล่าเรื่องราวทั้งหมด แต่เรื่องเล่าต่างๆ ที่ปรากฏคือ สิ่งที่เธอไม่ได้คาดการณ์ไว้
การก่อร่างสถาปัตยกรรมที่อรวรรณนำมาวางเรียงเป็นทุ่งคอนกรีต ต่างรูปทรง ต่างรูปแบบ คือ หมุดหมายของชั่วขณะเวลาที่อรวรรณได้บันทึกเอาไว้ อาจมองได้ว่าเป็นเหมือนสุสาน / สวน / เขาวงกต ต่างๆ นานา แต่ท้ายที่สุดแล้ว มันเป็นลักษณะชั่วขณะของสถานที่ต่างๆ ที่ย่อมเปลี่ยนไป เช่นเดียวกับตัวของเธอเอง
องคาพยพและสะท้อนมองตัวเอง
การเคลื่อนย้ายองคาพยพของอรวรรณไม่ว่าจะในฐานะผู้หญิงคนหนึ่งหรือศิลปินคนหนึ่งแล้ว การจัดวางความสัมพันธ์กับพื้นที่และผู้คนรายรอบตัวของเธอปรากฏให้เห็นเรื่อยมาในงานชุดนี้ของเธอ หลายๆ ข้อเขียนในงานของอรวรรณไม่เพียงสะท้อนชีวิตของผู้คนต่างๆ ที่เธอได้พบเจอต่างกรรมต่างวาระ มันยังสะท้อนย้อนคิด (reflexivity) ชีวิตของตัวเธอเองต่างเกี่ยวพันกับเส้นทางชีวิตของคนต่างๆ ไปพร้อมกัน
องคาพยพของอรวรรณและผู้คนที่เธอได้พบเจอในสถานการณ์ต่างๆ พื้นที่ต่างๆ เส้นภาพวาดและชุดเรื่องราวจึงสร้างความหมายที่แตกต่างออกไป ในบริบทที่หลากหลายออกไปด้วย ทำให้งานของอรวรรณที่ดูเหมือนเล่าเรื่องชีวิตของคนอื่น แต่ที่จริงแล้ว เธอกำลังตั้งคำถามกับตัวเองทั้งในเรื่องความเชื่อ ความคิดทางการเมือง เพศสภาพ สถาบัน วัฒนธรรม ชีวิตประจำวันของเธอและสังคมที่รายล้อมเธออยู่
ใครนับ?
สิ่งที่แปลกใจเมื่อหาหนังสือทางมานุษยวิทยาที่พูดเรื่อง “Counting” หรือ “นับ” นั้นผูกโยงกับเรื่องการเมือง การเคลื่อนไหว ยกตัวอย่างหนังสือ 2 เล่มคือ Who “Counts”?: How Numbering Defines Who Matters (and Who Decides) โดย Diane M. Nelson (2015) และ Counting the Dead: The Culture and Politics of Human Rights Activism in Colombia โดย Winifred Tate (2007)
หนังสือเล่มแรก Who “Counts”? ที่ชวนคิดถึงการนับจำนวนผู้ออกมาประท้วงบนท้องถนนเพื่อขับไล่ประธานาธิบดีกัวเตมาลา การนับที่เพิ่มขึ้นในเชิงของตัวเลขยังเป็นการนับเพิ่มขึ้นของ “อำนาจ” ด้วยเช่นกัน ความหมายในนัยเชิงอำนาจจึงขึ้นอยู่กับว่า ใครเป็นคนนับ? หากองค์กร/สถาบันเป็นคนนับจึงเป็นการนับเรื่องของ “ข้อมูล” (data) ที่จะเอาใช้โจมตีเหยื่อเพื่อลดรอนสิทธิความเป็นมนุษย์ของประชาชน พลันนึกถึงเหตุการณ์การโจมตีจ่านิว นักเคลื่อนไหวประชาธิปไตย เมื่อ 28 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา เป็นคำถามที่ชวนคิดถึงการนับที่ทำโดยสถาบันที่เอาอำนาจมากำหนดนับข้อมูลจำนวนการเคลื่อนไหว นับช่วงเวลาในชีวิตประจำวันของจ่านิว ตลอดจนมานับจำนวนคนที่เป็นปรปักษ์กับอำนาจมืดเหล่านั้น
และเชื่อว่าหนังสือ Counting the Dead คงชวนนับคนตาย หรือกำลังจะตายไปกับความสิ้นเปล่าของประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน อันเป็นกลุ่มสถาบันที่หยิบเอาจำนวนคนตายที่เสียชีวิตไปกับขบวนการเคลื่อนไหวต่างๆ มันจึงไม่ใช่แค่การนับจำนวนคนตาย แต่คือการหยิบเอาความหมายเข้ามาส่วนในการนับเพื่อขับเคลื่อนต่อไปด้วย ชีวิตของคนจึงเป็นสมการหนึ่งที่นับรวมให้เห็นถึงคุณค่าที่หลายคนให้ไม่เท่ากัน เช่น การนับเสียงของคน 1 ต้องเท่ากับ 1
นับถอยหลัง
รถ คน ตึก ติดเรียงกันนิ่งๆ
การนับเวลา เริ่มต้นที่ 35 บาท
จาก 35 บาท ตัวเลขเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เวลาเพิ่มขึ้น
เรื่อยๆ
เรายังอยู่กันที่เดิม
มีบทสนทนาที่เพิ่มขึ้นไปตามราคาของตัวเลข
“พี่ละ จะกลับบ้านไปเลือกตั้งไหมคะพี่?”
“กลับสิ”
“พี่ว่าทหารทำงานหนักไหม”
“พี่นะ เป็นทหารมานานเลย แต่เลิกเป็นละ รับไม่ได้”
“ทำไมล่ะพี่?”
“ขับรถเองมันอิสระกว่านะ แต่ยังใส่ชุดทหารอยู่นะ ชอบชุด
ตั้งใจแล้วว่ากลับจากชายแดนพี่จะเลิกเป็นทหาร”
- ส่วนหนึ่งจากงานเขียนของอรวรรณ ในเรื่อง “35”
ถึงแม้การนับตัวเลขมิเตอร์ของคนขับแท็กซี่ที่อรวรรณชวนคุยนั้น เป็นการนับที่มองได้ทั้งสองทาง คือ คนขับแท็กซี่นับมูลค่าของเวลาและระยะทางที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสวนทางกับผู้โดยสารที่นับเลขมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นมูลค่าเงินที่ต้องเสียไป เรื่องราวที่มีนัยทางการเมืองบนรถแท็กซี่ชี้ชวนให้คนอ่านนับเลขขึ้นมาในใจว่า เราต่างอยู่ในประเทศที่นับเลขถอยหลังสู่ความฉิบหายไปถึงเมื่อไหร่ ถ้าลองนับความสูญเสียของตัวเลขทางเศรษฐกิจ ตัวเลขคนเสียชีวิตในเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตย และตัวเลขอื่นๆ เราต่างรู้ได้ทันทีว่า เราต่างนับกันคนละโลก
สรุป - หลอกให้นับ
เพราะว่างานของอรวรรณไม่ได้ชวนให้นับว่า เธอใช้คอนกรีตทั้งหมดกี่ก้อน/แผ่น ซึ่งผมเกือบเผลอนับไปแล้วครั้งหนึ่ง นับเลขที่ปรากฏในงานวาดภาพต่างๆ? การหลอกให้นับของเธอทำให้เรายอมแพ้ว่ามันจะมีสูตร หรือกฏในการนับที่มีในงานของเธอหรือไม่ ในความเห็นของผมแล้ว คิดว่าเธอคงหลอกให้นับ แต่สิ่งที่นับเป็นคุณค่าของงานนี้คือ “เรื่องเล่า” ต่างๆ ที่มันมีมูลค่ามากกว่าตัวชิ้นงาน ที่อรอรรณคงไม่ได้สนใจว่า ภาพวาดเรื่องราวต่างๆ ที่เธอนำมาเล่าต้องใช้วัสดุผ้าใบ กระดาษแพงๆ แต่เป็นพื้นผิวคอนกรีต ที่ต่างสะท้อนความหยาบกร้านของชีวิตคนที่ต้องต้องประคองให้ชีวิตก่อรูปเป็นแท่งที่ยืนอย่างมั่นคง ตัวชิ้นงานของอรวรรณจึงมองเห็นความขัดแย้งของภาพวาดบนพื้นผิวที่เปราะบางกับแท่งคอนกรีตที่หนักแน่น ชีวิตคนเราจึงมีสภาพเช่นนั้น ที่ต่างแสวงหาเครื่องประกันในชีวิตอันเบาหวิวของตัวเอง
นิทรรศการ Counting (นับ) โดย อรวรรณ อรุณรักษ์ จัดแสดงที่ บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่ ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม - 25 สิงหาคม 2562
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ