กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมมือหลายหน่วยงาน ลงพื้นที่ริมทางรถไฟยมราช ช่วยกลุ่มเด็กเปราะบางบนท้องถนน ที่มีแนวโน้มหลุดจากระบบการศึกษาคืนสู่ห้องเรียน รับเปิด 2562 เทอมนี้ ที่มาภาพ: เว็บไซต์บ้านเมือง
เว็บไซต์บ้านเมือง รายงานเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2562 ที่บริเวณริมทางรถไฟยมราช กรุงเทพฯ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาด้านเด็กและเยาวชน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก จัดกิจกรรมเสริมความพร้อมส่งน้องไปโรงเรียน ให้แก่เด็กกลุ่มเปราะบาง บนวิถีชีวิตถนน จำนวน 81 คน
ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เปิดเผยว่ากิจกรรมนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือในอนาคตระหว่าง กสศ. กรุงเทพมหานคร กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก เครือข่ายองค์กรทำงานเพื่อเด็กเร่ร่อน และศูนย์วิจัยและพัฒนาด้านเด็กและเยาวชน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อวิจัยพัฒนาแนวทางการช่วยเหลือเด็กกลุ่มเปราะบาง บนวิถีชีวิตถนน ที่มีแนวโน้มจะหลุดออกนอกระบบการศึกษาที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่อย่างยั่งยืน ใน 3 ด้านสำคัญ คือ 1.การจัดทำระบบฐานข้อมูลสารสนเทศเพื่อบูรณาการความช่วยเหลือเด็กและเยาวชนร่วมกันระหว่างหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชนในอนาคต 2.สนับสนุนการทำงานให้กับครูศูนย์สร้างโอกาสเด็ก กทม. รวมถึงครูอาสา ครูนอกระบบเพื่อติดตามช่วยเหลือ เด็กกลุ่มนี้เป็นรายกรณีอย่างเป็นระบบ (Case Management System) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากภาคส่วนต่างๆ และ 3.การศึกษาวิจัยแนวทางการวางแผนการศึกษาของเด็กเยาวชนกลุ่มนี้ที่มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับความถนัดและศักยภาพเป็นรายบุคคล เพื่อสนับสนุนความมั่นคงทางอาชีพและครอบครัวในอนาคต รวมทั้งเสริมศักยภาพให้กับเด็ก รวมถึงครอบครัวให้มีกิจกรรมเสริมรายได้หรืออาชีพทางเลือก ที่เหมาะสมตามวัย ไม่มีความเสี่ยง ช่วยลดอุปสรรคในการไปโรงเรียนจากความยากจน แต่สามารถสร้างรายได้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนได้
รองผู้จัดการ กสศ. กล่าวอีกว่าเบื้องต้นจะนำร่องเก็บข้อมูลกลุ่มเด็กที่ทำงานบนท้องถนนในพื้นที่กรุงเทพมหานครก่อน โดยเฉพาะรัศมี 10 กิโลเมตรรอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยทำงานวิจัยด้วยความเข้าใจเข้าไปฟังเสียงจากเด็กๆ เยาวชนๆ ครอบครัวในพื้นที่โดยตรงว่า ต้องการหรือขาดสิ่งใด เด็กและเยาวชนเหล่านี้อยากเรียนหนังสือ แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องฐานะของครอบครัว จึงจำเป็นต้องหารายได้เสริมในช่วงวันหยุด หรือหลังเลิกเรียน เช่น ขายดอกไม้ พวงมาลัยตามสี่แยกไฟแดง หรือบางส่วนเร่ร่อนขอเงินตามถนนหนทางต่างๆ สำหรับทางออกของปัญหาเด็กกลุ่มนี้ ไม่สามารถแก้โดยลำพังเพียงเด็กเท่านั้น แต่ต้องเข้าไปดูปัญหาของของครอบครัว ชุมชน เพื่อหาทางออกในระยะยาว เพื่อให้เด็กกลุ่มนี้ผ่านพ้นจากกับดักความยากจน ไม่ต้องกลับมาทำอาชีพที่มีความเสี่ยงอีก พวกเรามีความเชื่อมั่นในศักยภาพของเด็กเยาวชนเหล่านี้ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยในอนาคตได้ หากได้โอกาสทางการศึกษาที่เสมอภาคและสอดคล้องกับศักยภาพและความถนัดเป็นรายบุคคล กสศ. ต้องขอบคุณทุกเครือข่ายที่มาร่วมกิจกรรมวันนี้ รวมทั้งทางสำนักงบประมาณที่มาลงพื้นที่เก็บข้อมูลในการทำงานร่วมกับ กสศ.ต่อไป
ด้านนางสาวทองพูล บัวศรี ผู้จัดการโครงการมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก กล่าวว่า มูลนิธิสร้างสรรค์เด็กลงพื้นที่เก็บข้อมูลเด็กกลุ่มเปราะบาง บนวิถีชีวิตถนน เช่น ขายมาลัย ดอกจำปี ตามสี่แยก หรือ ขอทานบนถนนสายต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร จำนวน 81 คน เป็นเวลากว่า 4 ปี พบว่าเด็กๆ กลุ่มนี้ส่วนใหญ่ครอบครัวมีฐานะยากจน มีภาระหนี้สิน การศึกษาไม่สูง และประกอบอาชีพที่ไม่แน่นอน เด็กบางคนขายพวงมาลัยริมถนน บางคนก็ไปขอทานบริเวณซอยนานา การแก้ปัญหาเด็กกลุ่มนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ต้องตามติดไปถึงชุมชนเข้าไปทำความรู้จักรายครอบครัวอย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างความไว้ใจ ทำให้มีโอกาสเข้าไปสัมผัสปัญหาแต่ละครอบครัวซึ่งแตกต่างกัน และทั่วประเทศมีเด็กเร่ร่อน ประมาณ 30,000 คน กระจายอยู่ตามเมืองท่องเที่ยวใหญ่บางครอบครัวพ่อแม่ถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำ จึงมีปัญหาขาดแคลนอุปกรณ์การเรียน ดังนั้นกิจกรรมเสริมความพร้อมส่งน้องไปโรงเรียนที่จัดขึ้น จึงเป็นการเพิ่มโอกาสในการกลับไปสู่โรงเรียนของเด็กกลุ่มนี้
ด้าน ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า โครงการเสริมความพร้อมส่งน้องไปโรงเรียน ถือเป็นโครงการที่ดี เด็กกลุ่มนี้คือ เด็กเปราะบางบนวิถีชีวิตถนน ใช้ชีวิตอยู่กับถนน มีความแตกต่างจากอดีตอย่างสิ้นเชิง ก่อนเริ่มกิจกรรมเราพบภาวะ ‘หม่น’ หรือ ‘หม่นหมอง’ ที่แววตาเต็มไปด้วยความเศร้าไม่ร่าเริงเหมือนเด็กปกติทั่วไป เนื่องจากต้องทำงานหนัก รวมถึงปัญหารอบตัวเกินกว่าชีวิตเด็กคนหนึ่งจะรับได้ หลังเลิกกิจกรรมเราเห็นแววตาของเด็กกลับมาสดใสเหมือนเดิม ในความจริงเด็กทุกคนควรได้รับการเอาใจใส่จากทุกคนทั้งผู้ปกครอง ชุมชน และ กสศ. โครงการนี้คือการส่งเด็กนักเรียนให้มีอนาคตมีแรงบันดาลใจ แล้วช่วยให้เขาประสบความสำเร็จในระยะยาว
"การดูแลเด็กไม่ใช่การเอาเงินให้เป็นครั้งคราว หรือตามแค่ได้ข้อมูล แต่การ empower เด็กคือเราต้องจัดกิจกรรมให้เด็กรู้ว่าเป้าหมายชีวิตต้องการอะไร ปัญหาอุปสรรค ข้อจำกัดอยู่ตรงไหน ทาง กสศ. พยายามเชื่อมโยงกับเครือข่ายที่ทำงานอยู่แล้วประคองชีวิตให้ดำเนินไปตามที่ควรจะเป็น จึงเป็นเรื่ององค์ความรู้ที่กำลังหาคำตอบและทางออกในชีวิตเด็กกลุ่มนี้ให้เกิดความยั่งยืน ไม่ใช่แค่การจัดงานเพียงครั้งคราว อย่างชีวิตเด็กๆ เปราะบางบนวิถีชีวิตถนนกว่า 81 ชีวิตที่มาร่วมกิจกรรมในวันนี้ กลายเป็นโจทย์ของประเทศไปแล้ว" ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว
นายกุลธร เลิศสุริยะกุล ประธานเครือข่ายองค์กรทำงานเพื่อเด็กเร่ร่อน กล่าวว่า คนที่เข้าใจปัญหาเด็กเร่ร่อนที่สุด คือ ครูอาสา กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศประมาณ 180-200 คน อยู่ในเครือข่ายทำงานเพื่อเด็กเร่ร่อน ดังนั้นเราต้องใช้กลไกครูเหล่านี้เข้ามาช่วยและถือเป็นกลไกสำคัญในการแก้ปัญหา ครูเหล่านี้จะรู้จักเด็กทุกคน จึงมีความจำเป็นต้องดึงกลุ่มครูเหล่านี้เข้ามาร่วมทำงานกับเรา เพื่อช่วยหาทางออกต่อยอดพัฒนาร่วมกับเครือข่ายต่างๆ ร่วมกันในการแก้ปัญหาเด็กเร่ร่อน ขณะนี้เราพบว่าวิธีการและวิถีชีวิตของเด็กเหล่านี้เปลี่ยนไปอย่างมาก อาจทำให้ครูขาดการพัฒนาการติดตาม ส่งผลทำให้การติดตามค้นหาเด็กลำบากขึ้น จึงควรมีการอบรมจัดเวทีให้กับครูเหล่านี้นำไปต่อยอดในการช่วยเหลือแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนต่อไป
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ