กฟผ. เดินหน้าโซลาร์ลอยน้ำโครงการเขื่อนอุบลรัตน์ กำหนดจ่ายไฟเข้าระบบปี 2566

กองบรรณาธิการ TCIJ 20 ธ.ค. 2562 | อ่านแล้ว 3289 ครั้ง

กฟผ. เดินหน้าโซลาร์ลอยน้ำโครงการเขื่อนอุบลรัตน์ กำหนดจ่ายไฟเข้าระบบปี 2566

กฟผ.เตรียมพร้อมเดินหน้าต่อโครงการพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ขนาด 24 เมกะวัตต์ เป็นโครงการที่สองต่อเนื่องจากเขื่อนสิรินธร โดยมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2566 ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นคงไฟฟ้าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้ดียิ่งขึ้น ที่มาภาพ: Energy News Center

Energy News Center รายงานเมื่อต้นเดือน ธ.ค. 2019 รายงานว่าในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 หรือ PDP 2018 มีการระบุให้ กฟผ. ลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำในเขื่อนของ กฟผ. จำนวน 9 แห่ง กำลังการผลิตรวม 2,725 เมกะวัตต์

โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2562 ได้มีมติเห็นชอบให้ กฟผ. ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธรขนาด 45 เมกะวัตต์ เป็นโครงการแรกแล้ว โดยมีวงเงินลงทุนรวม 2,265.99 ล้านบาท พร้อมอนุมัติการเบิกจ่ายงบประมาณลงทุนประจำปี 2562 สำหรับโครงการดังกล่าว รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 643.09 ล้านบาท โดยมีกำหนดการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเดือน ธ.ค. 2563

สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ ที่เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ถูกวางแผนให้เป็นโครงการลำดับที่ 2 มีกำลังการผลิต 24 เมกะวัตต์ ผสมผสานกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำของเขื่อน กำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2566 และคาดว่าจะมีการเปิดประมูลให้เอกชนมาดำเนินการก่อสร้างได้ในปี 2563

ประโยชน์ของการดำเนินโครงการพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ ที่ผสมผสานกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำของเขื่อน หรือที่เรียกว่า “Hybrid” จะทำให้การผลิตไฟฟ้ามีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมีการใช้ประโยชน์จากระบบหม้อแปลงไฟฟ้าและระบบสายส่งร่วมกัน ซึ่งช่วยประหยัดการลงทุน และที่สำคัญคือช่วยให้โรงไฟฟ้าสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ตลอด 24 ชม. สอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้า

โดยในช่วงเวลากลางวัน จะเน้นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ในขณะที่ช่วงเวลากลางคืน จะเป็นการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำของเขื่อน ซึ่งปริมาณการปล่อยน้ำจากเขื่อน ยังเป็นไปตามแผนการทำงานร่วมกับกรมชลประทาน นอกจากนี้ ในอนาคตเมื่อมีการติดตั้งระบบแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานเข้ามาเสริม ก็จะยิ่งทำให้การจ่ายกระแสไฟฟ้ามีความเสถียรมากยิ่งขึ้น

การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนทุ่นลอยน้ำ ยังจะช่วยลดการระเหยของน้ำในเขื่อน และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าของแผงโซลาร์เซลล์ เนื่องจากมีอุณหภูมิต่ำที่ผิวน้ำ และไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

การวางแผนดำเนินโครงการพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำใน 2 เขื่อนใหญ่ของ กฟผ. ทั้งที่เขื่อนสิรินธร และเขื่อนอุบลรัตน์ ยังจะช่วยเพิ่มความมั่นคงไฟฟ้าในส่วนของภาคอีสานให้มีมากขึ้น จากที่ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าหลักในพื้นที่ไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ โดยพื้นที่ภาคอีสานยังต้องพึ่งพาไฟฟ้านำเข้าจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ใน สปป.ลาว ที่ กฟผ. มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับเอกชนผู้พัฒนาโครงการ เพื่อตอบสนองความต้องการไฟฟ้าในพื้นที่ให้เพียงพอต่อความต้องการ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: