งานศึกษาพบการละเมิดสิทธิ 4 ประการสำคัญ ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อินโดนีเซีย

แปลและเรียบเรียงโดย พัชณีย์ คำหนัก 20 พ.ค. 2562 | อ่านแล้ว 3855 ครั้ง

งานศึกษาพบการละเมิดสิทธิ 4 ประการสำคัญ ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อินโดนีเซีย

องค์กรตรวจสอบอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เผยแพร่รายงานการประเมินความเสี่ยงของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในอินโดนีเซีย พบการละเมิดสิทธิ 4 ประการสำคัญ 'เสรีภาพในการจ้างงาน-เสรีภาพในการรวมกลุ่มและเจรจาต่อรองร่วม-ชั่วโมงทำงาน-สุขภาพและความปลอดภัย ที่มาภาพประกอบ: Universal Robots

องค์กรตรวจสอบอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (Electronics Watch) ได้เผยแพร่รายงานการประเมินความเสี่ยงของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศอินโดนีเซีย โดยได้สะท้อนปัญหาว่า มีความเสี่ยงในการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการจ้างงาน เสรีภาพในการสมาคมและการเจรจาต่อรองร่วม ชั่วโมงทำงานเกินและการละเมิดกฎระเบียบด้านสุขภาพและความปลอดภัย

ศูนย์ทรัพยากรแรงงานซีดาน (LIPS) องค์กรพัฒนาเอกชนอินโดนีเซีย ได้ทำวิจัยประเมินความเสี่ยงในการละเมิดสิทธิแรงงานของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งได้สัมภาษณ์คนงานและและสนทนากลุ่มกับคนงานจำนวน 70 คนและผู้นำสหภาพแรงงาน 10 คน ซึ่งมีอายุระหว่าง 19-43 ปี ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมในเมืองเบกาซีและสุกาบูมี จังหวัดชวาตะวันตก และเกาะบาตัมในจังหวัดหมู่เกาะรีเยา พร้อมกับวิเคราะห์แหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้อง จากการวิจัยมีข้อค้นพบการละเมิดสิทธิ 4 ประการ สรุปได้ดังนี้

1) เสรีภาพในการจ้างงาน มีการจ้างงานนักศึกษาฝึกงานในลักษณะบังคับให้พวกเขาทำงานยาวนาน คือ วันละ 9-10 ชั่วโมงเพื่อให้บรรลุเป้าการผลิต หากไม่ทำก็จะถูกขู่ ไม่ได้รับประกาศนียบัตร

2) เสรีภาพในการรวมกลุ่มและเจรจาต่อรองร่วม แม้อินโดนีเซียจะรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ILO ฉบับที่ 87 และ 98 แต่ผู้นำสหภาพแรงงานมักถูกนายจ้างกลั่นแกล้งและดำเนินคดี

3) ชั่วโมงทำงาน แม้ในกฎหมายแรงงานของประเทศจะจำกัดชั่วโมงทำงานไว้ 40 ช.ม.ต่อสัปดาห์และให้พัก 30 นาที ทุกๆ 4 ช.ม. แต่คนงานให้สัมภาษณ์ว่า พวกเขาทำงานโดยเฉลี่ยวันละ 9 ช.ม. ตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์และทำงานวันเสาร์ครึ่งวัน รวมแล้ว 50 ช.ม. ต่อสัปดาห์ ไม่รวมชั่วโมงโอทีบังคับ ซึ่งขึ้นอยู่กับจำนวนเป้าการผลิตของบริษัท

4) สุขภาพและความปลอดภัย แม้อินโดนีเซียจะรับรองอนุสัญญา ILO ว่าด้วยความปลอดภัย และสุขภาพอาชีวอนามัย (ฉบับที่ 187) อย่างไรก็ตาม คนงานสะท้อนว่า ระบบระบายอากาศย่ำแย่ อุณหภูมิในโรงงานสูงมาก อีกทั้งมีการใช้สารทำละลายที่ไม่มีการอบรมคนงานและอุปกรณ์ความปลอดภัยที่เพียงพอ คนงานจึงทำงานกับสารเคมีที่เป็นพิษ ทำให้เกิดอาการปวดหัวเรื้อรัง ต่อมไทรอยด์ผิดปกติ มีปัญหาระบบทางเดินหายใจ มะเร็งปอดและโรคอื่นๆ

โปรดอ่านรายงานที่นี่ http://electronicswatch.org/regional-risk-assessment-electronics-industry-indonesia-december-2018_2554862.pdf

 

แปลและเรียบเรียงจากเว็บเครือข่ายกู๊ดอิเล็กทรอนิกส์สากล
https://goodelectronics.org/electronics-watch-publish-regional-risk-assessment-the-electronics-industry-in-indonesia/

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: