สำรวจชีวิต ‘ฟรีแลนซ์’ รายได้ต่ำ-หวั่นไร้ความมั่นคง-ประสบการณ์แย่ๆ เพียบ

ทีมข่าว TCIJ: 20 ม.ค. 2562 | อ่านแล้ว 9330 ครั้ง

เทรนด์การจ้างงานโลก ‘Gig Economy’ ลดการจ้างพนักงานประจำลง สร้างตำแหน่งงานที่ไม่มั่นคงเพิ่มขึ้น พบการจ้างงาน ‘ฟรีแลนซ์-ดิจิทัล โนแมด’ นายทุนก็ชอบ รัฐก็สนับสนุน แต่เอาเข้าจริงคนทำงานได้รายได้ต่ำ TCIJ สำรวจพบชีวิตฟรีแลนซ์ไทยห่วงประเด็นความมั่นคงในอาชีพ 'ไม่มีงานป้อนให้-ไม่มีเงินเก็บในยามชรา-ไม่มีเงินส่งเสียให้ครอบครัว-กลัวโดนตัดราคางาน' มีประสบการณ์แย่ๆ เพียบ เช่น 'ทำงานหนักเกินไป-รายได้ต่ำ-งานยืดเยื้อไม่จบไม่สิ้น-โดนเบี้ยว-ขโมยงานไปไม่จ่าย ฯลฯ' ที่มาภาพประกอบดัดแปลงจาก: samer daboul (CC0)

เศรษฐกิจ ‘Gig Economy’ การจ้างงาน ‘ฟรีแลนซ์’ และไลฟ์สไตล์แบบ ‘ดิจิทัล โนแมด’

ปัจจุบัน ‘Gig Economy’ ซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจที่มี ‘การจ้างงานชั่วคราว’ เป็นรากฐานสำคัญ กำลังถูกมองว่าเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกไปพร้อมกับความเติบโตทางเทคโนโลยีหลังการปฏิวัติ 4.0 ซึ่งความหมายของ ‘Gig Economy’ นั้นมาจากรากศัพท์คำว่า 'Gig' อันเป็นคำแสลงที่หมายถึงการแสดงของนักดนตรีหรือวงดนตรีที่รับจ้างเป็นครั้งๆ (โดยเฉพาะนักดนตรีแจ๊สตามบาร์) เริ่มใช้ครั้งแรกเมื่อทศวรรษที่ 1920 (พ.ศ. 2463) ภายหลังได้หมายความรวมไปถึงงานที่มีลักษณะเป็นงานชั่วคราว งานที่รับจ้างเป็นระยะเวลาสั้นๆ และจบเป็นครั้งๆ ไป โดยไม่ยึดติดกับที่ใดที่หนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น งานพาร์ทไทม์ (Part-time) ฟรีแลนซ์ (Freelance) ผู้ที่รับจ้างทำงานประเภทดังกล่าวจะได้รับค่าตอบแทนเป็นรายครั้งตามจำนวนและคุณภาพความยากง่ายของงานที่ทำโดยไม่มีพันธะสัญญากับนายจ้าง นอกจากนี้ยังหมายความรวมถึงผู้ที่ทำอาชีพเกษตรกร ธุรกิจส่วนตัว นักลงทุน ทนายความ แม่บ้าน และผู้ที่ทำอาชีพอื่นๆ ที่ไม่ได้ทำงานในรูปแบบพนักงานประจำ งานที่รับจ้างเป็นระยะเวลาสั้นๆ หรือเป็นระบบเศรษฐกิจที่ผู้ทำงานจะรับงานเป็นรายครั้ง ตามความต้องการ (On demand) เป็นระยะเวลาชั่วคราว ไม่เต็มเวลา ซึ่งสามารถทำงานได้หลากหลายงานพร้อมกันในเวลาเดียวกัน มีความเป็นอิสระโดยไม่สังกัดหน่วยงานหรือนายจ้าง [1] โดยในรายงานชิ้นนี้จะโฟกัสไปที่การจ้างงานแบบ ‘ฟรีแลนซ์’ และไลฟ์สไตล์แบบ ‘ดิจิทัล โนแมด’ (ดูความหมายในล้อมกรอบ) ภายใต้ระบบ ‘Gig Economy’

'ฟรีแลนซ์' (Freelancer) ผู้ที่มีอาชีพรับจ้างอิสระ ที่ไม่ขึ้นตรงต่อหน่วยงาน หรือองค์กร หรือบริษัทใดๆ พนักงานฟรีแลนซ์จะต้องจัดตารางเวลาการทำงานของตนเอง การรับเงินจากนายจ้าง จะเป็นลักษณะใดก็แล้วแต่ตกลงกัน ซึ่งอยู่บนพื้นฐานความพึงพอใจของทั้งฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้าง [2] ทั้งนี้ มีการให้คุณลักษณะของ ‘ฟรีแลนซ์’ ต่างจาก ‘แรงงานรับจ้างทั่วไป’ คือ ‘ฟรีแลนซ์’ นั้นเป็นแรงงานรับจ้างอิสระที่ทำงานประเภทการใช้ความคิดสร้างสรรค์และสื่อ 

'ดิจิทัล โนแมด' (Digital Nomad) คือบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่หาเลี้ยงชีพด้วยธุรกิจออนไลน์ การรับจ้างทำของ หรือทำงานกับนายจ้างของตนซึ่งตั้งอยู่ที่อื่นผ่านทางระบบโทรคมนาคม พร้อมกับเดินทางท่องเที่ยวไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งคล้ายกับ ‘ชนเร่ร่อน’ บุคคลเหล่านี้บางคนอาจเลือกอาศัยเป็นหลักแหล่งในประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นถิ่นพำนัก เพื่อใช้เป็นฐานสำหรับทำงานและท่องเที่ยวในประเทศข้างเคียง โดยมากแล้ว ดิจิทัล โนแมดมักอยู่ในสถานที่ๆ สามารถสมาคมกับผู้อื่นได้ง่ายและราคาค่าใช้งานไม่แพง อาทิ ห้องสมุดสาธารณะ ร้านกาแฟ หรือสถานที่สำหรับทำงานร่วมกันและสนทนา และมักเลือกประเทศที่ตนใช้สิทธิ์ยกเว้นใบอนุญาตเข้าเมืองหรือมีค่าธรรมเนียมไม่สูงไปพร้อมๆ กับได้คุณภาพชีวิตที่เหมาะแก่เงินที่จ่ายได้ ยิ่งไปกว่านั้นประเทศหรือเมืองใดที่มีดิจิทัล โนแมดอาศัยมากก็มักจะมีการบอกต่อกันให้มาอยู่อาศัยด้วย ดิจิทัล โนแมดบางคนกล่าวว่าการเดินทางพเนจรไปพร้อมกับการทำงานช่วยเพิ่มความคิดสร้างสรรค์และเพิ่มศักยภาพให้ไม่จำกัดแต่ในกรอบหรือจำกัดด้วยแรงงานท้องถิ่น [3] อนึ่งสำหรับบ้านเรา จ.เชียงใหม่ เคยได้รับการยอมรับให้ติดอันดับ 1 ใน 5 ของเมืองน่าอยู่สำหรับดิจิทัล โนแมด เลยทีเดียว (อ่านเพิ่มเติม: ทำไม!? เชียงใหม่ จึงติดอันดับ 1 ใน 5 ของเมืองน่าอยู่: ที่นิยมของ ดิจิทัล โนแมด)

 

สถานการณ์การจ้างงานในระดับโลกพบว่า ‘การจ้างงานแบบไม่ประจำ’ มีแนวโน้มมากขึ้น จากรายงาน World Employment and Social Outlook – Trends 2017 ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) พบว่าการจ้างงานที่ไม่มั่นคง (vulnerable employment) มีสัดส่วนอยู่ระหว่างร้อยละ 42.7-42.9 ซึ่งตัวเลขจำนวนคนที่ทำงานที่ไม่มั่นคงจะเพิ่มขึ้นจาก 1,396.3 ล้านคน ในปี 2016 เป็น 1,407.9 ล้านคน ในปี 2017 และ 1,419.2 ล้านคน ในปี 2018 ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเพิ่มขึ้นสูงในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ [4]

นอกจากนี้ รายงานล่าสุดจากเวทีเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum – WEF) ที่เผยแพร่เมื่อเดือน ก.ย. 2018 (ใช้ข้อมูลจากผลสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารจากหลายบริษัทใน 20 ประเทศทั่วโลก ซึ่งมีพนักงานรวมกันเกิน 15 ล้านคน) ระบุว่าจากนี้ไปจะมีงานใหม่เกิดขึ้น 133 ล้านอัตรา หรือเทียบกับงานที่หายไปจะเท่ากับว่ามีตำแหน่งงานใหม่เพิ่มขึ้น 58 ล้านอัตราทั่วโลก ซึ่งยังเป็นงานที่ต้องใช้ทักษะการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์อยู่ เช่น พนักงานขาย การตลาด การบริการลูกค้า ธุรกิจออนไลน์ และโซเชียลมีเดีย จะเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มต้องการจำนวนแรงงานมากขึ้น นอกจากนี้งานในอุตสาหกรรมการบิน การเดินทาง และท่องเที่ยว ยังจะเป็นกลุ่มที่จำเป็นต้องคงกำลังแรงงานมนุษย์ไว้อยู่ แต่รูปแบบของงานใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอาจไม่มั่นคงเหมือนกับงานในปัจจุบัน เนื่องจากภาคธุรกิจมีแนวโน้มจะหันไปจ้างงานแบบ ‘สัญญาจ้างระยะสั้น’ และ ‘ฟรีแลนซ์’ มากขึ้น [5] [6]

ในรายงานของ Manpower Group เผยแพร่เมื่อปี 2017 ที่ทำการสำรวจกลุ่มคนวัยทำงานจำนวน 9,550 คน (อายุ 18-65 ปี) ประกอบด้วย พนักงานประจำ พนักงานพาร์ทไทม์ ฟรีแลนซ์ พนักงานเอกชน นักเรียน คนเกษียณอายุ และคนว่างงาน ใน 12 ประเทศ ( ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส เยอรมนี อินเดีย ญี่ปุ่น เม็กซิโก เนเธอร์แลนด์ สเปน สวีเดน สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา) โดยผลสำรวจระบุว่า กลุ่มตัวอย่างเริ่มเปิดใจยอมรับการทำงานในรูปแบบ 'NextGen Work' (ครอบคลุมความหมาย ดังนี้ 1.การหาวิธีการทำงานรูปแบบใหม่ 2.การหาวิธีการใหม่ๆ ในการทำงานให้สำเร็จลุล่วง 3.ช่วยให้ผู้คนมีรายได้มากขึ้น และสามารถผสมผสานการดำรงชีวิตที่นอกเหนือจากงานเข้ากับการทำงานได้ รวมถึงการทำงานพาร์ทไทม์ งานชั่วคราว งานที่มีสัญญาจ้างระยะสั้น งานออนไลน์และงานจากแพลตฟอร์มแอปพลิเคชั่นต่างๆ)

รายงานของ Manpower Group ระบุว่าผู้ตอบแบบสอบถามที่อายุน้อยมีแนวโน้มที่จะทำงานแบบ NextGen Work มากขึ้น นอกจากนี้ในประเทศตลาดเกิดใหม่อย่างอินเดีย เม็กซิโก พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามมีแนวโน้มเปิดใจให้กับแนวทางการทำงานแบบ NextGen Work สูงสุด โดยร้อยละ 97 ของกลุ่มตัวอย่างยอมเปิดใจให้กับงานอิสระ งานสัญญาจ้าง งานจ้างชั่วคราวและงานรับเหมามากขึ้น ส่วนในประเทศพัฒนาแล้วอย่างอิตาลีและออสเตรเลีย โน้มเอียงสู่การเปิดใจมากขึ้น แต่ผู้ตอบแบบสอบถามจาก เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ และญี่ปุ่น กลับไม่ค่อยพึงพอใจกับรูปแบบ NextGen Work เท่าไรนัก [7]

ส่วนการเปลี่ยนแปลงในระดับประเทศ ในยุโรป ข้อมูลจาก Labour market and Labour force survey (LFS) statistics ของสหภาพยุโรป (EU) 28 ประเทศ ในปี 2016 ยุโรปมีกำลังแรงงานเป็นพนักงานประจำ 188.4 ล้านคน เป็น 'ลูกจ้างตนเอง' (self-employed) 32.7 ล้านคน (คนทำงานฟรีแลนซ์นับรวมอยู่ในจำนวนนี้) นอกจากนี้คนทำงานในยุโรปทำงานเต็มเวลา 178.2 ล้านคน ทำงานพาร์ทไทม์ 45.3 ล้านคน เฉลี่ยแล้วคนทำงานในยุโรปทำงานสัปดาห์ละ 37.1 ชั่วโมง [8]

ส่วนข้อมูลจากสมาคมผู้เชี่ยวชาญอิสระและผู้จ้างงานตนเอง (the Association of Independent Professionals and the Self Employed - IPSE) และศูนย์วิจัยธุรกิจขนาดเล็ก มหาวิทยาลัย Kingston (Small Business Research Centre at Kingston University London) ระบุว่าจำนวนฟรีแลนซ์ในสหภาพยุโรป 28 ประเทศ เพิ่มขึ้นมาถึง 2 เท่า ระหว่างปี 2000-2014 โดยเฉพาะในอังกฤษ ฝรั่งเศส และเนเธอร์แลนด์ (อนึ่งสมาคม IPSE มีสมาชิกเป็นคนทำงานฟรีแลนซ์ในยุโรปถึง 68,000 คน) [9] [10]  ในสหราชอาณาจักรตามตัวเลขทางการในรอบหนึ่งปีก่อนถึงเดือน เม.ย. 2018 พบว่าแรงงานรับจ้างผ่านเว็บไซต์ต่างๆ มีอยู่เกือบ 3 ล้านคน [11]

ในสหรัฐอเมริกา Upwork ซึ่งเป็นเว็บไซต์แพลตฟอร์มจ้างงานอิสระ เปิดเผยผลสำรวจที่ทำร่วมกับสหภาพแรงงานฟรีแลนซ์ (Freelancers Union) เมื่อเดือน ต.ค. 2018 ระบุว่าคนอเมริกันทำงานแบบฟรีแลนซ์เพิ่มขึ้นจาก 53 ล้านคน ในปี 2014 เป็น 56.7 ล้านคน ในปี 2018 ส่วนจำนวนชั่วโมงต่อสัปดาห์โดยเฉลี่ยในการทำงานฟรีแลนซ์ของคนอเมริกันก็เพิ่มขึ้นอีก 72 ล้านชั่วโมงต่อสัปดาห์ จาก 998 ล้านชั่วโมงต่อสัปดาห์ในปี 2015 ทำให้ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในการทำงานฟรีแลนซ์ของคนอเมริกันทะลุ 1.07 พันล้านชั่วโมงต่อสัปดาห์ ไปแล้วในปี 2018 ทั้งนี้มีการสอบถามคนทำงานฟรีแลนซ์จำนวน 6,000 คน ซึ่งผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 61 ระบุว่าเลือกทำงานแบบฟรีแลนซ์เอง ไม่ได้ทำเพราะความจำเป็น [12]

ฝั่งเอเชีย ข้อมูลจากรายงาน 2018 APAC WORKFORCE INSIGHTS โดยบริษัทด้านทรัพยากรมนุษย์ PERSOLKELLY ที่เผยแพร่เมื่อไตรมาส 1/2018 ได้ทำการสำรวจความเห็นผู้จัดการฝ่ายรับสมัครงานและผู้สมัครงานอายุระหว่าง 20-70 ปี จำนวน 9,295 คน จาก 9 ประเทศ (ออสเตรเลีย, ฮ่องกง, อินเดีย, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, นิวซีแลนด์, สิงคโปร์, ไทย และเวียดนาม) พบว่าประเทศในเอเชียที่เปิดใจรับการจ้างงานยืดหยุ่นภายใต้เทรนด์ Gig Economy มากที่สุดในเอเชียคือ 'ฮ่องกง' คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 55 ตามด้วยเวียดนาม ร้อยละ 50 ไทย ร้อยละ 48 สิงคโปร์ ร้อยละ 47 อินเดียและอินโดนีเซีย ร้อยละ 39 นิวซีแลนด์ ร้อยละ 38 ออสเตรเลีย ร้อยละ 37 และมาเลเซีย ร้อยละ 36 แต่เมื่อถามถึงสถานะปัจจุบันว่าทำงานเป็นฟรีแลนซ์หรือไม่ พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทยทำงานเป็นฟรีแลนซ์มากที่สุดที่ร้อยละ 9 ตามมาด้วยฮ่องกง ร้อยละ 8 ส่วนผู้ตอบแบบสอบถามที่ทำงานเป็นฟรีแลนซ์น้อยที่สุดได้แก่เวียดนาม มาเลเซีย และอินเดีย ที่ร้อยละ 1 โดยกลุ่มคน Gen Z (เกิดระหว่างปี 1995-2009) ในเอเชีย เป็นกลุ่มคนที่ยอมรับการจ้างงานยืดหยุ่นภายใต้เทรนด์ Gig Economy มากกว่ากลุ่มอื่นๆ ที่ร้อยละ 61 [13]

ในประเทศไทยเอง การขยายตัวของงานไม่ประจำก็เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน ข้อมูลจากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ทำผลสำรวจแบบสอบถามประชาชน 9,387 คน เมื่อปี 2560 และได้นำมาประเมินว่าคนทำงานไทยที่ทำงานภายใต้ระบบ Gig Economy น่าจะมีอยู่ที่ประมาณร้อยละ 30 หมายความว่าในคนทำงานจำนวน 10 คน จะมีอยู่ 3 คน ที่ทำงานภายใต้ระบบ Gig Economy ซึ่งใน 3 คน นี้ก็ยังแบ่งย่อยได้อีก เป็นคนที่มีงานประจำอยู่แล้วแต่รับงานอิสระเป็นส่วนเสริม 2 คน และคนที่รับงานอิสระหรืองานครั้งคราวอย่างเต็มตัว (ฟรีแลนซ์) 1 คน โดยอาชีพยอดนิยมภายใต้ระบบ Gig Economy ของคนไทยคือ รับจ้างทั่วไป ธุรกิจส่วนตัว ขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ และลงทุนในหุ้นหรือสินทรัพย์อื่นๆ สำหรับอาชีพรับจ้างทั่วไปนั้นมีตั้งแต่ทำสวน แม่บ้าน บาริสต้าร้านกาแฟ ไปจนถึงวิชาชีพเฉพาะทาง อย่างแพทย์ พยาบาล นักออกแบบกราฟิก นักกฎหมายและที่ปรึกษาทางการเงิน เป็นต้น [14]

สอดคล้องกับข้อมูลของกลุ่ม บริษัท อเด็คโก้ ประเทศไทย ที่ระบุว่ารูปแบบการทำงานในลักษณะเป็นครั้งคราวภายใต้ระบบ Gig Economy หรือเศรษฐกิจแบบรับจ้างทำงานชั่วคราวกำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ หลายองค์กรเริ่มให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุดในการทำงานของพนักงาน โดยอาจลดหรือจำกัดการจ้างพนักงานประจำลงเรื่อย ๆ แต่เพิ่มการจ้างพนักงานสัญญาจ้าง, ฟรีแลนซ์ เข้ามาทำงานมากขึ้น โดยเฉพาะกับบางตำแหน่งที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ทั้งนี้ข้อมูลจากการสำรวจของอเด็คโก้ ประเทศไทย ซึ่งมีการเปรียบเทียบระหว่างปี 2559-2560 พบว่าผู้สมัครงานต่างให้ความสนใจงานรูปแบบสัญญาจ้างระยะสั้นมากถึงร้อยละ 53 และยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง [15]

นอกจากนี้ รศ.ดร.ศิริยุพา รุ่งเริงสุข รักษาการรองผู้อำนวยการ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ระบุว่าจากนี้ไปจนถึงประมาณปี 2568 การจ้างพนักงานประจำจะมีอัตราลดลงอย่างรวดเร็ว เพราะค่านิยม ความต้องการ และวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ต้องการความอิสระ และคล่องตัว ทั้งนั้นเพราะ Generation Y หรือ Millennials เกิดมาพร้อมกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ทำให้คนกลุ่มนี้สามารถสื่อสาร ทำธุรกิจ และทำอะไรหลายๆ อย่างประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วโดยผ่านโลกออนไลน์

“คนเหล่านี้ไม่ชอบงานประจำที่จำเจ น่าเบื่อหน่าย อยากประสบความสำเร็จเร็ว ๆ ดังนั้นหากพวกเขาไม่ได้เป็นเจ้าของกิจการ ก็มักจะเลือกเป็นฟรีแลนซ์ รับงานอิสระ ยิ่งถ้าคนไหนเป็นคนเก่ง มีฝีมือ ย่อมมีคนมาว่าจ้างงาน แนวโน้มต่อจากนี้ไปในอนาคต คนจะหันมาทำงานในลักษณะนี้มากขึ้นอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลักดันประเทศก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งจะมีความพร้อมด้านเทคโนโลยีมากขึ้น gig worker ก็จะเกิดมากขึ้นด้วย” [16]

ผู้ประกอบการชอบ-รัฐก็สนับสนุน

ข้อมูลที่เผยแพร่ใน GetLinks แพลตฟอร์มหางานสาย Technology ที่ให้บริการปรึกษาในเรื่องต่างๆ ในโลกสตาร์ทอัพไม่ว่าจะเป็นเรื่องตำแหน่งงาน การสัมภาษณ์ หรือการต่อรองเรื่องต่างๆ ได้ระบุถึง ‘7 เหตุผลที่เราควรทำงานแบบสัญญาจ้างชั่วคราว’ ซึ่งข้อหนึ่งสรุปได้ว่า “ในขณะที่ความต้องการจ้างตำแหน่งประจำยังคงคงที่ แต่ตัวเลขข้อมูลใน GetLinks บ่งบอกชัดเจนว่า ตอนนี้ความต้องการจ้างแบบ Contractor (จ้างงานภายใต้สัญญาระยะสั้น) กำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วมาก และมีคู่แข่งที่สนใจหางานแบบ Contract น้อยกว่าหางานแบบประจำอยู่เยอะมาก (การทำงานฟรีแลนซ์ภายใต้สัญญาระยะสั้น) จึงมีสิทธิ์ที่จะได้งานสูงกว่า” [17]

สอดคล้องกับข้อมูลของกลุ่มบริษัท อเด็คโก้ ประเทศไทย ที่ระบุว่าเมื่อแนวทางของแรงงานเปลี่ยนไปตามระบบ Gig Economy มากขึ้น ผู้บริหารและฝ่ายทรัพยากรบุคคลจึงต้องเปลี่ยนกรอบความคิดการทำงานแบบเดิม (rethink talent strategy) โดยไม่นำเงื่อนไขของการจ้างงานประจำมาเป็นโจทย์หลักในการหาคนมาทำงานในตำแหน่งต่าง ๆ เหมือนเช่นผ่านมา ในขณะนี้หลายองค์กรธุรกิจพยายามปรับตัวเพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการทำงานมากขึ้นด้วย [18]

ยักษ์ใหญ่ในวงการธุรกิจไทยอย่าง 'บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)' ก็มีการจัดหาบุคลากรในรูปแบบฟรีแลนซ์ โดยนายกฤษณ์ อิ่มแสง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริหารองค์กรและความยั่งยืน ได้ระบุเมื่อเดือน ก.ค. 2561 ว่าเร็วๆ นี้ทีมผู้บริหาร ปตท.จะมีการนำเสนอแผนยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจ รวมถึงยุทธศาสตร์การบริหารจัดการบุคลากรต่อคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) ซึ่งภาพรวมจำเป็นต้องสรรหาบุคลากรเข้ามาเพิ่มเติมเพื่อรองรับการขยายธุรกิจใหม่ในอนาคตของ ปตท. หรือ New S-curve ทั้งหมด 3 ประเภทด้วยกัน คือโรโบติกส์ (Robotics) ครอบคลุมทั้งหุ่นยนต์, ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI : Artificial Intelligence) และการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก (Data Analytics) อย่างไรก็ตามการจัดหาพนักงานที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญใน 3 ด้านดังกล่าวค่อนข้างหายาก เนื่องจากบุคลากรเหล่านี้ต่างเป็นที่ต้องการของตลาดทั่วโลก ที่สำคัญส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ที่ไม่ต้องการเป็นพนักงานประจำ ขอเพียงแค่มาหาประสบการณ์ที่หลากหลาย จึงทำให้ ปตท.ต้องปรับวิธีการสรรหาบุคลากร ด้วยการใช้วิธีว่าจ้างในรูปแบบ 'ฟรีแลนซ์' ระยะเวลาสั้นๆ เป็นโปรเจกต์ หรือประมาณ 3 ปี ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับการเจรจาเป็นรายกรณีไป เพื่อเพิ่มแรงจูงใจให้เข้ามาทำงาน โดยมีอัตราค่าตอบแทนเหมือนกับพนักงานประจำทุกอย่างแต่ไม่ได้รับสวัสดิการ [19]

นอกจากนี้ยังพบว่าภาครัฐไทยก็สนับสนุนให้มีการจ้างงานฟรีแลนซ์มากขึ้น โดยเฉพาะใน ‘กลุ่มผู้สูงอายุ’  ข้อมูลจากกรมกิจการผู้สูงอายุ ระบุว่าปัจจุบัน จากจำนวนผู้สูงอายุไทยประมาณ 11 ล้านคน มีผู้สูงอายุที่มีงานทำและมีรายได้เพื่อการดูแลตนเองอยู่เพียง 4 ล้านคนเท่านั้น แยกเป็นผู้ที่ทำงานอยู่ในระบบ 4.77 แสนคน และนอกระบบ 3.59 ล้านคน ยังมีถึง 6-7 ล้านคนที่ยังไม่มีงานทำ ภาครัฐจึงพยายามส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีงานทำมากขึ้นเพื่อลดการพึ่งพิง โดยได้มีการออก ‘(ร่าง) อัตราค่าจ้างรายชั่วโมงสำหรับลูกจ้างผู้สูงอายุ’ พร้อมกับคำแนะนำถึงวิชาชีพที่ผู้สูงอายุควรทำและไม่ควรทำ เป็นการเปิดช่องและจูงใจให้ภาคเอกชนสามารถจ้างงานผู้สูงอายุเป็นรายชั่วโมงได้ (ฟรีแลนซ์) โดยอาจจะใช้มาตรการจูงใจด้านภาษีกระตุ้นภาคเอกชน [20] [21]

ในต่างประเทศพบ จริงๆ แล้วรายได้ต่ำ

อาชีพ 'ฟรีแลนซ์' มีอิสระต่างจากพนักงานประจำ ที่ใช้ชีวิตแบบ 'ดิจิทัล โนแมด' ทำงานที่ไหนก็ได้ที่เข้าถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ต ถูกฉายภาพไว้อย่างสวยหรู เป็นอีกหนึ่งความฝันด้านการงานของคนรุ่นใหม่ ที่มาภาพประกอบ: The Conversation

อาชีพ 'ฟรีแลนซ์' มีอิสระต่างจากพนักงานประจำ ที่ใช้ชีวิตแบบ 'ดิจิทัล โนแมด' ทำงานที่ไหนก็ได้ที่เข้าถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ต ถูกฉายภาพไว้อย่างสวยหรู เป็นอีกหนึ่งความฝันด้านการงานของคนรุ่นใหม่ แต่กระนั้นจากหน้าข่าว การสำรวจ งานศึกษา และงานวิจัยเชิงลึก พบว่าการทำงานแบบฟรีแลนซ์นั้นมีปัญหาอยู่มิใช่น้อย

ในรายงาน 2018 Payoneer Freelancer Income Survey (เผยแพร่เมื่อเดือน ธ.ค. 2017) ที่ได้ทำการสำรวจฟรีแลนซ์ 21,000 คน จาก 170 ประเทศ [ส่วนใหญ่อยู่ในยุโรป (สัดส่วนร้อยละ 35.5) ตามมาด้วยเอเชีย (ร้อยละ 28) ละตินอเมริกา (ร้อยละ 29.2) แอฟริกา (ร้อยละ 10.1) และอเมริกาเหนือ (ร้อยละ 4.1)] พบข้อค้นพบที่น่าสนใจคือ ประมาณครึ่งหนึ่งของฟรีแลนซ์ที่ตอบแบบสอบถามทำงาน 30-50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์  ในด้านรายได้ พบว่ารายได้เฉลี่ยรายชั่วโมงของผู้ทำงานฟรีแลนซ์จากการสำรวจนี้อยู่ที่ 19 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อชั่วโมง (ประมาณ 600 บาท) เท่านั้น โดยมีอัตราตั้งแต่ 11-28 ดอลลาร์สหรัฐฯ ขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรม ในขณะที่ความพึงพอใจของรายได้โดยรวมของผู้ทำงานฟรีแลนซ์เฉลี่ยแล้วอยู่ในระดับปานกลางที่ 5.03 (จากระดับความพึงพอใจ 1-10) ทั้งนี้ พบว่ารายได้สูงไม่จำเป็นต้องแปลว่ามีความพึงพอใจสูงตามรายได้เสมอไป ตัวอย่างเช่นผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมและการผลิตมี ความพึงพอใจน้อยที่สุดกับรายได้ของพวกเขาที่ 4.83 แม้ว่าอัตราเฉลี่ยรายชั่วโมงของพวกเขาจะได้สูงถึง 21 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อชั่วโมง เช่นเดียวกับฟรีแลนซ์ด้านไอทีและโปรแกรมเมอร์ได้รับ

นอกจากนี้ ยังพบว่าฟรีแลนซ์ที่มีอายุมากกว่าจะทำเงินได้มากกว่าฟรีแลนซ์ที่อายุน้อยกว่า โดยผู้ตอบแบบสอบถามโดยเฉลี่ยหากเป็นฟรีแลนซ์อายุ 24 ปี และต่ำกว่า มีรายได้เฉลี่ยประมาณ 16 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อชั่วโมง, อายุระหว่าง 25-29 ปี  มีรายได้เฉลี่ยประมาณ 17 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อชั่วโมง, อายุระหว่าง 30-39 ปี มีรายได้เฉลี่ยประมาณ 20 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อชั่วโมง อายุระหว่าง 40-49 ปี มีรายได้เฉลี่ยประมาณ 23 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อชั่วโมง อายุระหว่าง 50-59 มีรายได้เฉลี่ยประมาณ 25 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อชั่วโมง และอายุ 60 ปี ขึ้นไป มีรายได้เฉลี่ยประมาณ 27 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อชั่วโมง ส่วนสิ่งที่ฟรีแลนซ์ต้องการปรับปรุงมากที่สุดคือ ต้องการค่าตอบแทนจากการทำงานเพิ่มขึ้น ร้อยละ 68 ตามมาด้วย ต้องการวิธีการเพิ่มเติมในการค้นหาลูกค้าและงาน ร้อยละ 52 ต้องการทำงานกับลูกค้าต่างประเทศมากขึ้น ร้อยละ 34 ส่วนความต้องการอันดับอื่นๆ ฟรีแลนซ์ยังต้องการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน ลดความซับซ้อนของกระบวนการชำระเงินและการสื่อสาร อีกด้วย [22]

การสำรวจออนไลน์ในสหรัฐฯ เมื่อปี 2017 ได้คำตอบของผู้ตอบแบบสอบถาม 10,368 คน พบว่าฟรีแลนซ์ร้อยละ 40 ทำงานน้อยกว่า 35 ชั่วโมงในหนึ่งสัปดาห์ก่อนการสำรวจ โดยพบร้อยละ 33 ที่อยากทำงานมากกว่าที่เป็นในหนึ่งสัปดาห์ก่อนการสำรวจ และพบร้อยละ 15 ที่ทำงานน้อยกว่า 35 ชั่วโมงเนื่องจากไม่สามารถหางานประจำได้ [23] ส่วนที่สหราชอาณาจักร ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่ามีฟรีแลนซ์รับจ้างผ่านเว็บไซต์ต่างๆ อยู่เกือบ 3 ล้านคน ซึ่งตามรายงานของรัฐบาลเกี่ยวกับการรับจ้างประเภทนี้ชี้ว่า 1 ใน 4 ของฟรีแลนซ์รับจ้างผ่านเว็บไซต์ที่สำรวจนั้นมีรายได้ไม่ถึง 7.50 ปอนด์ต่อชั่วโมง (ประมาณ 300 บาทต่อชั่วโมง) ถือว่าไม่เพียงพอต่อค่าครองชีพเนื่องจากค่าจ้างขั้นต่ำที่พนักงานประจำที่มีอายุเกินกว่า 25 ปีได้รับคือ 7.83 ปอนด์ต่อชั่วโมง [24]

เมื่อพิจารณางานฟรีแลนซ์ในภาคสื่อ ซึ่งกำลังเป็นเทรนด์การจ้างงานรูปแบบใหม่ของอุตสาหกรรมนี้ พบว่ามีปัญหาด้านค่าจ้างเป็นอย่างมาก ดังตัวอย่างในยุโรป ตัวอย่างเช่นในเบลเยียม ผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ได้รับค่าตอบแทนต่ำมาก อย่างรายงานข่าวในหนังสือพิมพ์รายวันพวกเขาได้ค่าเรื่องเพียง 20 ยูโร (ประมาณ 750 บาท) รายงานขนาดยาวที่ตีพิมพ์หลายตอนได้ค่าเรื่องประมาณ 120-150 ยูโร ส่วนรายงานข่าวผ่านรายการทีวีได้ชิ้นละประมาณ 125 ยูโร นอกจากนี้ยังพบว่าผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ยิ่งได้ต่ำลงในนิตยสารเฉพาะทางและเว็บไซต์ต่างๆ นอกจากนี้ยังพบว่าผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ถูกใช้งานแบบอาสาสมัคร (ไม่ได้รับเงินตอบแทน) อีกด้วย, ในสเปน เกือบร้อยละ 45 ของผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์มีรายได้น้อยกว่า 1,000 ยูโรต่อเดือน (ประมาณ 37,500 บาทต่อเดือน) ซึ่งตัวเลขนี้ยังมีเรื่องช่องว่างรายได้ระหว่างเพศแฝงอยู่ โดยร้อยละ 51 ของผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ผู้หญิงได้ค่าแรงต่ำมาก เมื่อเทียบกับผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ผู้ชายที่ร้อยละ 26 ทั้งนี้สถานีโทรทัศน์ในสเปนจ่ายเงินระหว่าง 200-400 ยูโร ต่อสกู๊ปข่าวหนึ่งชิ้น และในอิตาลี ผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์มีถึงร้อยละ 65 ของผู้สื่อข่าวทั้งหมดในประเทศ ข้อมูลในปี 2015 พวกเขามีรายได้เฉลี่ยต่อปี 11,241 ยูโร (ประมาณ 420,000 บาท) ซึ่งเป็นตัวเลขเพียง 1 ใน 5 เมื่อเทียบกับรายได้ของผู้สื่อข่าวที่เป็นพนักงานประจำ และผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ประมาณร้อยละ 83 ยังมีรายได้เฉลี่ยต่อปีน้อยกว่า 10,000 ยูโร ด้วยซ้ำ [25] [26]

ในฮ่องกง แนวโน้มการจ้างงานที่ไม่แน่นอนได้เพิ่มขึ้นในแวดวงการศึกษาระดับอุดมศึกษาในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลังจากที่ระบบค่าจ้างถูกแยกออกจากงานของข้าราชการพลเรือนเมื่อปี 2003 งานระยะยาวจำนวนมากที่ถูกแทนที่โดยสัญญาระยะสั้น ผู้ช่วยสอนและผู้ช่วยวิจัยต้องทำงานในลักษณะ ‘ฟรีแลนซ์’ ที่มีงานไม่แน่นอน สัญญาจะสิ้นสุดลงเมื่อระยะเวลาทุนของโครงการวิจัยสิ้นสุดลง ในบางกรณีไม่มีพื้นที่ทำงานที่เหมาะสม เช่น ถูกห้ามใช้พื้นที่หลายส่วนของภาควิชาในมหาวิทยาลัยเนื่องจากไม่ใช่พนักงานประจำ [27]

ส่วนงานฟรีแลนซ์ถ่ายภาพและวิดีโอ ตัวอย่างในประเทศออสเตรเลีย พบว่าโดยทั่วไปลูกค้าไม่ได้สนใจประสบการณ์ของช่างภาพเสมอไป ลูกค้ามักจะเลือกช่างภาพที่ ‘กดราคาตนเองให้ต่ำกว่าคนอื่น’ ดังนั้นผู้มีประสบการณ์ถ่ายภาพ 2-3 ปี จึงต้องแข่งขันกับผู้ที่ไม่มีประสบการณ์ที่เสนอราคาที่ถูกกว่า ทั้งนี้การเป็นฟรีแลนซ์เป็นเรื่องที่ดีเมื่อกำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัย แต่เมื่อเรียนจบออกมาแล้วทำงานฟรีแลนซ์ด้านนี้ต่อแบบเต็มเวลา ก็ยังจะเจอการแข่งขันสูงเหมือนตอนยังเรียนอยู่มหาวิทยาลัย เพราะทุกวันนี้ทุกคนสามารถซื้อกล้องถ่ายภาพได้ในราคาถูก ฟรีแลนซ์รายหนึ่งระบุว่าเคยได้ค่าจ้างจากการถ่ายวิดีโอ 80 ชั่วโมง แค่ 300 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (ประมาณ 6,800 บาท) เท่านั้น [28]

สำรวจชีวิตฟรีแลนซ์ไทย ห่วง ‘ความไม่มั่นคง’ มากสุด ประสบการณ์แย่ๆ ในอาชีพเพียบ

TCIJ ได้ทำแบบสำรวจความเห็นผู้ประกอบอาชีพอิสระหรือ ‘ฟรีแลนซ์’ ในกิจกรรรมธุรกิจทั่วไป ภาคประชาชน (NGO’s) ภาคการศึกษา และภาคสื่อมวลชน ซึ่งส่วนใหญ่ทำงานกับผู้ว่าจ้างของตนซึ่งตั้งอยู่ที่อื่นผ่านทางระบบโทรคมนาคม เช่น การส่งงานทางอินเทอร์เน็ต เป็นต้น เมื่อช่วงเดือน ธ.ค. 2561 จำนวน 20 ราย แบ่งเป็นเพศชาย 8 คน เพศหญิง 12 คน อายุระหว่าง 22-57 ปี ลักษณะงานที่ฟรีแลนซ์เหล่านี้ทำประกอบไปด้วย 1.ทำงานเกี่ยวกับการเขียน/ถอดเทป/ทำรายงาน (ร้อยละ 75) 2.งานด้านสื่อมวลชน/รายงานข่าว/เขียนบท (ร้อยละ 40) 3.งานเกี่ยวกับทำกราฟิก/วิดีโอ/มัลติมีเดีย (ร้อยละ 15) 4.งานด้านศิลปะ (ร้อยละ 5) และ 5.งานแปลภาษาอังกฤษ (ร้อยละ 5)

ผู้ตอบแบบสอบถามทั้ง 20 คน มีรายได้จากการเป็นฟรีแลนซ์เพียงอย่างเดียว ต่ำสุดที่ 800 บาทต่อเดือน สูงสุด 36,000 บาทต่อเดือน ทำงานฟรีแลนซ์เพียงอย่างเดียว ร้อยละ 60 ทำงานประจำควบคู่ไปด้วย ร้อยละ 40 ทั้งนี้ผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าเคยทำงานประจำก่อนมาทำงานฟรีแลนซ์อย่างเดียว ร้อยละ 45 ยังทำงานประจำควบคู่กับการเป็นฟรีแลนซ์ ร้อยละ 30 และเริ่มต้นการทำงานด้วยการเป็นฟรีแลนซ์เลยเป็นอาชีพแรก ร้อยละ 25

สำหรับคนที่เคยทำงานประจำแล้วออกมาเป็นฟรีแลนซ์นั้นเคยทำงานประจำนานที่สุด 20 ปี ส่วนระยะเวลาที่เคยทำงานประจำน้อยที่สุดก่อนออกมาเป็นฟรีแลนซ์เพียงอย่างเดียวคือ 6 เดือน และพบว่ารายได้จากการเป็นฟรีแลนซ์นั้นสอดคล้องกับระยะเวลาที่ทำอาชีพนี้ (มีประสบการณ์มากได้ค่าตอบแทนมาก มีประสบการณ์น้อยได้ค่าตอบแทนน้อย) เมื่อพิจารณาระยะเวลาที่ผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าเคยทำงานประจำก่อนออกมาเป็นฟรีแลนซ์เต็มตัวนั้น จะอยู่ที่ระยะเวลาประมาณ 3-4 ปี ร้อยละ 36.4 และเมื่อถามว่ามีเงินเหลือเก็บจากอาชีพฟรีแลนซ์หรือไม่ ส่วนใหญ่ ร้อยละ 60 ตอบว่าไม่มี

นอกจากนี้ผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่ายังศึกษาอยู่ควบคู่กับการทำงานฟรีแลนซ์ไปด้วย ร้อยละ 45 ในจำนวนนี้ศึกษาในระดับปริญญาโทสัดส่วนสูงสุดที่ร้อยละ 50 ปริญญาตรีร้อยละ 25 ปริญญาเอกร้อยละ 12.5 และวิชาชีพต่างๆ, การศึกษามหาวิทยาลัยภาคฤดูร้อน และกำลังอยู่ระหว่างการตัดสินใจศึกษาต่อในระดับปริญญาโท อีกร้อยละ 12.5

เมื่อถามว่ารายได้จากการเป็นฟรีแลนซ์เพียงอย่างเดียวสามารถครอบคลุมรายจ่ายประจำตัวทั้งเดือนได้หรือไม่นั้น ผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าไม่ครอบคลุมถึงร้อยละ 60 อีกร้อยละ 40 ตอบว่าครอบคลุม สำหรับค่าใช้จ่ายด้านที่อยู่อาศัยผู้ตอบแบบสอบถามตอบว่าจ่ายเอง ร้อยละ 35  อาศัยอยู่ร่วมกับครอบครัวโดยไม่ได้จ่าย ร้อยละ 35 และอาศัยอยู่ร่วมกับครอบครัวแต่จ่ายเองทั้งหมด ร้อยละ 30

เมื่อถามถึงสวัสดิการ (ตอบได้หลายข้อ) พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามรับรู้ว่าพวกเขามี สวัสดิการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง, 30 บาทรักษาทุกโรค) ร้อยละ 60 มีประกันสุขภาพ ร้อยละ 55 มีประกันอุบัติเหตุ ร้อยละ 50 ประกันสังคม ม.33 ร้อยละ 25 และประกันสังคม ม.39 ร้อยละ 20

ในด้านข้อกังวลใจต่อการเป็นฟรีแลนซ์ (เรียงลำดับจากน้อยไปหามาก) พบว่าส่วนใหญ่แล้วตอบว่า 'กลัวไม่มีงานป้อนให้' มากที่สุด ตามมาด้วย 'กลัวไม่มีเงินเก็บในยามชรา' และ 'ไม่มีเงินส่งเสียให้ครอบครัว' ตามมาด้วย 'กลัวโดนตัดราคางาน' 'กลัวหากประสบอุบัติเหตุแล้วไม่สามารถทำงานต่อได้' และ 'กลัวรายได้ไม่พอเลี้ยงตัวเอง'

นอกจากนี้แล้ว ผู้ตอบแบบสอบถามยังระบุถึงความกังวลใจอื่นๆ อีกเช่น กลัวผู้ว่าจ้างไม่พอใจกับผลงานที่ทำ, กลัวตัวเองไม่ประสบความ สำเร็จในสายอาชีพฟรีแลนซ์ ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ให้กับตนเองได้, กลัวการจ้างที่ผิดสัญญา, กลัวถูกนำผลงานตนเองไปสร้างชื่อเสียงให้ผู้อื่น, ความกลัวจากลักษณะงานที่ต้องให้การช่วยเหลือคนจำนวนมาก เมื่อทรัพยากรจำกัดการช่วยเหลือคนถูกจำกัดตามไปด้วย และกลัวการทำงานหนักเกินไป

เมื่อถามถึง ‘ประสบการณ์แย่ๆ ในอาชีพฟรีแลนซ์’ ที่ผู้ตอบแบบสอบถามเคยเผชิญมา พบว่าได้คำตอบดังนี้  

- จัดสรรเวลาการทำงานได้ไม่ดีบางครั้งต้องเสียงาน
- เรียกราคาต่ำเกินไปเพราะกลัวไม่ได้งาน
- รู้สึกผิดเมื่อวันไหนไม่ทำงาน
- อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์นานเกินไป
- โดนกดราคา
- สัญญาจ้างไม่ชัดเจน ต้องทำงานมากกว่าที่คิดเอาไว้
- ลูกค้าสั่งแก้งานจนเป็นดร๊าฟที่ 12 แล้วก็ยังไม่พอใจ
- ตกลงราคากันคือให้ระบุเครดิตชื่อในผลงาน แต่สุดท้ายไม่ให้เครดิตพร้อมกับไม่เพิ่มเงิน
- ได้เงินช้า
- บรี๊ฟงานไม่ดี
- งานยืดเยื้อไม่จบไม่สิ้น
- ไม่ได้ทำสัญญากันไว้ ปรากฏว่าจ่ายเงินช้า มีงานนอกเหนือจากที่ตกลงกันไว้
- ขอบเขตการจ้างงานไม่เป็นไปตามที่ตกลง
- ลูกค้าสั่งแก้งานแต่นำงานเก่าไปใช้ด้วย เหมือนการจ่ายครั้งเดียว ได้ 2 บทความ ทั้งเวอร์ชันเก่าและเวอร์ชันที่ edited แล้ว
- โดนเบี้ยว ขโมยงานไปไม่จ่าย โกหกว่าเป็นงานของตัวเอง
- ทำรายชั่วโมงทุกวัน ถ้าจะหยุดต้องทำงานสต็อกไว้ล่วงหน้า หาคนแทนไม่ได้ ยกเว้นป่วย
- การตกเบิกล่าช้า
- การขอลดราคาภายหลังจากการทำงานไปแล้วจนสำเร็จ
- เครียดกับการทำงาน
- ฯลฯ

 

อ้างอิง
[1] สรุปความจาก ‘Gig Economy: ระบบเศรษฐกิจใหม่กับวิถีการทำงานที่ไม่เหมือนเดิม’ (พิมพ์ธัญญา ฆ้องเสนาะ, สำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, มิ.ย. 2561)
[2] ฟรีแลนซ์ (วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 18 ม.ค. 2562)
[3] ผู้เร่ร่อนดิจิทัล (วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 18 ม.ค. 2562)
[4] WORLD EMPLOYMENT SOCIAL OUTLOOK TRENDS 2017 (ILO, 2017)
[5] A.I. and robotics will create almost 60 million more jobs than they destroy by 2022, report says (CNBC, 17 Sep 2018)
[6] WEF: AI and robots will create 60 million more jobs (CNBC, 17 Sep 2018)
[7] #Gig Responsibly The Rise of Nextgen Work (ManpowerGroup, 2017)
[8] European Union Labour force survey - Annual results 2016 (eurostat, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 18 Jan 2019)
[9] Growth in self-employment driven by highly skilled freelancers not the gig economy, IPSE report shows (IPSE, 19 Mar 2018)
[10] Exploring the rise of self-employment in the modern economy (IPSE,

2018)
[11] Are you being ripped off by the gig economy? (Independent, 21 Apr 2018)
[12] New 5th Annual “Freelancing in America” Study Finds that the U.S. Freelance Workforce, Now 56.7 Million People, Grew 3.7 Million Since 2014 (Upwork, 31 Oct 2018)
[13] 2018 APAC Workforce Insights (Persolkelly, 2018)
[14] EIC Research Series: ใครใครในโลกล้วนอยากเป็น gig  (ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์, 7/11/2560)
[15] เทรนด์อาชีพ 'กิ๊กเวิร์กเกอร์' แรง เงินดี-อิสระ ตอบโจทย์เจนวาย (เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ, 19/4/2561)
[16] เพิ่งอ้าง
[17] 7 เหตุผลที่เราควรทำงานแบบสัญญาจ้างชั่วคราว (GetLinks, 17 Apr 2018)
[18] เทรนด์อาชีพ 'กิ๊กเวิร์กเกอร์' แรง เงินดี-อิสระ ตอบโจทย์เจนวาย (เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ, 19/4/2561)
[19] ปตท.ล่าหัวกะทิลุยธุรกิจใหม่เขย่าโครงสร้างจ้างฟรีแลนซ์เสริมทัพ (เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ, 13 ก.ค. 2561)
[20] สะกิดเอกชนเปิดรับผู้สูงอายุทำงาน (ไทยรัฐออนไลน์, 16 ม.ค. 2562)
[21] ก.แรงงาน ระดมสมองหาข้อสรุปจ้างงานพาร์ทไทม์วัยเก๋า (28 ส.ค. 2561)
[22] The Payoneer Freelancer Income Survey 2018 (Payoneer, 2018)
[23] Social Protection for Independent Workers in the Digital Age (XX European Conference of the Fondazione Rodolfo Debenedetti Pavia, 26 May 2018)
[24] Are you being ripped off by the gig economy? (Independent, 21 Apr 2018)
[25] Exploitation of freelance journalists is a threat to our democracy (European Federation of Journalists, 30 Apr 2018)
[26] How much do freelance journalists really earn? (journalism.co.uk, 28 Jul 2016)
[27] Unions strike back: Hong Kong freelancers unite amid exploitation in the ‘gig economy’ (hongkongfp.com, 10 Feb 2018)
[28] Airtasker and the Australian freelance workers: The reflections on the gig economy (International Journal of Advanced and Applied Sciences, 5(7) 2018, Pages: 35-45)

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: ประกันสังคม ม.40 สวัสดิการของ 'ฟรีแลนซ์'

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: