อีสานเฮ็ดหนัง

The Isaander: 21 พ.ค. 2562 | อ่านแล้ว 5449 ครั้ง


เพราะ มีโปรแกรมฉายหนังอีสานฟรี ยาวปานถนนมิตรภาพขนาดนี้ ดิ อีสานเด้อ จึงต้องเดินเท้าผ่านทุ่งกุลา ดำน้ำมาแม่น้ำชี ฝ่าปฐพีเขาใหญ่ ไถลลงเจ้าพระยา ก่อนทะลุคลองทวีวัฒนา เพื่อมาสัมภาษณ์ พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู คนจัดโปรแกรมหนังอีสานที่ว่า ให้เขาได้ชี้แจงแถลงไข ความเป็นไปและที่มาของโปรแกรมนี้

หนังอีสานมายังไง

“ต้องกินลาบ-ก้อย ทุกวันเลยไหมฮะ ช่วงที่จัดโปรแกรมนี้” ดิ อีสานเด้อ ตั้งคำถามสุดแหลมคมให้ พุทธพงษ์ นักจัดกิจกรรมภาพยนตร์ ชาวประจวบคีรีขันธ์ ที่ปัจจุบัน อาศัยอยู่ศาลายา พร้อมภรรยา และลูกตอบ

“กินลาบบ่อยนะ แต่ไม่ค่อยได้กินก้อย เพราะไม่มีเพื่อนกิน” พี่วิว(ชื่อเล่นของพุทธพงษ์) อธิบายอุปสรรคของการรับทาน

ใจจริงเราอยากจะถามเขาว่า กินข้าวเหนียว หรือข้าวเจ้า ด้วยซ้ำ แต่กลัวว่าสัมภาษณ์จะแหลมคมเกินคนอีสานจะรับไหว เราจึงต้องวนมาเข้าเรื่องที่เราต้องคุยเสียก่อน “ทำไมต้องจัดโปรแกรมหนังอีสาน ? (อะครับ)” 

“ตอนนี้ หนังอีสาน กำลังเป็นกระแส และอีสานเป็นภูมิภาคเดียวที่สามารถทำได้แบบนี้ นั่นคือเหตุผลที่ทำให้หอภาพยนตร์จัดโปรแกรม จากน้ำมูลถึงไทบ้าน เมื่ออีสานเฮ็ดหนัง” พี่วิว สรุปคำตอบให้สั้น ยั่งกะขารองนายกฯฝ่ายความมั่นคง

พุทธพงษ์ อธิบายว่า ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา หนังอีสานที่ทำโดยคนอีสานกลายเป็นกระแสของวงการ นับตั้งแต่ ผู้บ่าวไทบ้านอีสานอินดี้ ซึ่งโด่งดังมากจากการฉายในอีสาน เกิดเป็นกระแสจนคนในกรุงเทพฯ ต้องหาดู กลายเป็นปรากฎการณ์ “ป่าล้อมเมือง” แล้วต่อมา ไทบ้าน เดอะซีรีส์ (ผู้สร้างคนละคนกับ ผู้บ่าวไทบ้านฯ) ก็ได้รับความนิยม มีการสร้างต่อเนื่องหลายภาค ถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ จนถูกเซ็นเซอร์ “ฉากพระร้องไห้” นับว่าเป็นกระแสที่น่าสนใจ

“อีสานบูมมาก ยังไม่เห็นภาคอื่นทำได้ ไม่ได้มีแค่ผู้บ่าวไทบ้านฯ หรือไทบ้านเดอะซีรีส์ ยังมีเรื่องอื่นๆ มีผู้กำกับหน้าใหม่เกิดขึ้น มีการนำเสนอเรื่องเล่าของตัวเอง ตอนนี้ ยังมีหนังที่ฉายในโรง 2 เรื่องชนกันคือ หน่าฮ่าน แล้วก็ออนซอนเด กระแสนี้ ทำให้หอภาพยนตร์อยากจะสำรวจว่า หนังอีสาน มันเพิ่งมามีช่วงนี้ หรือมีตั้งแต่ในอดีตแล้ว” พี่วิว เว้า

---

หนังอีสานเรื่องแรก

พุทธพงษ์ ระบุว่า จากการศึกษาข้อมูลของหอภาพยนตร์ สันนิษฐานว่า คนที่คิดทำหนังอีสานคนแรก คือ “เลียง ไชยกาล” เป็นคนอุบลราชธานีที่ทำหนังเรื่อง “แม่ศรีเมือง” โดยสำหรับหนังเรื่องนี้ เลียงมีตำแหน่งเป็นทั้ง ผู้อำนวยการสร้าง เจ้าของบทประพันธ์ คนถ่าย และนายทุน สร้างในนาม บริษัท อุบลภาพยนตร์ แม่ศรีเมือง เป็นหนังฟิล์ม 16 มม. ฉายครั้งแรกในวันที่ 30 ธันวาคม 2484 

“จริงๆอาจจะมีที่เก่ากว่านั้น แต่เมื่อไม่ได้ถูกบันทึก ไม่มีหนังสือพิมพ์ หรือนิตยสารเขียนถึง ก็เลยไม่รู้” พุทธพงษ์ กล่าว 

พี่วิว อธิบายว่า แม้จะมีหนังอีสานตั้งแต่ยุคเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ๆ แต่หลังจากที่ญี่ปุ่น ยกพลขึ้นไทยวันที่ 8 ธันวาคม 2484 ก็ทำให้วงการหนังซบเซา แบบที่สามารถกล่าวได้ว่า ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในเมืองไทย ตั้งแต่ปี 2485-2488 แทบไม่มีหนังไทยเกิดขึ้นเลย

คนทำหนังหลายคนต้องหนีไปทำอาชีพอื่นๆ หนังอีสานเองก็เลยไม่มีความต่อเนื่องไปด้วย ต้องรอให้ผ่านเวลาอีกหลายสิบปี กว่าหนังอีสานจะได้กลับมา

 

หนังอีสานบูมยุคแรก

แม้หนังที่สร้างโดยคนอีสานเกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนปี 2500 แต่กระแสของหนังอีสานจริงๆ เชื่อว่าเริ่มต้นในยุค 2520 ซึ่งเป็นยุคที่คนอีสานเข้ามาทำงานในกรุงเทพหลายเติบแล้ว 

“มนต์รักแม่น้ำมูล”(หอภาพยนตร์จะนำมาฉายในเวลา 13.00 น. 1 มิถุนายน 2562) ที่กำกับโดย พงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา สร้างโดย ดวงกมล มหรสพ คือ หนังอีสานเรื่องแรกที่โด่งดัง

“เข้าฉายตรงกับวันแม่แห่งชาติ 12 สิงหาคม 2520 หนังเพลงแนวอีสานเรื่องแรกที่ได้เงินล้าน ถึงแม้จะอยู่ในช่วงรัฐระหาร บัตรเข้าชมรอบกลางวัน บ่าย ค่ำ หมดเกลี้ยง แฟนชาวอีสานไม่มีทางเลือก ต้องเสี่ยงกับการติดเคอร์ฟิวไปชมรอบดึก"

"ทำให้แฟนหนังต้องพักค้างจนล้นหน้าโรงหนัง ขณะที่สถานการณ์ทางการเมืองกำลังตึงเครียด ซุมแซงหมู่เฮาชาวอีสานกลับร้องรำทำเพลง ม่วนซื่นโฮแซวกันแบบโต้รุ่งที่หน้าโรงหนัง” 

สองย่อหน้าด้านบน พงษ์ศักดิ์ บันทึกได้ไว้ในหนังสือหอมดอกผักกะแญง ซึ่งแสดงถึงความฮิตของ "มนต์รักแม่น้ำมูล" ได้อย่างดี

พุทธพงษ์ อธิบายว่า ถึงแม้จะ เป็นหนังอีสาน แต่มนต์รักแม่น้ำมูลต้องใช้นักแสดงมีชื่อเสียงอย่าง สมบัติ เมทะนี พระเอกอันดับหนึ่งมาเล่น เพราะ ในยุคนั้น หากสายหนัง(ผู้จัดจำหน่ายหนังในแต่ละพื้นที่) จะรับซื้อหนังจากผู้สร้างหน้าใหม่ได้ จำเป็นจะต้องมีดาราดังมาเล่น นั่นเอง

---

พี่วิวเล่าว่า ดวงกมล มหรสพ มีบทบาทสำคัญกับหนังอีสานมาก โดย ปี 2521 สร้างหนังที่เป็นปรากฎการณ์ยิ่งกว่ามนต์รักแม่น้ำมูล คือ “ครูบ้านนอก” ที่กำกับโดย สุรสีห์ ผาธรรม (ผู้อำนวยการสร้าง มนต์รักแม่น้ำมูล ร่วมกับ กมล กุลตังวัฒนา) (หอภาพยนตร์จะนำมาฉายในเวลา 15.00 น. 1 มิถุนายน 2562)

“ครูบ้านนอก เป็นเรื่องที่ปลุกกระแสหนังอีสานเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย ด้วยการนำเสนอสภาพแร้นแค้นของอีสาน สะท้อนสังคมยุคนั้น ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ ภาพยนตร์ที่ถูกสร้างขึ้นตามหลังมักหยิบประเด็นเช่นนี้มาเล่าด้วย และถือเป็นหนังที่ทำให้ดวงกมล มหรสพ ได้ทำภาพยนตร์ต่ออีกหลายเรื่องเช่นกัน” พุทธพงษ์ เว้า

หลังความสำเร็จของ มนต์รักแม่น้ำมูล และ ครูบ้านนอก คนที่เคยร่วมงานกับดวงกมลฯ อย่าง พงษ์ศักดิ์ และสุรสีห์ ยังคงทำหนังอีสานของตนเองต่อเนื่อง 

ปี 2522 พงษ์ศักดิ์ กลับสู่รากเหง้าของอีสานด้วยการ หยิบนิทานท้องถิ่น อย่าง “ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่” มาทำเป็นหนัง โดย เพื่อนโปรดักชั่น (หอภาพยนตร์จะนำมาฉายในเวลา17.30 น. 27 มิถุนายน 2562) 

สุรสีห์ ทำ “ราชินีดอกหญ้า” โดย สีบุญเรืองฟิล์ม ปี 2529 (หอภาพยนตร์จะนำมาฉายในเวลา 17.30 น. 15 พฤษภาคม 2562) แต่แทนที่จะเล่าความแร้นแค้นแบบเดิมๆ เขาเลือกที่จะเล่าเรื่อง การต่อสู้ของหมอลำ กับ ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ซึ่งถือว่าเป็น อีกมิติหนึ่งของภาคอีสานในตอนนั้น

ด้าน ดวงกมลฯ เองยังคงทำหนังอีสานต่อเนื่อง ปี 2524 “ทุ่งกุลาร้องไห้” ที่กำกับโดย กฤษณพงษ์ นาคธน (หอภาพยนตร์จะนำมาฉายในเวลา 13.00 น. วันเสาร์ที่ 8 มิถุนายน 2562) ก็ออกฉาย ซึ่งหนังยังคงยึดแนวความสำเร็จแบบเดิมที่ดวงกมลฯ เคยทำ คือ การเล่าชีวิตคนอีสานอันแร้นแค้น สะท้อนภาพสังคม แต่เป็นการลงลึกไปถึงการเล่าเรื่องชนกลุ่มน้อยอย่าง ชาวกุลา หรือตองสู ซึ่งเดินทางค้าขายในที่ราบที่ใหญ่ที่สุดของภาคอีสาน คือ ทุ่งกุลา

หลังจากนั้นไม่นาน กระแสหนังของ ดวงกมลฯ ก็ค่อยๆซบเซาลง

 

พันนา พาอีสานสู้

หลังจาก กระแสหนังของดวงกมล มหรสพ เริ่มซบเซา มีคนทำหนังอีสานที่โดดเด่น แม้จะไม่ได้เน้นความเป็นอีสานโดยเฉพาะได้ฉายแวว คนคนนั้นคือ พันนา ฤทธิไกร สตันท์แมน คนขอนแจ่น เหมืองหมอแคน แดนดอกคูณ ศูนย์รวมผ้าไหม

ด้วยความที่ พันนามี บรู๊ซ ลี นักบู๊ชาวฮ่องกงเป็นขวัญใจ เขาตัดสินใจเข้าเรียนที่วิทยาลัยมหาสารคาม เพื่อให้เข้าใจพื้นฐานในการใช้ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายที่ถูกต้อง เมื่อเรียนจบ เขาเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อสมัครเป็นทีมสตันท์ของ คมน์ อรรฆเดช ผู้กำกับภาพยนตร์บู๊ชื่อดังในเวลานั้น

พันนา เริ่มต้นอาชีพสตันท์ในวงการภาพยนตร์ด้วยการได้รับเลือกให้แสดงแทนนางเอกคือ ม.ล. สุรีวัลย์ สุริยง กับฉากเสี่ยงตายสู้กับผู้ร้ายบนหลังคารถไฟ ในเรื่อง ไอ้ผาง ร.ฟ.ท. 

ขณะเดียวกัน เขากลับไปตั้งทีมงานของตนเองที่ขอนแก่นในชื่อ “กลุ่มสตันท์แมน พี พีเอ็น” 

ปี 2529 พันนา ขายที่นา นำเงินมารวมกับรายได้จากการถูกเตะ ต่อย ตบ ตี สร้าง “เพชรพันนา โปรดักชั่น” ทำหนังชื่อ “เกิดมาลุย” โดยให้ ประพนธ์ เพชรอิน เพื่อนสนิท และหุ้นส่วนเพชรพันนา เป็นผู้กำกับ (หอภาพยนตร์จะนำมาฉายในเวลา 17.30 น. 6 มิถุนายน 2562) 

ในการทำเกิดมาลุย พันนาได้ร่วมแรงร่วมใจกับญาติมิตร อาศัยเพียงความมุ่งมั่น บวกกับพื้นฐานภาพยนตร์ที่มีอยู่ไม่มากนักในตอนนั้นมาลุ

“เอาญาติ พี่น้อง รวมๆกันมาเป็นนักแสดง แม้ในเรื่องจะไม่ได้พูดภาษาอีสาน แต่การเอาคนรู้จักมาแสดงในหนังที่เนื้อเรื่องเกิดในอีสาน และถ่ายทำที่อีสานเกือบทั้งหมด เป็นมิติใหม่ เป็นการเล่าอีสานโดยไม่ต้องนำเสนอความเป็นอีสาน ไม่ต้องเพื่อชีวิตด้วยซ้ำ และเรียกว่า เกิดมาลุย กลายเป็นต้นแบบ จนเกิดหนังบู๊ต่างจังหวัด หรือหนังเกรดบี ตามมาอีกหลายเรื่องด้วย” พุทธพงษ์ อธิบาย

นับแต่นั้นมา พันนา ตั้งปณิธานที่จะพัฒนาคุณภาพของหนังบู๊ในแบบของตนให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม เขาไม่เคยหยุดเรียนรู้และพัฒนาตนเอง ทั้งในด้านการแสดงและการสร้างภาพยนตร์ ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี 

เขาผ่านทั้งช่วงตกต่ำ และรุ่งโรจน์ของวงการภาพยนตร์ไทย มีผลงานการแสดงหนังร่วมร้อยเรื่อง และมีส่วนสำคัญในการสร้างภาพยนตร์บู๊เรื่องสำคัญของไทยหลายต่อหลายเรื่อง ตั้งแต่ยุคที่เขาทำหนังเพื่อขายสายหนังในต่างจังหวัด จนมาถึงยุคที่ทำร่วมกับสตูดิโอ

“สำหรับอีสานแล้ว มีหนังอีกเรื่องของพันนาที่น่าสนใจ คือ ฅนลูกทุ่ง ปี 2539 (หอภาพยนตร์จะนำมาฉายใน เวลา 17.30 น. วันอังคารที่ 18 มิถุนายน 2562) ซึ่งพันนา นั่งแท่นผู้กำกับด้วยตัวเอง แสดงนำเอง แต่กลับเป็นหนังที่มีฉากบู๊น้อยมาก อีกทั้งยังมีฉากที่พันนาร้องเพลงซะด้วย หนังนำเสนอความเป็นลูกทุ่ง มีตัวละครพูดภาษาอีสาน พูดได้ว่านี่คือ หนังลูกอีสานยุคใหม่ ที่พยายามเล่าสภาพความเป็นอยู่ของคนอีสาน” พี่วิว เว้าว่าซั่น

แม้จะผ่านการเป็นนักแสดงมาอย่างโชกโชน แต่ในยุคนี้ หลายคนน่าจะจดจำพันนาในฐานะผู้ผลักดันปลุกปั้น จา พนม หรือ โทนี่ จา นักบู๊ไทย ที่ไปไกลถึงฮอลลีวูด เสียมากกว่า ฐานะ ผู้กำกับ หรือนักแสดง

น่าเสียดายที่ พันนา ต้องจากไปในวัยเพียง 53 ปี ด้วยอาการติดเชื้อในกระแสเลือดจากการเป็นโรคตับ และไต เมื่อปี 2557 

 

อีสานใหม่-อีสานอินดี้

เป็นเวลากว่า 70 ปี ที่หนังอีสานเกิดและเติบโต ผ่านยุค เลียง ไชยกาล ดวงกมล มหรสพ และพันนา ฤทธิไกร ปัจจุบัน หนังอีสานเข้าสู่ยุคใหม่อย่างแท้จริง

"ประมาณหลังปี 2000 (หรือ พ.ศ. 2543) ถือว่า เข้าสู่ยุคที่วงการหนังต่างจังหวัด หนังค่ายเล็ก ค่ายน้อย เริ่มล้มหายตายจาก เหลือแต่สตูดิโอใหญ่ เช่น ไฟว์สตาร์ สหมงคลฯ และ จีทีเอช(จีดีเอช)" พุทธพงษ์ กล่าว

แม้ค่ายหนังอิสระจะหายไปในช่วงนั้น แต่มีคนอีสานอีกคนที่ได้มาทำหนังกับสตูดิโอใหญ่ หม่ำ จ๊กมก-เพ็ชรทาย วงศ์คำเหลา คนยโสธร ก่อตั้ง "บั้งไฟ ฟิล์ม" ขึ้นหลังจากมีชื่อเสียงจากการเป็นนักแสดงตลก

เขาเริ่มต้นทำหนังเรื่องแรกชื่อ "บอดี้การ์ดหน้าเหลี่ยม" ปี 2547 เป็นการนั่งตำแหน่งผู้กำกับพ่วงด้วยแสดงนำ แต่เนื้อหาของบอดี้การ์ดฯ ไม่ได้นำเสนอความเป็นอีสานโดยตรง

อย่างไรก็ตาม 1 ปีให้หลัง หม่ำสร้าง "แหยม ยโสธร" (หอภาพยนตร์จะนำมาฉายในเวลา 15.00 น. วันเสาร์ที่ 8 มิถุนายน 2562)

หนังที่เขาทั้งกำกับและแสดงเองเรื่องนี้ มีตัวละครหลักเป็นคนอีสาน เนื้อเรื่องเกิดขึ้นในอีสาน และถ่ายทำในอีสาน หม่ำ เลือกใช้สีฉูดฉาดนำเสนอความเป็นอีสานในแบบของตน และชูความสนุกสนาน เป็นแกนหลักของเรื่อง ความสนุกสนานที่เหมือนเป็นอัตลักษณ์ของคนอีสานนั่นเอง

แหยม ยโสธร ทั้ง 3 ภาค ประสบความสำเร็จเรื่องรายได้พอสมควร โดยทำรายได้รวมกันกว่า สองร้อยล้านบาท

---

"ประมาณหลังปี 2550 เริ่มมีหนังอินดี้เกิดขึ้น (อินดี้จริงๆแปลว่า อิสระ สมัยก่อนหน้านั้นก็นับว่า มีค่ายหนังอิสระแล้ว แต่ไม่ถูกเรียกว่าอินดี้-พี่วิวเสริม) อินดี้ของไทย คนที่เด่นคือ อภิชาติพงษ์" พี่วิว เว้า

เจ้ย-อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล คนขอนแก่น คือ ผู้กำกับชาวไทยหนึ่งเดียวที่สามารถคว้ารางวัล "ปาล์มทองคำ" จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ได้

ลุงบุญมีระลึกชาติ‎, แสงศตวรรษ, สัตว์ประหลาด!, สุดเสน่หา, ดอกฟ้าในมือมาร และ รักที่ขอนแก่น คือ รายชื่อหนังของ เจ้ย ที่ไปประสบความสำเร็จในเวทีระดับสากล

แม้หนังหลายๆเรื่องของเจ้ยจะไม่ได้เน้นการนำเสนอความเป็นอีสานอย่างตรงไปตรงมา แต่ก็มีอยู่หลายครั้งเช่นกันที่ ภาษาอีสาน วัฒนธรรมอีสาน สถานที่ในอีสาน ถูกแทรกสอดเอาไว้ในรูป รส กลิ่น เสียง ของภาพยนตร์ที่กำกับโดยผู้กำกับรายนี้

"บ้าน วีระเศรษฐกุล ที่ขอนแก่นอยู่ห่างจากบ้านผมไป สอง-สามซอยเองนะ ขี่รถผ่านตอนไปกินลาบทุกครั้งเลย" ผู้เขียนเสริมข้อมูลที่ไม่เป็นประโยชน์ลงในบทสนทนา

(หอภาพยนตร์ไม่ได้นำหนังของเจ้ยมาฉายในโปรแกรม "เมื่ออีสานเฮ็ดหนังฯ เพราะว่า เพิ่งทีโปรแกรมฉายของเจ้ย โดยเฉพาะไปเมื่อต้นปี)

---

กอล์ฟ-ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ คนโคราช บ้านเอ๋ง เป็นอีกคนที่พุทธพงษ์ ชี้ชวนให้เราสนใจ ชื่อของกอล์ฟ เป็นที่รู้จักในสื่อ หลังจากที่ Insects in the Backyard (แมลงรักในสวนหลังบ้าน) หนังของเธอ ถูกห้ามฉายในปี 2553 และหลังจากต่อสู้กันในชั้นศาลอย่างยาวนาน มันได้ฉายจริงในปี 2560

ก่อนที่จะกลายเป็น ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ กอล์ฟ ใช้ชีวิตในวงการภาพยนตร์ไทยอย่างโชกโชน ทั้งการเป็นผู้เขียนบท สอนการแสดง และโปรดิวเซอร์ อย่างไรก็ตาม "ฮักนะ 'สารคาม" ปี 2554 (หอภาพยนตร์จะนำมาฉายในเวลา 17.30 น. วันพุธที่ 29 พฤษภาคม 2562) น่าจะเป็นหนังอีสานเรื่องยาวเรื่องเดียวที่เธอกำกับ

---

"ปัจจุบัน คนอีสานไม่ได้มีแต่คนชนชั้นล่างอย่างเดียวแล้ว ในอดีตภาพลักษณ์อีสานมักถูกนำเสนอในหนังผ่านคนชนชั้นล่าง เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน ก็มีผู้กำกับจากอีสานที่เป็นสากล ไปเรียนต่างประเทศ เลยนำเสนอหนังอีสานในมุมมองที่เปลี่ยนไป" พุทธพงษ์ ระบุ

และจากสภาพที่ว่า วิชชานนท์ สมอุ่มจารย์ นำเสนอภาพคนอีสานที่ต่างออกไปใน "สิ้นเมษาฝนตกมาปรอยปรอย" ปี 2555 (หอภาพยนตร์จะนำมาฉายในเวลา 17.30 น.วันอังคารที่ 21 พฤษภาคม 2562)

"สิ้นเมษาฝนตกมาปรอยปรอย พูดถึงคนอีสานที่ไปทำงานในเมืองแล้วกลับไปที่บ้านเกิด เป็นมุมมองอีสานอีกแบบหนึ่ง เป็นมุมมองของชนชั้นกลาง ไม่ได้เสนอภาพเหมือนเมื่อก่อน ไม่ได้พูดถึงแต่ความอดอยาก หรือความสนุกสาน" พุทธพงษ์ กล่าว

สิ้นเมษาฯ เล่าเรื่องในรูปแบบของหนังอินดี้ ซ้อนทับเรื่องจริง และเรื่องแต่ง มีตัวละครเป็นคนชนชั้นกลางอีสาน อยู่ทาวน์เฮ้าส์ เกิดในครอบครัวข้าราชการ พูดภาษาไทยกลางที่บ้าน แต่เว้าอีสานกันหมู่พวก ทั้งยัง แทรกความรู้สึกของผู้กำกับที่มีต่อการสลายการชุมนุมแยกราชประสงค์ ปี 2553 เอาไว้ด้วย

---

ต่อมา หลังรัฐประหารโดย คสช. ไม่นาน "ผู้บ่าวไทบ้าน อีสานอินดี้" 2557 โดย อุเทน ศรีริวิ เข้าฉายและสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ รวมทั้งสร้างกระแสให้คนพูดถึงไม่น้อยด้วย กระทั่งเกิด ผู้บ่าวไทบ้าน 2 ในอีก 2 ปีถัดมา

"ไทบ้าน เดอะซีรีส์" 2560 โดย สุรศักดิ์ ป้องศร หนังชื่อคล้ายกัน ตามมาติดๆ และประสบความสำเร็จอย่างมาก มีภาคต่อหลายภาค ความนิยมของหนังตระกูลนี้ การันตีด้วย 2 ล้านไลค์ ที่มีให้แฟนเพจ "Thibaan Channel"

(หอภาพยนตร์จะนำทั้งสองเรื่อง(ภาคแรก) มาฉาย ในวันเสาร์ที่ 15 มิถุนายน เวลา 13.00 น. และ 15.00 น.)

"สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ คล้ายกับที่ ดวงกมล มหรสพเคยสร้างไว้" พุทธพงษ์กล่าว

หลังจาก ไทบ้านฯ ทั้งสอง เปิดทางได้ มีหนังอีสานตามมาอีกหลายเรื่อง ถึงยุคนี้สามารถพูดได้เต็มปากว่า ความเป็นอีสานถูกนำเสนอ แบบที่ภูมิภาคอื่นของประเทศไทยไม่เคยทำได้

ฮักมั่น In My Hometown, หน่าฮ่าน และออนซอนเด อาจเป็นเพียงตัวอย่างบางส่วน ของกระแสหนังอีสานปัจจุบัน และรายชื่อที่ได้กล่าวมาข้างต้นอาจจะเป็นแค่จุดเริ่มต้นของยุคแห่งหนังไทย-อีานก็เป็นได้

 


ข้อเขียนชุด อีสานเฮ็ด ยังไม่จบดีนะ รอติดตามได้ที่ Facebook: The Isaander และ www.theisaander.com
หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกที่ The Isaander

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: