‘เครื่องแกะและปอกกระเทียมขนาดเล็ก’ ลดต้นทุนปลาส้ม-แก้ปัญหาโรคหอบหืด

กองบรรณาธิการ TCIJ 21 ก.พ. 2562 | อ่านแล้ว 2484 ครั้ง

‘เครื่องแกะและปอกกระเทียมขนาดเล็ก’ ลดต้นทุนปลาส้ม-แก้ปัญหาโรคหอบหืด

นักวิจัยมหาวิทยาลัยธาตุพนม พัฒนาเครื่องแกะและปอกกระเทียมขนาดเล็ก เพื่อผู้ประกอบการแปรรูปปลาส้มอำเภอศรีสงคราม ช่วยลดต้นทุนการผลิตกว่า 6,000 บาทต่อเดือน ทั้งยังช่วยแก้ปัญหาโรคหอบหืดจากการสัมผัสกระเทียมเวลานาน

หน่วยบูรณาการวิจัยเพื่อการพัฒนาพื้นที่ (สกว.) เปิดเผยว่าด้วยปัญหาการสัมผัสกับสารสกัดบิวทานอล จากการปอกกระเทียมเป็นเวลานาน อาจก่อให้เกิดอาการหอบหืดและโพรงจมูกอักเสบเมื่อสูดดมหรือสัมผัสกระเทียมเป็นเวลานานๆ นักวิจัยเชิงพื้นที่มหาวิทยาลัยธาตุนครพนมจึงคิดค้น “เครื่องปอกกระเทียม” เพื่อลดปัญหาด้านสุขภาพให้กับผู้ประการแปรรูปอาหารจากปลาตะเพียน บ้านท่าบ่อหมู่ที่ 4,6 ตำบลท่าบ่อสงคราม อำเภอศรีสงคราม จ.นครพนม

ในแต่ละวันกลุ่มแม่บ้านดังกล่าวต้องผลิตปลาส้มเฉลี่ย 1,000 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ ต้องใช้กระเทียมปริมาณมากในการแปรรูปที่ผ่านมาชาวบ้านต้องจ้างคนงานปอกในราคากิโลกรัมละ 5 บาท ซึ่งนับเป็นต้นทุนที่สูง จากการสำรวจและลงพื้นที่ศรีสงคราม ทำให้นักวิจัยมหาวิทยาลัยธาตุพนม เล็งเห็นปัญหาจึงเกิดการพัฒนาและออกแบเครื่องแกะและปอกกระเทียมขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยบูรณาการงานวิจัยเพื่อการพัฒนาพื้นที่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นงานวิจัยที่เกิดจากความร่วมมือของผู้นำชุมชนและชาวบ้าน ที่ช่วยกันเสนอข้อคิดเห็นตลอดขั้นตอนการวิจัยและพัฒนาเครื่องปอกกระเทียม ทำให้นักวิจัยสามารถพัฒนาเครื่องปอกกระเทียมได้ตรงกับความต้องการของชุมชน

อาจารย์รชต มณีโชติ วิทยาลัยธาตุพนม มหาวิทยาลัยนครพนม ผู้คิดค้นประดิษฐ์เครื่องแกะกลีบกระเทียมขนาดเล็กเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร หัวหน้าโครงการการพัฒนาเครื่องแกะและปอกกลีบกระเทียม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพผลิต เปิดเผยถึงการพัฒนาเครื่องปอกและแกะกระเทียมว่า เป็นการพัฒนาจากเครื่องที่มีตามท้องตลาด ซึ่งอาจตอบโจทย์ของผู้ใช้ประโยชน์ได้ตรงจุด จึงคิดเครื่องแกะและปอกเปลือกกระเทียมขนาดเล็ก ทำจากแผ่นเหล็กสแตนเลส ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อาหาร GMP มีขนาดสูงเพียง 60 เซนติเมตรกว้าง 50 เซนติเมตร ใช้หลักการเสียดสี โดยใช้ยางทรงกรวย 2 แผ่น ทำจากธรรมชาติ มีคุณสมบัติทนแรงฉีก แรงดึง แรงเสียดทานได้ดี การเคลื่อนที่ในการหมุนของลูกนวดใช้หลักการหมุนแรงเหวี่ยงแบบไซโคลน ทำให้หัวกระเทียมเคลื่อนที่โดยน้ำหนักจะตกลงในแนวดิ่ง ทำให้เกิดแรงบีบอัดและแรงเฉือน ทำให้หัวกระเทียมแตกออกเป็นกลีบ ทำให้กระเทียมไม่แตกช้ำ มีช่องเป่ากากหรือเปลือกกระเทียมอยู่ด้านหน้า เมื่อใส่กระเทียมด้านบน เครื่องจะเริ่มปอกและเป่ากากออทางด้านข้าง

“จากการทดลองใช้กระเทียม 2 ชนิดได้แก่กระเทียมแก้วซึ่งเป็นกระเทียมพื้นบ้านของจังหวัดนครพนม และกระเทียมจีนนำเข้า จำนวนครั้งละ 500 กรัมต่อครั้ง พบว่าสามารถเพิ่มประสิทธิภาพโดยระยะห่างและความเร็วรอบที่ต่างกันโดยหากต้องการปอกระเทียมแก้ว ที่ระยะห่างของลูกนวด 1 เซนติเมตร และความเร็วรอบเฉลี่ย 200 รอบ/นาที สามารถและและปอกกลีบกระเทียมได้จำนวน 500 กรัม ได้ค่าเฉลี่ยกระเทียมที่ปอกเปลือกดีที่สุด เฉลี่ยเวลา 0.41 วินาที หากเป็นกระเทียมจีน ระยะห่างของลูกนวดที่ 1 เซนติเมตร และความเร็วรอบเฉลี่ย 250 รอบ/นาที สามารถแกะและปอกกลีบกระเทียมจำนวน 500 กรัมได้ค่าเฉลี่ยกระเทียมที่ปอกดีที่สุดใช้เวลา 0.44 วินาที โดยเฉลี่ยในการใช้เครื่องปอกกระเทียมทั้ง 2 ชนิด จำนวน 1 กิโลกรัม ใช้เวลาเฉลี่ยน 1.43 นาที และใช้เครื่องแกะและปอกกลีบกระเทียมระยะเวลา 1 ชั่วโมงได้ค่าเฉลี่ยกระเทียมที่แกะและปอกเปลือกประมาณ 42 กิโลกรัม หรือ 336 กิโลกรัม/ 1 วัน”

นอกจากจะช่วยลดปัญหาด้านสุขภาพของชาวบ้านแล้วเครื่องปอกกระเทียมยังมีศักยภาพในการลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ โดยผลการวิเคราะห์เชิงเศรษฐกิจศาสตร์วิศวกรรม พบว่าการใช้เครื่องแกะและปอกกลีบกระเทียมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สามารถทำให้ผู้ประกอบการสามารถประหยัดต้นทุนได้ประมาณ 6,994.26 บาทต่อเดือน และระยะเวลาคืนทุนอยู่ที่ 5 เดือน

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: