11 สถาบันอุดมศึกษา คัดเด็ก ม.6 เข้าโครงการ 'ผลิตและพัฒนาครูรัก(ษ์)ถิ่น' รุ่นแรก

กองบรรณาธิการ TCIJ 21 ก.ย. 2562 | อ่านแล้ว 2425 ครั้ง

11 สถาบันอุดมศึกษา คัดเด็ก ม.6 เข้าโครงการ 'ผลิตและพัฒนาครูรัก(ษ์)ถิ่น' รุ่นแรก

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ 11 สถาบันอุดมศึกษา ลงนามร่วมเป็นสถาบันผลิตและพัฒนาครูรัก(ษ์)ถิ่น คัดเด็ก ม.6 เข้าโครงการรุ่นแรก

เว็บไซต์ไทยโพสต์ รายงานว่าเมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2562 ที่อาคารอิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น เซ็นเตอร์ เมืองทองธานี - กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ 11 สถาบันอุดมศึกษา ลงนามร่วมเป็นสถาบันผลิตและพัฒนาครูรัก(ษ์)ถิ่น โดยนางสาวดารณี อุทัยรัตนกิจ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า ขณะนี้ กสศ.และหน่วยงานความร่วมมือได้ดำเนินการคัดเลือกและประกาศรายชื่อสถาบันอุดมศึกษาและหลักสูตรที่ผ่านการพิจารณาให้เป็นสถาบันผลิตและพัฒนาครูในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นที่ 1 จำนวน 11 แห่งเรียบร้อยแล้ว ประกอบไปด้วยหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย 7 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย, มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม, มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์, มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง และ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี หลักสูตรการประถมศึกษา 4 แห่ง ได้แก่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ , มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร , มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย และมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ทั้งนี้ในปีการศึกษา 2563 สถาบันอุดมศึกษาทั้ง 11 แห่ง มีความพร้อมรับนักศึกษาทุนครูรัก (ษ์) ถิ่นได้ทั้งสิ้น 328 อัตรา และจะมีโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล จำนวน 282 แห่ง ที่อยู่ในรัศมีพื้นที่การบรรจุอัตราครูรัก (ษ์) ถิ่นรุ่นที่ 1 ของทั้ง 11 สถาบัน

“ดิฉันขอยืนยันว่า กระบวนการคัดเลือกมีความเป็นวิชาการโดยแท้จริง และพิจารณาคัดเลือกตามเกณฑ์คุณภาพอย่างละเอียดรอบคอบ เพื่อให้มั่นใจว่าจะได้สถาบันอุดมศึกษาที่มีความพร้อมในการเป็นสถาบันผลิตและพัฒนาครูรัก(ษ์)ถิ่นที่มีคุณภาพ สำหรับโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลจำนวน 282 แห่งในรัศมีของทั้ง 11 สถาบัน ถือเป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่ยุบรวมไม่ได้ เป็นจิตวิญญาณของชุมชน กสศ.ได้จัดให้มีทีมวิชาการช่วยพัฒนาทั้งด้านคุณภาพการเรียนการสอน การเตรียมความพร้อมของโรงเรียนทั้งระบบควบคู่กันไปด้วยตั้งแต่ในปีแรกนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับโครงการและรองรับการทำงานของครูรุ่นใหม่ได้ตามเป้าประสงค์ของโครงการนี้ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจ เพื่อปฏิรูปการศึกษา โดยโครงการครูรัก (ษ์) ถิ่นในรุ่นต่อไป กสศ. จะมีการเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ ให้แก่นักเรียนกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่ศึกษาอยู่ในระดับชั้น ม.ปลาย โดยตลอดช่วงเดือนตุลาคม – พฤศจิกายนนี้ อาจารย์จาก 11 สถาบัน ร่วมกับโรงเรียนและชุมชนจะคัดเลือกและคัดกรองนักเรียนในพื้นที่มีฐานะครอบครัวอยู่ในเกณฑ์ยากจนตามที่ กสศ. กำหนด ช่วยเตรียมความพร้อมสอบคัดเลือกทุนครูรัก (ษ์) ถิ่น ทั้งนี้สามารถดูรายละเอียดของโครงการเพิ่มเติมได้ที่ www.eef.or.th หรือโทร 02 079 5475”กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กสศ. กล่าว


นางสาวดารณี กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญของการผลิตและพัฒนาครูรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพ ที่มีจิตวิญญาณของครูนักพัฒนาและมีความสามารถในการจัดการเรียนการสอนและการพัฒนาผู้เรียนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนและโยกย้ายครูในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลด้วย ในอนาคตประสบการณ์จากการทำงานเรื่องนี้จะนำไปสู่การจัดตั้งสถาบันต้นแบบในการผลิตและพัฒนาครู และผู้ดูแลเด็กปฐมวัยซึ่งเป็นภารกิจตามมาตรา 5 ของ กสศ. ทั้งนี้ กสศ.และ11 สถาบัน จะร่วมกันยกระดับหลักสูตรการผลิตครูใน 4 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1.การพัฒนารูปแบบและวิธีการจัดการศึกษาที่เหมาะสมกับโรงเรียนขนาดเล็กในถิ่นทุรกันดารในประเทศไทย 2.การจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาจิตสำนึกความเป็นครูและทักษะการทำงานโดยใช้ชุมชนเป็นฐานสำหรับนักศึกษาครูผู้รับทุน 3.รูปแบบการให้คำปรึกษา ช่วยเหลือดูแล ระบบหอพัก และกิจกรรมเสริมสร้างความเป็นครูสำหรับนักศึกษาครูผู้รับทุนตลอด 4 ปี 4.กระบวนการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู และระบบนิเทศทางการศึกษาทางไกลสำหรับนักศึกษาครูผู้รับทุน

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: