เปิดแฟ้ม PR สื่อออนไลน์ รัฐบาล คสช. โค้งสุดท้าย พ.ค. 61- พ.ค. 62

ทีมข่าว TCIJ: 21 ก.ค. 2562 | อ่านแล้ว 4211 ครั้ง

พบนโยบาย PR ของรัฐบาล คสช. มีปฏิบัติการเชิงรุกโดยเฉพาะ 'สื่อออนไลน์-โซเชียลมีเดีย' ให้มีการรายงานผลการดำเนินงานโดยโฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรีและโฆษกกระทรวง ต่อ ครม. ตั้งแต่ พ.ค.2561-พ.ค.2562 เก็บข้อมูลทั้ง 'จำนวนการเผยแพร่-คนเข้าถึง-กดไลค์-กดแชร์-แสดงความเห็น' ช่วงแรกมีการรายงาน 'ความเห็นเชิงลบ' แต่พอกระแสประชาชนแสดงความเห็นเชิงลบมากขึ้น จึงไม่รายงาน ที่มาภาพประกอบ: สํานักโฆษก สํานักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

ย้อนดูการประชาสัมพันธ์เชิงรุก 'รัฐบาล คสช.' โค้งสุดท้าย พ.ค. 2561- พ.ค. 2562

ย้อนไปเมื่อเดือน ต.ค. 2558 รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่พึ่งเข้าสู่อำนาจได้ประมาณ 1 ปี ได้เห็นชอบร่างนโยบายและแผนการประชาสัมพันธ์แห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ.2559-2564) โดยมีแนวคิดและทิศทางการประชาสัมพันธ์ที่มุ่งสร้างภูมิคุ้มกันในมิติต่าง ๆ เพื่อให้การประชาสัมพันธ์เป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศสู่ความสมดุล มั่งคง และยั่งยืนตามนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามที่คณะกรรมการประชาสัมพันธ์แห่งชาติเสนอ

นอกจากนี้คณะรัฐมนตรีในขณะนั้นยังเห็นชอบให้คณะกรรมการประชาสัมพันธ์แห่งชาติรับความเห็นและข้อสังเกตของกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงบประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเกี่ยวกับการเร่งรัดการนำนโยบายและแผนการประชาสัมพันธ์แห่งชาติไปดำเนินการเพื่อหน่วยงานระดับกระทรวงและหน่วยงานในสังกัดจะได้นำไปประกอบการจัดทำแผนประชาสัมพันธ์ให้มีความสอดคล้องกับแผนการประชาสัมพันธ์แห่งชาติในโอกาสแรกโดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดตั้งคณะทำงานประชาสัมพันธ์ส่งเสริมภาพลักษณ์ไทย การประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบถึงช่องทางการเข้าถึงข้อมูลและบริการภาครัฐในรูปแบบ Mobile Applications และศูนย์กลางแอปพลิเคชันภาครัฐ (Government Application Center : GAC) การกำหนดดัชนีชี้วัดความสำเร็จของแผน การมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ รวมทั้งการกำหนดประเด็นการประชาสัมพันธ์ที่เป็นวาระแห่งชาติ และจัดลำดับการเผยแพร่ในแต่ละปี/ช่วงเวลา เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ นำไปปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม เป็นต้น ไปพิจารณาดำเนินการต่อไป [1]

ต่อมาในเดือน ธ.ค. 2560 ได้มีข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ได้ระบุให้มีจัดทำข้อมูลประชาสัมพันธ์ให้มีเนื้อหา สั้น เข้าใจง่าย แบบ Infographic ที่ดึงดูด ทันสมัย, ให้โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรีจัดทำรายงานการประชาสัมพันธ์, ให้มีการติดตามประเมินผลคนเข้ามาใช้ และมีการ Post ความคิดเห็นเพิ่มเติม ปรับให้ตรงประเด็นเกิด Impact สอดคล้องโลกยุคปัจจุบัน [2]

ทั้งนี้จากสืบค้นมติคณะรัฐมนตรี พบว่ารายงานผลการดำเนินงานประชาสัมพันธ์โดยโฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรีและโฆษกกระทรวง ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี (แบบใหม่) นี้ สามารถดำเนินการรายงานผลครั้งแรกได้ในเดือน พ.ค. 2561 สืบเนื่องมาจนถึงเดือน พ.ค. 2562 โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้

พ.ค. 2561 'ไทยนิยม ยั่งยืน' - คณะรัฐมนตรีสัญจร จ.สุรินทร์-บุรีรัมย์


ที่มาภาพ: ไทยรัฐออนไลน์

จาก รายงานผลการดำเนินงานประชาสัมพันธ์ของโฆษกกระทรวง โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรีและผลการดำเนินงานประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อของกรมประชาสัมพันธ์ ประจำเดือน พ.ค. 2561 ที่รายงานต่อคณะรัฐมนตรี ระบุถึงการประชาสัมพันธ์เด่นๆ ในรอบเดือนดังนี้ โครงการ 'ไทยนิยม ยั่งยืน' มีการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อโทรทัศน์ สื่อวิทยุ สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อออนไลน์ โดยทางสื่อออนไลน์มีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ทั้งหมด 10,561 ครั้ง จำนวนการเข้าถึง 1,605,936 คน จำนวนการกดไลค์ 27,879 ครั้ง จำนวนการแชร์ 12,920 ครั้ง และจำนวนการแสดงความคิดเห็น 21 ครั้ง

เนวิน ชิดชอบ แกนนำพรรคภูมิใจไทย และ พล.อ.ประยุทธ์ ตรวจเยี่ยมการเตรียมความพร้อมการแข่งขันจักรยานยนต์ชิงแชมป์โลก สนามที่ 15 รายการ PTT Thailand Grand Prix ที่สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต หรือ บุรีรัมย์ อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต ช่วงที่มีการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร จ.สุรินทร์-บุรีรัมย์ เมื่อเดือน พ.ค. 2561 ที่มาภาพ: เว็บไซต์รัฐบาลไทย

การประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร จ.สุรินทร์-บุรีรัมย์ มีการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อโทรทัศน์ สื่อวิทยุ สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อออนไลน์ โดยทางสื่อออนไลน์มีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ทั้งหมด 668 ครั้ง จำนวนการเข้าถึง 5,334,691 คน จำนวนการกดไลค์ 124,467 ครั้ง จำนวนการแชร์ 27,545 ครั้ง และจำนวนการแสดงความคิดเห็น 18,580 ครั้ง [3]

ก.ย. 2561 'แอปพลิเคชันถุงเงินประชารัฐ' และ 'อินเทอร์เน็ตสำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ'


ที่มาภาพ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

ผลการดำเนินงานประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อของกรมประชาสัมพันธ์ ประจำเดือน ก.ย. 2561 ที่น่าสนใจมีดังนี้ การดำเนินงานภายใต้โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยมีการประชาสัมพันธ์ในประเด็นแอปพลิเคชันถุงเงินประชารัฐและอินเทอร์เน็ตสำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐผ่านสื่อในช่องทางต่าง ๆ (สื่อโทรทัศน์ สื่อวิทยุ สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อออนไลน์) โดยทางสื่อออนไลน์มีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ทั้งหมด 22,925 ครั้ง จำนวนการเข้าถึง 3,575,457 คน จำนวนการลดไลค์ 16,772 ครั้ง จำนวนการแชร์ 6,635 ครั้ง และจำนวนการแสดงความคิดเห็น 356 ครั้ง

การปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน โดยมีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ในประเด็นแนวทางและเป้าหมายการปฏิรูปประเทศและโครงการตามแผนการปฏิรูปประเทศผ่านสื่อในช่องทางต่าง ๆ โดยทางสื่อออนไลน์มีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ทั้งหมด 600 ครั้ง จำนวนการเข้าถึง 1,005,224 คน จำนวนการกดไลค์ 4,816 ครั้ง จำนวนการแชร์ 1,855 ครั้ง และจำนวนการแสดงความคิดเห็น 168 ครั้ง [4]

ต.ค. 2561 ครม.สัญจร พะเยา-เชียงราย พบความเห็นเชิงลบ 'ควรเร่งพัฒนาเศรษฐกิจให้ดีขึ้น-ให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อย'

ผลการดำเนินงานประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อของกรมประชาสัมพันธ์ ประจำเดือน ต.ค. 2561 ที่น่าสนใจ คือ การประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ณ จังหวัดเชียงราย และจังหวัดพะเยา ระหว่างวันที่ 29-30 ต.ค. 2561 มีการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อในช่องทางต่าง ๆ โดยทางสื่อออนไลน์มีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ 66 ครั้ง จำนวนการเข้าถึง 13,472,306 คน จำนวนการกดไลค์ 381,138 ครั้ง จำนวนการแชร์ 57,394 ครั้ง และจำนวนการแสดงความคิดเห็น 60,379 ครั้ง เป็นความคิดเห็นเชิงบวก ร้อยละ 78 และความคิดเห็นเชิงลบ ร้อยละ 22 โดยความคิดเห็นเชิงลบที่เป็นประเด็นสำคัญ เช่น ควรเร่งพัฒนาเศรษฐกิจให้ดีขึ้น และควรให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกิน เป็นต้น [5]

พ.ย. 2561 ทีมสื่อระบุ 'ส่งเสริมการท่องเที่ยว-บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ' ความเห็นเชิงบวก 100%

ผลการดำเนินงานประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อของกรมประชาสัมพันธ์ ประจำเดือน พ.ย. 2561 ที่น่าสนใจมีดังนี้ นโยบายปฏิรูปการเกษตร มีการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อในช่องทางต่างๆ โดยทางสื่อออนไลน์มีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ 776 ครั้ง จำนวนการเข้าถึง 1,003,014 คน จำนวนการกดไลค์ 50,480 ครั้ง จำนวนการแชร์ 4,589 ครั้ง และจำนวนการแสดงความคิดเห็น 436 ครั้ง เป็นความคิดเห็นเชิงบวก ร้อยละ 78 และความคิดเห็นเชิงลบ ร้อยละ 22 โดยความคิดเห็นเชิงลบที่เป็นประเด็นสำคัญ เช่น รัฐบาลควรกำหนดมาตรการและแนวทางแก้ไขปัญหาภาคการเกษตรอย่างเป็นระบบและยั่งยืน เป็นต้น

มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว มีการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อในช่องทางต่าง ๆ โดยทางสื่อออนไลน์มีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ 964 ครั้ง จำนวนการเข้าถึง 1,123,700 คน จำนวนการกดไลค์ 20,631 ครั้ง จำนวนการแชร์ 16,123  ครั้ง และจำนวนการแสดงความคิดเห็น 1,897 ครั้ง ซึ่งเป็นความคิดเห็นเชิงบวก ร้อยละ 100

ความคืบหน้าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อในช่องทางต่าง ๆ โดยทางสื่อออนไลน์มีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ 684 ครั้ง จำนวนการเข้าถึง 1,237,598 คน จำนวนการกดไลค์ 32,615 ครั้ง จำนวนการแชร์ 1,481  ครั้ง และจำนวนการแสดงความคิดเห็น 321 ครั้ง ซึ่งเป็นความคิดเห็นเชิงบวก ร้อยละ 100 [6]

ธ.ค. 2561 มีความเห็นเชิงลบต่อผลงานรัฐบาล 'ไม่ควรนำเงินภาษีไปช่วยเหลือผู้ประกอบการรายใหญ่-ไม่ควรดำเนินนโยบายประชานิยมที่ไม่ส่งผลต่อความยั่งยืนอย่างแท้จริง'

ผลการดำเนินงานประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อของกรมประชาสัมพันธ์ ประจำเดือน ธ.ค. 2561 ที่น่าสนใจมีดังนี้ การสร้างโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เน้นการประชาสัมพันธ์ในประเด็นการสร้างโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม (บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ/โครงการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยแห่งรัฐ) และโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุดที่ 2 ระยะที่ 1 และโครงการอาคารเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อย โดยทางสื่อออนไลน์มีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ทั้งหมด 2,879 ครั้ง จำนวนการเข้าถึง 3,661,836 คน จำนวนการกดไลท์ 197,311 ครั้ง จำนวนการแชร์ 22,171 ครั้ง และจำนวนการแสดงความคิดเห็น 3,442 ครั้ง เป็นความคิดเห็นเชิงบวก ร้อยละ 62 และความคิดเห็นเชิงลบ ร้อยละ 38 โดยความคิดเห็นเชิงลบที่เป็นประเด็นสำคัญ เช่น ควรให้ความสำคัญและให้การช่วยเหลือแก่คนชราที่ไม่มีผู้ดูแล รวมถึงคนพิการที่ยังขาดโอกาสทางสังคมในเรื่องต่างๆ

การพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 เน้นการประชาสัมพันธ์ในประเด็นการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ (Logistics) เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านในด้านการค้า การลงทุน การค้าชายแดน และการท่องเที่ยว รวมถึงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรและการแก้ไขปัญหาอุทกภัย โดยทางสื่อออนไลน์มีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ทั้งหมด 498 ครั้ง จำนวนการเข้าถึง 2,812,271 คน จำนวนการกดไลท์ 6,862 ครั้ง จำนวนการแชร์ 38,880 ครั้ง และจำนวนการแสดงความคิดเห็น 286 ครั้ง เป็นความคิดเห็นเชิงบวก ร้อยละ 49 และความคิดเห็นเชิงลบ ร้อยละ 51 โดยความคิดเห็นเชิงลบที่เป็นประเด็นสำคัญ เช่น ไม่ควรนำเงินภาษีไปช่วยเหลือผู้ประกอบการรายใหญ่ รวมถึงรัฐไม่ควรดำเนินนโยบายประชานิยมที่ไม่ส่งผลต่อความยั่งยืนอย่างแท้จริง

มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมัน เน้นการประชาสัมพันธ์ในประเด็นการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตร (ปาล์มน้ำมัน/ยางพารา) และมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมัน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน (ระยะสั้น) และสร้างความเข้มแข็ง (ระยะยาว) โดยทางสื่อออนไลน์มีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ทั้งหมด 61,782 ครั้ง จำนวนการเข้าถึง 1,574,805 ครั้ง จำนวนการกดไลท์ 51,448 ครั้ง จำนวนการแชร์ 11,006 ครั้ง และจำนวนการแสดงความคิดเห็น 2,265 ครั้ง เป็นความคิดเห็นเชิงบวก ร้อยละ 37 และความคิดเห็นเชิงลบ ร้อยละ 63 โดยความคิดเห็นเชิงลบที่เป็นประเด็นสำคัญ เช่น รัฐบาลควรกำหนดมาตรการและแนวทางแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับเรื่องยางพาราและปาล์มน้ำมันอย่างเป็นระบบและยั่งยืน และการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบมาตรการและการให้ความช่วยเหลือต่างๆ ของภาครัฐ [7]

ม.ค. 2562 เริ่มไม่มีการรายงานความเห็นเชิงลบ

ผลการดำเนินงานประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อของกรมประชาสัมพันธ์ ประจำเดือน ม.ค. 2562 ที่น่าสนใจมีดังนี้ พายุปาบึก เน้นการประชาสัมพันธ์ในประเด็นการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากพายุปาบึก ผ่านสื่อในช่องทางต่างๆ (โทรทัศน์ สื่อวิทยุ และสื่อออนไลน์) โดยมีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ทั้งหมด 3,759 ครั้ง จำนวนการเข้าถึง 1,506,809 คน จำนวนการกดไลท์ 54,234 ครั้ง จำนวนการแชร์ 10,264 ครั้ง และจำนวนการแสดงความคิดเห็น 1,403 ครั้ง

เทศกาลปีใหม่ ปี 2562 เน้นการประชาสัมพันธ์ในประเด็นการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยด้านการจราจรช่วงเทศกาลปีใหม่ และการมอบของขวัญปีใหม่ให้แก่ประชาชน ผ่านสื่อในช่องทางต่าง ๆ (โทรทัศน์ สื่อวิทยุ และสื่อออนไลน์) โดยมีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ทั้งหมด 920 ครั้ง จำนวนการเข้าถึง 1,451,068 คน จำนวนการกดไลท์ 44,230 ครั้ง จำนวนการแชร์ 3,314 ครั้ง และจำนวนการแสดงความคิดเห็น 650 ครั้ง [8]

อนึ่งจากการสืบค้นพบว่าตั้งแต่รายงานการดำเนินงานประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อของกรมประชาสัมพันธ์ ประจำเดือน ม.ค. 2562 นี้เป็นต้นไป ไม่มีการรายงานความคิดเห็นเชิงลบไว้เหมือนก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นที่สังเกตว่าประชาชนเริ่มแสดงความเห็นเชิงลบต่อรัฐบาลมากขึ้น

ก.พ. 2562 มาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5)


ที่มาภาพ: สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์

ผลการดำเนินงานประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อของกรมประชาสัมพันธ์ ประจำเดือน ก.พ. 2562 ที่น่าสนใจมีดังนี้ แนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) เน้นการประชาสัมพันธ์ในประเด็นการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 และการแก้ไขปัญหาหมอกควัน ไฟป่า แนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในกรุงเทพมหานคร/ปริมณฑล และในพื้นที่จังหวัดต่างๆ โดยสื่อออนไลน์มีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ทั้งหมด 1,753 ครั้ง จำนวนการเข้าถึง 1,635,287 คน จำนวนการกดไลค์ 58,157 ครั้ง จำนวนการแชร์ 3,897 ครั้ง และจำนวนการแสดงความคิดเห็น 1,099 ครั้ง

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ปี 2562 เน้นการประชาสัมพันธ์ในประเด็นพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 และแนวทางปฏิบัติในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไป โดยสื่อออนไลน์มีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ทั้งหมด 1,151 ครั้ง จำนวนการเข้าถึง 1,197,120 คน จำนวนการกดไลค์ 20,881 ครั้ง จำนวนการแชร์ 4,821 ครั้ง และจำนวนการแสดงความคิดเห็น 468 ครั้ง [9]

มี.ค.-เม.ย. 2562 เน้นการประชาสัมพันธ์ในประเด็นการรณรงค์ให้ประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

ผลการดำเนินงานประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อของกรมประชาสัมพันธ์ ประจำเดือน มี.ค.-เม.ย. 2562 ที่น่าสนใจมีดังนี้ ประเพณีสงกรานต์ เน้นการประชาสัมพันธ์ในประเด็นแนวทางการรณรงค์เพื่อสืบสานคุณค่าทางวัฒนธรรม เนื่องในประเพณีสงกรานต์ ประจำปี 2562 (สงกรานต์วิถีไทย ใช้น้ำคุ้มค่า ชีวาปลอดภัย) โดยสื่อออนไลน์มีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ทั้งหมด 308,774 ครั้ง จำนวนการเข้าถึง 4,115,622 คน จำนวนการกดไลค์ 90,012 ครั้ง จำนวนการแชร์ 12,472 ครั้ง และจำนวนการแสดงความคิดเห็น 1,646 ครั้ง

การเลือกตั้ง เน้นการประชาสัมพันธ์ในประเด็นการรณรงค์ให้ประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้ง มีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์โดยสื่อออนไลน์ 362,537 ครั้ง จำนวนการเข้าถึง 1,894,189 คน จำนวนการกดไลค์ 39,969 ครั้ง จำนวนการแชร์ 6,422 ครั้ง และจำนวนการแสดงความคิดเห็น 2,327 ครั้ง

ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ในพื้นที่ภาคเหนือ มีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์โดยสื่อออนไลน์ 624 ครั้ง จำนวนการเข้าถึง 1,042,349 คน จำนวนกดไลค์ 31,223 ครั้ง จำนวนการแชร์ 2,094 ครั้ง และจำนวนการแสดงความคิดเห็น 2,162 ครั้ง [10]

พ.ค. 2562 เน้นการประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก-มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและลดความเหลื่อมล้ำ


ที่มาภาพ: กองสารนิเทศ - สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ผลการดำเนินงานประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อของกรมประชาสัมพันธ์ ประจำเดือน พ.ค. 2562 ที่น่าสนใจมีดังนี้ การประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก มีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์โดยสื่อออนไลน์ 1,256 ครั้ง จำนวนการเข้าถึง 1,223,044 คน จำนวนการกดไลค์ 57,671 ครั้ง จำนวนการแชร์ 3,788 ครั้ง และจำนวนการแสดงความคิดเห็น 9,557 ครั้ง

นอกจากนี้ยังมีการเน้นประชาสัมพันธ์มาตรการพยุงเศรษฐกิจในช่วงกลางปี 2562 และมาตรการลดภาระค่าธรรมเนียมสำหรับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม กรณีอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อออนไลน์ทั้งหมด 1,001 ครั้ง จำนวนการเข้าถึง 1,017,524 คน จำนวนการกดไลค์ 184,822 ครั้ง จำนวนการแชร์ 2,247 ครั้ง และจำนวนการแสดงความคิดเห็น 2,068 ครั้ง [11]

 

ข้อมูลอ้างอิง
[1] นโยบายและแผนการประชาสัมพันธ์แห่งชาติ ฉบับที่ห้า (พ.ศ. 2559 - 2564) (มติคณะรัฐมนตรี, 6 ต.ค. 2558)
[2] เอกสาร 'การจัดทำรายงานผลการดำเนินงานประชาสัมพันธ์ของโฆษกกระทรวงเสนอคณะรัฐมนตรี' (สำนักพัฒนานโยบายและแผนการประชาสัมพันธ์ กรมประชาสัมพันธ์, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 19 ก.ค. 2562)
[3] รายงานผลการดำเนินงานประชาสัมพันธ์ของโฆษกกระทรวง โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรีและผลการดำเนินงานประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อของกรมประชาสัมพันธ์ ประจำเดือนพฤษภาคม 2561 (มติคณะรัฐมนตรี, 10 ก.ค. 2561)
[4] รายงานผลการดำเนินงานประชาสัมพันธ์ของโฆษกกระทรวง โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี และผลการดำเนินงานประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อของกรมประชาสัมพันธ์ ประจำเดือนกันยายน 2561 (มติคณะรัฐมนตรี, 13 พ.ย. 2561)
[5] รายงานผลการดำเนินงานประชาสัมพันธ์ของโฆษกกระทรวง โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี และผลการดำเนินงานประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อของกรมประชาสัมพันธ์ ประจำเดือนตุลาคม 2561 (มติคณะรัฐมนตรี, 25 ธ.ค. 2561)
[6] รายงานผลการดำเนินงานประชาสัมพันธ์ของโฆษกกระทรวง โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี และผลการดำเนินงานประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อของกรมประชาสัมพันธ์ ประจำเดือนพฤศจิกายน 2561 (มติคณะรัฐมนตรี, 8 ม.ค. 2561)
[7] รายงานผลการดำเนินงานประชาสัมพันธ์ของโฆษกกระทรวง โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี และผลการดำเนินงานประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อของกรมประชาสัมพันธ์ ประจำเดือนธันวาคม 2561 (มติคณะรัฐมนตรี, 29 ม.ค. 2562)
[8] รายงานผลการดำเนินงานประชาสัมพันธ์ของโฆษกกระทรวง โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี และผลการดำเนินงานประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อของกรมประชาสัมพันธ์ ประจำเดือนมกราคม 2562 (มติคณะรัฐมนตรี, 5 มี.ค. 2562)
[9] รายงานผลการดำเนินงานประชาสัมพันธ์ของโฆษกกระทรวง โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี และผลการดำเนินงานประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อของกรมประชาสัมพันธ์ ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2562 (มติคณะรัฐมนตรี, 9 เม.ย. 2562)
[10] รายงานผลการดำเนินงานประชาสัมพันธ์ของโฆษกกระทรวง โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี และผลการดำเนินงานประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อของกรมประชาสัมพันธ์ ประจำเดือนมีนาคม - เมษายน 2562 (เมษายน 2562) (มติคณะรัฐมนตรี, 4 มิ.ย. 2562)
[11] รายงานผลการดำเนินงานประชาสัมพันธ์ของโฆษกกระทรวง โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี และผลการดำเนินงานประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อของกรมประชาสัมพันธ์ ประจำเดือนพฤษภาคม 2562 (มติคณะรัฐมนตรี, 2 ก.ค. 2562)

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: นโยบายและแผนการประชาสัมพันธ์แห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ.2559-2564)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: