ตัวอย่างความสำเร็จจากการที่ผู้คนจากหลายประเทศช่วยกันลงชื่อ
“Mother Mushroom” บล็อกเกอร์ชาวเวียดนาม ได้รับการปล่อยตัวแล้ว
หลังจากถูกคุมขังกว่า 2 ปีในเรือนจำ จากการที่เธอจัดทำรายงานผู้เสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัวของตำรวจ และครอบครองบทกวีซึ่งมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล เธอก็ได้รับการปล่อยตัว เมื่อ 17 ต.ค. 2561 แต่เงื่อนไขการปล่อยตัวต้องแลกด้วยการลี้ภัยในต่างประเทศ และยังมีบุคคลอีกกว่าร้อยคน ต้องทนทรมานในคุก เพียงเพราะแสดงความเห็นของตนผ่านการเขียนบล็อกหรือเฟซบุ๊ก
เชลซี แมนนิง, สหรัฐฯ
เชลซี แมนนิง ผู้เปิดโปงข้อมูลกองทัพสหรัฐฯ ได้รับการปล่อยตัวเมื่อ พ.ค. 2560 หลังจากถูกคุมขังมา 7 ปี จากการที่ประธานาธิบดีบารัก โอบามา มีคำสั่งให้ลดโทษจำคุก 35 ปีของเธอลง หลังมีผู้เขียนจดหมายกว่า 250,000 คนเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวเธอ “ฉันหวังว่าจะมีเวลาและสามารถกล่าวขอบคุณกับพวกคุณแต่ละคนได้ พวกคุณได้สร้างความสุขเล็ก ๆ จากการเขียนจดหมายและไปรษณียบัตรแต่ละฉบับ”
เยซีเนีย อาร์เมนตา, เม็กซิโก
เยซีเนีย อาร์เมนตา ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำเมื่อ มิ.ย. 2559 ระหว่างถูกควบคุมตัว เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2555 เธอถูกซ้อม ถูกบีบคอจนแทบขาดอากาศหายใจ และถูกข่มขืน เป็นการทรมานนานถึง 15 ชั่วโมง เพื่อบังคับให้เธอ “รับสารภาพ” ว่าเกี่ยวข้องกับการสังหารสามีของตนเอง ผู้สนับสนุนของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้เขียนจดหมายและทำกิจกรรม 300,000 ครั้งเพื่อช่วยเธอ “ตอนที่ได้รับจดหมายมันช่วยบ่งบอกว่าดิฉันไม่ได้อยู่เพียงลำพัง” เธอบอก “มันทำให้รู้สึกดีอย่างมาก”
อัลเบิร์ต วูดฟอกซ์, สหรัฐฯ
อัลเบิร์ต วูดฟอกซ์ ได้รับการปล่อยตัวเมื่อเดือน ก.พ. 2559 หลังถูกขังเดี่ยวในเรือนจำของมลรัฐหลุยเซียนามาเป็นเวลา 43 ปี 10 เดือน ด้วยข้อกล่าวหาว่าฆาตกรรมผู้คุมในเรือนจำ โดยอัลเบิร์ตปฏิเสธ ทั้งนี้ก่อนถูกขังเดี่ยว เขาเป็นแกนนำแนวร่วมเพื่อสิทธิของคนผิวดำในเรือนจำ จนกระทั่งถูกขังเดี่ยวในเดือน เม.ย. 2515 เชื่อกันว่าเขาเป็นนักโทษที่มีชีวิตอยู่ได้นานที่สุดในสภาพที่ถูกขังเดี่ยวในสหรัฐฯ “ไม่รู้จะอธิบายอย่างไรว่า การได้รับจดหมายจากประชาชนทั่วโลก เป็นเรื่องสำคัญแค่ไหนกับผม” อัลเบิร์ตกล่าว “จดหมายเหล่านี้ทำให้ผมตระหนักในคุณค่าของตนเอง ทำให้เกิดกำลังใจ ทำให้เชื่อว่าสิ่งที่ทำอยู่เป็นสิ่งที่ถูกต้อง” ผู้สนับสนุนได้เขียนจดหมายและทำกิจกรรมกว่า 650,000 ครั้งเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวเขา
การลงชื่อเพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวเหยื่อของกระบวนการทางกฎหมายที่ไม่ยุติธรรม เป็นการรณรงค์ในโครงการ Write for Rights ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และสำหรับการรณรงค์รอบนี้ เน้นที่การมีผู้หญิงทั่วโลกที่เป็นแกนนำเรียกร้องอยู่ในแนวหน้า ท้าทายการเลือกปฏิบัติ การไล่รื้อ การกดขี่ ตำแหน่งในฐานะแกนนำชุมชนของผู้หญิงเหล่านี้ ก่อนจะมาถึงตำแหน่งนี้ ผู้หญิงหลายคนอยู่ในสังคมที่ถูกกดดันให้อยู่นิ่งเฉยและปิดปาก แต่ไม่ใช่ผู้หญิงเหล่านี้ การรณรงค์ Write for Rights ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นการรณรงค์ระดับโลกโดยการให้ผู้คนร่วมลงชื่อ ครั้งนี้เป็นการรณรงค์เพื่อผู้หญิงจาก 9 ประเทศ ซึ่งทำหน้าที่แตกต่างจากความคาดหวังของสังคม พวกเธอทำงานต่อต้านกฎหมายที่เลวร้าย การปฏิบัติที่ฉ้อฉล การใช้อำนาจของตำรวจอย่างรุนแรง และอื่น ๆ อีกมาก พวกเธอเป็นผู้นำที่โลกควรมีมากขึ้น การเชิญชวนให้ลงชื่อเพื่อผู้หญิงเหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามให้เกิดกฎหมายที่เป็นธรรม เสรีภาพ และความยุติธรรม ผู้หญิงเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของประชาชนหลายล้านคนซึ่งยืนหยัดขึ้นในวันนี้
3 นักปกป้องสิทธิหญิง ที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย รณรงค์ในครั้งนี้
ใคร ฆ่า ฟรังโก? ผู้เรียกร้องความยุติธรรม เพื่อสังคมที่ปลอดภัย
ก่อนที่มารีเอลลี ฟรังโก จะถูกสังหารด้วยวัย 38 ปี เธอเป็นสมาชิกสภาเทศบาล ริโอ เดอ จาเนโร เมืองหลวงของบราซิล เธอเติบโตมาจากชุมชนแออัด โดยเมื่อ 14 มี.ค. 2561 หลังเสร็จจากการร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับผู้หญิงผิวดำ เธอและแอนเดอสัน โกเมซ ผู้เป็นคนขับรถ ถูกยิงจนเสียชีวิตในรถยนต์ของเธอเอง พยานหลักฐานบ่งชี้ว่า เป็นการสังหารโดยมืออาชีพ ยิ่งไปกว่านั้นผู้เชี่ยวชาญได้ระบุว่า กระสุนเหล่านี้มีที่มาจากหน่วยตำรวจส่วนกลางของบราซิล
ริโอ เดอ จาเนโร เป็นหนึ่งในเมืองที่ตำรวจใช้ความรุนแรงบ่อยที่สุดในโลก โดยองค์กรด้านวิชาการในบราซิลระบุว่าปี 2016 มีผู้เสียชีวิต 925 รายระหว่างการดำเนินงานของตำรวจในเมืองหลวงของบราซิล และมีการคาดการณ์ว่าปี 2017 เสียชีวิตเกินหนึ่งพันคน
ก่อนถูกสังหาร มารีเอลลี ฟรังโก เป็นผู้หญิงผิวดำคนเดียวในสภาของเมืองหลวงบราซิลจาก 51 ที่นั่ง ซึ่งเธอมีบทบาทสำคัญในการทำงานเพื่อคนผิวสีโดยเฉพาะคนผิวสีที่ยากจน และยังทำงานเพื่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ รวมถึงงานเพื่อเยาวชนมาโดยตลอด นอกจากนี้เธอยังมีบทบาทสำคัญในการวิจารณ์เรื่องทุจริตคอรัปชั่นของรัฐบาลบราซิลและวิจารณ์เรื่องความรุนแรงโดยตำรวจในเมืองหลวง
เธอจบปริญญาโทด้านบริหารรัฐกิจจากมหาวิทยาลัยฟลูมิเนนเซ่ โดยเริ่มทำงานตั้งแต่อายุ 11 ปีเพื่อช่วยพ่อแม่หาเงินสำหรับการศึกษาของเธอเอง ด้วยการเติบโตมาท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เกิดเหตุรุนแรงอย่างต่อเนื่อง บางครั้งเธอและน้องสาวต้องขาดเรียนเพราะมีการยิงกันแถวบ้านของเธอ บางครั้งก็เดินผ่านร่างคนที่นอนแน่นิ่งบนพื้น และเมื่อโตขึ้นเธอก็มีบทบาทในการปกป้องสิทธิมนุษยชน
โดยบราซิลเป็นหนึ่งในประเทศที่อันตรายมากที่สุดสำหรับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ในปี 2560 มีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนถูกสังหารอย่างน้อย 70 คน โดยคดีส่วนใหญ่จะไม่ได้รับการสอบสวน และคนร้ายยังคงลอยนวล
สิทธิผู้พิการต้องถูกรับรอง เพื่อลดการพึ่งพาผู้อื่น ใช้ชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี
กัลซาร์ ดูเชโนวา เป็นฟรีแลนซ์ด้านการแปลภาษา โดยตั้งแต่ปี 2545 เธอไม่สามารถขยับขาได้ หลังเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์เนื่องจากคนขับเมาสุรา และในปีต่อมาสามีของเธอเสียชีวิตอย่างกะทันหัน จึงมีเพียงตัวเธอคนเดียวที่ต้องเลี้ยงดูลูกเล็ก ๆ ทั้งสองคน อย่างไรก็ตามเธอไม่เคยยอมแพ้ต่อชะตากรรม
หลายปีต่อมา เธอได้พบกับคนพิการคนอื่นๆ ที่มารวมตัวกัน ณ กรุงบิชเคก เมืองหลวงของประเทศคีร์กีซสถาน เธอได้พบว่าพวกเขาเหล่านั้นต่างต้องเผชิญกับปัญหารูปแบบเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น เรื่องการมีงานทำ เนื่องจากสถานที่ทำงานไม่ได้รับการออกแบบให้เหมาะสมกับผู้ใช้รถเข็น หรือจำเป็นต้องให้คนอื่นช่วยยกรถเข็นหากต้องการขึ้นรถเมล์ เธอจึงตั้งปณิธานที่จะช่วยเหลือให้คนพิการสามารถดำรงชีวิตได้โดยไม่เป็นภาระต่อผู้อื่น สามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้อย่างเสรี ซึ่งเธอได้กระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนไหวในประเด็นสิทธิคนพิการผ่านโซเชียลมีเดีย
ทั้งนี้เธอยังคงต้องการความช่วยเหลือตอนที่จะลงบันไดไปที่ประตูหน้าบ้าน อีกทั้งถนนที่เต็มไปด้วยหลุมบ่อและขรุขระจนทำให้เธอไม่สามารถเข็นรถเข็นด้วยตนเองได้ และยังต้องพบเจอกับสถานการณ์ที่เลือกปฏิบัติอยู่เสมอ เนื่องจากค่านิยมทางสังคมที่เชื่อว่าผู้หญิงไม่ควรแสดงออกมาก โดยมีประเด็นข้างเคียงเกี่ยวกับสิทธิสตรีอย่างการลักพาตัวผู้หญิงเพื่อบังคับให้เป็นเจ้าสาวซึ่งยังเกิดขึ้นบ่อยครั้งในคีร์กีซสถาน โชคดีที่เธอไม่เป็นหนึ่งในนั้น และในการต่อสู้เพื่อสิทธิคนพิการ เธอบอกว่า “เราถูกบอกว่าไม่ได้รับอนุญาตให้พูดเรื่องสิทธิคนพิการ แต่เรายังคงทำอยู่ ฉันยังคงพูดต่อไป”
เพื่อเรียกร้องให้รัฐสภาคีร์กีซสถานลงนามสัตยาบันรับรองอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิของคนพิการ เพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน เช่น การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ การเข้าถึงอาคาร การมีงานทำ และการเดินทาง เพื่อพวกเขาจะได้ไม่รู้สึกว่าต้องพึ่งพาคนอื่นอยู่เสมอ
ปิดปากเยาวชน = ปิดโอกาสพัฒนาสังคมให้ดีขึ้น
เจราลดีน ชากอน ชาวเวเนซุเอลาวัย 24 ปี ถูกจับกุมเพียงเพราะเธอลุกขึ้นมาทำงานส่งเสริมสิทธิมนุษยชนให้กับเยาวชนในพื้นที่ห่างไกล ผ่านการให้ความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนศึกษาและจัดกิจกรรมสหประชาชาติจำลอง
เมื่ออายุ 9 ปี เจราลดีน เคยฝันที่จะเป็นนักกฎหมาย ต่อมาเมื่ออายุได้ 14 ปี เธอได้ลงสมัครรับเลือกตั้งแล้วได้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลเยาวชนเมืองการากัส และในช่วงที่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย เธอได้รวมตัวกับเครือข่ายนักกิจกรรมแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเพื่อสนับสนุนคนที่เสี่ยงถูกคุมขังอย่างไม่ยุติธรรม แม่ของเธอเคยบอกว่า “เวลาที่เธอเห็นความอยุติธรรม เธอจะลุกขึ้นต่อสู้เสมอ” ต่อมาเธอได้ทำงานกับองค์กรที่มุ่งสร้างความเข้มแข็งให้เยาวชนในพื้นที่ที่ยากจนที่สุดในกรุงการากัส บ้านเกิดของเธอ
ทว่าการทำงานเพื่อต้องการเปลี่ยนแปลงบ้านเกิดของเธอให้ดีขึ้น เธอกลับถูกเจ้าหน้าที่ติดอาวุธบุกเข้าจับกุมที่บ้านเมื่อเดือน ก.พ. 2561 โดยเจ้าหน้าที่อ้างข้อมูลอย่างผิด ๆ ว่า เธอเป็นส่วนหนึ่งของ “กลุ่มต่อต้าน” อีกทั้งกล่าวหาว่าเธอเป็นส่วนหนึ่งของผู้เดินขบวนที่ใช้ความรุนแรงประท้วงรัฐบาล ทั้งที่ในความเป็นจริง การคุกคามเธอเป็นเพียงส่วนหนึ่งของมาตรการการปราบปรามในวงกว้างของรัฐบาลเวเนซุเอลาที่ต้องการกำจัดคนที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล และต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน
หลังถูกคุมขัง 4 เดือนในสภาพที่ได้เห็นแสงตะวันอย่างจำกัด อาหารและน้ำก็จำกัด เจราลดีนได้รับการประกันตัวออกมาเมื่อเดือนมิถุนายน 2561 แต่ยังอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า เธอไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ และคดีของเธอยังไม่มีแนวโน้มที่จะสิ้นสุดลง จึงมีความเสี่ยงว่ารัฐบาลจะสามารถจับกุมเธออีกเมื่อไหร่ก็ได้ เช่นเดียวกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรมอีกหลายคนในเวเนซูเอลาที่กำลังถูกดำเนินคดีอาญา เพียงเพราะต้องการให้ประเทศของตนดีขึ้น
มาร่วมสร้างสังคมที่ดีขึ้นด้วยกัน ได้ที่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ